การปลูกถ่ายไตเป็นทางเลือกการรักษาโรคไตวายเรื้อรังที่ให้ผลการรักษาที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับวิธีการอื่น ๆ เพราะหลังผ่าตัดคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจะดีขึ้นโดยสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด โดยไตที่นำมาเปลี่ยนให้กับผู้ป่วยอาจนำมาจากผู้บริจาคที่มีชีวิตที่เป็นญาติที่มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือด หรือนำมาจากไตของผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตาย โดยก่อนการผ่าตัดผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังจะได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายไตต้องได้รับการการตรวจสอบการเข้ากันได้ของเลือดและเนื้อเยื่อระหว่างผู้รับไตและผู้บริจาคไตอย่างละเอียดรอบคอบเพื่อป้องกันภาวะปฏิเสธไตหลังจากปลูกถ่าย ซึ่งในระหว่างรอรับบริจาคไต ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังจะต้องดูแลตนเองให้แข็งแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเข้ารับการตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ รวมไปถึงการเตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อมสำหรับการผ่าตัดเพื่อให้การปลูกถ่ายไตนั้นประสบความสำเร็จและเป็นประโยชน์สูงสุด
สารบัญ
- ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังแบบไหนบ้างที่จะได้รับการรักษาด้วยวิธีปลูกถ่ายไต
- ไตที่นำมาปลูกถ่ายมาจากไหนได้บ้าง?
- ไตที่บริจาคจากผู้มีชีวิตมีหลักการคัดเลือกอย่างไร?
- ผู้บริจาคไตที่มีชีวิตต้องมีคุณสมบัติอย่างไร?
- ข้อดีของการได้ไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต
- การขอยกเลิกการบริจาคไตและรับบริจาคไต (จากผู้บริจาคไตที่มีชีวิต)
- การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดของผู้บริจาคไตที่มีชีวิต
- การเตรียมตัวของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังก่อนการปลูกถ่ายไตจากผู้มีชีวิต
- ไตจากผู้บริจาคที่สมองตายได้มาอย่างไร?
- การขึ้นทะเบียนขอรับไตจากผู้บริจาคที่สมองตาย ต้องทำอย่างไรบ้าง?
- ระหว่างรอคอยการจัดสรรไตจากผู้บริจาคที่สมองตาย ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร?
- เมื่อได้รับการติดต่อให้เข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร?
- การตรวจการเข้ากันได้ของหมู่เลือดและเนื้อเยื่อ
- สรุป
ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังแบบไหนบ้างที่จะได้รับการรักษาด้วยวิธีปลูกถ่ายไต
ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่สามารถเข้ารับการรักษาด้วยวิธีปลูกถ่ายไต (recipient) ได้จะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
- เป็นผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่มีค่าการทำงานของไตน้อยกว่า 15%
- กรณีที่รอรับไตจากผู้ป่วยสมองตายจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยจะต้องได้รับการรักษาโรคไตวายด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือการล้างไตทางช่องท้องด้วยน้ำยามาอย่างต่อเนื่อง จึงจะมีสิทธิได้รับบริจาคไต
- ไม่มีภาวะติดเชื้อใดๆ ไม่เป็นผู้ที่ติดเชื้อ HIV
- ไม่เป็นโรคตับแข็งชนิดที่ไม่สามารถปลูกถ่ายไตได้
- ไม่เป็นโรคมะเร็งหรือ หากเคยเป็นโรคมะเร็งต้องที่ได้รับการรักษาให้ที่หายขาดมาแล้วอย่างน้อย 2 – 5 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง
- ไม่มีภาวะเสี่ยงสูงต่อการเข้ารับการผ่าตัด เช่น ภาวะหัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว เป็นต้น
- ไม่มีภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
- ไม่มีภาวะจิตใจผิดปกติ
- ไม่เป็นผู้ติดยาเสพติด
- กรณีอื่น ๆ อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์
ไตที่นำมาปลูกถ่ายมาจากไหนได้บ้าง?
