‘ไต’ทำหน้าที่ขจัดของเสียและรักษาสมดุลของเหลวในร่างกาย เมื่อไตไม่สามารถทำงานได้เช่นเดิม น้ำส่วนเกินและของเสียสะสมจะส่งผลกระทบต่อร่างกายหลายระบบและอาจร้ายแรงถึงชีวิต ซึ่งการฟอกไต เป็นหนึ่งในแนวทางการรักษาโรคไตที่ช่วยประคับประคองให้ร่างกายสามารถทำงานได้ใกล้เคียงปกติ และสามารถยืดอายุของผู้ป่วยให้มีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น
Key Takeaways
- การฟอกไต คือวิธีการกำจัดของเสีย สารพิษ และน้ำส่วนเกินออกจากเลือดทดแทนไตที่ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ
- แพทย์จะพิจารณาให้ผู้ป่วยโรคไตเข้าสู่กระบวนการฟอกไต เมื่อประสิทธิภาพการกรองของเสียออกจากเลือดของไตเหลืออยู่ไม่ถึง 10 มิลลิลิตร / นาที / 1.73 ตารางเมตร
- การฟอกไตมี 2 รูปแบบ ได้แก่ การฟอกไตทางหลอดเลือด และทางช่องท้อง
- ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อเตรียมการฟอกไต ด้วยการสร้างหลอดเลือดสำหรับการฟอกไตทางหลอดเลือด และการใส่ท่อเพื่อการฟอกไตทางช่องท้อง
- ผู้ป่วยจะต้องฟอกไตไปตลอดชีวิตหรือจนกว่าจะได้รับการปลูกถ่ายไตใหม่ ดังนั้นผู้ป่วยควรดูแลสุขภาพกายและใจอยู่เสมอ เพื่อทำความคุ้นชินกับการฟอกไตและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
สารบัญบทความ
- การฟอกไตคืออะไร? ทำไมผู้ป่วยโรคไตต้องฟอก
- รู้จักวิธีฟอกไต มีแบบไหนบ้าง?
- เมื่อไหร่ที่คุณต้องเริ่มฟอกไต?
- วิธีเตรียมตัวก่อนฟอกไตครั้งแรก
- การฟอกไต มีสิ่งที่ควรระวังหรือไม่?
- ฟอกไต เพื่อชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพที่สถาบันโรคไต โรงพยาบาลพระรามเก้า
- คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับฟอกไต
การฟอกไตคืออะไร? ทำไมผู้ป่วยโรคไตต้องฟอก?

การฟอกไต (Hemodialysis) คือกระบวนการรักษาผู้ป่วยโรคไต ที่ไตเสียหายจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติด้วยเครื่องฟอกไต (Dialysis machine) โดยการจำลองการทำงานของไตที่สุขภาพดี เพื่อทำหน้าที่ขจัดสารพิษและของเสียต่าง ๆ แทนไตเดิมที่ไม่สามารถขับออกได้ และยังช่วยรักษาสมดุลน้ำ เกลือแร่ในร่างกายให้อยู่ในระดับใกล้เคียงปกติที่สุด
การฟอกไตจำเป็นต่อผู้ป่วยโรคไตที่การทำงานของไตลดลงเหลือต่ำกว่า 10 มิลลิลิตร / นาที / 1.73 ตารางเมตร เนื่องจากไตไม่สามารถขจัดของเสีย รักษาสมดุลน้ำและเกลือแร่ในร่างกายได้อีกต่อไป จนเริ่มส่งผลกระทบต่อระบบอื่น ๆ ในร่างกายอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นภาวะน้ำท่วมปอด, เลือดเป็นกรด, เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ, หัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตในที่สุด
ผู้ป่วยกลุ่มไหนที่จะต้องเข้ารับการฟอกไต?
- ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ไม่ว่าจะมีสาเหตุจากโรคไตเอง หรือสาเหตุจากโรคอื่น เช่น เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, ไตอักเสบจากภูมิคุ้มกัน
- ผู้ป่วยโรคไตวายเฉียบพลันที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น น้ำท่วมปอด, ภาวะเกลือแร่ผิดปกติ หรือสมดุลกรด-ด่างผิดปกติที่ไม่สามารถแก้ไขด้วยการใช้ยาได้, ภาวะยูมีเรียจากของเสียคั่งค้างในร่างกาย
“รักษาด้วยการฟอกไต มีโอกาสหายไหม? สำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง การฟอกไตเป็นเพียงวิธีลดผลกระทบที่เกิดจากโรคไตเท่านั้น ไม่สามารถชะลอการลุกลามและรักษาให้หายจากโรคไตวายได้”
รู้จักวิธีฟอกไต มีแบบไหนบ้าง?

