หลายๆ คนอาจละเลยการตรวจสุขภาพประจำปี แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ารูปแบบวิถีชีวิตในปัจจุบัน ทำให้เราเสี่ยงต่อปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดโรคภัย ทั้งการพักผ่อนน้อย ความเครียด อาหาร และมลภาวะต่าง ๆ ที่ต้องเผชิญ
การตรวจสุขภาพประจำปี เป็นการตรวจที่ช่วยให้เรารู้ทันสภาพร่างกายของเรา ที่สำคัญหากตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ ทำให้มีโอกาสรักษาหายขาดได้ ไม่ปล่อยให้โรคลุกลาม
การตรวจสุขภาพประจำปี สำคัญอย่างไร?
จุดประสงค์หลักของการตรวจสุขภาพประจำปี คือ
- ตรวจคัดกรองเบื้องต้นตามปัจจัยเสี่ยงส่วนบุคคล โดยตรวจหาโรคแฝงที่เราเสี่ยงที่จะเป็น อาจด้วยพันธุกรรม หรือโรคที่พบบ่อย เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง มะเร็งในระยะแรกอย่าง มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก เป็นต้น
- ตรวจหาพฤติกรรมเสี่ยง หรือปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดโรค เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ ภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน เป็นต้น
@praram9hospital ตรวจสุขภาพที่นี่สะดวกมากกกก! ทำนัดได้เองตั้งแต่ที่บ้าน ไม่ต้องมารอนานๆ แล้ว~ 😌💅 #ตรวจสุขภาพ #โรงพยาบาลพระรามเก้า #Praram9Hospital ♬ Animal baby - 上野燿
อายุเท่าไหร่ ควรเริ่มตรวจสุขภาพประจำปี?
กลุ่มผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป เป็นช่วงวัยที่มีการแนะนำให้ตรวจสุขภาพประจำปี เพราะเป็นวัยที่มีความเสี่ยงต่อความเสื่อมสภาพของร่างกายและโอกาสเกิดโรคต่าง ๆ มากขึ้น เป็นช่วงอายุของวัยทำงาน ซึ่งมักไม่มีเวลาดูแลตัวเอง เครียดจากการทำงาน ในขณะเดียวกัน เป็นวัยที่มีกำลังทรัพย์ สามารถเลือกกินอาหารตามใจตัวเองมากขึ้น อาจมีปัญหาทางด้านโภชนาการ
แต่กลับไม่ใช่ช่วงวัยที่สามารถซ่อม สร้าง เสริม ร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับวัยเด็กหรือวัยรุ่น
ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม หากท่านมีความเสี่ยงของโรคมากกว่าคนทั่วไป เช่น มีประวัติครอบครัวเป็นโรค ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพแต่เนิ่น ๆ
การตรวจสุขภาพประจำปีในแต่ละช่วงอายุ
1. ผู้ที่มีอายุ 30 – 50 ปี เนื่องจากเป็นวัยที่มักมีภาระความรับผิดชอบในการทำงานที่สูงกว่าวัยอื่น มีเวลาดูแลตัวเองน้อยและมีความเครียดอย่างที่กล่าวไปข้างต้น โดยการตรวจเบื้องต้นที่แนะนำ คือ
- การตรวจร่างกายทั่วไป และหากมีประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง เบาหวาน มะเร็ง หรืออื่นๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบตอนซักประวัติ เพื่อรับข้อแนะนำที่เหมาะสมสำหรับการตรวจสุขภาพ
- ตรวจการได้ยิน และตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน
- การตรวจหาความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และภาวะซึมเศร้า
- หากดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือมีประวัติใช้สารเสพติด ควรเข้ารับการตรวจประเมินสภาวะสุขภาพเพิ่มเติมเป็นพิเศษด้วย
ผู้หญิงอายุ 30 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น ดังนั้น นอกจากการตรวจข้างต้นแล้วแนะนำให้ตรวจรายการเพิ่มเติมคือ– ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างน้อยปีละครั้ง หรือตามที่สูตินรีแพทย์แนะนำ
