สาเหตุหลักประการหนึ่ง ที่ทำให้การรักษามะเร็งเต้านมมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เกิดจากการเข้ารับการรักษาช้าเกินไปจนเซลล์มะเร็งได้ลุกลามไปมาก ซึ่งที่จริงแล้ว แม้มะเร็งเต้านมจะเป็นโรคที่น่ากลัว แต่การตรวจพบมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้ประสบผลสำเร็จได้
ดังนั้น เพื่อการตัดสินใจที่แม่นยำและถูกต้อง เราจึงได้รวบรวมข้อสงสัยและคำถามที่คนทั่วไปมักอยากรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม พร้อมคำตอบจากแพทย์ สามารถอ่านหัวข้อคำถามที่สงสัยได้จากสารบัญได้เลย
สารบัญ
- มะเร็งเต้านม รักษาให้หายขาดได้ไหม
- โอกาสเป็นมะเร็งเต้านม ขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง
- อาการเริ่มแรกของมะเร็งเต้านม เป็นอย่างไร
- พบก้อนในเต้านม แล้วรู้สึกเจ็บเต้านมจัง! แบบนี้ใช่มะเร็งหรือไม่
- พบก้อนในเต้านม แต่บีบแล้วไม่เจ็บ แบบนี้ไม่เป็นไรใช่ไหม
- ตรวจแล้วว่าเป็นเนื้องอกที่ไม่เป็นอันตราย ควรทำอย่างไรต่อ
- ตรวจแล้วว่าเป็นถุงน้ำ (Cyst) ควรทำอย่างไรต่อ
- ตรวจคลำเต้านมเองหรือให้แพทย์ตรวจให้ เพียงพอแล้วหรือไม่
- รอให้มีอาการผิดปกติก่อน ค่อยไปตรวจคัดกรองดีไหม
- หากมีของเหลว ไหลออกมาจากหัวนม ถือว่ามีความผิดปกติหรือไม่
- คันที่หัวนมบ่อย ๆ หรือคันเรื้อรัง แบบนี้มีโอกาสเป็นมะเร็งหรือไม่
- ควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเมื่อไหร่ อย่างไร
- การถูกบีบจับเต้านมบ่อย ๆ จะทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งมากขึ้นหรือไม่
- ทำ Mammogram ถูกบีบเต้านมแล้วรู้สึกเจ็บ จะเป็นอันตรายหรือไม่
- ใส่ชุดชั้นในที่มีขอบโลหะเสริมจะก่อให้เกิดมะเร็งเต้านมหรือไม่
- การรักษามะเร็งเต้านม มีวิธีการใดบ้าง
- เป็นมะเร็งเต้านม รักษาโดยไม่ต้องผ่าตัดเลยได้หรือไม่
- มีวิธีรักษามะเร็งเต้านม โดยไม่ต้องตัดเต้านมออกทั้งหมดหรือไม่
- เคยเป็นมะเร็งเต้านมข้างหนึ่งมาก่อน มีโอกาสเป็นมะเร็งที่เต้านมอีกข้างหรือไม่
- สรุป
มะเร็งเต้านม รักษาให้หายขาดได้ไหม
คำตอบ: ในปัจจุบัน สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าเราไปพบแพทย์ในระยะไหนของมะเร็ง โดยในระยะแรก ๆ เซลล์มะเร็งพิ่งจะก่อตัวขึ้น ยังไม่ทันลุกลามออกไปจากจุดกำเนิด จึงยังสามารถรักษาได้ง่าย และโอกาสหายขาดสูงมากอีกด้วย
โอกาสเป็นมะเร็งเต้านม ขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง
คำตอบ: ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่ามะเร็งเต้านมมาจากสาเหตุใด และไม่จำกัดเฉพาะเพศหญิง ผู้ชายก็มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้ อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องของเพศแล้ว ปัจจัยหลักที่เพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านมจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังพบว่าหากเราเอง หรือบุคคลในครอบครัวหรือญาติสายตรงมีประวัติเป็นมะเร็งชนิดนี้ ก็มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมสูงขึ้น
ปัจจัยอื่น ๆ ที่เพิ่มโอกาสในการเป็นมะเร็ง เช่น ประจำเดือนมาเร็วตั้งแต่อายุน้อย ๆ, ถึงวัยหมดประจำเดือนช้า, ได้รับฮอร์โมนเป็นระยะเวลานาน, เป็นโรคอ้วน, มีหน้าอกแน่น (Dense Breasts), และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการสูบบุหรี่ ก็อาจเพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้อีกด้วย
อาการเริ่มแรกของมะเร็งเต้านม เป็นอย่างไร
