ในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวไทยนิยมการท่องเที่ยวในที่สูงมากขึ้น เช่น การไปเดินเขา หรือ trekking ตามยอดเขาสูงต่าง ๆ เช่น เอเวอร์เรสในประเทศเนปาล คิลิมันจาโรในประเทศแทนซาเนีย การไปเที่ยวเมืองเลห์ ลาดัก ประเทศอินเดีย เมืองคุซโก้ มาชูปิกชู แหล่งอารยธรรมโบราณของชาวอินคา ประเทศเปรู เป็นต้น
สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวการเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวหญิงไทย 2 รายที่ไป trekking ที่เทือกเขาอันนะปุรณะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย ประเทศเนปาล แม้ขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่ชัด แต่การไป trekking ในที่สูงในสภาพอากาศหนาวอุณหภูมิติดลบเช่นในกรณีนี้ อาจเกิดอันตรายแก่ร่างกายจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ซึ่งสาเหตุที่เป็นไปได้ อาจเป็นจากภาวะแพ้ที่สูง หรือ High-altitude illness หรือจากสภาวะอากาศที่หนาวจัดจนเกิดภาวะ อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ หรือ Hypothermia
ในบทความนี้จะพูดถึง ภาวะแพ้ที่สูง และ การบาดเจ็บจากความเย็น ได้แก่ ภาวะ hypothermia ซึ่งเป็นสองภาวะที่เป็นสาเหตุการเจ็บป่วยที่สำคัญและนำไปสู่การเสียชีวิตสำหรับผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวในที่สูง นอกจากนี้ ยังขอกล่าวถึงการบาดเจ็บจากหิมะกัด (Frostbite) ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเดินทางไปที่สูงในสภาวะที่อุณหภูมิหนาวจัดควรทราบ ผู้ที่จะเดินทางขึ้นที่สูงควรมีความรู้ ทราบถึงอาการ การป้องกัน และการรักษาเบื้องต้น เพื่อป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยถึงขั้นเสียชีวิต
ภาวะแพ้ที่สูง (High-altitude illness)
คือภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาวะที่มีออกซิเจนต่ำได้ ทำให้เกิดอาการจากการขาดออกซิเจน อาการมีตั้งแต่อาการเล็กน้อย ได้แก่ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร (Acute mountain sickness หรือ AMS) จนกระทั่งอาการรุนแรง ได้แก่ อาการสมองบวม ( High altitude cerebral edema หรือ HACE) ซึ่งจะมีอาการสับสน เดินเซ ซึม หรือ อาการปอดบวม ( High altitude pulmonary edema หรือ HAPE) ซึ่งจะมีอาการ เหนื่อย ไอเสมหะสีชมพู อาการรุนแรงเหล่านี้นำไปสู่การเสียชีวิตได้ภายในเวลา 24 ชม.
