เวลามาใช้บริการโรงพยาบาล ไม่ว่าจะมาด้วยปวดหัว ตัวร้อย ปวดฟัน ตกบันได คลอดลูก นอนไม่หลับ ทุกครั้งทุกคนต้องได้รับการวัดความดันโลหิต บางครั้งค่าสูงกว่าปกติ (ความดันโลหิตตัวบนมากกว่า 140 มม.ปรอท และ/หรือ ความดันโลหิตตัวล่างมากกว่าเท่ากับ 90 มม.ปรอท)ก็มักมีเหตุผลให้ตนเองว่า อ้อ ไม่สบายอยู่ ต่อมาเมื่อมาตรวจร่างกายประจำปี สบายดี ตรวจแล้วความดันโลหิตสูงอีก ก็ อ้อ เพิ่งเดินมา คนเยอะ หิวข้าว หงุดหงิด แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นความดันโลหิตสูงจริงหรือไม่ คำแนะนำคือ ควรตรวจความดันโลหิตซ้ำ ห่างกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เมื่อร่างกายปกติหายจากเจ็บป่วย ไม่เครียดและนั่งพักอย่างน้อย 5 นาที วัดในสิ่งแวดล้อมที่สงบ แต่บางคนวัดที่โรงพยาบาลความดันโลหิตสูงตลอด แต่เมื่อวัดที่บ้านปกติ เรียกว่าเป็น White coat hypertension หมอชอบเรียกว่ายๆว่า โรคกลัวเสื้อกาวน์ กลุ่มนี้ก็คงต้องมีเครื่องวัดความดันโลหิตที่บ้านว่ามากกว่าเท่ากับ 135/85 มม.ปรอท หรือไม่ (เนื่องจากความคลาดเคลื่อนของเครื่องวัดความดันโลหิตแบบอัตโนมัติเกณฑ์จึงต่ำกว่า 5 มม.ปรอท)
อายุเท่าไหร่จึงเริ่มเป็นความดันโลหิตสูง
สมัยก่อนอาจแนะนำว่าตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป หลอดเลือดแดงขนาดเล็กเริ่มเสื่อม แต่ Lifestyle ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการทำงานนั่งโต๊ะ ไม่ต้องออกแรง แถมเครียด ไม่มีเวลาออกกำลังกาย กินอาหารเค็มมัน กินผักผลไม้น้อย น้ำหนักตัวมาก และดื่มเหล้า โดยเฉพาะมีประวัติความดันโลหิตสูงในครอบครัวอยู่แล้ว ความดันโลหิตสูงจึงพบบ่อยขึ้นในคนอายุน้อย
สาเหตุของความดันโลหิตสูง เชื่อว่าเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมข้างต้น ผู้ป่วยส่วนน้อย 5-10% เกิดจากโรคที่มีสาเหตุ ซึ่งกลุ่มนี้เมื่อรักษาโรคที่เป็นสาเหตุแล้ว จะทำให้ความดันโลหิตลดลงได้ และอาจไม่ต้องกินยาลดความดันอีก เรียกว่า Secondary hypertension
ลักษณะที่ควรตรวจคือ
- อายุเริ่มเป็นน้อยกว่า 30 ปี โดยเฉพาะไม่มีประวัติครอบครัวเป็นความดันโลหิตสูง
- ระดับความดันโลหิตสูงมาก หรือสูงขึ้นเร็ว
- ความดันโลหิตควบคุมไม่ได้แม้ใช้ยาหลายชนิด
- เกิดภาวะแทรกซ้อนของความดันโลหิตสูงในอายุน้อย เช่น กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว เลือดออกในสมอง โรคไต
- รวมทั้งมีอาการและอาการแสดงของโรคต่างๆ ในกลุ่มนี้ชวนให้สงสัย
อันดับแรกต้องดูยาที่ใช้ ยาบางกลุ่มทำให้ความดันโลหิตสูงได้ เช่น ยาแก้ปวดแก้อักเสบ กลุ่ม NSAID เช่น arcoxia celebrex brufen เป็นต้น ยากลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งแพทย์สั่งหรือซื้อกินเอง ยาเสพติด เช่น โคเคน ยาบ้า ยาแก้หวัด (Psuedoephredine) และยาคุมกำเนิด
โรคที่พบบ่อย คือ โรคไต อาจมีอาการปวดหลัง ร่วมกับปัสสาวะเป็นฟอง เป็นสีน้ำล้างเนื้อ ขาหรือเท้าหลังบวม สามารถตรวจเลือดและปัสสาวะวินิจฉัยได้