วิธีการฟอกไตที่ใช้ในปัจจุบันมีอยู่ 2 วิธีหลัก ดังนี้
การฟอกไตทางหลอดเลือด (Hemodialysis)
การฟอกไตทางหลอดเลือด คือวิธีการขจัดของเสีย สารพิษ และน้ำส่วนเกินด้วยเครื่องไตเทียมที่อยู่ภายนอกร่างกาย ซึ่งขั้นตอนการฟอกไตทางหลอดเลือดจะเริ่มต้นจากผ่าตัดต่อหลอดเลือดขยายหลอดเลือดดำให้ใหญ่ขึ้นและพาเลือดเข้าสู่เครื่องไตเทียมได้ เมื่อต้องฟอกไตจะทำการใส่เข็มเข้าที่หลอดเลือด 2 เส้น
- เส้นเลือดแรก เพื่อเป็นทางให้เลือดออกจากร่างกายและหมุนเวียนเข้าไตเทียม ซึ่งภายในไตเทียมจะมีตัวกรอง Dialyzer ที่มีน้ำยาฟอกเลือด ช่วยดึงของเสีย น้ำส่วนเกินภายในเลือด และปรับสมดุลเกลือแร่ให้เหมาะสม
- เส้นเลือดที่สอง เพื่อให้เลือดที่ผ่านการกรองแล้วไหลกลับเข้าสู่ร่างกายอีกครั้ง
การฟอกไตวิธีนี้ ผู้ป่วยจะต้องเข้ามาฟอกไตที่โรงพยาบาลหรือศูนย์ฟอกไต โดยจะใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงต่อครั้ง และต้องทำอย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค
การฟอกไตทางช่องท้อง (Peritoneal Dialysis)
การฟอกไตทางช่องท้องเป็นวิธีการขจัดของเสีย สารพิษ และน้ำส่วนเกินด้วยการใช้เยื่อบุช่องท้องเป็นตัวกรองแทนไต โดยก่อนจะฟอกไตด้วยวิธีนี้จะต้องเข้ารับการผ่าตัดใส่ท่อฟอกไตผ่านผนังหน้าท้อง (Peritoneum) เพื่อเป็นช่องทางให้น้ำยาฟอกไตเข้า-ออก หลังจากนั้น 1-2 สัปดาห์จึงจะเริ่มฟอกไตทางช่องท้องได้ ซึ่งมีวิธีการดังนี้
- ผู้ป่วยเติมน้ำยาฟอกไตเข้าสู่ช่องท้องผ่านท่อที่ผ่าตัดต่อไว้
- น้ำยาฟอกไตจะทำงานแลกเปลี่ยนของเสีย ปรับสมดุลเกลือแร่ และดึงน้ำส่วนเกินออกจากเลือด
- เมื่อครบ 4-6 ชั่วโมง ให้ปล่อยน้ำยาทิ้งออกจากช่องท้อง จากนั้นให้เติมน้ำยาใหม่เข้าสู่ช่องท้องอีกครั้ง
การฟอกไตวิธีนี้ ผู้ป่วยสามารถทำได้เองที่บ้าน และจะต้องทำทุกวัน วันละประมาณ 4-6 ครั้งต่อวัน หรือตามคำแนะนำของแพทย์
เมื่อไหร่ที่คุณต้องเริ่มฟอกไต?