อาการแพ้ที่สูงจะเกิดได้ที่ระดับความสูงตั้งแต่ 2500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ยิ่งสูงมากความดันออกซิเจนในบรรยากาศยิ่งลดลง เช่น
- ที่ระดับความสูง 3000 เมตร ระดับออกซิเจนในบรรยากาศจะอยู่ที่ประมาณ 70% ของระดับน้ำทะเล
- ที่ระดับความสูง 4000 เมตร ระดับออกซิเจนในบรรยากาศจะอยู่ที่ประมาณ 60% ของระดับน้ำทะเล
- ที่ระดับความสูง 5000 เมตร ระดับออกซิเจนในบรรยากาศจะอยู่ที่ประมาณ 50% จากระดับน้ำทะเล
- ที่ระดับความสูง 8000 เมตร เรียกว่า Dead zone ระดับออกซิเจนในบรรยากาศเหลือเพียงแค่ 30% ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้
ดังนั้น ยิ่งอยู่ที่สูงมาก โอกาสเกิดอาการยิ่งมากขึ้นและรุนแรง หากร่างกายปรับตัวไม่ทัน
กลไกการปรับตัวของร่างกาย
เมื่อเราอยู่ในที่สูงซึ่งความดันของออกซิเจนในบรรยากาศน้อย ร่างกายจะปรับตัวเพื่อให้ออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมากขึ้น เช่น อัตราการหายใจเพิ่มขึ้น ชีพจรเต้นเร็วขึ้น หัวใจบีบตัวแรงขึ้น ไตขับด่างออกจากปัสสาวะมากขึ้นเพื่อรักษาสมดุลในร่างกาย ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ใช้เวลา 3-5 วัน กว่าที่ร่างกายจะปรับตัวได้ ดังนั้นหากร่างกายยังไม่สามารถปรับตัวในภาวะออกซิเจนต่ำได้ ก็จะเกิดอาการต่างๆ ซึ่งเป็นอาการแพ้ที่สูง
ปัจจัยที่มีผลต่อภาวะแพ้ที่สูง
ปัจจัยที่มีผลต่อการแพ้ที่สูงได้แก่
- พันธุกรรม
- ประวัติแพ้ที่สูงก่อนหน้านี้
- อัตราการเปลี่ยนแปลงความสูง ถ้ายิ่งมีการเปลี่ยนแปลงความสูงเร็ว ร่างกายปรับตัวไม่ทัน ก็จะมีโอกาสเกิดอาการแพ้ที่สูงได้มากขึ้น เช่น เดินทางขึ้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ไปยังระดับ 3500 เมตรในหนึ่งวัน ก็จะมีโอกาสเกิดอาการมากกว่าผู้ที่ขึ้นที่สูงไประดับ 3000 เมตรในหนึ่งวัน หรือระหว่างขึ้นที่สูงหากอัตราการเปลี่ยนแปลงความสูงแต่ละวันมากก็จะมีโอกาสเกิดอาการมากกว่าการค่อย ๆ เปลี่ยนความสูง
- โรคประจำตัวที่มีผลต่อการหายใจ เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่ทำให้กล้ามเนื้อกระบังลมอ่อนแรง โรคปอดเรื้อรังที่มีผลต่อการแลกเปลี่ยนแก๊ส เช่น ปอดอุดกันเรื้อรัง(COPD) ความดันในปอดสูง โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
- การรับประทานยาที่กดการหายใจ เช่น ยานอนหลับ
- การดื่มแอลกอฮอล์ที่มีฤทธิ์กดการหายใจ
อาการแพ้ที่สูงแบ่งได้เป็น
อาการไม่รุนแรง (Acute mountain sickness หรือ AMS)
ได้แก่อาการปวดศีรษะร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาการจะเกิดขึ้นภายใน 2-12 ชม.หลังจากขึ้นที่สูง โดยมักจะมีอาการตอนกลางคืนของวันแรกและอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเองหลัง 48 ชม.ไปแล้ว
อาการรุนแรง ได้แก่
