จากข้อมูล ผู้ป่วยที่หายจากโควิดแล้วประมาณ 30-50% จะยังมีอาการหลงเหลืออยู่ เช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย มีไข้ ไอ ปวดหัว ซึ่งภาวะนี้เรียกว่า ลองโควิด (Long Covid) ภาวะลองโควิดนี้สามารถพบได้ในผู้ป่วย หลังได้รับเชื้อ 4-12 สัปดาห์ขึ้นไป
อย่างไรก็ดี นอกจากอาการทางด้านร่างกายแล้ว ผู้ป่วยหลายรายยังอาจมีอาการทางจิตใจร่วมด้วย เช่น วิตกกังวล สมาธิสั้นลง หรือซึมเศร้า ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตได้ หากอยากทราบว่ามีสาเหตุจากอะไร พบได้บ่อยแค่ไหน ควรดูแลรักษาอย่างไร ควรมาปรึกษาแพทย์หรือไม่ ติดตามอ่านต่อได้เลย
ลองโควิด (Long Covid) ส่งผลต่อสุขภาพจิตอย่างไร?
โควิด-19 เป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากโควิดเป็นโรคที่ต้องใช้ระยะเวลาการรักษาที่ยาวนานหลายสัปดาห์ ในบางรายอาจใช้เวลานานหลายเดือน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของแต่ละคน
ระหว่างการรักษาโควิด-19 สร้างประสบการณ์ที่ไม่ดี
ผู้ป่วยมักจะมีความกังวลเกี่ยวกับอาการของตนเองว่าจะมีอาการรุนแรง หรือจะมีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่ บางรายอาจจะคาดหวังว่าใช้เวลารักษาตัวในโรงพยาบาลเพียงไม่กี่วัน แต่กลับต้องอยู่โรงพยาบาลนานกว่าที่คาดไว้ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกกลัวและวิตกกังวล
ในรายที่มีอาการของโควิดรุนแรงถึงขั้นต้องนอนรักษาตัวในแผนกผู้ป่วยวิกฤต (ICU) หรือ อาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการผิดปกติทางจิตใจหลังจากประสบสถานการณ์กระทบกระเทือนใจรุนแรงได้ หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า PTSD (Post-traumatic stress disorder)
ฟื้นตัวช้า ไม่คล่องตัว ไม่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ เหมือนต้อง “Lock Down” ชีวิตตัวเอง
ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากลองโควิด มักต้องใช้เวลาในการพักฟื้น อาจเสียความคล่องตัวขั้นพื้นฐาน (Loss of basic mobility) ทำให้สูญเสียความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวัน
หลายคนมักรู้สึกเหนื่อยง่ายขึ้นกว่าเดิม ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตได้ไม่เป็นปกติ เช่น ต้องเดินช้า ๆ หายใจช้า ๆ ต้องระมัดระวังการรับประทานอาหาร ต้องงดหลาย ๆ กิจกรรม โดยเฉพาะการออกกำลังกาย
เมื่อสูญเสียความมั่นใจในสิ่งที่เคยได้ทำ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นลดลงย่อมส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้ป่วย
นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่หายจากโควิดจำนวนไม่น้อยมีภาวะวิตกกังวล (anxiety) หรือ ซึมเศร้า (depression) บางรายอาจเกิดความรู้สึกผิดที่ต้องลาป่วยเป็นเวลานาน และเพื่อนร่วมงานต้องมารับผิดชอบแทน ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตในระยะยาวได้
ลองโควิด (Long Covid) กับภาวะสมองล้า (Brain fog)
นอกจากผลกระทบดังที่กล่าวมาแล้ว ลองโควิดยังมีผลทำให้มีภาวะสมองล้า หรือ Brain Fog โดยภาวะที่เกิดขึ้นนี้ มาจากอาการทางสมอง ที่อาจแสดงออกมาในลักษณะของการตัดสินใจช้า เช่น ความรู้สึกช้า เบลอ ๆ หรือมีความคิดล่องลอย
โดยมักจะมีอาการดังต่อไปนี้
- มีปัญหาทางด้านความจำ
- ตัดสินใจไม่เด็ดขาด
- สมาธิไม่ดี สมาธิสั้น
- จิตใจล่องลอย ไม่สนใจสิ่งรอบตัว
