สำหรับผู้ป่วยไตที่ผ่านการฟอกไตมาสักระยะแล้ว หากได้รับโอกาสในการปลูกถ่ายไตใหม่ ก็จะช่วยให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคไตที่เคยผ่าตัดปลูกถ่ายไตไปแล้วบางราย อาจต้องเข้ารับการปลูกถ่ายไตซ้ำได้เช่นกัน โดยมักเกิดจากไตที่ได้รับการปลูกถ่ายไปแล้ว เกิดไม่ทำงานหรือหยุดทำงาน ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ๆ เช่น ร่างกายปฏิเสธไต การติดเชื้อบางชนิด เป็นต้น
บทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลของการผ่าตัดปลูกถ่ายไตซ้ำ ว่ามีปัจจัยหรือสาเหตุสำคัญอะไรบ้าง เสี่ยงกว่าครั้งแรกมากน้อยแค่ไหน และต้องเตรียมตัวอย่างไรก่อนผ่าตัด
5 ปัจจัย ที่ทำให้ต้องผ่าตัดปลูกถ่ายไตซ้ำ
1. ไตที่ผ่าตัดปลูกถ่ายไปแล้ว เกิดการเสื่อมสภาพตามอายุ
เนื่องจากไตที่ผ่าตัดไปแล้ว ก็สามารถเสื่อมสภาพลงตามอายุได้เหมือนไตคนปกติ โดยส่วนใหญ่แล้วไตที่ผ่าตัดไปจะมีค่าเฉลี่ยอายุการใช้งานอยู่ที่ประมาณ 10 ถึง 20 ปี แต่ในผู้ป่วยบางรายก็สามารถมีอายุการใช้งานของไตนานกว่านี้ได้เช่นกัน
2. โรคเรื้อรังอื่น ๆ ที่มีอยู่ ส่งผลกระทบต่อไตที่เคยรับการผ่าตัดปลูกถ่ายมา
ผู้ป่วยบางรายมีโรคร่วมอื่น ๆ ซึ่งเคยเป็นสาเหตุของไตวายในครั้งแรกอยู่แล้ว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคไตอักเสบบางประเภท จึงอาจทำให้เกิดปัญหาในไตที่ผ่าตัดปลูกถ่ายมาใหม่ได้
ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต แต่คุมอาหารได้ไม่ดีนัก ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง แล้วส่งผลกระทบต่อไตที่เปลี่ยนใหม่ ส่งผลให้เกิดโรคเบาหวานลงไต และทำให้ไตเสื่อมจากเบาหวานได้ในที่สุด
3. การต่อต้านไตใหม่ แบบที่เป็นเรื้อรัง
หลายครั้งการที่ผู้ป่วยต้องผ่าตัดปลูกถ่ายไตซ้ำ เนื่องจาก ภูมิคุ้มกันไปทำลายเนื้อไต อาจมีสาเหตุจากการรับประทานยากดภูมิไม่สม่ำเสมอ
หรือในบางรายก็เกิดจากภูมิคุ้มกันดื้อต่อยาเอง ทำให้ภูมิคุ้มกันเข้าไปทำลายไตใหม่ เกิดเป็นภาวะสลัดไตแบบเฉียบพลัน (Acute Rejection) ทำให้เกิดไตวาย ทราบได้จากค่าเครตินีน creatinine ที่สูงขึ้น และปัสสาวะออกน้อยลง
แพทย์จะรักษาโดยการให้ยาและการฟอกน้ำเหลือง ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งมีอาการดีขึ้น ไตกลับมาทำงานได้ แต่หากไม่หายจากภาวะไตวาย ก็ต้องกลับเข้ารับการปลูกถ่ายไตซ้ำเป็นครั้งที่สอง
4.การสลัดไต แบบค่อยเป็นค่อยไป
ภาวะภูมิคุ้มกันทำลายไตแบบค่อยเป็นค่อยไป (Chronic Rejection) เกิดจากไตที่เปลี่ยนมาใหม่ค่อย ๆ เสื่อมลงทีละเล็กทีละน้อย โดยจะตรวจพบว่าค่าการทำงานของไตค่อย ๆ แย่ลง
