Metabolic Syndrome เป็นศัพท์ทางการแพทย์ที่หมายถึง กลุ่มอาการของโรคที่เกี่ยวข้องและมีสาเหตุมาจากความอ้วนซึ่งมีมูลเหตุมาจากการเผาผลาญอาหารที่ผิดปกติ (Metabolism) ซึ่งนำไปสู่โรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และภาวะดื้ออินซูลินในที่สุดจะก่อให้เกิดโรคไขมันอุเตันหลอดเลือด (Atherosclorosis) ซึ่งนำพาไปสู่การเสียชีวิต สมัยก่อนทางการแพทย์เรียกโรคนี้ว่า Syndrome X และ Insulin Resistane Syndrome แต่ในปัจจุบัน Metabolic Syndrome เป็นคำที่นิยมและสะท้อนถึงสาเหตุและอาการของโรคได้ดีที่สุด
อาการของโรค
Metabolic Syndrome จะก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ไตจะขับเกลือออกได้น้อยลงทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ไขมันไตรกลีเซอไรด์ที่สูงเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดหลอดเลือดแดงตีบ ทำให้ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์ หรืออัมพาต และยังเพิ่มโอกาสให้เป็นโรคเบาหวานได้ง่าย
ความน่ากลัวของโรค
Metabolic Syndrome คือ เป็นโรคที่เป็นภัยเงียบ ไม่มีอาการบ่งชี้ล่วงหน้า คนไข้จะรู้ตัวก็ต่อเมื่อมีอาการของหลอดเลือดอุดตันแล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่มีอาการของโรคร้ายแรงอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น เช่น หลอดเลือดสมองอุดตัน อัมพฤกษ์ หัวใจวาย หรืออาการผิดปกติอื่นๆ ตามแต่ตำแหน่งที่หลอดเลือดอุดตันสาเหตุของ Metabolic Syndrome มี 3 ประการได้แก่
- การรับประทานอาหารผิดสุขลักษณะ เช่น อาหารหวาน อาหารมัน และอาหารรสเค็มจัด กินอาหารที่มีกากใยน้อย
- พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ส่งผลต่อการเร่งให้เกิดโรค เช่น ขาดการออกกำลังกาย ความเครียด นอนน้อยนอนดึก สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
- พันธุกรรม เชื้อชาติ และสภาพแวดล้อม
ข้อบ่งชี้การเกิดโรค
การบ่งชี้โอกาสในการเกิดโรค Metabolic Syndrome สามารถบ่งชี้ความเสี่ยงได้ก่อนเกิดโรค คือ อาการอ้วนลงพุงเกินระดับมาตราฐาน คือ มีเส้นรอบเอวมากกว่า 90 เซนติเมตรในผู้ชาย และ เกินกว่า 80 เซนติเมตรในเพศหญิง และมีข้อบ่งชี้ประกอบอย่างน้อย 2 ใน 4 อาการ ได้แก่
- ความดันโลหิตมากกว่า 130/85 มม.ปรอท หรือผู้ที่ได้รับยาลดความดันโลหิต
- ระดับไตรกลีเซอไรด์มากกว่า 150 mg% หรือผู้ที่เป็นไขมันสูงและได้รับยาลดไขมัน
- ระดับน้ำตาลสูงกว่า 100 mg% หรือผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 2
- หากมีเส้นรอบเอวที่เกินระดับมาตราฐานและมีข้อบ่งชี้มากกว่า 3 ประการจะมีอัตราการเกิดโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 2 เท่า และพบว่าผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงครบ 4 ประการจะมีอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น 3 เท่า และ การเกิดโรคเบาหวานเพิ่ม 24 เท่า
การดูแลป้องกันโรค Metabolic Syndrome
สามารถป้องกันตัวเอง และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ โดยการปรับพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดโรคได้ โดยการปรับพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรค ซึ่งแบ่งได้ 4 ประการหลัก ได้แก่
- การออกกำลังกายชนิดแอโรบิกวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน
- การรับประทานอาหารสุขภาพ เช่น ลดอาหารประเภทไขมันลง ลดการรับประทานแป้งเหลือไม่เกิน 50% ของอาหารที่รับประทาน เน้นอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ธัญพืช ข้าวกล้อง ผัก ถั่ว ลดอาหารประเภทเนื้อสัตว์ และลดซอสปรุงรสต่างๆลง เป็นต้น
- การลดน้ำหนัก จากการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ และสหรัฐอเมริกา พบว่า การลดน้ำหนักลง 5-10% ของน้ำหนักตัว จะลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานได้
- การงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์- งดบุหรี่
การรักษาทางการแพทย์
การรักษาทางการแพทย์ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ การรักษาอาการเบื้องต้น ไม่ให้เกิดโรคร้ายแรง และส่วนที่สองการรักษาเมื่อมีอาการป่วยเฉียบพลัน
ในการรักษาอาการเบื้องต้น สามารถแบ่งออกได้เป็น การรักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม 120/80 มม.ปรอท การรักษาไขมันในเลือด โดยการลดระดับไขมัน LDL ลดระดับ ไตรกลีเซอไรด์ และเพิ่มไขมัน HDL การรักษาระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่า 100 mg%
การรักษาเมื่อมีอาการป่วยเฉียบพลัน เช่น มีอาการเจ็บหน้าอก อาการแขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว เป็นต้น ควรรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์โดยด่วน
เกร็ดความรู้
ผู้ป่วย Metabolic Syndrome ควรให้ความใส่ใจกับสภาวะการเกิดโรคร้ายต่อเนื่องเป็นพิเศษ และต้องพบแพทย์เป็นประจำเพื่อรับคำปรึกษาอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งทำประวัติคนไข้ให้เรียบร้อย โดยมีการเลือกโรงพยาบาลที่ทำการรักษาและควรพิจารณาองค์ประกอบในหลายด้าน เช่น มาตราฐานการรักษาพยาบาลที่ได้รับมาตราฐานสากล ความพร้อมของเครื่องมือในการรักษา รวมถึงทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่พร้อมให้การดูแลรักษาตลอด 24 ชั่วโมง
ข้อมูลโดย : อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน Metabolic Syndrome โรงพยาบาลพระรามเก้า