- ปวดหัว
- ความคิดสับสน
แม้จะพบกรณีที่ผู้ป่วยเกิดภาวะสมองล้าขึ้นหลังหายจากโควิด แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอน ว่าโควิด-19 ส่งผลต่อสมองจนเกิดภาวะสมองล้าได้อย่างไร แต่ก็มีการคาดการณ์ว่า ไวรัสอาจเข้าไปมีผลโดยตรงต่อระบบประสาทและสมอง และสร้างความเสียหายขึ้นได้ ในขณะเดียวกัน มีการวิเคราะห์ว่า อาจเกิดจากผลกระทบทางอ้อมจากโควิด-19 ได้แก่
- การพักผ่อนหรือนอนหลับไม่เพียงพอ
- รูปแบบการรับประทานอาหาร หรือมื้ออาหารที่ไม่เหมือนเดิม
- ออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวน้อยลง
- ผลข้างเคียงจากยาหรือขั้นตอนการรักษา
แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่ก็พบว่าเป็นอาการร่วมของลองโควิดที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้น จึงควรใส่ใจและหมั่นสังเกตตัวเอง เนื่องจากภาวะสมองล้าส่งผลกระทบบั่นทอนความคิดสร้างสรรค์ และทำให้ประสิทธิผลในการทำงานลดลง นอกจากนี้ ยังเป็นสาเหตุเริ่มต้นของโรคร้ายแรงต่าง ๆ อย่างเช่น โรคเครียด หรืออาจถึงขั้นเกิดสภาวะสมองเสื่อมได้
ผลกระทบทางจิตใจจากลองโควิด (Long Covid) เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง?
ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่คาดว่าอาจมีหลายสาเหตุร่วมกัน เช่น
- ผลของระบบภูมิคุ้มกันที่ถูกกระตุ้นจากไวรัส
- ผลโดยตรงที่เกิดจากไวรัสเอง
- ผลกระทบต่อจิตใจตอนติดเชื้อและมีอาการจากโควิด-19 ทั้งในช่วงที่เข้ารับการรักษาหรืออยู่ระหว่างพักรักษาตัว
เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ป่วยโควิดมีรายงานภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับระบบประสาทร่วมด้วย เช่น สับสน (confusion) เพ้อ (delirium) และ ภาวะบกพร่องทางสมอง (cognitive impairment) ซึ่งอาจเป็นหลักฐานเชื่อมโยงว่าไวรัสโควิดอาจมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันที่แน่ชัด และยังอยู่ในระหว่างการศึกษาเพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจน
ลองโควิด (Long Covid) ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตมากแค่ไหน?
จากการเก็บข้อมูลของผู้ที่หายป่วยจากโควิดในต่างประเทศพบว่าประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ที่หายจากโควิด จะพบความผิดปกติด้านจิตใจ ได้แก่
18% มีภาวะวิตกกังวล
13.6% มีปัญหาด้านอารมณ์
5.4% มีภาวะนอนไม่หลับ
บางรายพบอาการหลายอย่างร่วมกัน
ซึ่งอาการเหล่านี้มีผลต่อกิจวัตรประจำวันและการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยโดยตรง
ดูแลจิตใจอย่างไรในภาวะลองโควิด (Long Covid)
เนื่องจากลองโควิดมีผลต่อสุขภาพจิต ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องดูแลสุขภาพจิตของผู้ป่วยโควิด-19 เป็นพิเศษ ทั้งกรณีที่อยู่ระหว่างการรักษา หรืออยู่ในช่วงพักฟื้นตัวหลังจากหายป่วย
การดูแลจิตใจตนเอง
- เมื่อรู้สีกว่าเครียด กังวล หรือมีอารมณ์ที่ผิดปกติ อาจจะหาโอกาสชวนใครออกไปเดินเล่นรอบ ๆ บ้าน พูดคุยกับคนในครอบครัวหรือเพื่อนที่อยู่ห่างไกล ผ่านการโทรศัพท์หรือใช้แอปพลิเคชันต่าง ๆ เพื่อผ่อนคลายความเครียด
- งดการดูหรือติดตามข่าวที่ทำให้เครียด เศร้าหมอง หรือส่งผลกระทบทางลบต่อจิตใจ
- หางานอดิเรกที่ชอบทำ เช่น งาน DIY ปลูกต้นไม้ ดูแลต้นไม้
- ทำกิจกรรมที่ช่วยให้มีสมาธิ เช่น อ่านหนังสือ นั่งสมาธิ เพื่อผ่อนคลายจิตใจ
