โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis) ปัญหาหลักที่พบมากสุดในผู้สูงอายุ โดยประเทศไทยพบผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมถึงร้อยละ 50 เลยทีเดียว ในบางรายเริ่มเป็นตั้งแต่วัยกลางคนจนถึงวัยสูงอายุ
โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดเข่า ปวดขา ข้อเข่าเคลื่อนไหวได้ไม่เต็มที่ มักมีเสียงดังเสียงกรอบแกรบจากหัวเข่า เคลื่อนไหวลำบาก ทำให้ไม่อยากเดินไปไหนไกล ๆ รู้สึกเดินขึ้น ลงบันไดยากมากขึ้น ลุกนั่งแล้วรู้สึกเจ็บปวด
อย่างไรก็ตาม เราสามารถชะลอโรคข้อเข่าเสื่อมและทุเลาความเจ็บปวดลงได้ เพียงเรารู้เท่าทันก็จะสามารถป้องกันได้อย่างถูกวิธี
โรคข้อเข่าเสื่อมคืออะไร? เกิดจากอะไร?
โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis) คือ การอักเสบของข้อต่อ ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่กระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลาย ซึ่งกระดูกอ่อนผิวข้อนี้มีหน้าที่สำคัญในการป้องกันและดูดซับแรงกระแทกระหว่างข้อเข่า ช่วยลดการสึกหรอและเสื่อมสภาพของข้อเข่า
กระดูกอ่อนผิวข้อ จะมีลักษณะเรียบลื่น เป็นมัน ช่วยกระจายแรงและลดแรงกระแทกที่เกิดขึ้นกับข้อต่อนั้น ๆ ทำให้เราเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสะดวก ไม่เจ็บปวด เมื่อไหร่ที่กระดูกอ่อนเกิดความเสียหายจนทำให้กระดูกที่อยู่ใต้กระดูกอ่อนในข้อเข่าเสียดสีกัน จะทำให้เกิดการอักเสบ ปวดเข่า เข่าบวม ข้อยึด เดินลำบาก หรือบางรายเข่าอาจผิดรูปหรือโก่งงอได้
นอกจากนี้ เรายังพบว่าผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม มักมีกระดูกผิวข้อเข่าบางลง มีการแตกและเปื่อยยุ่ย ร่วมกับสูญเสียกระดูกอ่อนผิวข้อไป บางรายอาจมีการอักเสบของเยื่อบุข้อร่วมด้วย ส่งผลให้น้ำในข้อมากขึ้น จึงเกิดอาการบวมของข้อเข่า มีกระดูกงอตามขอบผิวข้อ ร่วมกับการโก่งผิดรูปของข้อเข่าในระยะสุดท้ายของโรค ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมจะเป็นขาโก่งแบบโค้งออก (Bow legs) แต่บางรายอาจพบในลักษณะผิดรูปของข้อเข่าแบบโค้งเข้า (Knock knee) ได้อีกด้วย แม้จะพบได้น้อยกว่า
สัญญาณเตือน และอาการของโรคข้อเข่าเสื่อม
ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม มักจะมีอาการปวดเข่าขณะเดิน ขึ้นลงบันได นั่งยอง ๆ หรือนั่งขัดสมาธิ ผู้ป่วยมักจะนั่งพับเพียบไม่ได้ เพราะมีอาการปวด บางครั้งเดินอยู่ก็มีอาการเข่าทรุด เพราะปวดเสียวในเข่า
ไม่สามารถขยับเข่าหรือเคลื่อนไหวได้อย่างเต็มที่ อาจเหยียดหรืองอเข่าได้ไม่สุด รู้สึกตึงข้อ และมีอาการข้อติดขัด ไม่คล่องแคล่ว
รู้สึกปวดตื้อ ๆ เจ็บแปลบ เจ็บเสียวตามแนวข้อเข่า อาการปวดนี้จะมีแนวโน้มเป็นมากขึ้นตามลักษณะการทำลายผิวข้อที่มากขึ้น ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะรู้สึกทุเลาจากอาการปวดเป็นระยะ ๆ แต่ในระหว่างที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม และไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง กระดูกก็จะถูกทำลายมากขึ้น ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดเท่าเดิมหรือมากขึ้นกว่าเดิมเป็นระยะ ๆ แต่เมื่อโรคข้อเข่าเสื่อมลุกลามมากขึ้น ผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดและขยับข้อเข่าได้เพียงเล็กน้อย
ในระยะสุดท้ายของโรค อาการของโรคเข่าเสื่อมจะรุนแรงขึ้น ขาของผู้ป่วยเริ่มมีการผิดรูป และมีอาการเจ็บปวด ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมเดินไม่ได้ ผู้ป่วยอาจมีอาการขัดในข้อ ข้อยึด ขยับลำบาก โดยมักเป็นขณะนั่ง หรือนอนกับที่เป็นเวลานาน ๆ แต่เมื่อขยับข้อระยะหนึ่งจะรู้สึกคล่องขึ้น
หากคุณมีอาการเหล่านี้ ลองทำแบบทดสอบเช็คความเสี่ยงโรคข้อเข่าเสื่อม ได้ที่นี่
โรคข้อเข่าเสื่อมมีกี่ระยะ?