ไตที่จะนำมาปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง มาจาก 2 กรณีดังนี้
- ไตที่บริจาคจากผู้มีชีวิต โดยจะมาจากญาติสายตรง ญาติที่มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือด หรือสามี-ภรรยา โดยผู้บริจาคไตต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนด
- ไตที่บริจาคจากผู้ป่วยที่มีภาวะสมองตาย โดยจะเป็นการจัดสรรโดยสภากาชาดไทย
ไตที่บริจาคจากผู้มีชีวิตมีหลักการคัดเลือกอย่างไร?
การคัดเลือกผู้บริจาคไตที่มีชีวิต แบ่งได้เป็น 3 กรณี ดังนี้
1. กรณีผู้บริจาคเป็นเครือญาติที่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม
- บิดามารดา บุตรหรือธิดาตามธรรมชาติ พี่น้องที่เกิดจากบิดามารดาเดียวกัน ที่สามารถพิสูจน์ได้ทางกฏหมายหรือทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เช่น HLA และ/หรือ DNA จากบิดามารดา
- ลุง ป้า น้า อา หลาน ที่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมเดียวกันหรือครึ่งหนึ่ง ลูกพี่ลูกน้องในลำดับแรก หรือญาติที่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมครึ่งหนึ่ง เช่น พี่น้องต่างบิดาหรือมารดา ในกรณีนี้จะต้องพิสูจน์ว่า ผู้บริจาคและผู้รับอวัยวะมี HLA และ/หรือ DNA ที่มีความสัมพันธ์กัน
2. กรณีผู้บริจาคเป็นสามีภรรยา
- สามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย (จดทะเบียนสมรส) หรืออยู่กินฉันสามีภรรยาโดยเปิดเผยกับผู้รับบริจาคมาแล้วอย่างน้อย 3 ปี
- ในกรณีที่มีบุตรร่วมกันโดยสายเลือดจะไม่ต้องใช้ระยะเวลา 3 ปี หากมีปัญหาในการพิสูจน์บุตรร่วมกันให้ใช้ DNA เป็นเครื่องพิสูจน์
3. กรณีผู้บริจาคเป็นชาวต่างประเทศที่เป็นเครือญาติ หรือสามีภรรยา
- ต้องเตรียมเอกสารยืนยันการเป็นเครือญาติหรือสามีภรรยา ซึ่งต้องได้รับการรับรองจากสถานฑูตหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการนี้ของประเทศของผู้มาร้องขอรับการปลูกถ่ายอวัยวะ และได้รับการรับรองด้านความถูกต้องของผู้ออกเอกสารจากกรมกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ
- ต้องมีการพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม โดยวิธีทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้วยวิธี HLA และ DNA หรือวิธีอื่น ๆ ที่สามารถพิสูจน์ได้ ที่มีความน่าเชื่อถือใกล้เคียงกันจากสถาบันทางการแพทย์ของรัฐในประเทศไทย
ผู้บริจาคไตที่มีชีวิตต้องมีคุณสมบัติอย่างไร?