- High altitude cerebral edema หรือ HACE คืออาการสมองบวม เป็นอาการที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจาก AMS โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการขึ้นที่สูงมากขึ้นโดยที่อาการ AMS ยังไม่ดีขึ้น โดยจะมีอาการปวดศีรษะมากขึ้น อ่อนเพลียมากขึ้น สับสน เดินเซ จนกระทั่ง ซึมลง และเสียชีวิตได้ภายใน 24 ชม. หากไม่นำผู้ป่วยลงมาจากที่สูง
- High altitude pulmonary edema หรือ HAPE จะเกิดขึ้นภายใน 2-4 วันหลังจากขึ้นที่สูง โดยอาการแรกคืออาการเหนื่อยง่ายเวลาออกแรง ไอแห้ง ๆ จากนั้นจะไอมากขึ้น เหนื่อยมากขึ้นแม้ขณะอยู่เฉย ๆ ไอเสมหะเป็นฟองสีชมพู และเสียชีวิตได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว ภาวะ HAPE นี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่พบมากที่สุดจากภาวะแพ้ที่สูง
การรักษาภาวะแพ้ที่สูง
- หากมีอาการยังไม่รุนแรง เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ (AMS) และไม่สามารถลงมาจากที่สูงได้ ให้นอนพัก เคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด จนกว่าอาการจะดีขึ้นจึงจะสามารถเดินทางขึ้นไปต่อได้ ส่วนมากอาการจะดีขึ้นใน 24-48 ชม. หากยังฝืนเดินขึ้นที่สูงต่อจะทำให้อาการแย่ลง
- รับประทานยาแก้ปวด ยาแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน เพื่อบรรเทาอาการ อาจรับประทานยา Acetazolamide 250 มิลลิกรัม 1 เม็ดทุก 12 ชม. เพื่อช่วยให้ร่างกายปรับตัวได้เร็วขึ้น หากอาการ AMS รุนแรง อาจใช้ยา Dexamethasone รับประทานหรือฉีด อย่างไรก็ตามการนำยาไปรับประทานควรปรึกษาแพทย์ก่อน
- หากอาการไม่ดีขึ้นและยังลงมาจากที่สูงไม่ได้ ให้หาสถานพยาบาลใกล้เคียงเพื่อรับออกซิเจนสูดดมต่อเนื่องก็จะช่วยให้อาการดีขึ้น แต่หากไม่มีสถานพยาบาลใกล้เคียงให้ลงจากที่สูง ไม่ฝืนเดินทางต่อ
- การรักษาภาวะ HACE : หากยังไม่สามารถลงจากที่สูงได้และมีสถานพยาบาลใกล้เคียงสามารถรักษาเบื้องต้นโดยการให้ออกซิเจนต่อเนื่องและยา Dexamethasone ได้ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นหรืออยู่ในที่ที่ไม่มีสถานพยาบาลให้รีบลงมาจากที่สูง
- การรักษาภาวะ HAPE : เนื่องจากเป็นภาวะที่นำไปสู่การเสียชีวิตได้รวดเร็ว ดังนั้นหากมีอาการที่สงสัยภาวะนี้ ควรรีบลงมาจากที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีอาการรุนแรง ได้แก่ เหนื่อยขณะพัก หากยังไม่สามารถลงจากที่สูงได้ให้รีบหาสถานพยาบาลเพื่อรับออกซิเจนแบบสูดดมต่อเนื่องระหว่างรอการเคลื่อนย้าย
การใช้ยาป้องกันที่สูง
กรณีที่ต้องขึ้นที่สูงในระยะเวลาอันสั้น เช่นขึ้นที่สูงเกิน 3000 เมตร โดยไม่มีเวลาในการปรับตัว อาจรับประทานยาป้องกันที่สูง โดยควรปรึกษาแพทย์ก่อน ถึงข้อบ่งชี้ การรับประทานยา และผลข้างเคียง ได้แก่
- ยา Acetazolamide ช่วยให้ร่างกายปรับตัวเข้ากับสภาวะออกซิเจนต่ำได้เร็วขึ้น โดยรับประทานครั้งละ 125 มิลลิกรัม (ครึ่งเม็ด) ทุก 12 ชม. ก่อนขึ้นที่สูง 24 ชม.