ดังนั้นในช่วง 3-5 ปีก่อนที่ไตใหม่จะหยุดทำงาน ผู้ป่วยที่มีภาวะสลัดไตแบบค่อยเป็นค่อยไป ต้องได้รับการฟอกไต แล้วรอเวลาผ่าตัดปลูกถ่ายไตซ้ำอีกครั้ง
5.การติดเชื้อบางชนิด
การติดเชื้อบางชนิด จะส่งผลต่อการทำงานของไตโดยตรง ได้แก่ บี เค ไวรัส (BK Virus) และอะดีโนไวรัส (Adenoviruses) หรือแม้แต่การติดเชื้อชนิดอื่น ๆ ที่รุนแรงจนส่งผลให้ผู้ป่วยต้องลดยากดภูมิลง และท้ายที่สุดก็นำไปสู่การสลัดไต ต้องเข้ารับการปลูกถ่ายไตซ้ำ
การเช็คคุณภาพไตใหม่
การตรวจสอบคุณภาพของไตใหม่ แบ่งได้เป็นการตรวจประเมินก่อนผ่าตัด และหลังผ่าตัด โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ก่อนการผ่าตัดเปลี่ยนไตใหม่
ก่อนจะรับบริจาคไตเข้ามา แพทย์จะประเมินคุณภาพไตที่บริจาคว่าอยู่ในระดับที่สามารถใช้เปลี่ยนแทนไตของผู้รับบริจาคได้
นอกจากนี้ จะมีการตรวจเนื้อเยื่อไตเพื่อประเมินคุณภาพไตว่า เนื้อไตที่ได้รับมาเป็นอย่างไร? มีพังผืดหรือไม่? สภาพไตสมบูรณ์ไหม?
หลังจากการประเมินแล้ว แพทย์จะสามารถทำนายได้ว่าไตใหม่จะฟื้นตัวและอยู่กับผู้ป่วยได้นานแค่ไหน?
หลังการผ่าตัดเปลี่ยนไตใหม่
แพทย์จะตรวจประเมินประสิทธิภาพการทำงานของไตใหม่เป็นระยะ ๆ โดยดูจากค่าเครตินีน (Creatinine) ในเลือด ถ้าหากตรวจพบว่าค่าการทำงานของไตแย่ลง แพทย์จะทำการหาสาเหตุและรักษา
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งที่ไตเสื่อมจนเกิดภาวะไตวายแล้ว นั่นคือไตไม่สามารถทำงานได้อีกแล้ว แพทย์ก็จะแนะนำให้ผู้ป่วยทำการฟอกไตและรอเปลี่ยนไตซ้ำ หรือถ้ามีญาติพร้อมบริจาคไตให้ ก็สามารถปลูกไตได้เลย
ปลูกถ่ายไตซ้ำ ต้องทำอย่างไร?
เมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่าผู้ป่วยควรเข้ารับการปลูกถ่ายไตซ้ำอีกครั้ง จะแบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่
- กรณีได้รับบริจาคไตจากญาติ : กรณีนี้ ผู้ป่วยสามารถเข้าสู่กระบวนการผ่าตัดปลูกถ่ายไตได้เลย มีเงื่อนไขว่า ต้องเป็นผู้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด ได้แก่ บิดา/มารดา บุตร พี่น้อง ลุงป้า น้าอา เป็นต้น กรณีที่เป็นสามีหรือภรรยา ต้องจดทะเบียนสมรสแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือมีบุตรด้วยกัน ซึ่งจะต้องมีผลเลือดเข้ากันได้
- กรณีที่รอไตบริจาคจากสภากาชาด : ผู้ป่วยจะต้องกลับเข้าสู่กระบวนการฟอกไตก่อน แล้วจึงลงชื่อเข้าคิวรอรับบริจาคปลูกถ่ายไตกับสภากาชาดไทยอีกครั้งได้
การรับบริจาคไตจากญาติจะใช้เวลารอไม่นาน อัตราการปลูกถ่ายไตมีโอกาสสำเร็จสูงกว่า พบภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า ไตมักทำงานได้เลย และมีอายุการทำงานได้นานกว่าการใช้ไตจากแหล่งอื่น
ผ่าตัดปลูกถ่ายไตซ้ำ เสี่ยงกว่าครั้งแรกแค่ไหน?