โรคเข่าเสื่อมแบ่งออกเป็น 4 ระยะ โดยจำแนกตามความรุนแรงของการสึกหรอของข้อเข่า และความรุนแรงของอาการที่ผู้ป่วย
- ระยะที่ 1 (Early Stage) : ในระยะแรกนี้ การสึกหรอของกระดูกอ่อนที่ข้อเข่าจะยังมีไม่มาก ผู้ป่วยอาจไม่รู้สึกเจ็บปวดหรือมีอาการน้อยมาก และมักตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจคัดกรองภาวะข้อเข่าเสื่อม หรือจากการเอกซเรย์
- ระยะที่ 2 (Mild Stage) : กระดูกอ่อนเริ่มสึกหรอมากขึ้น และมีอาการบวมและเจ็บปวดเมื่อใช้ข้อเข่าอาจมีเสียงกรอบแกรบเมื่อเคลื่อนไหวข้อเข่า ข้อเข่าเริ่มมีความแข็งแรงลดลง และการเคลื่อนไหวหัวเข่าเริ่มมีการติดขัด
- ระยะที่ 3 (Moderate Stage) : กระดูกอ่อนเสื่อมสภาพมากขึ้นจนกระดูกเริ่มชนกันเมื่อเคลื่อนไหวข้อเข่า อาการเจ็บปวดจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเดินหรือเคลื่อนไหวข้อเข่า นอกจากนี้ยังอาจพบการบวมของหัวเข่า และเคลื่อนไหวข้อเข่าได้น้อยลง
- ระยะที่ 4 (Severe Stage) : กระดูกอ่อนในข้อเข่าถูกทำลายไปเกือบทั้งหมด ทำให้กระดูกข้อเข่าเสียดสีกันโดยตรง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อเข่าอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง แม้ว่าจะพักการใช้งานข้อเข่าแล้วก็ตาม ในระยะนี้ข้อเข่าอาจผิดรูปและมีอาการบวมที่เห็นได้ชัดเจน และการเคลื่อนไหวข้อเข่าจะทำได้ลดลงอย่างมาก ในระยะนี้ต้องได้รับการรักษา ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
ดังนั้น สำหรับผู้ที่เริ่มมีอาการสัญญาณเตือนของโรคข้อเข่าเสื่อม ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดตั้งแต่ต้น หากป่วยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมไม่ว่าจะระยะใดก็ตาม จะได้เข้ารับการรักษาได้ทันเวลา และช่วยลดความเสี่ยงของการผ่าตัดเข่าในระยะยาวได้อีกด้วย
สาเหตุของโรคข้อเข่าเสื่อม
- ความผิดปกติของข้อเข่า เช่น มีข้อเข่าผิดรูป ขาโก่ง หรือมีเข่าชนกัน
- อายุที่มากขึ้น โดยพบมากในคนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งมักจะเกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
- มีน้ำหนักตัว หรือ ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 23 กก/ม2
- การใช้ข้อเข่าหักโหมซ้ำ ๆ หรือท่าทางบางท่าที่ต้องงอเข่ามากเกินไป เช่น การคุกเข่า นั่งยอง ๆ นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ ซึ่งทำให้ข้อเข่าต้องรับแรงกดสูงกว่าปกติเป็นเวลานาน ๆ หรือบ่อยครั้ง
- มีประวัติการเกิดอุบัติเหตุที่บริเวณข้อเข่า เช่น การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ส่งผลให้เพิ่มความเสี่ยงการเกิดข้อเข่าเสื่อมได้มากขึ้น
- พันธุกรรม หรือผู้มีประวัติคนภายในครอบครัวเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม
- เชื้อชาติ จากการศึกษาพบว่าคนเอเชียบางกลุ่มมีความเสี่ยงต่อโรคข้อเสื่อมน้อยกว่าภูมิภาคอื่น ๆ
- มีประวัติการติดเชื้อในข้อเข่า หรือโรคข้ออักเสบต่าง ๆ เช่น โรคอักเสบรูมาตอยด์ โรคเก๊าท์
เมื่อเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม ควรปฏิบัติตัวอย่างไร?