คุณสมบัติของผู้บริจาคไตที่มีชีวิต
- ต้องเป็นญาติโดยสายเลือด (genetic related) หรือคู่สมรสตามกฏหมายข้อบังคับแพทยสภา
- มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ถึง 60 ปี ถ้าอายุมากกว่า 60 ปี ต้องมีสภาพร่างกายแข็งแรงตามดุลยพินิจของแพทย์
- ไม่มีภาวะความดันสูง (ค่าความดันตัวบนไม่เกิน 140 มิลลิเมตรปรอท และค่าความดันตัวล่างไม่เกิน 90 มิลลิเมตรปรอท)
- ไม่มีโรคเบาหวาน
- ไม่มีประวัติเป็นโรคไตเรื้อรัง
- มีค่าโปรตีนในปัสสาวะไม่เกิน 300 มิลลิกรัมใน 24 ชั่วโมง หรืออัลบูมินในปัสสาวะ ไม่เกิน 100 มิลลิกรัมใน 24 ชั่วโมง
- มีค่าอัตราการกรองของไตมากกว่า 90 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร ถ้าอัตราการกรองของไตน้อยกว่า 90 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร แต่มากกว่า 70 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร สามารถบริจาคได้ แต่ควรพิจารณาความเสี่ยงอื่นร่วมด้วย
- ไม่มีภาวะอ้วน
- ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงทางอายุรกรรม เช่น ภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง ภาวะหัวใจขาดเลือด มะเร็ง โรคตับอักเสบ โรคตับวายร้ายแรง เป็นต้น
- ไม่มีภาวะติดเชื้อในร่างกาย ไม่มีการติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อ HIV
- ไม่ติดยาเสพติด
- ไม่ป่วยด้วยโรคจิตหรือโรคประสาทบางประเภท
- ต้องไม่เป็นการซื้อขายไต
- ผู้บริจาคและผู้รับบริจาคสามารถยกเลิกการบริจาคได้ตลอดเวลา
ข้อดีของการได้ไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต
- ผู้รับบริจาคไตจากผู้มีชีวิตจะมีอายุการใช้งานไตมากกว่า อายุยืนกว่า
- การผ่าตัดสามารถกำหนดเวลาได้ ทำให้มีเวลาเตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ
- อาจใช้ยากดภูมิต้านทานและยาอื่น ๆ น้อยกว่า ทำให้ลดโอกาสเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า
การขอยกเลิกการบริจาคไตและรับบริจาคไต (จากผู้บริจาคไตที่มีชีวิต)
- ผู้บริจาคและผู้รับบริจาคสามารถตัดสินใจยกเลิกการบริจาคไตได้ทุกเวลาและทุกขั้นตอนโดยไม่มีเงื่อนไข
- ผู้บริจาคและผู้รับบริจาคสามารถบอกยกเลิกผ่านทางแพทย์หรือทีมงานผู้เกี่ยวข้องได้ทุกคน
- ถ้าต้องการให้คณะทีมงานเป็นผู้แจ้งการยกเลิกให้ผู้รับบริจาคทราบ ทางทีมงานก็ยินดีช่วยจัดการให้
- ทางแพทย์และทีมงานให้ความเคารพต่อสิทธิและความประสงค์ของทั้งผู้บริจาคและผู้รับบริจาคเสมอ
การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดของผู้บริจาคไตที่มีชีวิต
ลำดับขั้นตอนในการเตรียมการผ่าตัด
- รับการตรวจร่างกายและทดสอบสภาพจิตใจของผู้บริจาค โดยทำการทดสอบทางห้องปฏิบัติการเพื่อค้นหาความผิดปกติของระบบต่าง ๆ และทดสอบสภาพจิตใจโดยจิตแพทย์ เพื่อประเมินความพร้อมในการบริจาคอวัยวะ โดยผู้บริจาคต้องไม่ถูกบังคับ หรือได้รับอามิสสินจ้างทั้งทางตรงและทางอ้อมไม่ว่าจะเป็นทรัพย์หรือผลประโยชน์อย่างอื่นอย่างใด
- ต้องได้รับการอธิบายอย่างละเอียดจากแพทย์และทีมงานปลูกถ่ายไตจนเข้าใจถึง ข้อดี ข้อเสีย และภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ระหว่างผ่าตัด หลังผ่าตัด รวมทั้งผลกระทบด้านร่างกายและจิตใจที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต จนผู้บริจาคเข้าใจอย่างถี่ถ้วนแล้ว
- ผู้บริจาคไตทุกคนจะได้พบ ปรึกษา และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริจาคไตจากผู้ที่เคยผ่านการบริจาคไตมาแล้วในอดีต (advocate) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดีและไม่ดีจากผู้ที่ผ่านการบริจาคมาแล้ว ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของโรงพยาบาล โดยโรงพยาบาลจะมีรายชื่อกลุ่มผู้บริจาคในอดีตที่ยินดีมาให้คำแนะนำปรึกษา
- มีการตรวจสอบเอกสารแสดงความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริจาคและผู้รับบริจาคเพื่อยืนยันความเป็นญาติกันจริง ในกรณีที่ไม่สามารถยืนยันความสัมพันธ์กันได้ ต้องมีการตรวจพิสูจน์ทางพันธุกรรมเพิ่มเติม
