โรคริดสีดวงทวารเป็นโรคที่พบได้บ่อย ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการโป่งพองของหลอดเลือดขนาดเล็กบริเวณเยื่อบุช่องทวารหนัก รวมไปถึงมีการหย่อนของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของเยื่อบุช่องทวารหนัก ซึ่งหากมีขนาดใหญ่อาจรบกวนการใช้ชีวิต บางรายอาจมีเลือดออกและมีอาการปวดร่วมด้วย โดยแนวทางการรักษาริดสีดวงทวารนั้น มีทั้งการใช้ยา การปรับพฤติกรรม และการผ่าตัด
ริดสีดวงทวารคืออะไร?
ริดสีดวงทวาร (hemorrhoids) คือ ก้อนเนื้อที่เต็มไปด้วยหลอดเลือดที่นูนออกมาจากผนังของช่องทวารหนัก ในคนปกติก้อนนูนเหล่านี้ไม่ได้ก่อโรค แต่จะทำหน้าที่ป้องกันกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก และช่วยในการกลั้นอุจจาระเมื่อความดันในช่องท้องเพิ่มสูงขึ้น อย่างเช่นในเวลาไอหรือจาม อย่างไรก็ตามถ้าก้อนนูนเหล่านี้ผิดไปจากปกติ คือเกิดความหย่อนยานจนทำให้นูนยื่น และห้อยย้อยออกมาจากผนังช่องทวารหนักมากเกินไป ซึ่งหากมีการถลอกหรือเป็นแผลก็จะทำให้เลือดออก สร้างความเจ็บปวด และเป็นอุปสรรคในการขับถ่าย กลายเป็นโรคริดสีดวงทวารขึ้นมา
การวินิจฉัยแยกโรคริดสีดวงทวารจำเป็นต้องมีการตรวจร่างกายเพื่อแยกออกจากกลุ่มโรคที่มีอาการคล้ายกัน เช่น โรคแผลขอบทวาร ภาวะไส้ตรงปลิ้น ฝีหนอง โรคลำไส้แปรปรวน และโรคมะเร็งลำไส้
เกร็ดความรู้เพิ่มเติม คำว่า ริดสีดวง เป็นคำไทยที่มีรากศัพท์มาจากคำเขมร คือคำว่า ฤสดูง (อ่านว่า รึฮ์-โดว์ง) แปลว่า รากมะพร้าว โดยคำว่า ริดสีดวง มีการใช้ในชื่อโรคที่มีก้อนเนื้อ 3 โรค คือ ริดสีดวงทวาร ริดสีดวงจมูก และริดสีดวงตา
ผ่าตัดริดสีดวงเหมาะกับใคร?
การผ่าตัดริดสีดวงทวารเหมาะกับผู้ที่มีอาการมาก คือมีริดสีดวงทวารที่ยื่นออกมาพ้นรูทวารและหัวริดสีดวงใหญ่มากเกินกว่าจะหดกลับเข้าไปได้เอง หัวริดสีดวงที่โผล่ออกมาตลอดเวลาจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดหรือการขาดเลือดได้ นอกจากนั้น ยังมีกรณีที่จำเป็นที่ต้องได้รับการผ่าตัดริดสีดวงทวาร ดังต่อไปนี้
- รักษาด้วยยาและวิธีอื่นไม่ได้ผล
- มีทั้งริดสีดวงทวารชนิดภายในและชนิดภายนอก
- ริดสีดวงทวารชนิดภายในที่ยื่นออกมาติดคาและขาดเลือด (incarcerated internal hemorrhoids)
- ผู้ป่วยมีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติที่จำเป็นต้องห้ามเลือดที่ออกจากริดสีดวง
ผ่าตัดริดสีดวงมีกี่แบบ?