- ยา Dexamethasone ทาน 2 มิลลิกรัมทุก 6 ชม. หรือ 4 มิลลิกรัมทุก 12 ชม. ใช้เป็นทางเลือกกรณีมีข้อห้ามในการใช้ยา Acetazolamide เนื่องจากมีผลข้างเคียงมาก
คำแนะนำการป้องกันภาวะแพ้ที่สูง
สิ่งสำคัญของการเตรียมตัวเพื่อป้องกันภาวะแพ้ที่สูงอาจไม่ใช่เพื่อป้องกันอาการเล็กน้อย (Acute mountain sickness) เนื่องจากมีโอกาสเกิดขึ้นได้แม้มีการเตรียมตัวอย่างดีแล้ว แต่เป็นการป้องกันอาการรุนแรงและการเสียชีวิตจากภาวะแพ้ที่สูง จึงควรต้องมีความรู้และการเตรียมตัวที่ดีก่อนการเดินทาง
- ศึกษาเส้นทางการเดินให้ดี วางแผนการเดินทางว่าจะใช้เวลากี่วัน หยุดพักที่ไหนบ้าง เพื่อให้อัตราการขึ้นไม่เร็วจนเกินไปจนเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแพ้ที่สูง
- ปรึกษาแพทย์ก่อนการเดินทางเรื่องการเตรียมตัว การรับประทานยาป้องกันที่สูง การรักษาอาการแพ้ที่สูงเบื้องต้น
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินสภาวะความพร้อมของร่างกายก่อนเดินทาง
- เมื่ออยู่บนที่สูงให้พยายามเดินช้า ๆ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักหรือมีกิจกรรมทางกายมากในวันแรกของการขึ้นที่สูง เพราะจะเสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้ที่สูง
- ก่อนเดินทางขึ้นที่สูงมากกว่า 3000 เมตรในวันแรก ควรมีเวลาได้นอนบนที่สูง 2500-3000 เมตร อย่างน้อย 1 คืนก่อนที่จะขึ้นที่สูง จะช่วยให้ร่างกายปรับตัวได้
- หากขึ้นที่สูงเกิน 3000 เมตร ไม่ควรเปลี่ยนความสูงมากกว่า 500 เมตรต่อวัน และทุก ๆ 1000 เมตร ควรได้นอนพักบนความสูงนั้นอย่างน้อย 2 วันจึงจะเดินทางขึ้นไปต่อ
- การเดินขึ้นที่สูงมากขึ้นในตอนกลางวันและกลับลงมาที่ต่ำกว่าในตอนกลางคืน จะช่วยให้การปรับตัวดีขึ้น
- หมั่นสังเกตอาการแพ้ที่สูง หากมีอาการที่สงสัยแม้เล็กน้อย ก็ควรหยุดพักจนกว่าอาการจะดีขึ้น ไม่ควรฝืนเดินทางต่อเพราะจะทำให้อาการรุนแรงขึ้น หากพักแล้วอาการไม่ดีขึ้นให้ลงมาจากที่สูง
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และการใช้ยานอนหลับในขณะขึ้นที่สูงเพราะจะกดการหายใจ
- ควรทำประกันการเดินทางที่ครอบคลุมการช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินโดยครอบคลุมการเคลื่อนย้ายทางอากาศโดยเฮลิคอปเตอร์หากมีอาการรุนแรงขณะอยู่บนที่สูง
การบาดเจ็บจากความเย็น (Cold injury)
1.ภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ (Hypothermia)
คือสภาวะที่อุณหภูมิร่างกายลดต่ำกว่า 35 องศาเซลเซียส ซึ่งจะนำไปสู่การลดลงของระดับความรู้สึกตัว โคม่าและเสียชีวิตได้
เกิดจากการที่ร่างกายอยู่ในที่ที่อุณหภูมิต่ำเป็นระยะเวลานาน ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องอยู่ในอุณหภูมิติดลบก็ก่อให้เกิดภาวะนี้ได้ เช่นการแช่อยู่ในน้ำอุณหภูมิประมาณ 20 องศาเซลเซียสเป็นเวลานาน หรือปัจจัยอื่นร่วมด้วยเช่น ลม ความชื้นเช่นการสวมใส่เสื้อผ้าที่เปียก แม้ในอากาศที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส ก็ทำให้เกิด hypothermia ได้
