จากวิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน พฤติกรรมการบริโภคที่มีอาหารให้เลือกมากมายหลากหลาย แต่อาจไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น อาหารที่มีไขมันสูง อาหารแปรรูป อาหารที่มีโซเดียมสูง เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล และขนมเบเกอรี่ต่าง ๆ เป็นต้น ร่วมกับกิจวัตรประจำวันหรืองานที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย ขาดการออกกำลังกาย ทำให้ผู้คนจำนวนมากมีภาวะน้ำหนักตัวเกิน จนเป็นโรคอ้วน โดยเฉพาะ “อ้วนลงพุง” จนนำไปสู่ “โรคเมตาบอลิก” ซึ่งเป็นภาวะที่มีความผิดปกติของระบบเผาผลาญอาหารของร่างกาย มีภาวะดื้ออินซูลิน เกิดไขมันพอกตับ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งหากปล่อยไปจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ตามมา โรคเมตาบอลิกพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ และจะพบมากเมื่ออายุเพิ่มขึ้น
โรคเมตาบอลิกคืออะไร?
โรคเมตาบอลิก (metabolic syndrome) หรือเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า “ภาวะดื้ออินซูลิน (insulin resistance) คือกลุ่มความผิดปกติที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ กลุ่มความผิดปกติดังกล่าวได้แก่
- อ้วนลงพุง(central obesity หรือ abdominal obesity)
- ความดันโลหิตสูง
- มีไขมันไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) ในเลือดสูง
- มีไขมันคอเลสเตอรอลตัวดี (HDL cholesterol) ต่ำ
- ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
ภาวะต่าง ๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวานชนิดที่สอง โรคความดันโลหิตสูง และกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular diseases) เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์อัมพาต โรคของหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ โรคของหลอดเลือดแดงใหญ่ เป็นต้น
กลไกการเกิดโรคเมตาบอลิก
ภาวะดื้ออินซูลิน เป็นภาวะที่ฮอร์โมนอินซูลินไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ตามปกติ ฮอร์โมนอินซูลินเป็นฮอร์โมนสำคัญ ควบคุมการใช้พลังงานของร่างกาย โดยกระบวนการนำน้ำตาลในเลือดเข้าไปในเซลล์ต่าง ๆ โดยเฉพาะตับ กล้ามเนื้อลาย และเซลล์ไขมัน แล้วนำไปผลิตพลังงานเพื่อให้เซลล์ต่าง ๆ ทำงานได้อย่างปกติ และสะสมพลังงานไว้ในรูปของไกลโคเจนที่ตับ และเพิ่มการสังเคราะห์โปรตีนที่กล้ามเนื้อ ยับยั้งการสลายไตรกลีเซอไรด์ออกจากเซลล์ไขมันใต้ผิวหนัง ดังนั้นผู้ที่มีภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน การเก็บพลังงานจะผิดตำแหน่ง ร่างกายไม่สามารถใช้พลังงานจากน้ำตาลได้ จึงมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง มีไขมันในเลือดผิดปกติ ไขมันพอกตับ เซลล์ไขมันปล่อยสาร adipokines ทำให้เซลล์เยื่อบุหลอดเลือดทำงานผิดปกติ ความดันโลหิตสูง การอักเสบของผนังหลอดเลือด มีไขมันสะสมที่ผนังหลอดเลือดชั้นใน นำไปสู่ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) เกิดหลอดเลือดแดงตีบตัน และอวัยวะต่าง ๆ ขาดเลือดในที่สุด
ปัจจัยเสี่ยงของโรคเมตาบอลิก
ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสการเกิดโรคเมตาบอลิก ได้แก่
- อ้วน โดยผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หรืออ้วนลงพุง มีไขมันสะสมบริเวณรอบเอวและสะโพกจะเสี่ยงต่อโรคเมตาบอลิก
- พฤติกรรมการใช้ชีวิต กิจวัตรประจำวันหรือการทำงานที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย ขาดการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารไม่เหมาะส
- อายุ โดยอายุที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อหมดประจำเดือนในผู้หญิง
- ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวานชนิดที่ 2
- สาเหตุทางพันธุกรรม เช่น lipodystrophy
- ความเครียด ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนที่ออกฤทธิ์ตรงข้ามกับอินซูลิน เช่น ฮอร์โมนคอร์ติซอล อะดรีนาลิน และกลูคากอน
- โรคที่พบร่วม เช่น โรคไขมันพอกตับและตับแข็งที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ polycystic ovarian syndrome กรดยูริกในเลือดสูง โรคเก๊าท์ โรคไตวายเรื้อรัง และโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โดยพบว่าโรคเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเมตาบอลิก
อาการของเมตาบอลิก
โรคเมตาบอลิกไม่มีอาการแสดงที่เฉพาะเจาะจง แต่มีลักษณะหรืออาการที่สังเกตเห็นได้ เช่น
- มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน มีเส้นรอบเอวที่ใหญ่มากกว่าเกณฑ์ปกติ
- ความดันโลหิตสูง
- ตรวจเลือดพบระดับน้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ (ไขมันร้าย LDLcholesterol และ triglyceride สูง ไขมันดี HDL cholesterol ต่ำ)
- อาการของโรคร่วม เช่น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ มีบุตรยาก ข้ออักเสบเก๊าท์ เป็นต้น
- ตรวจร่างกายพบผิวหนังช้าง (acanthosis nigricans) ผิวหนังหนาตัว สีเข้มขึ้นเป็นสีน้ำตาลหรือดำ โดยเฉพาะบริเวณข้อพับ เช่น คอ รักแร้ ข้อพับแขน เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคเมตาบอลิก
ทางการแพทย์ยังถกเถียงกันว่าการควรจัดภาวะนี้เป็น “โรค” หรือเป็นกลุ่มอาการที่มีปัจจัยเสี่ยง และวิธีรักษาร่วมกัน เมื่อพบความผิดปกติอย่างใดอย่างนึง ควรตรวจหากลุ่มโรคอื่น แม้ไม่ครบเกณฑ์ 3ใน 5 ข้อนี้ ก็ควรรักษาทุกๆปัจจัยเสี่ยง
เกณฑ์ความผิดปกติอย่างน้อย 3 ข้อ ใน 5 ข้อ ได้แก่
- ความยาวรอบเอวมากกว่าหรือเท่ากับ 36 นิ้ว ( 90 เซนติเมตร) ในผู้ชาย และความยาวรอบเอวมากกว่าหรือเท่ากับ 32 นิ้ว (80 เซนติเมตร) ในผู้หญิง
- ความดันโลหิตมากกว่า 130/85 มิลลิเมตรปรอท หรือเป็นโรคความดันโลหิตสูง ได้รับการรักษาอยู่
- ระดับ triglyceride ในเลือดมากกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือถูกวินิจฉัยและได้รับการรักษาอยู่
- ระดับไขมันดี HDLcholesterol น้อยกว่าหรือเท่ากับ 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้ชาย และ น้อยกว่าหรือเท่ากับ 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้หญิง
- ระดับน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหาร (fasting blood sugar) มากกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือได้รับการวินิจฉัยเบาหวานชนิดที่ 2
การรักษาโรคเมตาบอลิก
ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเมตาบอลิกต้องลดน้ำหนักส่วนเกิน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคอื่น ๆ โดยมักพิจารณาการรักษาดังนี้
- รักษาโดยปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยลดน้ำหนักให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 5 -10 ในระยะเวลา 6-12 เดือน ลดอาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์สูง อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เครื่องดื่มและขนมที่ผสมน้ำตาล แป้งผ่านการขัดสี เน้นรับประทานอาหารประเภทผักและผลไม้ที่น้ำตาลน้อย ธัญพืช แป้งที่มีดัชนีความหวานต่ำ (glycemic index) เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน สลับโปรตีนจากพืชบ้าง ไขมันดี ได้แก่ ไขมันจากปลา ถั่วเปลือกแข็ง และอะโวคาโด เป็นต้น จำกัดเค็ม เกลือ 1ช้อนชาต่อวันหรือ โซเดียมน้อยกว่า 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน
- ออกกําลังกายแอโรบิกความแรงปานกลาง เช่น เดินเร็ว อย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ หากไม่มีเวลาสามารถแบ่งเป็นช่วง 10 นาที 3-4 รอบต่อวันได้ หรือลุกเดินบ่อยขึ้นไม่นั่งต่อเนื่องหน้าจอนานเกิน 30-60 นาที หรือทำงานบ้านเพิ่มขึ้น
- งดสูบบุหรี่
- จำกัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- การรักษาโดยการใช้ยา หากปรับพฤติกรรมแล้วยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาล ไขมันในเลือด หรือความดันโลหิตได้ แพทย์อาจพิจารณาให้รับประทานยาเบาหวาน ยาลดความดัน หรือยารักษาไขมันในเลือด ตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย ควรปรึกษาแพทย์อายุรกรรม หรือแพทย์อายุรกรรมเฉพาะทางเมตาบอลิกและต่อมไร้ท่อ
วิธีป้องกันโรคเมตาบอลิก
ควบคุมน้ำหนักหรือลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยให้ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ให้อยู่ระหว่าง 18.5–23 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หรือลดน้ำหนักให้ได้อย่างน้อย 5 – 10% ของน้ำหนักตัว จะช่วยลดภาวะดื้อต่ออินซูลินและความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ได้
- การออกกำลังกายเป็นประจำ โดยออกกำลังกายแบบแอโรบิค เช่น การเดินเร็ว ๆ 30 นาทีทุกวันหรือประมาณ 150 นาทีต่อ 1 สัปดาห์ จะทำให้การลดน้ำหนักมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังช่วยลดความดันเลือด ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน และโรคหัวใจได้อีกด้วย
- รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลดอาหารที่มีไขมันสูง รับประทานอาหารที่มีใยสูง เช่น ธัญพืช ข้าวกล้อง ผัก ถั่ว และเพิ่มโปรตีนจากปลา รวมถึงผักและผลไม้ที่ไม่หวาน ลดอาหารพวกเนื้อแดง เนื้อสัตว์แปรรูปต่าง ๆ ใช้น้ำมันถั่วเหลืองแทนน้ำมันปาล์ม และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์
- เลือกรับประทานอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตไม่ขัดสี เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวโพด ลูกเดือย ขนมปังโฮลวีท
- เลิกสูบบุหรี่ และลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
สรุป
โรคเมตาบอลิกเป็นเสมือนภัยเงียบใกล้ตัว เนื่องจากไม่มีอาการแสดงที่ชัดเจน แต่เมื่อเป็นแล้วจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่โรคต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์อัมพาต โรคความดันสูง และโรคเบาหวาน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มโรคเรื้อรัง
เพื่อเป็นการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ห่างไกลจากโรคร้ายต่าง ๆ ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหาร ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ซึ่งจะส่งผลให้มีสุขภาพจิตดี ให้คุณใช้ชีวิตและทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างมีความสุข