- มีการนัดเจาะเลือด เพื่อตรวจชนิดของเนื้อเยื่อ HLA typing หรือ DNA และการผสมเลือด lymphocyte crossmatch เพื่อทดสอบการเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อ
- มีการประชุมกันของคณะกรรมการปลูกถ่ายอวัยวะ เพื่อความโปร่งใสในการบริจาคอวัยวะ รวมทั้งตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์และข้อมูลทางกฏหมายจนเป็นที่เรียบร้อย และได้รับมติอนุมัติให้ดำเนินการปลูกถ่ายไตโดยคณะกรรมการปลูกถ่ายไตของโรงพยาบาลพระรามเก้า ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการปลูกถ่ายไตในโรงพยาบาลพระรามเก้าให้มีความเรียบร้อยถูกต้องตามมาตรฐานจริยธรรมของการปลูกถ่ายอวัยวะ (ตามระเบียบสภากาชาดไทย ว่าด้วยศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย พ.ศ. 2545) การผ่าตัดปลูกถ่ายไตทุกราย ต้องได้รับการอนุมัติให้สามารถทำการปลูกถ่ายไตได้
- ก่อนการผ่าตัดจะมีการฉีดสีดูหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไต เพื่อเลือกข้างของไตที่จะทำการผ่าตัดบริจาคให้ผู้รับบริจาค
- ขั้นตอนสุดท้ายจะมีการกำหนดการผ่าตัดปลูกถ่ายไตตามความพร้อมของผู้ป่วย
ก่อนการผ่าตัดนำไตออก ผู้บริจาคไตจะต้องเข้ามาพักในโรงพยาบาล 1 วัน
ก่อนการผ่าตัด ผู้บริจาคไตจะต้องเข้ามาพักในโรงพยาบาลก่อนวันผ่าตัด 1 วัน โดยวัตถุประสงค์เพื่อ
- ให้แพทย์และทีมงานประเมินความสมบูรณ์ของร่างกายและจิตใจก่อนการผ่าตัด
- หากเกิดความไม่แน่ใจหรืออุปสรรคต่าง ๆ การผ่าตัดจะถูกยกเลิกหรือเลื่อนออกไป เพื่อความปลอดภัยของผู้บริจาค
- หากผู้บริจาคมีข้อสงสัยหรือคำถามค้างคาใจก็จะสามารถสอบถาม พูดคุยกับทางทีมงานได้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจก่อนการผ่าตัด และได้รับการพักผ่อนเต็มที่เพื่อการผ่าตัดในวันถัดไป
การเตรียมตัวของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังก่อนการปลูกถ่ายไตจากผู้มีชีวิต
การเตรียมความพร้อมก่อนการผ่าตัด
- ผู้ป่วยที่รอรับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตต้องเตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อมตลอดเวลา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษา และความพร้อมที่จะเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีใกล้เคียงปกติมากที่สุด
- เป็นนโยบายของโรงพยาบาล ที่จะต้องให้ผู้รับบริจาคไตจากผู้มีชีวิต (recipient) ทุกคนได้พบกับผู้ที่เคยได้รับการปลูกถ่ายไตจากญาติพี่น้องมาแล้ว (advocate) ที่มาเป็นอาสาสมัครด้วยความเต็มใจ โดยจะให้คำปรึกษา แนะนำและเล่าประสบการณ์ต่าง ๆ ในอดีต ทั้งก่อนและหลังการปลูกถ่ายไต ผู้รอรับบริจาคสามารถสอบถามปัญหาและขอคำแนะนำต่าง ๆ อย่างเป็นส่วนตัวได้ทุกรูปแบบจากอาสาสมัคร ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจและเข้าใจกระบวนการปลูกถ่ายไต ซึ่งจะทำให้ได้รับประโยชน์สูงสุดในการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
การเข้ามาพักในโรงพยาบาล 1 วัน ก่อนการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังจะต้องเข้ามาพักในโรงพยาบาล 1 วันก่อนการผ่าตัดปลูกถ่ายไต เพื่อให้แพทย์ได้เตรียมความพร้อม ดังนี้
- ซักประวัติและประเมินสภาพร่างกายและจิตใจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
- ซักประวัติและการดูแลผู้ป่วยโดยทีมพยาบาล โภชนาการ และเภสัชกร
- ตรวจตัวอย่างเลือดและปัสสาวะทางห้องปฏิบัติการ
- เอกซเรย์ทรวงอก
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
- เตรียมความสะอาดของร่างกาย โดยอาบน้ำด้วยสบู่ฆ่าเชื้อชนิดพิเศษ
- โกนขนบริเวณที่จะทำการผ่าตัด
- ให้สารน้ำทางหลอดเลือด
- อาจจะต้องฟอกเลือด ขึ้นอยู่กับว่าฟอกเลือดครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่
- รับประทานยากดภูมิคุ้มกันชุดแรกหรือให้ยาทางหลอดเลือดดำ
ไตจากผู้บริจาคที่สมองตายได้มาอย่างไร?