ลดการใช้งานข้อเข่าที่ไม่เหมาะสม เช่น หลีกเลี่ยงการนั่งพับเพียบ นั่งคุกเข่า นั่งยอง ๆ นั่งขัดสมาธิ การยืนหรือเดินมากเกินความจำเป็น รวมถึงการขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ
ควบคุมน้ำหนัก หรือลดน้ำหนักในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก
ออกกำลังกายกล้ามเนื้อรอบเข่าให้แข็งแรงสม่ำเสมอ
ใช้สนับเข่าในรายที่มีอาการปวดเข่ามาก จะช่วยลดอาการปวดของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม และทำให้เดินคล่องขึ้น
กรณีที่ปวดเข่าข้างเดียว การใช้ไม้เท้าจะช่วยลดน้ำหนักที่กดลงบริเวณข้อเข่าได้มาก วิธีการถือไม้เท้าให้ถือด้านตรงข้ามกับเข่าที่ปวด เช่น ปวดเข่าซ้ายถือไม้เท้าข้างขวา
ประคบอุ่น เพื่อลดอาการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อรอบ ๆ เข่า หรือในกรณีเข่าบวม ให้ใช้การประคบเย็น เพื่อลดอาการบวมของข้อเข่า
กรณีมีอาการปวดเข่าเรื้อรังมากกว่า 1-2 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ และรับการรักษาอย่างเหมาะสม
การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
การรักษาด้วยวิธีที่ไม่ต้องผ่าตัด
- การรักษาโดยไม่ใช้ยา : ซึ่งเหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการยังไม่รุนแรง โดยส่วนใหญ่จะเป็นการให้คำปรึกษาและแนะนำในการปฏิบัติตัว การใช้งานข้อเข่าอย่างถูกต้องและลดน้ำหนักตัวในผู้ป่วยรายที่มีน้ำหนักตัวมาก เพื่อเป็นการลดน้ำหนักและแรงกดทับที่กระทำไปที่ข้อเข่า นอกจากนี้แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการบริหารข้อเข่าและกล้ามเนื้อต้นขาให้แข็งแรง
- การรักษาโดยการใช้ยา : หากผู้ป่วยออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์แล้วยังไม่ได้ผล หรือหากมีอาการเจ็บปวดรุนแรง แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการให้ยาบรรเทาอาการปวด เช่น พาราเซตามอล หรือกลุ่มยาที่ช่วยลดการอักเสบของเนื้อเยื่อและข้อ เช่น ไอบูโปรเฟน
- การรักษาโดยการฉีดยา : แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการฉีดยาเข้าบริเวณข้อเข่า หรือฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าให้กับผู้ป่วย
- การรักษาโดยการการฉีดเกล็ดเลือดแก้อาการปวดเข่า : การรักษาเข่าเสื่อมด้วยการฉีดเกล็ดเลือด (platelet-rich plasma; PRP) เป็นทางเลือกการรักษาอาการเข่าเสื่อมที่ลดอาการปวดได้ดี ปลอดภัย ไม่ต้องผ่าตัด ช่วยลดการใช้ยาแก้ปวด
การรักษาด้วยการผ่าตัด
- การผ่าตัดเข่าส่องกล้อง (Knee Arthroscopic Surgery) : เป็นการผ่าตัด โดยการเจาะรูเล็กขนาดประมาณ 6-8 มิลลิเมตร บริเวณด้านหน้าข้อเข่าและใช้กล้อง Arthroscope ส่องเข้าไปในข้อเข่าและใช้เครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็กสอดเข้าไปเพื่อผ่าตัด มักใช้ในกรณีที่การสึกหรอของกระดูกอ่อนผิวข้อมีไม่มาก และมีอาการขัดในข้อเนื่องมาจากหมอนรองกระดูกฉีก หรือมีเศษกระดูกงอกหลุดมาขัดในข้อ แพทย์อาจพิจารณาการผ่าตัดด้วยวิธีนี้เพื่อตัดแต่งหมอนรองกระดูกที่ฉีก หรือเอาเศษกระดูกงอกดังกล่าวออก
- การผ่าตัดจัดแนวกระดูก (High Tibial Osteotomy) : แพทย์จะทำการผ่าตัด โดยจัดแนวกระดูกใหม่เพื่อลดแรงกดที่บริเวณกระดูกอ่อนผิวข้อที่มีความเสื่อม แพทย์มักพิจารณาการผ่าตัดแบบนี้ในผู้ป่วยที่มีการสึกหรอที่บริเวณกระดูกผิวข้อเพียงด้านเดียว โดยส่วนใหญ่มักพบที่ด้านในของข้อเข่า การผ่าตัดวิธีนี้นิยมใช้ในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยและขาของผู้ป่วยมีการโก่งผิดรูป หลังการผ่าตัดผู้ป่วยสามารถกลับไปมีกิจกรรมต่าง ๆ ได้ใกล้เคียงกับข้อเข่าเดิม แต่ระยะพักฟื้นหลังผ่าตัดค่อนข้างนานสำหรับการผ่าตัดวิธีนี้
- การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าแบบบางส่วน (Partial Knee Arthroplasty) : การผ่าตัดด้วยวิธีนี้มีหลายวิธี แต่ในประเทศไทยนิยมทำด้วยวิธี Unicompartment Knee Arthroplasty (UKA) โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดเปลี่ยนเฉพาะผิวข้อส่วนที่สึกหรอ โดยทั่วไปจะพิจารณาทำในกรณีที่ผู้ป่วยมีการสึกหรอที่บริเวณกระดูกผิวข้อเพียงด้านเดียวและขาของผู้ป่วยยังไม่โก่งผิดรูปมาก
- การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าแบบทั้งหมด (Total Knee Arthroplasty) : แพทย์จะทำการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อทั้งหมด ซึ่งวิธีนี้มักจะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการอยู่ในระยะท้ายของโรคข้อเข่าเสื่อมที่มีการโก่งผิดรูปของข้อเข่าและมีการสึกหรอลุกลามไปยังบริเวณกระดูกผิวข้อเกือบทั้งหมด โดยแพทย์จะผ่าตัดนำผิวข้อเข่าออกทั้งหมดแล้วแทนที่ด้วยผิวข้อเทียมที่ทำจากโลหะผสมและพลาสติกสังเคราะห์ที่มีความปลอดภัยและคงทนสูง
การป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม และการถนอมข้อเข่า
การป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อมและการถนอมข้อเข่าสามารถทำได้ดังนี้
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม : น้ำหนักตัวที่มากจะเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดข้อเข่าเสื่อม เนื่องจากข้อเข่าต้องรับน้ำหนักมากขึ้น การรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมจึงเป็นการลดภาระของข้อเข่า
- ออกกำลังกายที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ : การออกกำลังกายที่เหมาะสมจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าให้แข็งแรง โดยควรเลือกประเภทของการออกกำลังกายที่ไม่มีแรงกดดันต่อข้อเข่ามากเกินไป เช่น การเดิน ว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยาน หรือการออกกำลังกายแบบยืดเหยียดและการออกกำลังกายแบบฝึกสมดุลจะสามารถช่วยรักษาความยืดหยุ่นของข้อเข่าและลดโอกาสการบาดเจ็บได้
- หลีกเลี่ยงการใช้งานข้อเข่าหนักเกินไป : หลีกเลี่ยงการยกของหนักหรือกิจกรรมที่ต้องใช้ข้อเข่ามาก ๆ เช่น การวิ่งบนพื้นผิวแข็ง หรือการนั่งยอง ๆ เป็นเวลานาน หากต้องทำกิจกรรมที่ต้องใช้ข้อเข่ามาก ควรหยุดพักเป็นระยะเพื่อให้ข้อเข่าได้พักผ่อน
- สวมรองเท้าที่เหมาะสม : การเลือกรองเท้าที่มีพื้นรองรับที่ดีจะช่วยลดแรงกระแทกต่อข้อเข่าและป้องกันการสึกหรอของข้อเข่าได้
- ใช้ท่าทางที่ถูกต้องในการเคลื่อนไหว : ใช้ท่าทางที่ถูกต้องในการเคลื่อนไหว เช่น การลุกนั่ง การยกของ หรือการเดิน เพื่อป้องกันการบาดเจ็บของข้อเข่า
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อข้อ : รับประทานอาหารที่มีแคลเซียม วิตามินดี และสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผักใบเขียว ผลไม้ และปลา ซึ่งจะช่วยบำรุงกระดูกและข้อเข่าให้แข็งแรง
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ : การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้การไหลเวียนของเลือดลดลง ซึ่งส่งผลต่อการฟื้นฟูของข้อและกระดูก
สรุป
โรคข้อเข่าเสื่อม แม้จะเป็นปัญหาที่พบมากในผู้สูงอายุ แต่ก็สามารถพบได้ในวัยทำงานได้เช่นกัน ซึ่งมักจะเกิดจากกระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลาย หรือสาเหตุอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม เราสามารถป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อมได้ด้วยการทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรค และดูแลสุขภาพอย่างถูกวิธีเพื่อป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม เพื่อทำให้เรามีความสุขในทุกย่างก้าวที่เดิน
ศูนย์กระดูกและข้อพระรามเก้า เราตระหนักถึงความสำคัญในทุกย่างก้าวของทุกคนในทุกเพศทุกวัย เราจึงพร้อมให้คำปรึกษา ตรวจวินิจฉัย และทำการรักษาโรคกระดูกและข้อโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเฉพาะทาง ด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัย ได้มาตรฐาน สร้างความมั่นใจและสร้างความสุขให้กับทุกคนในทุกก้าวใหม่ ๆ ของทุกวัน