ไม่ใช่ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังทุกคนที่จะต้องเข้ารับการฟอกไตทันที เพราะแพทย์จะพิจารณาให้ผู้ป่วยฟอกไต เมื่อไตของผู้ป่วยมีความสามารถในการกรองของเสียออกจากเลือดไม่ถึง 10 มิลลิลิตร / นาที / 1.73 ตารางเมตร ซึ่งอาการที่บ่งบอกว่าคุณจะต้องเริ่มฟอกไตแล้วมีดังนี้
- ภาวะเลือดเป็นกรด
- ระดับเกลือแร่ผิดปกติ
- ภาวะบวมน้ำรุนแรง เสี่ยงต่อระบบหายใจล้มเหลว
- เยื่อหุ้มปอดหรือเยื่อหัวใจอักเสบ
- ภาวะยูรีเมีย ผู้ป่วยมีอาการมึนงง ชักกระตุก หมดสติ
วิธีเตรียมตัวก่อนฟอกไตครั้งแรก

เมื่อแพทย์พิจารณาให้ผู้ป่วยเข้ารับการฟอกไต อันดับแรก ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อเตรียมตัวสำหรับการฟอกไตก่อน ซึ่งการฟอกไตทั้งสองวิธีจะมีการผ่าตัดที่ต่างกัน ดังนี้
- วิธีฟอกไตทางหลอดเลือด : แพทย์จะทำการผ่าตัดสร้างเส้นเลือดสำหรับการฟอกไตขึ้นมา ซึ่งวิธีการเตรียมเส้นฟอกเลือดนั้นมีทั้งหมด 3 แบบ ได้แก่
- การใช้หลอดเลือดจริง (Arteriovenous Fistula; AVF) เป็นการนำหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดงจริงของผู้ป่วยมาผ่าตัดเชื่อมต่อกัน เพื่อให้หลอดเลือดดำมีขนาดใหญ่และแข็งแรงขึ้น เหมาะสมต่อการนำเลือดออกมาฟอกในเครื่องไตเทียม
- การใช้หลอดเลือดเทียม (Arteriovenous Graft; AVG) เป็นการใส่หลอดเลือดเทียมเชื่อมระหว่างหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดง จะใช้วิธีนี้ก็ต่อเมื่อหลอดเลือดของผู้ป่วยมีขนาดเล็กจนไม่สามารถผ่าตัดเชื่อมหลอดเลือดจริงได้
- การใส่สายสวน (Permanent catheter) เป็นวิธีการใส่สายขนาดใหญ่กับหลอดเลือดดำใหญ่ที่คอ หรือที่ขา เพื่อให้เลือดสามารถไหลเข้าไตเทียมได้เร็ว จะใช้วิธีนี้ก็ต่อเมื่อเส้นเลือดของผู้ป่วยมีปัญหาจนไม่สามารถผ่าตัดเชื่อมหลอดเลือดได้ ผู้ที่มีความดันต่ำ หรือผู้ที่ต้องฟอกไตด่วน เนื่องจากหลังผ่าตัดสามารถใช้ฟอกเลือดได้ทันที
- วิธีฟอกไตทางช่องท้อง : แพทย์จะต่อท่อเทนซ์คอฟฟ์ (Tenchkoff Catheter) เข้าที่ช่องท้องออกสู่นอกร่างกาย เพื่อใช้เป็นช่องทางเข้า-ออกของน้ำยาฟอกไต
นอกจากการเตรียมพร้อมร่างกายเพื่อการฟอกไตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้ป่วยยังควรเตรียมจิตใจให้พร้อมเนื่องจากการฟอกไตในแต่ละครั้งจะใช้ระยะเวลานานหลายชั่วโมง หากเป็นการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม ระหว่างทำหัตถการ แนะนำให้เตรียมหนังสือหรือแบตเตอรี่มือถือให้พร้อมเพื่อทำกิจกรรมผ่อนคลายระหว่างรอ แต่หากเป็นการฟอกไตทางช่องท้อง ผู้ป่วยอาจทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้หลากหลายกว่าเนื่องจากหลังใส่น้ำยาฟอกไตในหน้าท้องแล้วจะสามารถเคลื่อนย้ายได้อิสระ
แต่ไม่ว่าจะเป็นการฟอกไตวิธีไหน ผู้ป่วยจะต้องค่อย ๆ ปรับวิถีการดำเนินชีวิตให้เพื่อให้เกิดความคุ้นชิน
การฟอกไต มีสิ่งที่ควรระวังหรือไม่?
