ปัจจุบันโรคไตเป็นโรคที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยหลาย ๆ คนเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจนต้องเข้ารับการฟอกไต หรือเมื่อเร็ว ๆ นี้มีข่าวนักศึกษาวิชาทหารที่ฝึกหนักจนไตวายเฉียบพลันต้องเข้าโรงพยาบาล เคยสงสัยไหมว่าแล้วโรคนี้มันคืออะไร มีสาเหตุจากอะไร และจริงหรือไม่ที่กินเค็มแล้วทำให้เป็นโรคไต บทความนี้มาชวนทำความรู้จักกับโรคไต เพื่อที่เราจะได้ป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไต
โรคไตเกิดจากอะไร?
ไตเป็นอวัยวะในท้องทางด้านหลัง มีรูปร่างคล้ายถั่ว ไตมีสองข้าง แต่ละข้างมีขนาดประมาณกำมือ หน้าที่หลักของไต คือ กรองน้ำส่วนเกินและกรองของเสียในเลือดให้ออกมาเป็นปัสสาวะเพื่อกำจัดทิ้ง โดยการกรองเลือดนี้จะเกิดจากการทำงานของหน่วยไตขนาดเล็ก ๆ จำนวนมากมายภายในไต
โรคไตเป็นโรคที่ไตเกิดการบาดเจ็บ หรือมีความเสียหายกับหน่วยไตซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของไตที่ทำหน้าที่กรองน้ำและของเสีย จนทำให้ไตไม่สามารถกรองเลือดได้เหมือนปกติ ซึ่งการบาดเจ็บของไตนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ โรคไตสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มไตวายเฉียบพลัน และ กลุ่มไตวายเรื้อรัง ซึ่งทั้งสองกลุ่มมีสาเหตุการเกิดโรคที่ต่างกัน
ไตวายเฉียบพลัน
ไตวายเฉียบพลัน (acute kidney injury; AKI) คือไตเสียหายอย่างรวดเร็วทันที ในไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วัน โดยไตวายเฉียบพลันจะทำให้มีอาการปัสสาวะน้อยลง ปัสสาวะสีผิดปกติ ปริมาณน้ำในร่างกายผิดปกติ อ่อนเพลีย มึนงงสับสน คลื่นไส้อาเจียน รู้สึกใจสั่น เป็นต้น
สาเหตุของไตวายเฉียบพลันมักเกิดจากการขาดเลือดไปเลี้ยงไต เช่น
- ภาวะช็อกจากการเสียเลือดมาก
- ติดเชื้อในกระแสเลือด
- มีกล้ามเนื้อสลายตัวอย่างรุนแรง
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาในกลุ่ม NSAIDS หรือยาสมุนไพรบางชนิด
ไตวายเฉียบพลันอันตรายไหม?
ไตวายเฉียบพลันอันตรายแน่นอน เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ระดับสารน้ำและของเสียในเลือดจะผิดปกติมากขึ้นเรื่อย ๆ จนส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญ เช่น ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ น้ำท่วมปอด และนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด แต่ถ้าได้รับการรักษาได้ทันเวลา ก็มีโอกาสที่ไตจะหายกลับมาเป็นปกติได้
ไตวายเรื้อรัง
ไตวายเรื้อรัง (chronic kidney disease; CKD) คือ ภาวะที่ไตค่อย ๆ เสียหายมากขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะเวลาเป็นปี ๆ หรือหลาย ๆ ปี โดยความน่ากลัวของโรคไตวายเรื้อรัง คือ มักจะไม่มีอาการใด ๆ ในช่วงแรก จนกว่าไตจะเหลือการทำงานแค่ 1 ใน 4 จึงจะเริ่มมีอาการผิดปกติให้ผู้ป่วยรู้ตัว โดยอาการของไตวายเรื้อรังจะทำให้เกิดอาการผิดปกติได้กับหลาย ๆ ระบบของร่างกาย เช่น ขาบวม มีอาการคันตามผิวหนัง ผิวแห้ง เบื่ออาหาร เหนื่อยง่าย น้ำท่วมปอด ปวดหลัง เป็นตะคริว กระดูกพรุน ซีด เลือดออกง่าย เป็นต้น
ที่พบบ่อยที่สุด คือ
- โรคเบาหวาน: ในผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี ระดับน้ำตาลที่สูงนี้จะไปทำลายเนื้อเยื่อไต ทำให้การทำงานของไตเสียไป
- ความดันเลือดสูง: ผู้ป่วยโรคความดันสูงที่ควบคุมระดับความดันได้ไม่ดี จะมีความดันในหลอดเลือดที่สูงตลอดเวลา ความดันในหลอดเลือดที่สูงนี้จะส่งผลทำให้เนื้อเยื่อของไตเสียหาย
โรคอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของโรคไตเรื้อรังได้ เช่น โรคถุงน้ำในไต (polycystic kidney disease) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรม, โรคไตอักเสบ (glomerular disease) และ โรคลูปัส หรือโรค SLE (systemic lupus erythematosus) หรือที่คนไทยรู้จักกันว่าโรคพุ่มพวง
โรคไตมีกี่ระยะ?