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอ เข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลา เพื่อทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น
- งด ลด หรือเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
- ลองกำหนดเป้าหมายที่จะทำในแต่ละวัน อาจจะเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ๆ แล้วทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เมื่อสามารถทำได้ตามเป้าหมายจะทำให้รู้สึกภูมิใจกับตนเองมากขึ้น
พูดคุยกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูง เมื่อรู้สึกว่าสภาพจิตใจไม่เป็นปกติ
เมื่อรู้สึกสภาพจิตใจไม่ปกติ เครียด ซึมเศร้า หดหู่ การพูดคุยกับครอบครัวหรือเพื่อนที่ไว้ใจได้ จะช่วยลดภาวะอารมณ์ที่หดหู่ เครียด หรือซึมเศร้าลงได้
กรณีที่เป็นการพบปะกันต่อหน้า ต้องไม่ลืมที่จะป้องกันตัวเองโดยต้องปฏิบัติตามหลัก new normal เสมอ ซึ่งได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาระหว่างการพูดคุยหรือสนทนา การรักษาระยะห่าง และล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือที่มีความเข้มข้นตามเกณฑ์ที่กำหนด
ถ้าไม่ไหว อย่าฝืน ให้ปรึกษาแพทย์
หากรู้สึกว่าตนเองมีปัญหาทางจิตใจ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ โดยแพทย์จะพูดคุยซักถาม เพื่อวินิจฉัย ให้คำปรึกษา และแนะนำการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง โดยแพทย์อาจให้การรักษาร่วมกันกับการกินยาเพื่อลดภาวะดังกล่าว
คำแนะนำ : ผู้ที่มีญาติหรือคนใกล้ชิดที่เคยเป็นโควิดหรือมีอาการของลองโควิดอยู่ ต้องคอยสังเกตพฤติกรรมของผู้ป่วยว่าเริ่มมีอาการผิดปกติทางด้านจิตใจหรือไม่ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาทางด้านสุขภาพจิตของผู้ป่วย ซึ่งบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย เมื่อพบว่าผู้ป่วยเริ่มมีอาการควรพาผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจากแพทย์
หากสงสัยว่ามีอาการลองโควิดและส่งผลต่อจิตใจสามารถทำแบบประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้นด้านล่างนี้เพื่อประเมินเบื้องต้นด้วยตัวเอง
สรุป
ผู้ป่วยที่หายจากโควิดมักมีอาการหลงเหลืออยู่ทั้งทางด้านร่างกาย เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย มีไข้ ฯลฯ และทางด้านจิตใจ อาการเหล่านี้ คือ อาการที่เรียกว่าลองโควิด (Long Covid)
รายงานพบว่า ลองโควิดอาจมีผลกระทบต่ออาการทางด้านจิตใจได้มากถึง 1 ใน 4 ซึ่งอาการหรือปัญหาทางสุขภาพจิตเหล่านี้ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย
ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยมีความรู้สึกเครียด กังวล หรือเริ่มมีภาวะซึมเศร้า ควรไปปรึกษาแพทย์ และมี
ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่มีผู้ใกล้ชิด หรือญาติเคยเป็นโควิด หรือกำลังมีอาการลองโควิด ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติทางด้านอารมณ์ หรือจิตใจต่าง ๆ เมื่อพบความผิดปกติ ควรไปปรึกษาแพทย์
การระบาดของโควิด-19 กระทบต่อมนุษย์ทั่วโลกและระบาดอย่างยาวนาน เราคงต้องอยู่ร่วมกับโรคนี้อย่างเข้าใจ และดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจ จนกว่าเราจะก้าวผ่านการระบาดของโรคนี้ไปได้อย่างมีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