เพื่อให้การฟอกไตเป็นไปอย่างปลอดภัย ลดโอกาสเกิดผลข้างเคียง และอาการแทรกซ้อนจากการฟอกไตให้ได้มากที่สุด แพทย์จะมีการซักประวัติผู้ป่วยเพื่อประเมินถึงการเลือกวิธีฟอกไตที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วย
นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะต้องปรับพฤติกรรมให้ถูกสุขลักษณะ โดยเฉพาะการรับประทานอาหาร ที่ต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มหรือที่มีโซเดียมสูง รวมถึงอาหารหมักดอง อาหารรสจัด อาหารที่ผ่านการแปรรูป เช่น ไส้กรอก แหนม หมูยอ เครื่องดื่มที่มีฟอสเฟสสูง เพื่อป้องกันภาวะเกลือแร่ผิดปกติ ภาวะพาราไทรอยด์สูง และระวังเกิดการติดเชื้อบริเวณเส้นฟอกไต
ฟอกไต เพื่อชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพที่สถาบันโรคไต โรงพยาบาลพระรามเก้า
หากไตไม่สามารถขจัดของเสีย สารพิษหรือน้ำส่วนเกินออกจากร่างกายได้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต การฟอกไตจึงมีความสำคัญต่อผู้ป่วยโรคไตเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่จะต้องทำไปตลอดชีวิตหรือจนกว่าจะได้รับการปลูกถ่ายไตใหม่ ดังนั้น ผู้ป่วยควรจะต้องดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจของตนเองอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตต่อไปอย่างมีความสุข
ที่สถาบันโรคไต โรงพยาบาลพระรามเก้า พร้อมให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไตโดยทีมแพทย์เฉพาะทางหลากหลายสาขา ร่วมกับทีมพยาบาลวิชาชีพและทีมสนับสนุน เราทำงานเป็นทีมสหวิชาชีพเพื่อให้ผู้ป่วยโรคไตได้รับการรักษาอย่างครอบคลุมและปลอดภัยที่สุด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
- Facebook : Praram 9 hospital
- Line : @Praram9Hospital
- โทร. 1270
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับฟอกไต
1. การฟอกไตมีผลข้างเคียงหรือไม่?
การฟอกไตเป็นหัตถการที่มีความเสี่ยงเช่นเดียวกับการทำหัตถการอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อ หรือความดันโลหิตผิดปกติ อย่างไรก็ตาม โอกาสพบความเสี่ยงจากการฟอกไตในปัจจุบันพบได้น้อยมาก เนื่องจากแพทย์จะให้ข้อมูลที่จำเป็นแก่ผู้ป่วยเกี่ยวกับการฟอกไต รวมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น วิธีการดูแลตนเอง และอาการที่ควรเฝ้าระวัง ซึ่งการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการฟอกไตอย่างปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
2. ผู้ป่วยฟอกไตสามารถเดินทางได้หรือไม่?
ผู้ป่วยฟอกไตยังสามารถเดินทางได้ตามปกติ เพียงแต่หากเป็นผู้ป่วยฟอกไตทางหลอดเลือด จะต้องวางแผนการเดินทางอย่างรอบคอบเพื่อให้สามารถฟอกเลือดตามตารางที่กำหนด สำหรับผู้ป่วยฟอกไตที่คลินิกหรือโรงพยาบาลอาจถูกจำกัดการเดินทางระยะเวลานาน เนื่องจากจะต้องเข้ารับการฟอกไตอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง แต่สำหรับผู้ป่วยฟอกไตทางช่องท้องจะมีความยืดหยุ่นมากกว่า เพราะสามารถพกพาอุปกรณ์สำหรับฟอกไตขณะเดินทางได้
3. การฟอกไตกับการล้างไตต่างกันหรือไม่?
ล้างไตกับฟอกไตต่างกันอย่างไร? แท้จริงแล้วทั้ง 2 อย่าง เป็นวิธีการฟอกไตด้วยกันทั้งคู่ เพียงแต่หากพูดถึงการ ‘ล้างไต’ ก็มักจะนึกถึงการฟอกไตผ่านช่องท้อง
References
Ellsworth, PI. (2024, December 23). Peritoneal Dialysis Catheter Insertion. Medscape. https://emedicine.medscape.com/article/1829737-overview?form=fpf
Hemodialysis. (2018). National Institute of Diabetes and Digestive and Kidney Diseases.https://www.niddk.nih.gov/health-information/kidney-disease/kidney-failure/hemodialysis
Dialysis. (2021, August 8). Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/treatments/14618-dialysis