ตับเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย ทำหน้าที่สำคัญหลายอย่าง ได้แก่ สร้างน้ำย่อยเพื่อย่อยอาหาร สร้างโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด กำจัดสารพิษต่าง ๆ เกี่ยวข้องในกระบวนการสร้างและสลายสารอาหาร และสารต่าง ๆ เช่น คาร์โบไฮเดรต กรดอะมิโน ไขมัน วิตามิน แร่ธาตุ แอมโมเนีย และยังทำหน้าเก็บกักสารอาหารเพื่อเป็นแหล่งพลังงานของร่างกายอีกด้วย
ปัจจุบันเราพบว่าประชาการมีความเสี่ยงโรคเกี่ยวกับตับมากขึ้น โดยเฉพาะ “โรคไขมันพอกตับ” เนื่องจากพฤติกรรมการรับประทานและพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ขาดการออกกำลังกาย จึงทำให้เสี่ยงต่อภาวะไขมันในเลือดสูง และภาวะไขมันพอกตับ ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพ และหากมีภาวะไขมันพอกตับเรื้อรัง อาจทำให้มีภาวะตับอักเสบ ตับแข็ง และมะเร็งตับตามมาได้
ไขมันพอกตับ คืออะไร?
ไขมันพอกตับ (fatty liver disease) เป็นภาวะที่มีการสะสมของไขมันส่วนเกินที่ตับ ซึ่งมักทำให้เอนไซม์ตับ (AST และ ALT) ที่ตรวจได้จากการเจาะเลือดมีค่าเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ ในบางรายหากปล่อยไว้นานไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจก่อให้เกิดโรคตับแข็ง หรือมะเร็งตับต่อไปได้
ภาวะไขมันพอกตับ แบ่งออกเป็นสองประเภทหลัก ๆ ได้แก่
- ไขมันพอกตับในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ alcoholic fatty liver disease (AFLD)
- ไขมันพอกตับในผู้ที่ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ non-alcoholic fatty liver disease (NAFLD)
ไขมันพอกตับ คืออะไร?
ไขมันพอกตับ (fatty liver disease) เป็นภาวะที่มีการสะสมของไขมันส่วนเกินที่ตับ ซึ่งมักทำให้เอนไซม์ตับ (AST และ ALT) ที่ตรวจได้จากการเจาะเลือดมีค่าเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ ในบางรายหากปล่อยไว้นานไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจก่อให้เกิดโรคตับแข็ง หรือมะเร็งตับต่อไปได้
ภาวะไขมันพอกตับ แบ่งออกเป็นสองประเภทหลัก ๆ ได้แก่
- ไขมันพอกตับในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ alcoholic fatty liver disease (AFLD)
- ไขมันพอกตับในผู้ที่ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ non-alcoholic fatty liver disease (NAFLD)
สาเหตุของไขมันพอกตับ
สาเหตุของไขมันพอกตับจากการดื่มแอลกอฮอล์ (AFLD)
การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นประจำและเป็นเวลานาน จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดไขมันสะสมในตับ เนื่องจากตับมีหน้าที่ในการเผาผลาญแอลกอฮอล์ ดังนั้นการบริโภคแอลกอฮอล์มากเกินไปจะทำให้ตับทำงานหนัก ประสิทธิภาพการทำงานของตับลดลง และยังทำให้เกิดการสะสมของไขมัน ซึ่งเป็นผลมาจากการสลายแอลกอฮอล์ ทำให้มีการสะสมของไขมันในเซลล์ตับมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้เกิด “ภาวะไขมันพอกตับ”
ทั้งนี้ปริมาณการบริโภคแอลกอฮอล์ที่สามารถนำไปสู่ไขมันพอกตับอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่โดยทั่วไปการศึกษาพบว่าการบริโภคแอลกอฮอล์มากกว่า 40 กรัม (หรือประมาณ 4 แก้ว) ต่อวันเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะไขมันพอกตับมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการพัฒนาจนเกิดภาวะไขมันพอกตับมักเกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ๆ อาจเป็นปีหรือหลายปี
สาเหตุไขมันพอกตับในผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์
- จากภาวะอ้วน หรือการมีไขมันส่วนเกินสะสมในร่างกายมากเกินไป โดยเฉพาะไขมันหน้าท้อง โดยจะสังเกตได้ว่าเป็นลักษณะการอ้วนแบบ “ลูกแอปเปิล” หรือ “apple-like” body shape
- มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน เนื่องจากอินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อร่างกายมีภาวะดื้อต่อการทำงานของอินซูลิน (ซึ่งมักพบในโรคอ้วนและผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2) ตับจะตอบสนองโดยการผลิตน้ำตาลกลูโคสมากขึ้น ทำให้เกิดการสะสมของไขมันในตับ
- รับประทานทานอาหารที่มีไขมันสูง เพราะจะทำให้มีระดับไขมันและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง และถูกนำไปเก็บสะสมไว้ที่ตับ นำไปสู่ภาวะไขมันพอกตับได้
อาการของไขมันพอกตับ
- ในระยะเริ่มแรกมักไม่มีแสดงอาการที่เห็นได้ชัดเจน ส่วนใหญ่จะตรวจพบจากการตรวจสุขภาพประจำปีหรือตรวจเลือดเพื่อดูค่าเอนไซม์ตับในเลือด
- ในบางรายอาจมีอาการ เช่น
- ปวดแน่นใต้ชายโครงด้านขวา
- เหนื่อยง่าย
- น้ำหนักลดลงอย่างหาสาเหตุไม่ได้
- ในรายที่มีการสะสมของไขมันในตับมากและเรื้อรัง อาจทำให้มีอาการของโรคตับแข็งได้ เช่น
- ตัวเหลือง ตาเหลือง
- เลือดออก หรือเป็นจ้ำเลือดง่าย
- เบื่ออาหาร
- ขา เท้า หรือข้อเท้าบวม
อาหารแบบไหนเสี่ยงทำให้เป็นไขมันพอกตับ?
ภาวะไขมันพอกตับอาจเกิดจากหลายปัจจัย รวมทั้งการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น
- อาหารที่มีไขมันสูง ทั้งไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ เช่น อาหารทอด เนื้อสัตว์ติดมัน ขนมขบเคี้ยว อาหารแปรรูป
- อาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง น้ำหวาน น้ำอัดลม
- บริโภคคาร์โบไฮเดรตขัดสีมากเกินไป เช่น ขนมปังขาว ข้าวขาว พาสต้า
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นไขมันพอกตับ
การวินิจฉัยไขมันพอกตับ
- การซักประวัติ: แพทย์จะซักถามอาการ พฤติกรรมการใช้ชีวิต การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสภาวะทางสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดไขมันพอกตับ
- การตรวจร่างกาย: แพทย์อาจตรวจร่างกายแล้วคลำพบว่าตับมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือกดเจ็บบริเวณช่องท้อง
- การตรวจเลือด: เพื่อประเมินการทำงานของตับและตรวจหาเอนไซม์ตับที่เพิ่มขึ้น เช่น ALT และ AST ซึ่งใช้ในการประเมินการทำงานของตับในเบื้องต้น
- FibroScan หรือ transient elastography: เป็นการตรวจโดยใช้เทคนิคของอัลตราซาวนด์ หรือคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง เพื่อใช้วัดความแข็งของตับ ซึ่งสามารถบ่งชี้ว่ามีพังผืดหรือรอยแผลเป็นในตับหรือไม่
- การตรวจพิเศษอื่น ๆ : เช่น การตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (computerized tomography; CT) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging; MRI) ซึ่งสามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่ชัดเจนมากขึ้นและช่วยระบุของเขตของความเสียหายของตับได้
- การตรวจชิ้นเนื้อตับ: ในบางกรณี แพทย์อาจพิจารณาให้ทำการตรวจชิ้นเนื้อตับเพื่อยืนยันการวินิจฉัยและประเมินความรุนแรงของภาวะไขมันพอกตับ
ไขมันพอกตับ เป็นแล้วหายได้ไหม?