การปลูกถ่ายไตซ้ำเป็นครั้งที่สอง หรือครั้งที่สาม จะมีความยากซับซ้อนมากกว่าครั้งแรกอยู่บ้าง เนื่องจากในครั้งแรก ร่างกายของเรายังไม่เคยได้รับไตใหม่มาก่อน จึงยังไม่มีภูมิคุ้มกันไปต่อต้านไตที่ได้รับมากนัก
แต่เมื่อร่างกายเคยได้รับไตใหม่มาแล้วครั้งหนึ่ง ระบบภูมิคุ้มกันก็จะทำงานมากขึ้น จึงมีโอกาสที่ผู้ป่วยผ่าตัดปลูกถ่ายไตซ้ำแล้วร่างกายจะเกิดการต่อต้าน ทำให้การปลูกถ่ายไตซ้ำอาจยุ่งยากมากกว่าครั้งแรก แพทย์จึงอาจจะต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกันที่พิเศษขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้นไปทำลายไต
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของผู้ป่วยแต่ละราย สำหรับผู้ป่วยบางรายที่เนื้อเยื่อเข้ากันกับไตอันที่สองได้ง่าย ก็อาจจะฟื้นตัวเร็วกว่าการเปลี่ยนไตครั้งแรกก็เป็นได้
การรับประทานอาหารหลังรับการปลูกถ่ายไตซ้ำ
แม้จะเป็นการปลูกถ่ายไตซ้ำ แต่ผู้ป่วยก็ไม่จำเป็นต้องคุมอาหารเข้มงวดขึ้นกว่าการเปลี่ยนไตครั้งแรก ข้อแนะนำยังคงเป็นเหมือนเดิม คือ
- ให้รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ
- ไม่รับประทานอาหารหวานจัด มันจัด เค็มจัด
- ไม่รับประทานอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก หรือผลไม้ที่ต้องรับประทานทั้งเปลือก
- งดรับประทานอาหารบางประเภท เช่น ขมิ้น ทับทิม ขิง เกรปฟรุต (Grapefruits) เนื่องจาก อาหารกลุ่มนี้อาจมีผลต่อระดับยากดภูมิบางชนิด
ทั้งนี้ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับอาหารที่ควรรับประทานหรือหลีกเลี่ยงเพื่อความเหมาะสม
อ่านเพิ่มเติม ผ่าตัดปลูกถ่ายไต อยู่ได้นานกี่ปี
สรุป
แน่นอนว่า การผ่าตัดปลูกถ่ายไตซ้ำ มีความยุ่งยากซับซ้อนมากกว่าการปลูกถ่ายไตครั้งแรก แต่ที่โรงพยาบาลพระรามเก้า เรามีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดปลูกถ่ายไต รวมถึงแพทย์เฉพาะทางในโรคต่าง ๆ ครบทุกสาขา
ทีมแพทย์มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยปลูกถ่ายไตมานานกว่า 28 ปี รวมถึงการเปลี่ยนไตในเคสยุ่งยากซับซ้อน เช่น เคสที่ผู้ป่วยต้องผ่าตัดปลูกถ่ายไตซ้ำ เคสที่มีโรคร่วม และเคสผู้ป่วยสูงอายุ ทำให้ผู้ป่วยสามารถวางใจได้เมื่อมารับการปลูกถ่สยไตที่โรงพยาบาลพระรามเก้า
ติดต่อได้ที่ สถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า