การได้มาของไตจากผู้บริจาคที่สมองตายจะเป็นไปตามกฏหมายข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 หมวดการประกอบวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับการปลูกถ่ายอวัยะ และตามประกาศแพทยสภาที่ 7/2554 เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการวินิจฉัยสมองตายและตามหลักเกณฑ์ของศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย โดยศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดเป็นผู้คัดสรรผู้ป่วยไตวายที่รอรับบริจาคโดยใช้หลักการจัดสรรทางการแพทย์
การขึ้นทะเบียนขอรับไตจากผู้บริจาคที่สมองตาย ต้องทำอย่างไรบ้าง?
ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังสามารถขอขึ้นทะเบียนเพื่อรับบริจาคไตจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย โดยจะแบ่งตามชนิดของหมู่เลือดและความเหมือนกันของเนื้อเยื่อ เมื่อได้รับบริจาคไตมา ผู้ป่วยที่มีหมู่เลือดเข้ากับผู้บริจาคทั้งหมดจะถูกทดสอบว่าเนื้อเยื่อเข้ากันได้หรือไม่ หากไม่มีแอนติบอดี้ก็สามารถปลูกถ่ายไตได้
รายชื่อผู้ป่วยทั้งหมดจะถูกนำเข้าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการให้คะแนนเพื่อให้แน่ใจว่าได้เลือกผู้ป่วยที่เหมาะสมที่สุดให้ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต โดยคำนึงถึงระยะเวลาในการรอขึ้นบัญชีรับบริจาคด้วย ซึ่งคณะกรรมการจะมีการพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ โปร่งใสและยุติธรรม
ระหว่างรอคอยการจัดสรรไตจากผู้บริจาคที่สมองตาย ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร?
การเตรียมร่างกายและจิตใจของผู้รับบริจาคให้พร้อมระหว่างการรอคอยไตเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายมีความแข็งแรงพอที่จะปลูกถ่ายไตและไม่มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่เสี่ยงและอันตรายต่อการผ่าตัด หากตรวจพบปัญหาสุขภาพใด ๆ จะต้องได้รับการแก้ไขก่อนการผ่าตัด หรือบางครั้งอาจต้องเปลี่ยนไปใช้วิธีการรักษารูปแบบอื่นแทนการปลูกถ่ายไต
นอกจากผู้ป่วยควรเตรียมตัวให้พร้อมที่จะเข้ารับการผ่าตัดอยู่เสมอแล้ว ควรเตรียมจิตใจให้มีทัศนคติและความรู้สึกที่ดีต่อไตใหม่ที่จะได้รับ ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในช่วงของการรอคอยนี้ ผู้ป่วยอาจมีความกดดันและเคร่งเครียด การศึกษาข้อมูลเพื่อเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดปลูกถ่ายไตจะสามารถช่วยให้คลายความเครียดได้
การผ่าตัดปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคไตที่สมองตายมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง?