โรคไตเรื้อรังมีระยะการดำเนินของโรคตามระดับการทำงานของไตที่ลดลงไปเรื่อย ๆ ซึ่งประเมินได้จากค่า estimated glomerular filtration rate (eGFR) ที่ได้จากการตรวจเลือด ซึ่งเป็นค่านี้เป็นค่าที่แสดงถึงการทำงานของไต โดยมีด้วยกัน 5 ระยะ คือ
- eGFR >90 ml/min: ไตยังทำงานได้เกิน 90%
- eGFR 60-89 ml/min: ไตทำงานได้ประมาณ 60-89%
- eGFR 30-59 ml/min: ไตทำงานได้ประมาณ 30-59%
- eGFR 15-29 ml/min: ไตทำงานได้ประมาณ 15-29%
- eGFR <15ml/min: ไตแทบไม่ทำงานแล้ว ต้องได้รับการรักษาเพื่อทดแทนการทำงานของไต เช่น การฟอกไต หรือรักษาด้วยการปลูกถ่ายไต
โรคไตกับอาการคันตามตัว
โรคไตวายเรื้อรังทำให้เกิดอาการคันที่ผิวหนังตามมาได้ โดยมีชื่อเรียกว่า uraemic pruritus หรือ CKD-associated pruritus สาเหตุของอาการคันมีหลายสาเหตุ ซึ่งสาเหตุหนึ่งคือมีระดับของของเสีย (ยูเรีย) ในเลือดสูง โดยพบประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย อาการคันตามตัวนี้ไม่เกิดในผู้ป่วยโรคไตวายเฉียบพลัน อาการคันมักเกิดที่บริเวณแผ่นหลัง แต่ก็อาจมีอาการที่แขน ศีรษะ และท้องได้ โดยผู้ป่วยส่วนหนึ่ง (ประมาณ 40%) จะมีอาการคันได้ทั้งตัว และอาการคันมักเปลี่ยนแปลงตามช่วงการฟอกไต ซึ่งอาการคันนี้มักจะรบกวนการนอนของผู้ป่วย หรือหากมีการเกา อาจทำให้เกิดบาดแผลหรือมีเลือดออกที่ผิวหนังได้ ดังนั้นหากมีอาการคันควรปรึกษาแพทย์ เพื่อแพทย์จะได้จ่ายยาที่ช่วยบรรเทาอาการคัน
ปวดไตหรือปวดหลัง?
มีโรคไตบางโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดขึ้นมาได้ เช่น นิ่วในไต กรวยไตอักเสบ เป็นต้น และด้วยความที่ไตเป็นอวัยวะที่อยู่ทางด้านหลังของช่องท้อง ติดกับซี่โครงด้านหลัง ทำให้อาการปวดไตกับปวดหลังมีความใกล้เคียงกัน แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าที่ปวดนี่เป็นปวดหลังจากไตหรือเปล่า? จุดแตกต่างที่พอจะแยกอาการได้ คือ ปวดไตมักจะอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าอาการปวดหลังทั่วไปที่มักจะปวดตรงกลางของหลังส่วนล่าง แต่อาการปวดไตมักจะทำให้รู้สึกปวดลึก ตำแหน่งใต้ซี่โครง ด้านซ้ายหรือขวาของสันหลัง และอาจรู้สึกปวดท้องหรือขาหนีบร่วมด้วย
โรคไตกับการกินเค็ม
หลายท่านอาจเคยได้ยินคำพูดที่ว่ากินเค็มทำให้เป็นโรคไต สิ่งที่ทำให้อาหารมีรสชาติเค็มก็คือเกลือ (โซเดียมคลอไรด์) ในการวิจัยทางการแพทย์พบว่า การรับประทานเกลือต่อวันในปริมาณที่สูงเป็นประจำจะลดความสามารถในการทำงานของไตในระยะยาว และการลดการบริโภคเกลือในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังช่วยลดการเสียโปรตีนออกมากับปัสสาวะ และช่วยชะลอความเสียหายของไตได้
นอกจากการกินเค็มแล้ว อาหารอีกกลุ่มที่มีผลต่อโรคไตก็คือ เนื้อสัตว์ที่ผ่านการแปรรูป เช่น ไส้กรอก เบคอน แฮม เป็นต้น รวมไปถึงอาหารหมักดองอื่น ๆ ซึ่งอาหารแปรรูปเหล่านี้เป็นอาหารที่มีโซเดียมสูงจากการใส่สารปรุงแต่งรส และสารที่ใช้ถนอมอาหาร การรับประทานอาหารเหล่านี้จะทำให้ร่างกายได้รับโซเดียมสูงแม้ว่าจะไม่รู้สึกว่ามีรสชาติเค็ม การวิจัยต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีพบว่า การรับประทานอาหารกลุ่มเนื้อสัตว์แปรรูป ไขมันอิ่มตัว และขนม ในปริมาณมากเป็นประจำมีความสัมพันธ์กับการทำงานของไตที่ลดลง
ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตควรระมัดระวังในการรับประทานอาหาร ควรเลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ และควรเป็นอาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไต เช่น อาหารที่ปรุงสดใหม่ หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป หรืออาหารรสจัด เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงของโรคไต
ปัจจัยเสี่ยงของโรคไตวายเรื้อรังที่พบบ่อยที่สุด ก็คือ โรคเบาหวานและโรคความดันเลือดสูง ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ สูงอายุ โรคหัวใจ โรคอ้วน ประวัติโรคไตเรื้อรังในครอบครัว โรคไตแต่กำเนิด โรคที่ทำให้เกิดความเสียหายกับไต เช่น นิ่วในไต เป็นต้น
เนื่องจากโรคไตวายเรื้อรังในระยะแรก ๆ จะไม่แสดงอาการใด ๆ การวินิจฉัยโรคไตจึงต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะ เพื่อประเมินการทำงานของไต และการตรวจดูลักษณะของไตผ่านการตรวจอัลตราซาวนด์ หรือการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
การรักษาโรคไต
โรคไตวายเรื้อรังในระยะแรก ๆ ที่ไตยังมีการทำงานที่เพียงพอ จะรักษาโรคไตในระยะนี้จะเป็นการรักษาโดย
- กาารักษาด้วยยา
- การคุมอาหาร
เพื่อชะลอการเสียหายของไตให้เสียหายช้าลงหรือไม่ให้เนื้อเยื่อไตเสียหายเพิ่ม แต่หากโรคดำเนินไปจนเป็นไตวายระยะสุดท้าย ซึ่งเป็นระยะที่ไตทำงานไม่ได้แล้ว ก็จะมีแนวทางการรักษาเพื่อทดแทนไต ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 วิธี คือ
- การล้างไตหรือฟอกไตผ่านทางช่องท้องด้วยน้ำยา
- การใช้เครื่องฟอกเลือดหรือไตเทียม
- การผ่าตัดปลูกถ่ายไต (ซึ่งในผู้ป่วยบางรายอาจสามารถปลูกถ่ายไตซ้ำได้ด้วย)
สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับกลุ่มผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายก็คือ ให้ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตที่ยืนยาวได้ผ่านการดูแลรักษาตนเองอย่างถูกวิธี
สรุป
โรคไตเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และที่สำคัญคือโรคไตเรื้อรังมักไม่มีอาการใด ๆ เลยจนกว่าไตจะเสียหายไปมากแล้ว ดังนั้นการตรวจคัดกรองโรคไต จึงมีความสำคัญอย่างมากที่จะช่วยให้ตรวจพบโรคได้ในระยะเริ่มต้น ทำให้เข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะชะลอการดำเนินของโรคได้ และสามารถรักษาเนื้อไตที่ยังไม่เสียหายไว้ได้