คำตอบ: มะเร็งในระยะแรก มักจะยังคลำก้อนไม่พบ และไม่มีอาการใด ๆ ผิดปกติ แต่สามารถตรวจพบได้จากการตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวด์เต้านม แนะนำว่าควรไปตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นประจำ
พบก้อนในเต้านม แล้วรู้สึกเจ็บเต้านมจัง! แบบนี้ใช่มะเร็งหรือไม่
คำตอบ: จากสถิติแล้ว กรณีที่ทำให้รู้สึกเจ็บ มักจะเป็นก้อนซีสมากกว่า อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจวิเคราะห์โดยละเอียดอีกครั้ง
พบก้อนในเต้านม แต่บีบแล้วไม่เจ็บ แบบนี้ไม่เป็นไรใช่ไหม
คำตอบ: คำถามนี้ มักเป็นคำถามต่อเนื่องมาจากข้อบน หลายคนมักจะกังวลเฉพาะเวลาที่รู้สึกเจ็บเต้านม เมื่อเป็นกรณีที่พบก้อนแต่ไม่รู้สึกเจ็บ ก็เลยทำให้ไม่ค่อยกังวล คิดว่าอาจเป็นแค่ก้อนที่ไม่เป็นอันตราย จึงตัดสินใจยังไม่มามาพบแพทย์ รอดูว่าจะมีอาการเจ็บหรือไม่
แต่จากสถิติที่ผ่านมาแล้ว ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่ มักจะเริ่มด้วยอาการระยะแรกที่จะพบก้อนมะเร็ง แต่ไม่รู้สึกเจ็บ ดังนั้น ไม่ว่าจะมีอาการเจ็บหรือไม่ก็ตาม ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียดอีกครั้งจะดีที่สุด เพราะมีสิทธิ์เป็นก้อนเนื้อร้ายได้ทั้งสองกรณี อย่างไรก็ตาม กรณีคลำเจอก้อน ควรเข้ารับการตรวจยืนยันโดยแพทย์
ตรวจแล้วว่าเป็นเนื้องอกที่ไม่เป็นอันตราย ควรทำอย่างไรต่อ
คำตอบ: ถ้าเป็นการตรวจโดยแพทย์และผู้เชี่ยวชาญแล้ว ก็ขอให้เชื่อตามผลการตรวจ และไม่ต้องกังวลมากนัก ให้เราปฏิบัติหรือรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ เพียงแต่อย่าประมาท ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอตามปกติ หากพบความผิดปกติหรือความเปลี่ยนแปลงของก้อนเนื้อ ให้รีบมาพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจโดยละเอียดอีกครั้ง
ตรวจแล้วว่าเป็นถุงน้ำ (Cyst) ควรทำอย่างไรต่อ
คำตอบ: กรณีที่เป็นถุงน้ำ (Cyst) และแพทย์ประเมินแล้วว่าไม่เป็นอันตราย ปกติจะสามารถหายได้เอง แต่ถ้ารู้สึกรำคาญ รู้สึกเจ็บ หรือไม่สบายใจ สามารถรักษาโดยเจาะเอาน้ำออกได้
อย่างไรก็ตาม กรณีที่เป็นถุงน้ำประเภท Complex Cyst ซึ่งมีลักษณะเป็นเนื้อและหุ้มด้วยชั้นน้ำ แพทย์อาจให้เจาะไปตรวจอีกครั้งหนึ่งว่าเป็นสาเหตุของมะเร็งหรือไม่
ตรวจคลำเต้านมเองหรือให้แพทย์ตรวจให้ เพียงพอแล้วหรือไม่
คำตอบ: การตรวจคลำเต้านมด้วยตนเอง หรือให้แพทย์ตรวจ เป็นวิธีที่ดีและควรทำเป็นประจำ แต่ยังไม่เพียงพอ
ผู้หญิงทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตามคำแนะนำของแพทย์ มีตั้งแต่การตรวจคลำเต้านมโดยแพทย์ ไปจนถึงขั้นตอนที่มีความแม่นยำขึ้น ได้แก่ การทำแมมโมแกรมเต้านม การตรวจอัลตราซาวด์เต้านม รวมถึงขั้นตอนการตรวจเชิงละเอียดตามข้อวินิจฉัยของแพทย์
รอให้มีอาการผิดปกติก่อน ค่อยไปตรวจคัดกรองดีไหม
คำตอบ: แนวทางนี้อาจจะช่วยให้รู้สึกสะดวกสบาย เพราะไม่ต้องวุ่นวายไปตรวจบ่อย ๆ แต่ค่อนข้างเสี่ยง เนื่องจากมะเร็งเต้านมในระยะแรก ๆ มักไม่มีอาการปรากฏชัดเจน จะเริ่มมีอาการก็ตอนที่อยู่ในระยะหลัง ๆ แล้ว
การไปพบแพทย์เมื่อพบเห็นอาการผิดปกติแล้วจึงช้าไป ทำให้การรักษามีความซับซ้อนมากขึ้น มีทางเลือกน้อยลง อาจรักษาเต้านมไว้ไม่ได้ การไปตรวจคัดกรองเป็นระยะตามคำแนะนำ จะช่วยให้มีทางเลือกในการรักษามากกว่า เพิ่มโอกาสในการรักษาเต้านม และเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้
หากมีของเหลว ไหลออกมาจากหัวนม ถือว่ามีความผิดปกติหรือไม่