อาการ
มีได้ตั้งแต่อาการเล็กน้อย คือ อุณหภูมิร่างกาย 35-32 องศาเซลเซียส จะมีอาการหนาวสั่น สับสน พูดไม่ชัด จนกระทั่งอาการรุนแรงคืออุณหภูมิต่ำว่า 32 องศาเซลเซียส ซึ่งระบบการควบคุมอุณภูมิของร่างกายจะเสียไป ไม่มีอาการสั่น ไม่รู้สึกตัว หัวใจเต้นช้า หรืออาจหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรงจนกระทั่งหัวใจหยุดเต้น
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
เนื่องจากเป็นภาวะฉุกเฉิน ควรรีบนำผู้ป่วยไปรักษาในสถานพยาบาลใกล้เคียงโดยเร็วที่สุด ระหว่างรอการนำส่งรพ.ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นดังนี้
- รีบนำผู้ป่วยเข้าไปในห้องหรือที่กำบังที่อุ่น และแห้ง
- ถอดเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มต่างๆที่เปียกออก เปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าที่แห้ง
- ทำให้ร่างกายอุ่น โดยห่มด้วยผ้าห่มหรือถุงนอนคลุม โดยต้องเป็นผ้าที่แห้ง
- ดื่มน้ำอุ่นเพื่อช่วยให้ร่างกายอุ่นหากยังมีสติอยู่ ระหว่างรอนำผู้ป่วยส่งรพ.
2.การบาดเจ็บจากหิมะกัด (Frostbite)
เกิดจากการที่เนื้อเยื่อร่างกายสัมผัสกับอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส จนทำให้เกิดเป็นผลึกน้ำแข็งในเซลล์ เกิดการทำลายเซลล์ ส่งผลทำให้เนื้อเยื่อบาดเจ็บ ถูกทำลาย นำไปสู่เนื้อเยื่อตาย ซึ่งอาจต้องผ่าตัดอวัยวะส่วนที่บาดเจ็บทิ้ง นำไปสู่การสูญเสียอวัยวะถาวร
บริเวณที่เกิดหิมะกัดจะเป็นบริเวณอวัยวะส่วนปลายที่เลือดไปเลี้ยงน้อย เช่น ปลายมือ ปลาเท้า จมูก ใบหู แก้ม คาง
ความรุนแรงของอาการหิมะกัดแบ่งออกเป็น 3 ระดับตามความลึกของชั้นผิวหนังและเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บ
- ระดับที่ 1 บาดเจ็บบริเวณชั้นหนังกำพร้า มีอาการแดง บวม ปวด ชา เนื้อเยื่อยังไม่ถูกทำลาย ไม่เกิดผลแทรกซ้อนตามมา
- ระดับที่ 2 บาดเจ็บในชั้นผิวหนังแท้ ผิวหนังมีสีซีด ปวด บวม ชา มีตุ่มน้ำที่ผิวหนัง เกิดผลแทรกซ้อนระยะยาวได้ เช่น ผิวหนังรู้สึกไวต่อความเย็นกว่าปกติ อาการชาเรื้อรัง
- ระดับที่ 3 บาดเจ็บทั้งชั้นผิวหนังจนถึงเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังได้แก่ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ผิวหนังเป็นสีคล้ำ ดำ มีถุงน้ำสีดำ ผิวหนังที่บาดเจ็บกลายเป็นเนื้อตายและจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดนำเนื้อเยื่อที่ตายออก
ปัจจัยที่มีผลต่อ Frostbite
ได้แก่ สภาพอากาศ อุณหภูมิ กระแสลม ระยะเวลาที่สัมผัสอากาศหนาว ไม่ได้อยู่ในที่กำบัง การอยู่ที่สูง การสัมผัสความชื้น การดื่มแอลกอฮอล์ อายุเยอะ ภาวะขาดสารอาหาร โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไทรอยด์ต่ำ เส้นเลือดส่วนปลายตีบ เป็นต้น
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- หาที่กำบังหรือเข้าไปอยู่ในห้องหรือที่พักเพื่อหลีกเลี่ยงการอยู่ในอุณภูมิที่หนาว
- ถอดเสื้อผ้า ถุงมือ ถุงเท้าที่เปียกออก และเปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มที่แห้งและสะอาด หลีกเลี่ยงการถูบริเวณที่บาดเจ็บ