การผ่าตัดริดสีดวงทวารมีหลายเทคนิค โดยทั่วไปเทคนิคที่ได้รับความนิยมและให้ผลการรักษาที่ดีมีด้วยกัน 3 แบบ ดังนี้
- การผ่าตัดริดสีดวงทวารแบบดั้งเดิม (conventional hemorrhoidectomy)
เป็นการผ่าตัดริดสีดวงทวารที่แพร่หลายที่สุด ข้อดีคือสามารถลดโอกาสการเป็นซ้ำได้ดีที่สุด แต่ข้อเสียคือผู้ป่วยจะเจ็บปวดหลังการผ่าตัดมากที่สุดเมื่อเทียบกับเทคนิคการผ่าตัดแบบใหม่
การผ่าตัดริดสีดวงทวารแบบดั้งเดิมจะเป็นการตัดริดสีดวงและเย็บปิดแผลด้วยไหมละลาย การผ่าตัดแบบดั้งเดิมนี้จะต้องมีการดูแลหลังการผ่าตัดเพิ่มเติม คือ การแช่ก้นด้วยน้ำอุ่นเพื่อล้างแผล (sitz bath) - การผ่าตัดริดสีดวงทวารโดยใช้เครื่องมือฮาร์โมนิก (harmonic scalpel)
เป็นการผ่าตัดที่พัฒนามาจากการผ่าตัดริดสีดวงทวารแบบดั้งเดิม และมีการใช้เครื่องมือฮาร์โมนิกซึ่งใช้คลื่นอัลตร้าซาวนด์ในการตัดริดสีดวง ห้ามเลือด และเชื่อมปิดแผลในทันทีโดยไม่ต้องใช้ไหมเย็บ จึงช่วยลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อโดยรอบ และช่วยลดความเจ็บปวดหลังการผ่าตัด - การผ่าตัดริดสีดวงทวารโดยใช้เครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ (stapled hemorrhoidectomy หรือ procedure for prolapse and hemorrhoids; PPH)
เป็นเทคนิคใหม่ล่าสุดในการผ่าตัดริดสีดวงทวารในปัจจุบัน ตัวเครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติจะมีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอก ใส่เข้ารูทวารเพื่อดันเนื้อเยื่อที่หย่อนคล้อยให้กลับขึ้นไปยังตำแหน่งเดิมในช่องทวารหนัก แล้วตัดส่วนเกินซึ่งคือริดสีดวงทั้งหมดเป็นวงแหวนโดยรอบและเชื่อมปิดแผลตลอดวงรอบของผนังช่องทวารหนัก การผ่าตัดริดสีดวงทวารด้วยเทคนิคนี้เหมาะกับผู้ที่มีริดสีดวงทวารหลายตำแหน่ง ข้อดีของเทคนิคนี้คือทำให้เกิดความเจ็บปวดหลังผ่าตัดน้อยกว่าและใช้เวลาพักฟื้นน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม มีข้อเสียคือ มีโอกาสเป็นซ้ำได้มากกว่า เมื่อเทียบกับการผ่าตัดริดสีดวงทวารแบบดั้งเดิม
ผ่าตัดริดสีดวงอันตรายไหม?
การผ่าตัดริดสีดวงทวารเป็นการผ่าตัดที่ทำกันอย่างแพร่หลาย ไม่ซับซ้อน ใช้เวลาไม่นาน และจัดเป็นการผ่าตัดที่ปลอดภัย แต่อาจต้องใช้เวลาพักฟื้นนานเป็นสัปดาห์
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดริดสีดวง
- ตรวจวิเคราะห์ความสมบูรณ์ของร่างกายก่อนการผ่าตัด ได้แก่ ตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ (Lab), ตรวจทางรังสีวิทยา (X-Ray), และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)
- งดน้ำงดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด
- การผ่าตัดริดสีดวงไม่จำเป็นต้องมีการล้างลำไส้ด้วยยาระบายแบบที่ทำก่อนการส่องกล้องทางเดินอาหารเพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ แต่อาจจำเป็นต้องมีการสวนทวารเพื่อล้างเฉพาะส่วนไส้ตรงและลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย
ผลข้างเคียงที่อาจพบได้หลังผ่าตัดริดสีดวง
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดและรู้สึกบวมที่บริเวณผ่าตัดในสัปดาห์แรกหลังผ่าตัดริดสีดวง ในช่วงระยะนี้ควรได้รับยาแก้ปวด และยาระบายชนิดที่ทำให้อุจจาระนุ่ม (stool softeners) โดยอาการข้างเคียงอื่น ๆ ที่พบได้บ่อย มีดังนี้
- ปวดหัว มึนงง หรือชาที่บริเวณผ่าตัด จากฤทธิ์ของยาระงับความรู้สึก
- มีเลือดซึมบริเวณแผลผ่าตัด ซึ่งจะหายได้เองในหนึ่งสัปดาห์
- ปัสสาวะลำบากหรือปัสสาวะไม่ออก ซึ่งอาจต้องรักษาด้วยการใส่สายสวนปัสสาวะชั่วคราว
นอกจากนั้น อาการข้างเคียงที่พบได้น้อยมาก ได้แก่ การตีบของทวารหนัก เลือดออกในภายหลัง ริดสีดวงทวารกลับเป็นซ้ำ กลั้นอุจจาระไม่อยู่ หากผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์
ผ่าตัดริดสีดวงพักฟื้นกี่วัน?
การพักฟื้นหลังการผ่าตัดริดสีดวงทวาร โดยทั่วไปศัลยแพทย์จะให้นอนโรงพยาบาลอย่างน้อย 1 คืน เพื่อสังเกตอาการหลังการผ่าตัด หลังจากนั้นสำหรับผู้มีสุขภาพดีทั่วไปจะหายเจ็บแผลได้ในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังหนัก ๆ ประมาณ 1-2 เดือน และผู้ป่วยควรมาตามนัดเพื่อติดตามอาการ
สรุป
โรคริดสีดวงเป็นปัญหาหนึ่งของหลาย ๆ คน เพราะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน การผ่าตัดรักษาริดสีดวงเป็นการผ่าตัดที่ปลอดภัย ผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย และปัจจุบันมีการพัฒนาวิธีการผ่าตัด ทำให้อาการปวดน้อยลง แผลหายเร็วขึ้น ใช้เวลาพักฟื้นน้อยลง จึงทำให้ทางเลือกรักษาริดสีดวงด้วยการผ่าตัดเป็นวิธีการที่น่าสนใจในปัจจุบัน