โดย พญ.ปิยะรัตน์ สัมฤทธิ์ประดิษฐ์ พญ.สิริอร วัชรานานันท์ และ นพ.ชนรัฐ เสถียร
วัคซีน Moderna (โมเดอร์นา) เป็นวัคซีนทางเลือกที่องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาได้อนุมัติให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2563 ต่อจากวัคซีน Pfizer
สำหรับประเทศไทย Moderna เป็นวัคซีนทางเลือกที่จะได้นำมาใช้ในประเทศโดยภาคเอกชน ซึ่งเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมานี้ ทางคณะกรรมการอาหารและยา ก็ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนดังกล่าวในตำรับยาแผนปัจจุบัน ในฐานะยาควบคุมพิเศษ และมีแนวโน้มที่คนไทยจะได้ฉีดกันเร็ว ๆ นี้
สำหรับคนที่กำลังสงสัยว่า วัคซีนชนิดนี้เป็นอย่างไร มีประสิทธิภาพแค่ไหน และมีรายละเอียดเชิงลึกอะไรที่ควรรู้บ้าง สามารถเลือกอ่านเนื้อหาตามสารบัญได้เลย!
สารบัญ
- วัคซีน Moderna คืออะไร?
- Moderna วัคซีนชนิด mRNA
- วัคซีน Moderna ต้องฉีดกี่เข็ม? ห่างกันเท่าไหร่?
- คำแนะนำการฉีดวัคซีน Moderna หลังได้รับวัคซีน Sinovac Sinopharm หรือ AstraZeneca มาแล้ว
- ประสิทธิภาพของวัคซีน Moderna
- วัคซีน Moderna ป้องกันโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่ได้หรือไม่?
- ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ จากวัคซีน Moderna
- ใครสามารถรับวัคซีน Moderna ได้บ้าง?
- มีข้อควรระวังอะไรบ้าง สำหรับการฉีดวัคซีน Moderna
- สรุป
วัคซีน Moderna คืออะไร?
วัคซีน Moderna หรือโมเดอร์นา (mRNA-1273) คือ วัคซีนชนิด mRNA ซึ่งเป็นนวัตกรรมล่าสุดที่คิดค้นและพัฒนาขึ้นโดยบริษัทสัญชาติอเมริกัน คือ บริษัทโมเดอร์นา (ModernaTX, Inc.) ถือว่าเป็นวัคซีนอีกยี่ห้อที่ได้รับการยอมรับ เนื่องจาก องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาหรือ US FDA อนุมัติให้ใช้เป็นตัวที่ 2 ถัดจากวัคซีนโควิดไฟเซอร์ (Pfizer)
Moderna วัคซีนชนิด mRNA
วัคซีนโควิด 19 ของ Moderna ได้เลือกใช้เทคนิคการผลิตแบบ mRNA ซึ่งนับว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เคยใช้กับการพัฒนาวัคซีนป้องกันอีโบล่า
โดยวัคซีนประกอบด้วยโปรตีนสังเคราะห์ที่เรียกว่า mRNA ซึ่งมีลักษณะคล้ายสารพันธุกรรมส่วนหนึ่งของไวรัสโควิด 19
ซึ่งเมื่อฉีดเข้าไปในร่างกายแล้วจะกระตุ้นให้เซลล์ในร่างกายสร้างโปรตีนขนาดเล็กๆที่คล้ายกับหนามบนเปลือกหุ้มไวรัสโควิด 19 และโปรตีนนี้จะไปกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อโควิด 19
โดยในปัจจุบันวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีนี้ ได้แก่ Pfizer (ไฟเซอร์) และ Moderna (โมเดอร์นา)
วัคซีน Moderna ต้องฉีดกี่เข็ม? ห่างกันเท่าไหร่?