- ตรวจร่างกายผู้รอรับบริจาคไต
- ลงทะเบียนรอรับบริจาคไต
- ส่งตัวอย่างเลือด เป็นประจำทุกเดือน
- ตรวจ HLA typing ในครั้งแรกเพื่อลงทะเบียนชื่อเข้ารับไต (ตรวจครั้งเดียว) และตรวจ PRA ทุก 3 เดือน เพื่อดูโอกาสการต่อต้านไต เป็นประจำทุก 3 เดือน
- ตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด
- มีการยินยอมรับการรักษาโดยแพทย์ ในกรณีที่มีความผิดปกติทางร่างกายที่ต้องแก้ไข
- เป็นนโยบายของโรงพยาบาลพระรามเก้าที่ผู้รับบริจาคทุกคนต้องได้พบกับผู้ป่วยที่เคยได้รับการปลูกถ่ายไตจากผู้ป่วยสมองตาย (advocate) ที่เป็นอาสาสมัครด้วยความเต็มใจมาให้คำปรึกษาหรือเล่าประสบการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการปลูกถ่ายไต ผู้รอรับบริจาคสามารถสอบถามปัญหาและข้อแนะนำได้ทุกรูปแบบจากอาสาสมัครอย่างเป็นส่วนตัว ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจและเข้าใจในกระบวนการปลูกถ่ายไตเพื่อประโยชน์สูงสุดในการปลูกถ่ายไต
การรับประทานอาหารระหว่างรอการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
ระหว่างการรอการผ่าตัดปลูกถ่ายไตต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และเหมาะสมกับโรค เช่น ถ้าเป็นโรคเบาหวานและได้รับการรักษาโดยการฟอกเลือดอยู่ สามารถขอคำแนะนำการรับประทานอาหารได้จากโภชนากร ซึ่งโภชนากรจะสามารถให้ความช่วยเหลือในการกำหนดอาหารที่จะให้พลังงานกับร่างกาย พร้อมกับการควบคุมระดับน้ำตาลเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการผ่าตัด
การออกกำลังกายระหว่างรอการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
ผู้ป่วยที่รอรับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดิน เพราะนอกจากจะทำให้มีรูปร่างดี หัวใจ ปอด กระดูกและกล้ามเนื้อแข็งแรงแล้ว ยังช่วยให้ร่ายกายฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้เร็วขึ้น และช่วยผ่อนคลายความเครียด ผู้ป่วยสามารถขอคำแนะนำเกี่ยวกับการออกกำลังกายที่เหมาะสมได้จากทีมงานด้านการออกกำลังกาย
การเข้าร่วมกิจกรรมและสนทนากับบุคคลใกล้ชิด
ผู้ป่วยอาจมีความเครียดวิตกกังวลระหว่างรอการผ่าตัด การใช้เวลาและการพูดคุยกับครอบครัวหรือเพื่อน ๆ อาจช่วยให้ผ่อนคลายความตึงเครียดได้ อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยเศร้าหรือท้อแท้ก็อาจส่งผลกระทบทำให้คนใกล้ชิดไม่มีความสุขไปด้วย
การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตจะช่วยให้ผู้ป่วยและคนใกล้ชิดผ่อนคลายความวิตกกังวล ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นและสามารถควบคุมสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ การอ่านหนังสือหรือบทความเกี่ยวกับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตและตั้งคำถาม การมีทัศนคติที่ดีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญขณะรอคอยการผ่าตัดและการใช้ชีวิตใหม่หลังการผ่าตัด
การดูแลครอบครัว
หากผู้ป่วยมีครอบครัว คู่สมรส ลูก ๆ หรือผู้สูงอายุที่ต้องดูแล ให้วางแผนการดูแลพวกเขาเหล่านี้เมื่อต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
การเตรียมความพร้อมเพื่อรอรับการติดต่อจากโรงพยาบาล
พยาบาลประสานงานการผ่าตัดอาจมีการโทรติดต่อมาหาผู้ป่วยได้ตลอดเวลา เพื่อให้เข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยต้องเตรียมความพร้อม ดังต่อไปนี้
- ควรแน่ใจว่าทีมงานผ่าตัดปลูกถ่ายไตมีเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อผู้ป่วยได้ตลอด 24 ชั่วโมง หากมีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ควรแจ้งให้ทีมงานทราบ
- เตรียมบัญชีรายการที่ต้องทำเมื่อได้รับการติดต่อ ควรแน่ใจว่าบัญชีรายการนั้นเก็บไว้ในที่ที่หาได้ง่าย
- ทำรายการสิ่งของที่ต้องเตรียมไปโรงพยาบาล จะดีมากถ้ามีการเก็บสัมภาระเตรียมพร้อมสำหรับเดินทาง
- วางแผนการเดินทางไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
- ปฏิบัติตัวเพื่อเตรียมเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
เมื่อได้รับการติดต่อให้เข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร?