– อายุ 30 – 40 ปี หากประสงค์ตรวจเต้านม แนะนำตรวจคัดกรองด้วยการทำอัลตร้าซาวด์
– อายุตั้งแต่ 40 ปี ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรม อย่างน้อยปีละ 1 ครั้งข้อมูลเพิ่มเติม มะเร็งปากมดลูก และ มะเร็งเต้านม
ผู้ที่อายุระหว่าง 40 – 50 ปี ควรตรวจวัดสายตาและสุขภาพดวงตาเพิ่มเติมด้วย
– คัดกรองโรคต้อหิน ภาวะความดันลูกตาสูง ความผิดปกติอื่น ๆ อย่างน้อย 1 ครั้ง
2. ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ควรรับการตรวจสุขภาพประจำปีเหมือนกับกลุ่มวัยทำงาน แต่จะมีการตรวจที่แนะนำให้ตรวจเพิ่มเติม เนื่องจากอยู่ในวัยที่พบโอกาสที่จะเป็นโรคต่าง ๆ ได้มากขึ้น ได้แก่
- ตรวจอุจจาระ ปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
- ตรวจปัสสาวะ ปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจคัดกรองความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ
- การตรวจด้านภาวะทางโภชนาการ เช่น ระดับสารอาหารวิตามินต่าง ๆ
- ตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งตับ (AFP)
- ควรตรวจวัดระดับน้ำตาล ตรวจไขมันในเลือด และประเมินภาวะการทำงานของไต ด้วยการตรวจวัดระดับครีอะทีนิน (creatinine) เป็นประจำ ตามที่แพทย์แนะนำ
- ตรวจส่องกล้องทางเดินอาหารเพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ และ ตรวจติดตามทุก 5-10 ปี ตามนัดหมายแพทย์
- อายุ 60 ปีขึ้นไป ควรตรวจวัดความเสี่ยงภาวะกระดูกพรุน
- อายุ 60 – 64 ปี ควรตรวจตาทุก 2 – 4 ปี
- อายุ 65 ปีขึ้นไป ควรตรวจตาทุก 1 – 2 ปี และตรวจประเมินสมรรถภาพสมอง
3. ตรวจรายการเพิ่มเติมตามความเสี่ยง
โปรแกรมตรวจสุขภาพจะมีแพคเกจให้เลือกหลากหลาย โดยมักจะแบ่งตามช่วงอายุดังที่กล่าวไปข้างต้น
แต่หากสงสัยหรือพบว่าตนเองมีความเสี่ยง เช่น มีประวัติครอบครัว หรือมีอาการ/สัญญาณของโรคต่าง ๆ เช่น มีอาการแน่นหน้าอก ขับถ่ายผิดปกติ แขนขาอ่อนแรง หรืออาการผิดปกติอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์ และสามารถเลือกการตรวจคัดกรองโรคที่สงสัยเพิ่มเติม หรือเลือกแพคเกจตรวจเป็นแพคเกจอื่นได้ แม้จะยังไม่ถึงช่วงอายุที่แนะนำ
ตรวจสุขภาพประจำปี ดีอย่างไร ?
การตรวจสุขภาพประจำปีไม่เพียงแต่ช่วยค้นหาโรคภัยต่าง ๆ เท่านั้น ข้อมูลจากการตรวจสุขภาพยังสามารถบอกถึง ความแข็งแรง และความสมบูรณ์ของสุขภาพร่างกายในปัจจุบันด้วย และยังเป็นข้อมูลสำหรับการวางแผนสุขภาพในอนาคต เช่น วางแผนการรับประทานอาหาร ลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ การวางแผนออกกำลังกาย การลดน้ำหนัก การผักผ่อน ซึ่งเป็นการส่งเสริมสุขภาพ และทำให้มีสุขภาพร่างกายที่ดีตามมาอีกด้วย
สรุป
เรามักมีความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับการตรวจสุขภาพ หลายคนคิดว่าต้องรอให้มีอาการ หรือมีโรคประจำตัวก่อน แล้วค่อยไปตรวจ แต่ในความจริงแล้วการตรวจสุขภาพประจำทำให้เราทราบถึงสุขภาพร่างกายของเราในปัจจุบัน หรือหากตรวจพบโรค ก็จะเป็นการตรวจพบตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น โรคยังไม่รุนแรง ซึ่งทำให้รักษาได้อย่างทันท่วงที และมีโอกาศหายขาดได้ อีกทั้งยังเป็นข้อมูลสำหรับการวางแผนสุขภาพในอนาคต เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคภัยอีกด้วย