วัคซีน Moderna เป็นวัคซีนแบบฉีด 2 เข็มเข้ากล้ามเนื้อ มีข้อแนะนำให้ฉีดห่างกัน 4 สัปดาห์ หรือประมาณ 28 – 42 วัน (ขึ้นอยู่กับแพทย์ประเมิน)
คำแนะนำการฉีดวัคซีน Moderna หลังได้รับวัคซีน Sinovac Sinopharm หรือ AstraZeneca มาแล้ว
สถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทย กำลังเร่งกระจายการฉีดวัคซีนให้เข้าถึงประชาชนให้มากที่สุด โดยมีการฉีดวัคซีนหลัก ๆ ทั้งหมด 3 ยี่ห้อ คือ Sinovac Sinopharm และ AstraZeneca และเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2564 ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนปรับสูตร ฉีดแบบสลับยี่ห้อ เพื่อหวังให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็วที่สุด
สำหรับวัคซีนทางเลือกที่หลาย ๆ คนรอคอยจะฉีด Moderna เป็นเข็มที่ 2 หรือ 3 เพื่อเป็นการกระตุ้นภูมิ ซึ่งมีหลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีนชนิด mRNA ในกรณีนี้กันมากขึ้น ทางโรงพยบาลจึงได้ทำข้อแนะนำไว้ดังนี้
กรณีของ AstraZeneca :
สำหรับผู้ที่ได้รับ AstraZeneca ไปแล้ว 2 เข็ม
ภูมิคุ้มกัน 2 เข็ม จาก AstraZeneca พบว่ามีระดับที่สูงและอยู่ได้เป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าฉีดห่างกัน 8-12 สัปดาห์ ปัจจุบันจึงยังไม่มีคำแนะนำที่แน่ชัด ถึงการฉีดกระตุ้นวัคซีนเข็ม 3 ว่าจะต้องฉีดซ้ำเมื่อไหร่
คำแนะนำ: หากท่านได้รับวัคซีน AstraZeneca ครบ 2 เข็มก่อนเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 ท่านสามารถรอวัคซีนรุ่นใหม่ในปีหน้าได้
อย่างไรก็ตาม หากท่านเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว หรืออายุมากกว่า 60 ปี ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการฉีด AstraZeneca ครบ 2 เข็ม อาจจะไม่สูงมากนัก ขอแนะนำให้ท่านปรึกษาแพทย์ประจำตัว ว่ามีความจำเป็นต้องได้รับวัคซีน mRNA ภายในปีนี้เลยหรือไม่
สำหรับผู้ที่ได้รับ AstraZeneca ไปแล้ว 1 เข็ม
ปัจจุบัน การศึกษาวัคซีนสูตรสลับระหว่าง AstraZeneca และ mRNA vaccine (Moderna/Pfizer) มีหลายการศึกษา ทั้งในประเทศสวีเดน อังกฤษ และสเปน ซึ่งทั้งหมดพบว่าการฉีดวัคซีน AstraZeneca และตามด้วย mRNA vaccine (Moderna/Pfizer) ต่างให้ระดับภูมิคุ้มกันที่สูงกว่าการฉีดวัคซีน AstraZeneca 2 เข็ม
คำแนะนำ: ให้ท่านรับการฉีดกระตุ้นด้วย Moderna 1 เข็ม หลังฉีด AstraZeneca ไปแล้ว 1-3 เดือน อย่างไรก็ดี เนื่องจากการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ถ้าท่านต้องรอวัคซีน Moderna เกิน 3 เดือน ขอแนะนำให้ท่านฉีดวัคซีน AstraZeneca เข็มที่ 2 กระตุ้นไปก่อน โดยไม่ต้องรอวัคซีน Moderna
กรณีของ Sinovac หรือ Sinopharm :
สำหรับผู้ที่ได้รับ Sinovac หรือ Sinopharm ไปแล้ว 1 เข็ม
สำหรับการรับวัคซีนเชื้อตายเพียง 1 เข็มนั้น ไม่เพียงพอในการป้องกัน หรือลดความรุนแรงของโรคในระหว่างนี้ ท่านควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 อย่างรีบด่วนตามระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนเชื้อตายชนิดเดิม หรือวัคซีน AstraZeneca ที่อาจได้รับการจัดสรร แต่หากไม่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 เพิ่มเติมและถึงกำหนดการรับวัคซีน Moderna แล้ว ควรได้รับวัคซีน Moderna ในจำนวน 2 เข็ม
คำแนะนำ: ให้ท่านได้รับวัคซีน Moderna จำนวน 2 เข็ม อย่างไรก็ตามหากต้องรอ Moderna เกิน 1 เดือน แนะนำให้ท่านฉีด Sinovac หรือ Sinopharm ให้ครบ 2 เข็มไปก่อน
สำหรับผู้ที่ได้รับ Sinovac หรือ Sinopharm ไปแล้ว 2 เข็ม
การรับวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็มนั้น ภูมิจะขึ้นได้ดีในระดับปานกลางถึงดี อย่างไรก็ตาม หลังฉีดเข็มที่ 2 ไปแล้ว ระดับของภูมิคุ้มกันจะเริ่มตกลงอย่างชัดเจน หลังจากการฉีดเข็มที่ 2 ไปแล้ว 2 เดือน (ข้อมูลจาก: ศูนย์วิจัยทางคลินิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ ห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาศูนย์ BIOTEC) https://www.facebook.com/anan.jongkaewwattana/posts/4576021682437718
ในประเทศที่ได้ sinovac หรือ sinopharm เป็นหลักมาก่อน เช่น บาเรน ตุรกี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต่างแนะนำให้ฉีดเข็ม 3 เป็นวัคซีน mRNA หลังจากรับวัคซีนเชื้อตายเข็ม 2 แล้วประมาณ 6 เดือน (ข้อมูลจาก: https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-booster-factbox-idUSKBN2FK12K)
เนื่องจากการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้การติดเชื้อรุนแรงและมีความสามารถในการหนีภูมิ การกระตุ้นด้วยวัคซีนเข็มที่ 3 จึงมีความเหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบันนี้
คำแนะนำ: ให้ท่านรับการฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วย Moderna 1 เข็ม โดยท่านอาจจะพิจารณาฉีดกระตุ้นเพิ่มเติมหลังฉีดวัคซีนเชื้อตายเข็มที่ 2 ไปแล้ว 3-6 เดือนเป็นต้นไป หรืออาจพิจารณารับการฉีดด้วย Moderna 2 เข็ม ถ้าท่านรับวัคซีนเชื้อตายไปแล้ว 2 เข็มนานเกิน 6 เดือน หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
ทั้งนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และช่วงระยะเวลาที่ฉีดกระตุ้นยังมีจำกัด แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
สำหรับผู้ที่ได้รับ Sinovac หรือ Sinopharm ไปแล้ว 3 เข็ม
จากการศึกษาเบื้องต้นในประเทศจีนพบว่า หลังกระตุ้นด้วยวัคซีน Sinovac เข็มที่ 3 แล้ว เมื่อติดตามระดับภูมิคุ้มกัน พบว่าสูงขึ้นแต่ยังคงเป็นระดับที่ไม่สูงมากนัก (ข้อมูลจาก: https://www.medrxiv.org/content/10.1101/2021.07.23.21261026v1)
ในทางเดียวกัน ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ได้รับ Sinovac มาแล้ว 2 เข็ม ตามด้วยเข็มที่ 3 เป็น Sinopharm นั้น จะไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้นได้มากนัก
ทั้งนี้ ณ ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่มากเพียงพอว่าท่านควรรับการฉีดกระตุ้นด้วย Moderna เพิ่มอีก 1 เข็มเมื่อไหร่
คำแนะนำ: ท่านอาจจะพิจารณารับการฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีน Moderna เพื่อเป็นเข็มที่ 4 หลังจากที่ท่านได้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ไปแล้ว 3-6 เดือน
ทั้งนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และช่วงระยะเวลาที่ฉีดกระตุ้นยังมีจำกัด แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
สำหรับผู้ที่ได้รับ Sinovac หรือ Sinopharm ไปแล้ว 2 เข็ม และตามด้วย AstraZeneca เป็นเข็มที่ 3
ปัจจุบันยัง มีงานวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประเทศไทย พบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนกลุ่มนี้ มีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลต้าค่อนข้างสูง แต่ยังไม่มีผลการศึกษาวิจัยว่าภูมิคุ้มกันสามารถคงระดับสูงอยู่ได้นานเพียงใด
คำแนะนำ: ท่านอาจรอหลังฉีด AstraZeneca เข็ม 3 อย่างน้อย 3 เดือน ขึ้นไป แล้วค่อยพิจารณามารับวัคซีน Moderna เข็ม 4 ได้
ทั้งนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และช่วงระยะเวลาที่ฉีดกระตุ้นยังมีจำกัด แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
กรณีของ Sinovac หรือ Sinopharm ร่วมกับ AstraZeneca :
จากข้อมูล ณ ปัจจุบัน การฉีดวัคซีนแบบไขว้สูตรนี้ยังน้อยมาก ในแง่ของภูมิตอบสนอง แต่มีความเป็นไปได้สูงที่อาจจะดีกว่า การได้รับสูตรวัคซีน Sinovac หรือ Sinopharm 2 เข็ม
สำหรับผู้ที่ต้องการรับวัคซีน Moderna เพิ่ม ท่านอาจจะพิจารณารับการฉีดกระตุ้นเพียง 1 เข็ม หลังรับวัคซีน AstraZeneca เข็มที่ 2 ไปแล้วอย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไป อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามข้อมูลประสิทธิภาพของสูตรไขว้นี้อย่างใกล้ชิด
คำแนะนำ: ท่านสามารถพิจารณารับวัคซีน Moderna เป็นเข็มที่ 3 ได้ หลังจากที่ได้รับวัคซีน AstraZeneca เข็มที่ 2 ไปแล้วอย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไป
ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน การระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่รุนแรง หากท่านยังไม่ได้รับวัคซีนใด ๆ เลย ทางโรงพยาบาลแนะนำว่า ให้รีบฉีดวัคซีนชนิดใดก็ได้ไปก่อน และหากสามารถรับวัคซีนจนครบ 2 เข็มได้จะยิ่งเป็นผลดี เพราะการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ไม่ว่าวัคซีนชนิดใดก็ตาม แม้โอกาสป้องกันโรคจะไม่สูงมาก แต่สามารถลดความรุนแรงของโรคได้
ประสิทธิภาพของวัคซีน Moderna
จากการสำรวจและศึกษาเบื้องต้นพบว่า วัคซีน Moderna มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด 19 อยู่ที่ 94.1% โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- ป้องกันการติดเชื้อได้ 94.1%
- ป้องกันการติดโรคได้ 86.4% สำหรับผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
- ลดความรุนแรงของโรค และลดโอกาสเสียชีวิตจากโรคได้ 100%
- ข้อมูลจากห้องปฏิบัติการพบว่า วัคซีน Moderna ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้มากพอที่จะยับยั้งโควิด 19 สายพันธุ์ B.1.17 จากอังกฤษ และสายพันธุ์ B.1.351 จากแอฟริกาใต้ได้
ข้อมูลจาก:
– https://apps.who.int/iris/bitstream/handle/10665/338862/WHO-2019-nCoV-vaccines-SAGE_recommendation-mRNA-1273-2021.1-eng.pdf?sequence=5&isAllowed=y
– https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/nejmoa2035389
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่กล่าวมานี้ เป็นข้อสรุปจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง อาจมีความแตกต่างกันไปตามลักษณะของประชาชนแต่ละประเทศ รวมถึงสายพันธุ์โควิด 19 ที่ระบาดอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ เมื่อได้รับวัคซีน Moderna แล้ว ผู้เข้ารับวัคซีนยังจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัดต่อไป
วัคซีน Moderna ป้องกันโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่ได้หรือไม่?
มีงานวิจัยจากการทดลอง เมื่อกลางปี 2020 พบว่า วัคซีน Moderna มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิดได้หลายสายพันธุ์ ได้แก่
- สายพันธุ์อัลฟา (Α): ที่ค้นพบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร (B.1.1.7)
- สายพันธุ์บีต้า (B): ที่ค้นพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ (B.1.351)
- สายพันธุ์แกมมา (Γ): ที่ค้นพบครั้งแรกในบราซิล (P.1)
- สายพันธุ์เดลต้า (Δ): ที่ค้นพบครั้งแรกในอินเดีย (B.1.617.2)
ข้อมูลจาก
– https://www.nature.com/articles/s41591-021-01446-y
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ จากวัคซีน Moderna
จากการศึกษาพบว่า อาจมีผลข้างเคียงโดยเริ่มมีอาการหลังจากที่ได้รับวัคซีน Moderna ไปแล้วประมาณ 1-2 วัน ซึ่งอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นได้เองใน 2-3 วัน
ผลข้างเคียงบริเวณที่ได้รับการฉีดวัคซีน
- ปวด
- บวม
- แดง
ผลข้างเคียงอื่น ๆ ทั่วร่างกาย
- มีอาการหนาวสั่น หรือเป็นไข้
- รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย
- ปวดหัว
- ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ
- คลื่นไส้
รายงานอาการบ่งชี้ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
จากข่าวที่มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีนชนิด mRNA (Pfizer และ Moderna) โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (CDC) เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
พบว่าส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง และเป็นกรณีที่เกิดขึ้นน้อยมากเพียง 12.6 รายต่อการฉีดวัคซีน 1 ล้านโดส หรือคิดเป็น 0.00126% เท่านั้น โดยผู้ป่วยอาจมีอาการเมื่อยล้าและเจ็บหน้าอกชนิดไม่รุนแรง ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญญาณของภาวะอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
ซึ่งส่วนใหญ่ก็หายดีแล้วและกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ
(ข้อมูลจาก: https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/safety/myocarditis.html)
ข้อแนะนำที่เหมาะสมสำหรับใครที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วเกิดอาการแพ้ทันที ไม่ว่าจะเป็นอาการแพ้รุนแรงหรือไม่รุนแรงก็ตาม คือ ไม่ควรรับวัคซีนประเภทเดิมในเข็มที่สอง และควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อความแน่ใจ
ใครสามารถรับวัคซีน Moderna ได้?
วัคซีน Moderna เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป (ต่ำกว่านี้ยังไม่แนะนำ) อย่างไรก็ดีขณะนี้กำลังมีการศึกษาข้อมูลวัคซีนในกลุ่มเด็กอายุ 12-18 ปี ซึ่งหากมีความคืบหน้าอย่างไร ทางโรงพยาบาลจะรีบติดตามข้อมูลและนำเสนอแก่ผู้รับบริการอีกครั้ง
นอกจากนี้ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และผู้ทำงานด่านหน้า รวมถึงคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อแล้วยิ่งมีอาการรุนแรง เช่น ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ที่ไม่ได้มีคุณสมบัติที่มีข้อห้าม ควรเข้ารับการฉีดวัคซีน เพราะผลประโยชน์ที่ได้รับจะมีมากกว่าการไม่ฉีด
อ่าน: กลุ่มเสี่ยงที่ควรเข้ารับการฉีดวัคซีน
ผู้หญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตรอยู่ ฉีดวัคซีน Moderna ได้ไหม?
ผู้หญิงให้นมบุตร : กลุ่มนี้ ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้เข้ารับการฉีดวัคซีนได้ตามปกติ และเมื่อได้รับวัคซีนแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องงดให้นมลูก
(ข้อมูลจาก : https://www.who.int/news-room/feature-stories/detail/the-moderna-covid-19-mrna-1273-vaccine-what-you-need-to-know)
ผู้หญิงตั้งครรภ์ : สำหรับวัคซีนในกลุ่ม mRNA ได้แก่ Pfizer และ Moderna มีงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับความปลอดภัยของการใช้วัคซีนประเภทดังกล่าวในสตรีที่มีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ขึ้นไป อย่างไรก็ตามต้องศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมเนื่องจากเป็นวัคซีนใหม่
(ข้อมูลจาก : https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/nejmoa2104983)
หากเคยติดเชื้อโควิด 19 มาแล้ว สามารถฉีดวัคซีน Moderna ได้หรือไม่
ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด 19 มาแล้ว ถึงแม้จะมีการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อในระยะประมาณ 3-6 เดือน อย่างไรก็ดี มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ไม่พบการสร้างภูมิคุ้มกันหลังการตัดเชื้อ
จึงมีคำแนะนำ ให้ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด 19 ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน เข้ารับการฉีดวัคซีนหลังหายจากอาการป่วยแล้ว โดยรับหลังจากพ้นระยะเวลากักตัวไปแล้ว (ประมาณ 1 เดือนหลังการติดเชื้อ) อย่างไรก็ดีถ้าหากท่านได้รับ monoclonal antibody สำหรับการรักษาโรคโควิด 19 ท่านควรรอประมาณ 3 เดือน หลังจากเวลาที่ได้รับ monoclonal antibody จึงไปฉีดวัคซีน
(ข้อมูลจาก : https://health.clevelandclinic.org/when-should-you-get-vaccinated-if-youve-had-covid-19/)
มีข้อควรระวังอะไรบ้าง สำหรับการฉีดวัคซีน Moderna
ใครไม่ควรฉีด : ผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงต่อส่วนประกอบของวัคซีน สาร PEG หรือ สาร Polysorbate หรือมีอาการแพ้รุนแรงเมื่อฉีดเข็มแรก ไม่ควรฉีดเข็ม 2 ต่อ
ทุกคนควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีน
จากข้อควรระวังดังกล่าว ดังนั้น แม้ว่าเราจะเข้าเงื่อนไขที่ควรฉีดวัคซีน Moderna แต่หากต้องการรับวัคซีน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาความเหมาะสม และปัจจัยต่างๆ ด้านสุขภาพก่อนเสมอ
สรุป
วัคซีน Moderna เป็นวัคซีนประเภท mRNA อีกยี่ห้อหนึ่งที่กำลังเป็นที่สนใจในประเทศไทย เมื่อพิจารณาจากผลการทดสอบด้านประสิทธิภาพและผลสำรวจอาการข้างเคียงต่าง ๆ ที่ผ่านมา ถือได้ว่ามีประสิทธิภาพดีและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
นอกจากนี้ อาการไม่พึงประสงค์ส่วนใหญ่ ก็อยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง และสามารถหายได้เองภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สนใจควรติดตามศึกษาข่าวสารของวัคซีน Moderna เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจที่ถี่ถ้วนในการฉีดวัคซีนทางเลือกต่อไป