ขณะที่ทั่วโลกกำลังหวาดกลัวอันตรายจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่นาทีนี้ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ไม่มีใครไม่รู้จักโรคระบาดนี้ เราต่างรู้ดีว่าผู้สูงอายุถือว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงหากติดเชื้อแล้วอาจมีอาการหนักหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้
แต่โรคภัยไข้เจ็บที่น่ากลัวและเป็นอันตรายกับผู้สูงอายุก็ไม่ได้มีแค่ COVID-19 เพียงอย่างเดียว หนึ่งในนั้นคืออุบัติเหตุกระดูกสะโพกหัก อาการเจ็บปวดเรื้อรัง ซึ่งมักจะถูกมองข้ามความอันตรายจนแทบไม่น่าเชื่อว่าแค่กระดูกสะโพกหักก็อันตรายถึงตายได้ด้วยเหมือนกัน
จุดเริ่มต้นของอันตราย
ก่อนที่ผู้สูงอายุจะหกล้มจนกระดูกสะโพกหัก ส่วนมากมักมีจุดเริ่มต้นมาจากภาวะกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ เมื่ออายุมากขึ้น เนื้อกระดูกจะค่อย ๆ บางลง กระดูกที่เคยมีความแข็งแรงก็อ่อนแอลงตามไปด้วย เรามักจะสังเกตเห็นว่าผู้สูงอายุจะมีหลังค่อม หรือตัวเตี้ยลง นั่นเกิดจากการหักยุบตัวลงของกระดูกสันหลังที่พรุน และถ้าหากภาวะกระดูกพรุนเกิดขึ้นบริเวณสะโพก แม้ในผู้สูงอายุที่ไม่ได้เกิดอุบัติเหตุหกล้ม กระดูกก็อาจมีการสึกกร่อน เสี่ยงต่อการแตกหักได้ง่ายอยู่แล้ว เมื่อเกิดการหกล้ม หรือการกระแทกเพียงนิดๆหน่อยๆ กระดูกและข้อที่เสื่อมสภาพอยู่แล้วไมสามารถรับแรงกระแทก ได้เต็มที่ เป็นสาเหตุให้เกิดการบาดเจ็บจนกระดูกสะโพกหักได้
ฤดูสะโพกหัก
รองศาสตราจารย์ นพ.พฤกษ์ ไชยกิจ หัวหน้าศูนย์รักษ์ข้อ โรงพยาบาลพระรามเก้า อธิบายว่าสภาพอากาศที่หนาวเย็นในฤดูหนาวของประเทศไทย อาจทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อย อีกทั้งยังเป็นฤดูที่ท้องฟ้ามืดเร็วและสว่างช้าเมื่อเทียบกับฤดูกาลอื่น เมื่อผู้สูงอายุลุกไปเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ มองไม่เห็นสิ่งของเกะกะขวางทางเดิน เกิดการสะดุดหรือลื่นหกล้ม โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงจนกระดูกสะโพกหักก็ยิ่งมีมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ฤดูหนาว จึงถือว่าเป็นฤดูกาลที่คุณหมอมักเรียกว่า ‘ฤดูสะโพกหัก’ เพราะมีจำนวนคนไข้เข้ารับการรักษาด้วยอุบัติเหตุกระดูกสะโพกหักมากกว่าฤดูกาลอื่นๆ ในแต่ละปี
อย่าให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่
กระดูกสะโพกหักจากอุบัติเหตุเป็นภัยใกล้ตัวที่พบบ่อย แต่มีอันตรายถึงชีวิต เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รีบรักษา คิดว่าแค่หกล้มเป็นเรื่องเล็ก เมื่อเกิดอุบัติเหตุจนกระดูกสะโพกหัก คนไข้มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาอีกมากเลยทีเดียว
อยากให้ลองจินตนาการว่า…
ผู้สูงอายุที่หกล้มจนกระดูกสะโพกหัก ยืนไม่ได้ เดินไม่ไหว เมื่อปวดจนเดินไม่ไหวก็จะนอนติดเตียง เกิดแผลกดทับเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เกิดภาวะกล้ามเนื้อขาลีบเพราะไม่ได้ใช้งาน บางคนได้แต่นอนราบติดเตียง ลุกนั่งไม่ได้เลย ปอดก็จะทำงานได้ไม่เต็มที่ เกิดภาวะปอดบวม บางคนนอนติดเตียงขับถ่ายปัสสาวะลำบาก ก็มีโอกาสเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ที่ร้ายแรงที่สุดกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ก็คือ มีโอกาสที่ลิ่มเลือดอุดในขาหรือปอดจนทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว
กันไว้ดีกว่าแก้
ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ แนะนำให้ผู้สูงอายุเริ่มตรวจรักษาภาวะกระดูกพรุนแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะผู้หญิงที่หมดประจำเดือนมักจะสูญเสียมวลกระดูกไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงลดความเสี่ยงในการหกล้มด้วยการปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ
คุณหมอ..ซ่อมได้!
เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ลื่น หกล้ม จนกระดูกสะโพกหัก คนไข้ส่วนมากจะกลัวการผ่าตัด แต่หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษา อันตรายกลับมากกว่าความเสี่ยงในการผ่าตัดเสียอีก สำหรับแนวทางการรักษา คุณหมอพฤกษ์ อธิบายว่า ส่วนมากจะเป็นการผ่าตัดเพื่อทำให้คนไข้กลับมาเดินได้เร็วที่สุด โดยอาจจะเป็นการผ่าตัดเพื่อยึดเหล็ก หรือเป็นการผ่าตัดเพื่อเอากระดูกส่วนที่หักออกและเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมไปเลย
ปัจจุบัน เทคโนโลยีทางการแพทย์มีความก้าวหน้าค่อนข้างมาก นอกจากจะต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์การผ่าตัดของศัลยแพทย์แล้ว ที่โรงพยาบาลพระรามเก้ามีการนำเครื่องคอมพิวเตอร์นำร่องมาใช้ร่วมกับการผ่าตัด เพื่อช่วยให้การวางตำแหน่งข้อเทียมมีความแม่นยำ วัสดุข้อเทียมที่มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมถึงการวางแผนการรักษาก่อนผ่าตัด โรงพยาบาลมีแพทย์และสหสาขาวิชาชีพทำงานร่วมกันเพื่อความปลอดภัยในการรักษาสำหรับคนไข้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว มีการใช้เทคนิคการให้ยาระงับความรู้สึกในระหว่างการผ่าตัด และหลังการผ่าตัด ลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและช่วยลดความเจ็บปวด เพื่อผลการผ่าตัดในเกณฑ์ที่ดี ลดภาวะแทรกซ้อน และช่วยให้คนไข้สามารถเดินได้ภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด
“เพราะทุกการเคลื่อนไหว คือ ชีวิต” Restore Your Motion
ศูนย์รักษ์ข้อ โรงพยาบาลพระรามเก้า
ติดต่อสอบถาม
- โทร. 1270
- Facebook chat : m.me/praram9Hospital
- LINE : @praram9hospital หรือคลิก https://bit.ly/2EsWSuU