คำตอบ: บางคนอาจคิดว่า ถ้าของเหลวที่ไหลออกมาเป็นเลือด น้ำเหลือง หรือน้ำหนอง จึงจะถือว่าผิดปกติ แต่ถ้าเป็นน้ำนมถือว่าไม่เป็นไร
แต่ที่จริงแล้ว หากมีเหลวไหลออกมาจากหัวนม ไม่ว่าชนิดใดก็ตาม จะมีทั้งกรณีที่เป็นปกติและผิดปกติ ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและสถานการณ์
กรณีที่ของเหลวนั้นเป็น “น้ำนม” หากมีลักษณะที่ผิดปกติดังนี้ ควรมาพบแพทย์
- ไหลออกมาเองแม้ไม่มีการบีบกระตุ้น
- ไหลออกมาข้างเดียว
- ไหลออกจากท่อน้ำนมเดียว
- ไหลออกมาอย่างต่อเนื่อง หรือ ไหลออกมามากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์
- ไหลออกมาปนเลือด
อย่างไรก็ตาม เมื่อพบของเหลวไหลจากหัวนมในลักษณะที่ผิดปกติ แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโดยละเอียดจะดีที่สุด
คันที่หัวนมบ่อย ๆ หรือคันเรื้อรัง แบบนี้มีโอกาสเป็นมะเร็งหรือไม่
คำตอบ: อาการคันที่หัวนมอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอาการแพ้ โรคผิวหนัง การติดเชื้อ หรืออาจมาจากสาเหตุของมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน
ให้สังเกตที่หัวนม ว่ามีสีที่ผิดไปจากปกติหรือไม่ มีแผลเกิดขึ้นหรือไม่ หากพบอาการผิดปกติดังที่กล่าวมา ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง
ควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเมื่อไหร่ อย่างไร
คำตอบ: ผู้หญิงทุกคนควรตรวจคัดกรองมะเร็ง ดังนี้
- อายุ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ
- อายุ 40-69 ปี ควรตรวจแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวด์เต้านม ทุก 1-2 ปี
- อายุ 70 ปี พิจารณาเป็นรายบุคคลตามความเสี่ยง และปัจจัยด้านสุขภาพ ในกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น มีประวัติครอบครัว พิจารณาตรวจคัดกรองเร็วขึ้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์
นอกจากนี้ หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เคยรับการรักษามะเร็งเต้านม หรือมีประวัติญาติสายตรงเคยเป็น เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเกณฑ์ในการตรวจคัดกรองที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์
การถูกบีบจับเต้านมบ่อย ๆ จะทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งมากขึ้นหรือไม่
คำตอบ: หลายคนอาจเคยได้ยินมาว่า การบีบ จับ หรือคลำบริเวณเต้านมบ่อย ๆ อาจกระตุ้นให้เกิดมะเร็งขึ้นได้
โดยเฉพาะผู้หญิงหลายคนที่อาจมีคู่รักที่ชอบบีบหรือจับเต้านม (ทั้งบีบเบาและบีบแรง) โดยเฉพาะในกิจกรรมทางเพศ อาจรู้สึกไม่สบายใจ เพราะกลัวว่าจะเป็นการกระตุ้นให้เป็นมะเร็งหรือไม่? จริง ๆ แล้ว การถูกบีบหรือจับเต้านมบ่อย ๆ นั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งเต้านม
ทำ Mammogram ถูกบีบเต้านมแล้วรู้สึกเจ็บ จะเป็นอันตรายหรือไม่
คำตอบ: ไม่เป็นอันตราย แต่อาจจะทำให้รู้สึกเจ็บ แนะนำว่า หากจะมาตรวจด้วยแมมโมแกรม ให้มาช่วง 7-14 วัน หลังหมดประจำเดือน เพราะช่วงนี้เต้านมจะไม่คัดตึง อย่างไรก็ดี เราสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ ถ้ารู้สึกเจ็บมาก
นอกจากนี้ หากมีก้อนในเต้านม การบีบด้วยเครื่องแมมโมแกรม ไม่ได้ทำให้ก้อนแตก
ใส่ชุดชั้นในที่มีขอบโลหะเสริมจะก่อให้เกิดมะเร็งเต้านมหรือไม่
คำตอบ: มีการยืนยันแล้วว่า การใส่ยกทรงมีโลหะเสริม ไม่เกี่ยวข้องกับโอกาสการเป็นมะเร็งเต้านม
การรักษามะเร็งเต้านม มีวิธีการใดบ้าง