ภาวะไขมันพอกตับเป็นภาวะที่สามารถรักษาให้หายได้ หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม โดยการรักษาเบื้องต้นสามารถทำได้โดย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต และการรับประทานอาหาร แต่หากยังพบว่ามีภาวะไขมันพอกตับอยู่ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
การรักษาไขมันพอกตับ
- ลดน้ำหนัก: หากมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน ควรค่อย ๆ ลดน้ำหนักด้วยการควบคุมอาหาร และรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพร่วมกับการออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยลดการสะสมของไขมันในตับได้
- ปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร: จำกัดการบริโภคอาหารแปรรูป เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ไขมันอิ่มตัว และคาร์โบไฮเดรตขัดสี เปลี่ยนไปบริโภคอาหารที่ให้มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ครบ 5 หมู่ รับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืช เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ และไขมันที่ดีต่อสุขภาพในมื้ออาหารแทน
- ออกกำลังกายเป็นประจำ: การออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายตอบสนองต่อการทำงานของอินซูลินได้ดีขึ้น และยังสามารถดึงไขมันในตับออกมาใช้ ทำให้ไขมันที่พอกอยู่ในตับลดลงได้ โดยตั้งเป้าหมายการออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์: ผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับจากแอลกอฮอล์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์โดยสิ้นเชิง เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดต่อตับมากขึ้น
- การรักษาด้วยการรับประทานยา: เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาในภาวะไขมันพอกตับโดยตรง ในบางกรณีแพทย์อาจจ่ายยาเพื่อช่วยจัดการโรคที่เกี่ยวข้อง หรือเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการสะสมของไขมันที่ตับเพิ่มมากขึ้น เช่น ยาควบคุมระดับคอเลสเตอรอล ไขมัน หรือควบคุมระดับน้ำตาล ในผู้ป่วยที่มีเบาหวานร่วมด้วย
การป้องกันไขมันพอกตับ
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หรือทุก 6 เดือน จะช่วยให้พบความผิดปกติของตับได้เร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะภาวะไขมันพอกตับสามารถตรวจเจอในระยะแรก ๆ โดยการตรวจเลือด อัลตราซาวนด์ หรือการตรวจด้วยเครื่อง FibroScan
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว หรือ อาหารที่มีไขมันทรานส์สูง เช่น เนื้อติดมัน เบคอน แฮม น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว เบเกอรี ครีมเทียม
- หลีกเลี่ยงน้ำตาลฟรุกโตส เช่น เครื่องดื่มที่มีรสหวาน คุกกี้ ลูกอม น้ำผลไม้ (ควรรับประทานผลไม้ทั้งผลมากกว่า)
- ควรรับประทานไขมันดี เช่น น้ำมันมะกอก อาโวคาโด ถั่วต่าง ๆ ปลาทู ปลาแซลมอน ปลาทูน่า
- หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อย 4-5 วันต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30-45 นาที
- ผู้ที่อยู่ในเกณฑ์อ้วน คือ มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ควรลดน้ำหนักตัว โดยสามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์ว่าควรจะมีน้ำหนักประมาณเท่าไร และควรลดน้ำหนักโดยวิธีใดได้บ้าง
- ลดการดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 5-6 ชั่วโมงต่อวัน
สรุป
การดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไปและการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดไขมันพอกตับ เนื่องจากการดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์ตับและทำให้ตับเสียการทำงานไป นอกจากนี้ อาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์สูงก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการสะสมของไขมันในตับ ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันภาวะไขมันพอกตับ ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ รักษาสุขภาพ รับประทานอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลต่ำ ก็จะช่วยรักษาสุขภาพและการทำงานของตับให้เป็นปกติ