การปฏิบัติตัวเมื่อได้รับการติดต่อให้เข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตาย
- งดรับประทานอาหาร น้ำ หรือเครื่องดื่มใด ๆ ทันที
- อาบน้ำ สระผม ก่อนมาโรงพยาบาล
- ไปโรงพยาบาลทันทีที่ได้รับแจ้งว่ามีสิทธิ์ที่จะได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตพร้อมกับกระเป๋าเครื่องใช้ที่เตรียมไว้
- เมื่อไปถึงโรงพยาบาล ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจต่าง ๆ ก่อนการผ่าตัด เช่น ตรวจสุขภาพทั่วไป (วัดความดัน, วัดชีพจร, วัดไข้, และชั่งน้ำหนัก) เจาะเลือด เอกซเรย์ทรวงอก และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
- พยาบาลจะดูแลผู้ป่วยให้ทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อและโกนขนบริเวณที่จะทำการผ่าตัด
- ประเมินทำการฟอกเลือดอีกครั้งก่อนผ่าตัดปลูกไต โดยขึ้นอยู่กับระดับของเสียในเลือดและน้ำหนักตัว เพื่อกำจัดของเสียและของเหลวต่าง ๆ ในเลือดที่มีมากเกินไปออก
- แพทย์จะให้ยากดภูมิคุ้มกันก่อนการผ่าตัด
- ศูนย์รับบริจาคอวัยวะจะนำซีรัมของผู้ป่วยที่ส่งมาเก็บไว้ทุกเดือน มาตรวจความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อระหว่างผู้รับบริจาคและผู้บริจาค ในระหว่างที่รอผลการตรวจอาจใช้เวลานาน 6 – 8 ชั่วโมง ผู้ป่วยควรทำจิตใจให้สงบและสามารถปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ได้
- ศัลยแพทย์และวิสัญญีแพทย์จะมาพบผู้ป่วยที่จะรับบริจาคเพื่ออธิบายขั้นตอนและความเสี่ยงในการผ่าตัด และผู้ป่วยจะต้องลงชื่อในหนังสือยินยอมเข้ารับการผ่าตัด
ความผิดหวังเมื่อไม่ได้รับไต
มีความเป็นไปได้ที่เมื่อผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลแล้วไม่สามารถทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไตได้ เนื่องจากร่างกายอาจไม่สมบูรณ์เพียงพอหรือมีอุปสรรคอื่น ๆ โดยจะมีคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผลเสมอว่าทำไมผู้ป่วยจึงไม่ได้รับบริจาคไต แม้จะรู้สึกผิดหวัง แต่ควรสงบสติอารมณ์ อย่าหมดกำลังใจ เรียนรู้และทำใจให้สบาย ผู้ป่วยอาจได้รับการติดต่อเพื่อเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตใหม่อีกครั้งในไม่ช้า
การตรวจการเข้ากันได้ของหมู่เลือดและเนื้อเยื่อ
การเข้ากันได้ของหมู่เลือดและเลือด
ในกรณีขอรับไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต จะยึดเกณฑ์ของหมู่เลือดที่เข้ากันได้ หรือตรงกัน ดังนี้
หมู่เลือดของผู้ป่วย | หมู่เลือดของผู้บริจาคไต |
โอ (O) | โอ (O) |
เอ (A) | เอ (A) หรือ โอ (O) |
บี (B) | บี (B) หรือ โอ (O) |
เอบี (AB) | เอบี (AB), เอ (A), บี (B) หรือ โอ (O) |
ในกรณีขอรับไตจากผู้บริจาคสมองตาย ศูนย์บริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย จะพิจารณาจ่ายไตให้ในกรณีที่หมู่เลือดของผู้ป่วยที่รอรับบริจาคไต ตรงกันกับหมู่เลือดของผู้บริจาคไตเท่านั้น ดังนี้