อีกโรคที่ไม่ควรมองข้าม คือ โรคทางเดินหายใจอุดกั้นเวลานอน (Obstuctive sleep apnea) อย่าคิดว่านอนกรนไม่อันตราย ภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ คาร์บอนไดออกไซด์คั่งทำให้ร่างกายหลั่งสารต่างๆเพิ่มความดันโลหิต นานๆเข้าเป็นสาเหตุให้ความดันโลหิตสูง และกล้ามเนื้อหัวใจห้องขวาล่างหนาตัวได้ หากใครมีอาการนอนกรน หยุดหายใจเป็นพักๆ ปวดศีรษะยามเช้า ง่วงนอนกลางวัน แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง หู คอ จมูก
ความดันโลหิตสูงจากโรคกลุ่มฮอร์โมน เกิดจากฮอร์โมนหลายชนิดซึ่งมีผลต่อความดันโลหิต เมื่อปริมาณฮอร์โมนมากขึ้นผิดปกติ จึงเป็นเหตุให้เกิดความดันโลหิตสูงได้ โรคกลุ่มนี้พบไม่บ่อย มักเกิดจากเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็งผลิตฮอร์โมนมากขึ้น เช่น เนื้องอกต่อมหมวกไต เนื้องอกต่อมใต้สมอง หรือเนื้องอกปมประสาทของระบบประสาทอัตโนมัติ บางโรคสามารถรักษาโดยการผ่าตัดก้อนเนื้องอกออก ทำให้ความดันโลหิตลดลง สามารถลดหรือหยุดยาความดันโลหิตได้ โรคกลุ่มนี้ ได้แก่
ต่อมหมวกไตสร้างฮอร์โมน Aldoseterone เกิน ทำให้ไตเก็บเกลือโซเดียมและน้ำไว้ในร่างกายและขับเกลือแร่โพแทสเซียมไปทางปัสสาวะ บางรายจึงมีโพแทสเซียมในเลือดต่ำ มีอาการกล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรงเป็นๆหายๆ ในคนที่ไม่มีอาการและไม่เคยตรวจระดับโพแทสเซียมในเลือดอาจไม่ได้รับการวินิจฉัย สามารถตรวจโดยวัดระดับฮอร์โมนในเลือด
เนื้องอกของระบบประสาทอัตโนมัติหลั่งสารกลุ่ม Adrenaline หรือโรค Pheochrmocytoma นึกถึงเวลาตื่นเต้น ตกใจ กลัว เครียด แล้วมีอาการใจสั่น เหงื่อแตก หน้าซีด จะเป็นลม แต่ในโรคนี้อาการเป็นพร้อมๆกัน โดยไม่มีเหตุกระตุ้น ปวดศีรษะ ใจสั่น หน้าซีด เป็นพักๆ สามารถวินิจฉัยได้โดยตรวจสารในปัสสาวะ ซึ่งต้องใช้ปัสสาวะทั้งวัน
ฮอร์โมนสเตียรอยด์เกิน หรือโรค Cushing’s Syndrome มีอาการน้ำหนักขึ้น อ้วนช่วงลำตัว แก้มป่อง แก้มแดง ผิวบางเป็นจ้ำง่าย ท้องแตกลายสีม่วงแดง กล้ามเนื้อต้นแขนต้นขาอ่อนแรง เป็นต้น สามารถตรวจเลือดหรือปัสสาวะวินิจฉัยได้
โรคไทรอยด์ ทั้งไทรอยด์เป็นพิษและไทรอยด์ต่ำ ทำให้ความดันโลหิตสูงได้
กลุ่มโรคสุดท้าย คือกลุ่มโรคหลอดเลือดแดง เช่น
โรคหลอดเลือดแดงไตตีบ หากเป็นข้างเดียว การทำงานไตยังปกติ ไม่มีอาการทางปัสสาวะ แต่ไตข้างที่เลือดไปเลี้ยงลดลง ปล่อยสาร renin ทำให้หลอดเลือดหดตัวและความดันโลหิตสูงได้ วินิจฉัยได้โดยการอัลตราซาวนด์หลอดเลือดแดงไต
โรคหลอดเลือดแดงใหญ่แคบ (Coarctation of the aorta) ทำให้ความดันโลหิตที่แขนสูงกว่าความดันโลหิตที่ขา
โรคหลอดเลือดแดงอักเสบ Takayasu’s arteritis ทำให้ความดันโลหิตที่แขนสองข้างต่างกันมาก หากสงสัยควรตรวจวัดความดันโลหิตที่แขน ขาทั้งสองข้าง การทำเอกซเรย์หลอดเลือดแดงเพิ่มเติมสามารถวินิจฉัยได้
อย่าลืมว่าคนอายุน้อยที่เป็นความดันโลหิตสูงกลุ่มใหญ่กว่า 90-95% ไม่พบโรคที่กล่าวมาข้างต้น แต่ก็ยังรักษาได้ โดยการลดน้ำหนักลง 5-10% ออกกำลังกายแอโรบิก 30 นาที อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ลดปริมาณแอลกอฮอลล์ เลือกกินผัก ผลไม้ ซึ่งให้ทั้งไฟเบอร์และเกลือแร่ โพแทสเซียม ลดอาหารไขมัน ลดเค็ม เกลือไม่เกินวันละ 6 กรัม (เกลือ 1 ช้อนชามี 5 กรัม) งดบุหรี่ สรุปง่ายๆว่า ไม่ว่าความดันโลหิตสูงจากสาเหตุใดก็รักษาได้ ต่อไปใครถูกทักว่าความดันโลหิตสูง อย่าลืมตรวจซ้ำห่างกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์นะคะ