ฮอร์โมน (Hormones) คือสารเคมีที่ร่างกายใช้สื่อสารกัน เพื่อควบคุมสมดุลร่างกายในทุกระบบ รวมทั้งระบบเผาผลาญด้วย ปัจจัยที่สำคัญข้อหนึ่งของโรคอ้วนที่เราทราบกันดีก็คือ การเสียสมดุลฮอร์โมน (Hormones Balance)
ฮอร์โมนเกือบทุกชนิดในร่างกาย มีผลกับระบบเผาผลาญและความอ้วนแทบทั้งนั้น เช่น เลปตินจากเซลล์ไขมัน เกอร์ลินจากทางเดินอาหาร อินซูลินจากตับอ่อน โกรธฮอร์โมนจากตับ คอร์ติซอลและดีเอชอีเอจากต่อมหมวกไต ไทรอยด์ฮอร์โมน และฮอร์โมนเพศอย่างเอสโตรเจน และเทสโทสเตอโรน
การเสียสมดุลฮอร์โมน ไม่ว่าจะมากเกินไป หรือน้อยเกินไป อาจเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมส่วนหนึ่ง ร่วมกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ความเครียดเรื้อรัง การอดนอน สมดุลสารอาหารและวิตามิน การอักเสบ ติดเชื้อ หรือแม้แต่สารพิษสะสมจากสิ่งแวดล้อม ก็ล้วนส่งผลถึง การเผาผลาญ การใช้พลังงาน ความหิว ความอิ่ม ความอยากอาหาร การสะสมไขมันทั้งในและนอกช่องท้อง ซึ่งนำไปสู่ความอ้วนได้ ในทางกลับกัน ความอ้วนเอง ก็เป็นสาเหตุให้ฮอร์โมนเสียสมดุลได้เช่นกัน (Vicious Cycle)
ปกติแล้วในเด็กที่ไม่ได้มีโรคทางพันธุกรรม หรือเสียสมดุลสารอาหารมากเกินไป จะมีระดับสมดุลฮอร์โมนที่ดี เพราะร่างกายต้องใช้ฮอร์โมนปริมาณมาก เพื่อเพิ่มการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อต่างๆ ซึ่งมักจะเพียงพอ ที่จะทำให้ทานอาหารได้ปริมาณเฉลี่ยเยอะกว่าผู้ใหญ่โดยที่ไม่อ้วน แต่ในยุคนี้เราพบโรคอ้วนในเด็กเพิ่มขึ้น มีงานวิจัยใหม่ๆพบว่า สารเคมีปนเปื้อน โดยเฉพาะสารเคมีกลุ่มพลาสติก และฮอร์โมนปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อม เป็นสารก่อความอ้วนในเด็ก เนื่องจากไปรบกวนสมดุลฮอร์โมนโดยตรง (Endocrine Disruptors)
ในวัยทำงาน ความเครียด จากการทำงานหนักและพักผ่อนน้อยเป็นระยะเวลาติดต่อกันนานๆ ในช่วงแรกๆ บางคนผอมลง บางคนอ้วนขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการตอบสนองของระบบเผาผลาญที่ต่างกันทางพันธุกรรม (SNPs) อีกส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการที่ร่างกายเกิดการปรับตัว เพื่อต่อสู้กับความเครียดทั้งด้านร่างกายและจิตใจ โดยการเพิ่มการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล และ ดีเอชอีเอ อาจจะทำให้ระบบเผาผลาญดูเหมือนสูงขึ้นในช่วงแรก แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปร่างกายจะเริ่มปรับตัว (Adaptation) กับความเครียดเรื้อรัง จนในระยะยาว อาจเกิดภาวะที่เรียกว่า ต่อมหมวกไตล้า (Adrenal Fatique) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของความอ้วนได้ในที่สุด
พอย่างเข้าสู่วัยใกล้หมดประจำเดือน หลายคนก็จะรู้สึกได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนัก และรอบเอวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก ฮอร์โมนเอสโตรเจน ที่ปกติจะคอบควบคุมระบบเผาผลาญ และทรวดทรงองค์เอวของเรา ลดลง จริงๆแล้วผู้ชายก็มีวัยทอง แต่อาจจะช้าและสังเกตได้ยากกว่าผู้หญิง แต่ระดับเทสโทสเตอโรนที่ตกลง ก็ส่งผลโดยตรงต่อระดับการเผาผลาญที่ลดลงเช่นกัน ซึ่งทำให้เราควบคุมน้ำหนักได้ยากมากขึ้น และยังส่งผลถึง สมดุลการสร้างและการสลายกล้ามเนื้ออีกด้วย
จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงของสมดุลฮอร์โมนในทุกช่วงอายุ ล้วนส่งผลถึงความยากง่าย ในการควบคุมความอ้วน และการลดน้ำหนักแทบทั้งสิ้น การลดน้ำหนักแบบองค์รวม (Holistic Weight Management) จึงให้ความสำคัญกับการตรวจคัดกรองสมดุลฮอร์โมน ในโปรแกรมลดน้ำหนักด้วย