- คลุมบริเวณที่บาดเจ็บด้วยผ้าที่แห้ง หากมีอาการเล็กน้อยการให้ความอบอุ่นแก่บริเวณที่บาดเจ็บ จะทำให้อาการดีขึ้นได้
- แช่มือและเท้าในน้ำอุ่น 40-42 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 15-30 นาที แต่ต้องแน่ใจว่ามือและเท้าจะไม่สัมผัสกับความเย็นอีกซึ่งจะทำให้การบาดเจ็บจากหิมะกัดเป็นมากขึ้น
- หากอาการไม่ดีขึ้นหรืออาการรุนแรงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาในสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
- หากเนื้อเยื่อมีการบาดเจ็บรุนแรงจนเกิดเนื้อตายแพทย์จำเป็นจะต้องตัดเนื้อตายหรืออวัยวะส่วนนั้นทิ้งไป
คำแนะนำในการป้องกันภาวะ Hypothermia และ Frostbite
- ศึกษาสภาพอากาศ เส้นทาง และวางแผนการเดินทางให้ดี ก่อนการเดินทาง หลีกเลี่ยงเส้นทางที่ต้องอยู่ในที่ที่อุณภูมิหนาวจัดเป็นเวลานานและไม่มีที่พักระหว่างทาง
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่หนาวจัด ลมแรง มีฝน หิมะ เป็นเวลานาน ควรอยู่ในที่กำบังระหว่างเส้นทางเป็นระยะ ๆ
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่เหนื่อยจนเกินไปขณะอยู่ในที่อากาศหนาวเย็นเพื่อไม่ให้เหงื่อออกมากซึ่งจะทำให้เกิดความชื้นกับเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่นจนเกินไปจนกระทั่งระบายเหงื่อไม่ได้จะทำให้เกิดความชื้นหรือไม่หลวมเกินไป ควรประกอบด้วย 3 ชั้น ชั้นแรกควรมีคุณสมบัติระบายเหงื่อได้ดี ชั้นที่สองควรกักเก็บความร้อนได้ ชั้นนอกสุดควรกันน้ำกันลมได้
- สวม ถุงมือ ถุงเท้า รองเท้า หมวกที่คลุมถึงใบหู
- พยายามสวมใส่เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มที่แห้งตลอดเวลา ไม่เปียกชื้น
- ทานอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลที่ให้พลังงานสูง อาจพกไปรับประทานระหว่างเดินทาง เช่น Energy bar ผลไม้แห้ง เพื่อช่วยสร้างพลังงาน ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย
- ดื่มน้ำอุ่นให้เพียงพอแม้ไม่หิวน้ำ เพื่อช่วยให้ร่างกายคงความอุ่นไว้ อย่างน้อย 4-6 ลิตรต่อวัน
- งดดื่มแอลกอฮอล์
ดังนั้นผู้ที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวในที่สูง ควรมีการเตรียมตัวก่อนการเดินทางที่ดี มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคหรือสภาวะต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างเดินทางขึ้นที่สูง ไม่ฝืนเดินทางต่อหากมีอาการผิดปกติที่อาจนำไปสู่อาการรุนแรง ซื้อประกันการเดินทางที่ครอบคลุมการอพยพทางอากาศ สุดท้ายนี้การปรึกษาแพทย์ที่เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์เวชศาสตร์การเดินทางก็อาจช่วยให้นักเดินทางมีความรู้เกี่ยวกับการเตรียมตัวก่อนเดินทาง โรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นขณะเดินทาง การใช้ยาป้องกันต่าง ๆ และการรักษาเบื้องต้น เพื่อให้การเดินทางเป็นไปด้วยความราบรื่น และเกิดความเจ็บป่วยน้อยที่สุด