ปัญหาหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท (หรือบางคนอาจเรียกว่า “หมอนรองกระดูกเคลื่อน” หรือ “กระดูกทับเส้น”) เป็นภาวะที่พบได้บ่อย ซึ่งมักทำให้เกิดอาการปวดที่รุนแรงและหรือมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ เช่น ปวดคอร้าวลงแขนและขา หรือการเดินที่ไม่ปกติ สถานการณ์เหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบาย แต่ยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตโดยรวม เมื่อการรักษาโดยการทำกายภาพบำบัดไม่เพียงพอ การผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทจึงกลายเป็นทางเลือกที่สำคัญที่สามารถช่วยฟื้นฟูความสามารถในการเคลื่อนไหวและลดอาการปวดลงได้
บทความนี้จะกล่าวถึงการผ่าตัดรักษาปัญหาหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท และเล่าถึงประสบการณ์ของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทที่มีอาการรุนแรง รวมถึงการฟื้นตัวหลังการผ่าตัด เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติ่มเกี่ยวกับการรักษาปัญหาหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทคืออะไร?
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือที่เรียกว่า “หมอนรองกระดูกเคลื่อน” หรือ “กระดูกทับเส้น” เป็นอาการที่เกิดจากหมอนรองกระดูกที่อยู่ระหว่างกระดูกสันหลังเคลื่อนออกมาและกดทับเส้นประสาทที่อยู่ใกล้เคียง ส่งผลให้เกิดอาการปวดหลัง ปวดร้าวลงขา ขาชาหรืออ่อนแรง
การผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเป็นการรักษาอาการในผู้ป่วยหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทที่มีอาการรุนแรงซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดหลังอย่างรุนแรง ร้าวไปที่ขาหรือแขน และอาจส่งผลต่อการเคลื่อนไหวหรือความรู้สึกในบางส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากการรักษาด้วยการรับประทานยา การทำกายภาพบำบัด หรือวิธีการรักษาโดยวิธีที่ไม่ผ่าตัดไม่สามารถบรรเทาอาการได้ การผ่าตัดอาจเป็นทางเลือกที่ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
อาการที่ควรเข้ารับการผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
- ปวดหลังหรือคอ: อาการปวดที่เกิดจากหมอนรองกระดูกเคลื่อน อาจร้าวลงขาหรือแขน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ถูกกดทับ
- ปวดร้าวลงขาหรือแขน: มีอาการปวดร้าวจากหลังลงขา หรือจากคอลงแขน
- มีอาการชา: ผู้ป่วยอาจรู้สึกชาหรือรู้สึกเป็นตะคริวที่ขาหรือแขน บางครั้งอาจมีอาการชาร่วมกับอาการปวด
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง: ยกขาหรือแขนไม่ขึ้น เดินลำบาก หรือเคลื่อนไหวไม่สมดุล
- ปวดมากขึ้นเมื่อเคลื่อนไหว: หากนั่งนาน ยืน หรือบิดตัว จะรู้สึกว่าอาการปวดแย่ลง
- ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้: ในกรณีรุนแรง หมอนรองกระดูกอาจกดทับเส้นประสาทที่ควบคุมการขับถ่าย ทำให้ไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะหรืออุจจาระได้ ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรักษาทันที
การผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
การผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมีหลายวิธี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของหมอนรองกระดูกและความรุนแรงของอาการ
- Microdiscectomy: เป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็ก (minimally invasive) เพื่อเอาส่วนของหมอนรองกระดูกที่ทับเส้นประสาทออก สำหรับการผ่าตัดแบบนี้ ศัลยแพทย์จะใช้กล้องขนาดเล็กในการผ่าตัดซึ่งทำให้สามารถเห็นและตัดส่วนที่ทับเส้นประสาทออกได้ วิธีนี้มีแผลขนาดเล็ก ผู้ป่วยจึงมักจะฟื้นตัวได้เร็ว ผู้ป่วยบางรายสามารถกลับมาเดินได้ภายในวันเดียวหลังผ่าตัด
- Laminectomy: การผ่าตัดเอากระดูกบางส่วนออกเพื่อลดแรงกดบนเส้นประสาท
- Spinal Fusion: กรณีที่หมอนรองกระดูกมีความเสียหายอย่างรุนแรง แพทย์อาจทำการผ่าตัดเชื่อมกระดูกสองปล้องเข้าด้วยกัน เพื่อทำให้กระดูกสันหลังมีความมั่นคงขึ้น
- การใส่หมอนรองกระดูกเทียม (Artificial Disc Replacement): การรักษาแบบนี้เป็นการนำหมอนรองกระดูกที่เสียหายออก และใส่หมอนรองกระดูกเทียมที่ทำจากวัสดุพิเศษเข้าไปแทนที่ การใส่หมอนรองกระดูกเทียมช่วยให้ผู้ป่วยยังสามารถเคลื่อนไหวกระดูกสันหลังได้อย่างเป็นธรรมชาติ
การฟื้นตัวหลังการผ่าตัด
หลังจากการผ่าตัด ผู้ป่วยจะต้องพักฟื้นและอาจต้องทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูการเคลื่อนไหวและเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยบางรายอาจกลับมาเดินได้ภายในวันเดียวหลังจากผ่าตัด โดยเฉพาะในกรณีที่ใช้การผ่าตัดแบบแผลเล็ก ซึ่งเป็นวิธีผ่าตัดที่มีการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อรอบข้างน้อย และฟื้นตัวเร็ว
อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาการฟื้นตัวที่สมบูรณ์อาจแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล โดยทั่วไปการฟื้นตัวอาจใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รวมถึงเลี่ยงการยกของหนักหรือกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงกดที่หลัง
ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
เช่นเดียวกับการผ่าตัดทุกชนิด การผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมีความเสี่ยง เช่น การติดเชื้อ เลือดออก เส้นประสาทถูกทำลาย หรือภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงเหล่านี้ค่อนข้างต่ำ หากได้รับการรักษาจากแพทย์ที่มีประสบการณ์และความชำนาญ
ประสบการณ์ตรงจากผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
จากประสบการณ์ตรงของทันตแพทย์หญิงสุดรัตน์ จิตต์เจริญรุ่ง (อายุ 51 ปี) ที่ต้องทำงานรักษาคนไข้เป็นเวลานาน ๆ ทำให้เธอต้องเผชิญกับโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท และปัญหาอื่น ๆ ที่ตามมา นั่นคือ หมอนรองกระดูกเสื่อม และหมอนรองกระดูกทับไขสันหลัง จนทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
อาการเริ่มต้น
อาการเริ่มต้นจากการทำงานรักษาฟันคนไข้ที่เริ่มไม่ค่อยสะดวก เริ่มรู้สึกว่าไม่มีแรงในการถอนฟันคนไข้ จากนั้นก็มีอาการปวดร่างกายด้านขวาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปวดตั้งแต่คอ ร้าวลงไปถึงแขนและขา และมือก็ใช้งานได้ไม่เหมือนเดิม โดยอาการจะชัดเจนมากขึ้นในวันที่ต้องทำงานหนักหรือรักษาคนไข้เป็นเวลานาน ๆ หรือในช่วงที่ต้องขับรถนาน ๆ ซึ่งได้พยายามอดทนเป็นเวลากว่า 2-3 เดือน จนไม่สามารถรับสภาพความเจ็บปวดนี้ได้อีก จึงตัดสินใจที่จะหาวิธีรักษา เพื่อให้สามารถกลับมาทำงานและใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
ตัดสินใจจะเข้ารับการรักษา ประกอบกับมีคนรู้จักที่เคยมีอาการคล้ายกัน และเพิ่งจะรักษาหายเป็นปกติเมื่อ 3 เดือนก่อนแนะนำให้มารักษาที่ศูนย์กระดูกสันหลัง (Advanced Spine Center) รพ.พระรามเก้า โดยมีแพทย์เฉพาะทาง มีความชำนาญ และมีประสบการณ์ในการผ่าตัดที่ซับซ้อน รวมไปถึงการผ่าตัดซ้ำ (Revision Spine) สำหรับผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดมาก่อน ทำให้ผู้ป่วยท่านนี้มั่นใจและตัดสินใจเข้ารับการรักษาที่ รพ.พระรามเก้า
อาการที่พบ
นอกจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทแล้ว ผู้ป่วยท่านนี้ยังมีอาการหมอนรองกระดูกทับไขสันหลังร่วมด้วย ทั้งยังพบความเสื่อมของหมอนรองกระดูก และมีการผิดรูปร่างของโครงสร้างค่อนข้างมาก จึงจำเป็นต้องใช้การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดโดยด่วน
การฟื้นตัวหลังผ่าตัดที่รวดเร็ว
ทันตแพทย์หญิงสุดรัตน์ได้กล่าวว่า รู้สึกเหมือนมีเวทมนตร์ที่ทำให้เธอสามารถกลับมาเดินได้เป็นปกติภายในวันเดียว หลังจากการรักษา เธอไม่รู้สึกปวดคอร้าวลงแขนอีกต่อไป และสามารถใช้แขนและเดินได้ตามปกติ แม้จะบอกว่ามันเหมือนเวทมนตร์ แต่เธอก็เข้าใจดีว่าทั้งหมดนี้เกิดจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ และความชำนาญของแพทย์ที่รักษาตนเอง
สิ่งที่เธออยากฝากถึงผู้ป่วยที่มีอาการเดียวกับเธอคือ อาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทและเสื่อมสามารถรักษาให้หายได้ ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และเราสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติอีกครั้ง
สรุป
การผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือการผ่าตัดกระดูกทับเส้นเป็นวิธีทางเลือกการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจนรบกวนการใช้ชีวิตตามปกติ ซึ่งอาการสำคัญที่ควรสังเกต คือ อาการปวดคอร้าวลงแขนและขา รวมถึงปัญหาในการใช้แขนและการเดิน หากอาการไม่รุนแรงมาก อาจบรรเทาอาการได้โดยการทำกายภาพบำบัด หรือรักษาด้วยยา แต่หากมีอาการรุนแรง การผ่าตัดจะเป็นทางเลือกที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง นอกจากนี้ แม้บางคนจะเคยทำการผ่าตัดแล้วแต่ยังไม่หายดี ก็ควรเข้ารับการวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อค้นหาวิธีการรักษาที่เหมาะสม เพื่อทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น