หมู่เลือดของผู้ป่วย | หมู่เลือดของผู้บริจาคไต |
โอ (O) | โอ (O) |
เอ (A) | เอ (A) |
บี (B) | บี (B) |
เอบี (AB) | เอบี (AB) |
การเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อ
- การตรวจความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อจะใช้วิธี HLA typing และการตรวจ DNA เพื่อดูการเข้ากันได้ทางพันธุกรรม
- หากสามารถกำหนดจำนวนยีนที่สามารถใช้ร่วมกันได้มีมากเท่าไหร่ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้รับไตได้มากเท่านั้น ไตใหม่จะสามารถอยู่ได้นานขึ้น
- นอกจากนี้ยังมีการตรวจผสมเลือด lymphocyte crossmatch ซึ่งมีความสำคัญมาก เป็นวิธีตรวจเพื่อให้ทราบว่าผู้รับบริจาคไตมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเซลล์เม็ดเลือดของผู้บริจาคอย่างไร
ตัวอย่างเลือดของผู้บริจาคไตจะถูกผสมกับเลือดของผู้รับบริจาคไตซึ่งจะต้องไม่มีปฏิกิริยาต่อกัน วิธีนี้เป็นการคาดคะเนว่าผู้รับบริจาคไตจะมีปฏิกิริยาต่อไตของผู้บริจาคหรือไม่ ถ้าผลการตรวจเป็นลบ หมายความว่า ผู้รับบริจาคไตไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเซลล์ของผู้บริจาคก็จะสามารถปลูกถ่ายไตได้ โอกาสความสำเร็จในการปลูกถ่ายไตก็จะมากด้วย
สรุป
การผ่าตัดปลูกถ่ายไต เป็นทางเลือกในการรักษาโรคไตวายเรื้อรังที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ทำโดยการนำไตที่ได้รับบริจาคจากญาติที่มีความสัมพันธ์กันทางสายเลือดหรือจากสามีภรรยาที่ถูกต้องทางกฏหมายมาเปลี่ยนให้กับผู้ป่วยข้างไดข้างหนึ่ง ในกรณีที่ไม่มีผู้บริจาค ผู้ป่วยสามารถขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับการบริจาคไตจากผู้ป่วยสมองตายจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย
ก่อนการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ทั้งผู้รับบริจาคและผู้บริจาคไตต้องมีการเตรียมตัวทั้งทางร่างกายและจิตใจ ต้องมีการตรวจความสมบูรณ์แข็งแรงของสภาพร่างกาย ตรวจสอบเอกสารยืนยันการเป็นญาติสายตรงหรือการเป็นสามีภรรยา ที่สำคัญคือ การตรวจสอบความเข้ากันได้ของหมู่เลือดและเนื้อเยื่อ เพื่อให้การผ่าตัดปลูกถ่ายไตนั้นเป็นไปอย่างถูกต้องและได้รับผลประโยชน์สูงสูด และป้องกันการปฏิเสธไต
ในกรณีที่รอรับบริจาคไตจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะ ผู้รอรับบริจาคไตต้องมีความพร้อมอยู่เสมอ เมื่อไหร่ก็ตามที่ได้รับการติดต่อจากโรงพยาบาลก็ต้องพร้อมที่จะเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตโดยทันที ดังนั้น ผู้รอรับบริจาคไตจึงต้องดูแลตนเองให้แข็งแรงและปฏิบัติตนตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด
อย่างไรก็ตามการผ่าตัดปลูกถ่ายไตสามารถทำได้มากกว่า 1 ครั้ง ทั้งนี้ทั้งนั้นการปลูกถ่ายไตซ้ำขึ้นอยู่กับความเหมาะสมซึ่งต้องมีการประเมินอย่างละเอียดจากแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง