ผู้ที่มีอาการหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเคลื่อนกดทับเส้นประสาท มักจะมีอาการที่ทำให้กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องมาจากอาการปวดหลัง หรือปวดสะโพกแล้วร้าวลงขา แรก ๆ ผู้ป่วยอาจจะยังสามารถทนกับอาการดังกล่าวได้ แต่ในระยะต่อไปอาการจะมากขึ้น หากไม่รีบรักษาอาจทำให้เกิดความผิดปกติจน เดินไม่ได้ ดังนั้นหากมีอาการของโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการรักษาต่อไป
หมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเคลื่อนกดทับเส้นประสาท คืออะไร ?
โรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท หรือที่เรียกกันว่า “หมอนรองกระดูกทับเส้น” เกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังแตกแล้วปลิ้นออกไปกดทับเส้นประสาทที่อยู่ในโพรงกระดูกสันหลัง
ปกติแล้วกระดูกสันหลังของคนเราแต่ละข้อจะมีหมอนรองกระดูกสันหลัง (intervertebral disc) คั่นอยู่ ทำหน้าที่รองรับแรงกระแทก เหมือนกับ ‘โช้คอัพ’ ของรถยนต์ ช่วยป้องกันความเสียหายของกระดูกสันหลัง และภายในกระดูกสันหลังจะมีโพรงซึ่งเป็นที่อยู่ของเส้นประสาท ดังนั้นหากมีการแตกและปลิ้นของหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวจึงทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทส่วนเอว และทำให้เกิดอาการปวดหลังร้าวลงสะโพกได้
หมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเคลื่อนกดทับเส้นประสาท เกิดจากสาเหตุใด?
หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- การใช้หลังผิดท่าทาง เช่น ท่านั่งไม่ถูกวิธี การก้มยกของหนักไม่ถูกวิธี
- การไอจามแรง ๆ
- ความเสื่อมของร่างกาย
- อุบัติเหตุที่ทำให้ความดันในหมอนรองกระดูกหรือช่องท้องเพิ่มขึ้นอย่างเฉียบพลัน ทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนตัวออกมาจนเข้าไปกดเบียดเส้นประสาทที่อยู่ด้านหลัง
อาการของหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท
เมื่อเส้นประสาทที่ไขสันหลังถูกกดทับ เส้นประสาทจะเกิดการอักเสบ ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการ ดังต่อไปนี้
- ปวดหลังหรือสะโพกร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง
- ชา หรืออ่อนแรงขา และอาจมีอาการชาเท้าร่วมด้วย
- หากรุนแรงจะมีอาการของระบบขับถ่ายร่วมด้วย เช่น ปัสสาวะไม่ออก ท้องผูก
- ในระยะที่รุนแรงขึ้น อาการปวด ชา และอ่อนแรงจะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเส้นประสาทบาดเจ็บซึ่งเสี่ยงต่อความพิการได้
การรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
สำหรับการรักษาเบื้องต้น แพทย์มักจะเริ่มด้วยการรักษาแบบประคับประคอง (conservative treatments) ได้แก่ การพักผ่อน งดกิจกรรมหนัก การใช้ยา รวมถึง การทำกายภาพบำบัด เพื่อลดอาการปวด อย่างไรก็ตามหากอาการไม่ทุเลา หรือมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เช่น มีอาการขาชาหรืออ่อนแรงมากขึ้น หรือมีการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ อุจจาระผิดปกติไป อาจเป็นสัญญาณอันตรายที่ผู้ป่วยควรต้องรีบรับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด (surgical treatments)
โดยทั่วไปของการผ่าตัดรักษา คือ ตัดเอาหมอนรองกระดูกเฉพาะส่วนที่เคลื่อนออกมากดทับเส้นประสาทออก (discectomy) โดยในปัจจุบันสามารถผ่าตัดโดยใช้เทคนิคการผ่าตัดแบบส่องกล้อง(endoscope) จะช่วยให้แพทย์มองเห็นเส้นประสาทชัดเจนมากขึ้น และช่วยลดการทำลายเนื้อเยื่อส่วนดีที่อยู่รอบบริเวณผ่าตัด ทำให้ร่างกายมีความบอบช้ำน้อย ผู้ป่วยจะปวดแผลน้อยลง และมีแผลเล็ก ผู้ป่วยจึงฟื้นตัวไว สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น
ประสบการณ์ผู้ที่เคยผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลัง
อย่างไรก็ตาม ก่อนการผ่าตัด ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการประเมินก่อนผ่าตัดอย่างละเอียด โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่จะใช้ดุลยพินิจ เลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด สำหรับผู้ป่วยแต่ละราย
ข้อมูลเพิ่มเติม : ศูนย์กระดูกสันหลังโรงพยาบาลพระรามเก้า
การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
แม้ว่าโรคนี้จะมีปัจจัยที่เราไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น ความเสื่อมตามวัย แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่สามารถป้องกันได้ เช่น การใช้หลังให้ถูกท่าทาง การนั่งด้วยท่าทางที่ถูกต้อง หากต้องนั่งนาน ๆ ควรลุกเปลี่ยนอิริยาบถบ้างเป็นระยะ เมื่อต้องยกของหนักจากพื้นต้องย่อเข่า ไม่ก้มโค้งหลังลงไปเพื่อยกของ และควรหมั่นฝึกบริหารกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้องให้แข็งแรง ก็จะช่วยป้องกันการบาดเจ็บของหมอนรองกระดูกสันหลัง และยืดอายุการใช้งานของหมอนรองกระดูก ไม่ให้เสื่อมสภาพก่อนวัยอันควรได้อีกด้วย
สรุป
โรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเคลื่อนกดทับเส้นประสาท เป็นโรคที่ทำให้มีอาการปวดหลัง หรืออาจมีอาการชาขา หรือเท้า ทำให้กิจวัตรประจำวันหากปล่อยไว้เรื้อรังจะทำให้เส้นประสาทไขสันหลังที่ถูกกดทับเสียหายมากขึ้นได้ อาการก็จะรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นหากเมื่อพบว่ามีอาการปวดหลังแล้วร้าว ชา ลงขา ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยรักษาให้ทันท่วงทีเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายรุนแรงจนทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพได้