กระดูกข้อสะโพกหักเป็นโรคที่เกิดขึ้นบ่อยในผู้สูงอายุโดยเฉพาะเพศหญิง โดยพบบ่อยกว่ามะเร็งทุกชนิดรวมกันถึงประมาณ 3 เท่า แต่ว่ามีอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวกับภาวะนี้สูงกว่ามะเร็งบางชนิดด้วยซ้ำ
จากสถิติผู้ป่วยที่กระดูกหักมีอัตราเสียชีวิตในปีแรกอาจสูงถึงประมาณ 20% และมีเพียง 1 ใน 3 ของผู้ป่วยกระดูกข้อสะโพกหักที่สามารถกลับไปเดินได้ตามปกติ ส่วนที่เหลือ ประมาณ 1 ใน 3 จะพิการเดินไม่ได้ และที่เหลือจะมีความสามารถในการเดินลดลงกว่าก่อนกระดูกหักมาก ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่หลังจากมีกระดูกสะโพกหักจำเป็นต้องพึ่งพาผู้อื่นในการใช้ชีวิตประจำวัน
รองศาสตราจารย์ นพ.พฤกษ์ ไชยกิจ หัวหน้าศูนย์รักษ์ข้อ โรงพยาบาลพระรามเก้า ยังให้ข้อมูลอีกว่า ในการรักษากระดูกสะโพกหักให้ได้ผลดีส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด อาจเป็นการยึดกระดูกที่หักด้วยเหล็กยึดกระดูก หรือผ่าตัดใส่ข้อสะโพกเทียมแล้วแต่กรณี นอกจากนี้ควรทำการผ่าตัดหลังเกิดกระดูกหักโดยเร็ว เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีความลำบากในการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก ขยับตัวแทบไม่ได้ ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆเช่นแผลกดทับ และปอดติดเชื้อ ได้อย่างรวดเร็ว ตามรายงานพบว่าการผ่าตัดที่ช้ากว่า 72 ชั่วโมงจะทำให้ผลการรักษาโดยรวมด้อยลงและมีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นมาก
สาเหตุกระดูกข้อสะโพกหักในผู้ป่วยสูงอายุ คือ เกิดการล้มร่วมกับมีภาวะกระดูกพรุน ดังนั้นข้อแนะนำอย่างแรก จะเป็นการลดความเสี่ยงที่จะล้ม โดยปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ เช่น การมีไฟส่องสว่างให้เพียงพอในทุกจุดที่ต้องการตลอดเวลา ไม่ควรวางสิ่งของเกะกะขวางทางเดิน ปรับปรุงพื้นให้เรียบแต่ไม่ลื่นไม่ให้มีจุดที่สามารถสะดุดได้ หลีกเลี่ยงการใช้กระเบื้องชนิดลื่นง่ายในห้องน้ำ รวมทั้งการใช้ผ้าเช็ดเท้าที่ไม่เกาะกับพื้น เป็นต้น และอีกข้อที่สำคัญคือการป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุน คือ การที่เนื้อกระดูกที่เป็นโครงค้ำยันบางลงเรื่อย ๆ โครงสร้างจากกระดูกที่เคยแข็งแรงก็อ่อนแอลง เปรียบเสมือนการที่ขนาดเสาบ้านที่ค้ำตัวบ้านลดขนาดและจำนวนลง เมื่อเกิดการกระแทกก็มีโอกาสทรุดตัวลงได้ง่าย ในระยะที่มีการพรุนของกระดูกมากแม้ว่าจะไม่เกิดอุบัติเหตุใด ๆ ก็สามารถมีการหักทรุดของกระดูกได้ เช่นในกรณีที่พบบ่อยในผู้หญิงที่อายุมากขึ้นแล้วตัวเตี้ยลง มีหลังค่อม เป็นจากการหักยุบตัวลงของกระดูกสันหลังที่พรุน ถ้าการหักของกระดูกเกิดที่บริเวณกระดูกสะโพกก็ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเดินได้ และเป็นปัญหาใหญ่ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การตรวจโรคกระดูกพรุนนี้ทำได้โดยการตรวจค่าความหนาแน่นมวลกระดูกที่สามารถทำได้ในโรงพยาบาลส่วนใหญ่ ใช้เวลาเพียง 15 ถึง 20 นาทีเท่านั้น ควรทำเพื่อประเมินความเสี่ยงของกระดูกหักและประเมินผลการรักษา
ปัจจัยเสี่ยงของกระดูกพรุนมีหลายอย่าง เช่น พันธุกรรม การใช้ยาบางชนิด โรคประจำตัวเช่นโรคไต การออกกำลังกายไม่เพียงพอ การกินอาหารที่มีแคลเซียมต่ำ ก็จะมีความเสี่ยงที่กระดูกจะพรุนได้ง่าย นอกจากนี้ที่พบบ่อยอีกเรื่องคือการขาดวิตามินดี ในประเทศไทยประชากรส่วนใหญ่ขาดวิตามินดีสูงกันอย่างแพร่หลาย มีรายงานพบว่า การขาดวิตามินดีอาจสูงถึง 75% ในประชากรวัยทำงาน การขาดวิตามินดีเป็นตัวเชื่อมโยงโดยตรงกับการเกิดโรคกระดูกพรุน การได้รับแสงแดดจะสามารถช่วยเพิ่มการสังเคราะห์วิตามินดีทางผิวหนังได้แต่จำเป็นต้องโดนแดดค่อนข้างมากจึงจะได้วิตามินพอ แต่การโดนแดดมากก็สร้างปัญหากับผิวหนังที่เราไม่ต้องการได้ เช่นการเกิดฝ้ากระ ดังนั้นเราอาจเพิ่มวิตามินดีในรูปของยากินที่เป็นวิตามินดี หรือกินอาหารที่มีวิตามินดีสูง เช่น นม น้ำมันตับปลา เนยแข็ง เนย ไข่ และตับ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ควรตรวจระดับของวิตามินเพื่อให้ได้รู้เป็นพื้นฐานก่อนเช่นกัน
กล่าวโดยสรุป กระดูกหักในผู้สูงอายุเป็นภัยใกล้ตัวที่พบบ่อย และมีอันตรายถึงชีวิต แต่เราลดความเสี่ยงของโรคนี้ได้ถ้ามีการตรวจรักษาภาวะกระดูกพรุนแต่เนิ่นๆ