คำตอบ: มีหลายวิธีการ ขึ้นอยู่กับลักษณะและระยะของโรค และอาจต้องใช้รักษาควบคู่กัน ได้แก่
- การผ่าตัด (breast surgery) ถือเป็นการรักษาหลักของโรคนี้ที่สำคัญ มีวิธีการผ่าตัดหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์
- รังสีรักษา (rediation therapy) ใช้ร่วมกับการผ่าตัดโดยมีเป้าหมายเพื่อทำลายส่วนของมะเร็งที่ยังหลงเหลือ หรือใช้เพื่อลดโอกาสลุกลามเฉพาะที่ได้
- เคมีบำบัด (chemotherapy) ถือเป็นการรักษาเสริมที่มีความสำคัญในการลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ และลดอัตราการเสียชีวิตได้ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี
- ฮอร์โมนบำบัด (hormone therapy) เป็นการรักษาเสริม โดยใช้ยาเพื่อยับยั้งการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน ช่วยในการลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำและลดอัตราการเสียชีวิตได้
- การใช้ยารักษา (targeted therapy) โดยใช้ยาที่ออกฤทธิ์โดยตรงกับเซลล์มะเร็งเพื่อให้เซลล์ตาย หยุดการเติบโต หรือหยุดการแพร่กระจาย
เป็นมะเร็งเต้านม รักษาโดยไม่ต้องผ่าตัดเลยได้หรือไม่
คำตอบ: การรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นเรื่องจำเป็น เพราะควรเอาเซลล์มะเร็งออกให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจให้รักษาด้วยการผ่าตัดเลย หรือให้ใช้เคมีบำบัดหรือฮอร์โมนบำบัดก่อนแล้วค่อยผ่าตัด
มีวิธีรักษามะเร็งเต้านม โดยไม่ต้องตัดเต้านมออกทั้งหมดหรือไม่
คำตอบ: การรักษาในปัจจุบันของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านม มีเทคนิคการผ่าตัดแบบสงวนเต้า (Breast Conserving Surgery: BCS) ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องถูกตัดเต้านมออกหมดทุกราย
นอกจากนี้ หากจำเป็นต้องผ่าตัดเต้านมออก ก็สามารถทำการผ่าตัดสร้างเสริมเต้านม (Breast Reconstruction) ได้ทันทีโดยใช้เต้านมเทียมหรือใช้เนื้อเยื่อของตัวผู้ป่วยเอง
อย่างไรก็ตาม ตัวเลือกการรักษาเช่นนี้ แพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมกับระยะของมะเร็งเต้านม รวมถึงปัจจัยสุขภาพส่วนบุคคลเป็นรายกรณี ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว หากยังอยู่ในระยะที่มะเร็งยังไม่ลุกลาม (ระยะที่ 0-2) สามารถเลือกการรักษาด้วยวิธีนี้ได้
หากสนใจ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่
เคยเป็นมะเร็งเต้านมข้างหนึ่งมาก่อน มีโอกาสเป็นมะเร็งที่เต้านมอีกข้างหรือไม่
คำตอบ: มีโอกาสเป็น แต่ไม่ต้องวิตกกังวลมาก ให้ตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ และเข้ามารับการตรวจคัดกรองตามที่แพทย์แนะนำ โดยเฉพาะการทำแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ จะช่วยให้พบความผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
สรุป
คำถามต่าง ๆ ที่เรารวบรวมมานี้ มักเป็นข้อสงสัยที่หลายคนอยากรู้คำตอบ ตั้งแต่ผู้ที่ไม่ได้ป่วยเป็นมะเร็ง แต่ต้องการทำความเข้าใจเพื่อหาแนวทางป้องกัน หรือมีความกังวลเกี่ยวกับอาการผิดปกติต่าง ๆ ไปจนถึงผู้ป่วยที่อยากทราบแนวทางการรักษา
ทั้งนี้ เพื่อลดความกังวลต่าง ๆ ช่วยส่งเสริมความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความเสี่ยงต่าง ๆ การตรวจคัดกรอง การวางแผนการรักษา และสนับสนุนให้ทุกคนสามารถตรวจพบมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสการรักษาให้หายขาด แล้วกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข