ฝีดาษลิง คืออะไร?
โรคฝีดาษลิง (หรือโรคฝีดาษวานร) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ก่ออาการในคนคล้ายกับไข้ทรพิษแต่มีความรุนแรงน้อยกว่า ถูกค้นพบครั้งแรกในโลกเมื่อปี พ.ศ. 2501 จากลิงที่ป่วย จึงถูกเรียกว่า โรคฝีดาษลิง และพบการติดเชื้อในคนเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2513 ที่ประเทศคองโก โดยมักพบการติดเชื้อในประเทศแถบอัฟริกากลางและอัฟริกาตะวันตก โรคฝีดาษลิงพบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระต่าย เป็นต้น โรคนี้สามารถติดต่อได้จากสัตว์สู่คน และติดต่อจากคนสู่คน โดยการสัมผัสสารคัดหลั่ง ผิวหนัง หรือ ละอองฝอยจากการหายใจ แต่การติดเชื้อจากคนสู่คนยังไม่แพร่กระจายเป็นวงกว้างมากนัก ปัจจุบันมีรายงานการเกิดเชื้อไวรัสฝีดาษลิง 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์อัฟริกากลาง และสายพันธุ์อัฟริกาตะวันตก ซึ่งสายพันธุ์อัฟริกากลางเป็นสายพันธุ์ที่มีการรายงานการติดต่อจากคนสู่คนอาการของโรคฝีดาษลิง
ผู้ป่วยจะมีไข้ มีผื่นตุ่มหนองทั่วตัว และต่อมน้ำเหลืองโต โดยหลังการได้รับเชื้อแล้ว ไวรัสจะอยู่ในต่อมน้ำเหลืองของผู้ป่วยและใช้เวลาฟักตัว 7-21 วัน จึงจะแสดงอาการ
อาการจะเริ่มจากการมีไข้ และมีต่อมน้ำเหลืองโต จากนั้น 1-2 วัน จึงมีผื่นขึ้น โดยมักจะเริ่มจากมีแผลในปาก ตามด้วยผื่น (ขนาด 2-10 มม.) ขึ้นที่ตัว หน้า ฝ่ามือ และฝ่าเท้า
ช่วง 2-4 สัปดาห์ต่อมา ผื่นจะค่อย ๆ เปลี่ยนรูปแบบ จากผื่นนูนแดงเป็นตุ่มน้ำ แล้วจึงเป็นฝี จากนั้นตุ่มหนองจะแตกและแห้ง ผู้ป่วยก็จะอาการดีขึ้น
โดยผู้ป่วยจะสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ตั้งแต่มีไข้ และหมดระยะในการแพร่กระจายให้ผู้อื่นหลัง หลังตุ่มหนองแตกและแผลแห้งดีแล้ว
ฝีดาษลิง ติดต่อได้อย่างไรบ้าง?
ดังที่กล่าวไปแล้วว่าโรคฝีดาษลิงสามารถพบในสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระต่าย ดังนั้นสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง รวมทั้งคนก็อาจติดเชื้อและเป็นพาหะของโรคนี้ได้
การติดเชื้อจากสัตว์สู่คน สามารถเกิดได้จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรืออาจอาจติดเชื้อจากการโดนสัตว์ที่มีเชื้อกัด หรือการกินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อ
ที่ปรุงไม่สุก
การแพร่เชื้อจากคนสู่คน สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้โดย
- การสัมผัสโดยตรงกับรอยโรค ตุ่มหนอง หรือสารน้ำในตุ่มหนองที่แตกออกมา
- ติดต่อผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของทางเดินหายใจ เช่น การไอ จาม
- การกอดจูบ การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ
- การสัมผัสสิ่งของ เช่น เสื้อผ้า หรือของใช้ที่มีสารคัดหลั่งปนเปื้อน
- ติดต่อจากแม่สู่ลูกในครรภ์
โดยสามารถติดต่อได้ตั้งแต่เริ่มมีอาการ หรือเริ่มมีตุ่มขึ้น ไปจนระยะที่ตุ่มตกสะเก็ด และเมื่อแผลหายดีแล้วก็จะหมดระยะการแพร่เชื้อ
ฝีดาษลิง อันตรายแค่ไหน?
ส่วนใหญ่ผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการไม่รุนแรง บางครั้งอาจพบว่าอาการคล้ายกับโรคอีสุกอีใส (chickenpox) และสามารถหายเองได้ แต่ก็มีรายงานว่ามีผู้ป่วยอาการรุนแรงได้ในบางกรณี จนบางรายเสียชีวิตโดยพบในอัฟริกาตะวันตก
การป้องกันและรักษาโรคฝีดาษลิง
ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่จำเพาะสำหรับโรคฝีดาษลิง แต่สามารถควบคุมการระบาดได้โดยป้องกันการติดเชื้อ รายงานจากองค์การอนามัยโลกระบุว่าวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษในคน สามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ อย่างน้อย 85% และผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าการได้รับวัคซีนโรคฝีดาษคนหลังจากสัมผัสเชื้อแล้ว จะสามารถลดความรุนแรงและอาจป้องกันการติดเชื้อได้ สำหรับผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนัก จึงให้การรักษาโดยให้วัคซีนฝีดาษร่วมกับให้ยาต้านไว้รัสชื่อ brincidofovir หรือ cidofovir
การป้องกันการแพร่เชื้อจากผู้ป่วย สามารถป้องกันได้โดยให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้ออยู่ห้องแยก สวมหน้ากากอนามัย และใส่เสื้อคลุมปกปิดผื่นทั้งหมด จนกระทั่งผื่นหายดี ตกสะเก็ดและหมดระยะการแพร่เชื้อแล้ว
สำหรับประเทศไทย ประชากรไทยที่เกิดก่อนปี 2523 จะได้รับการปลูกฝี ซึ่งถือว่าได้รับวัคซีนฝีดาษในคนเรียบร้อยแล้ว แต่ประชาชนที่เกิดหลังปี 2523 ไม่มีการปลูกฝีสำหรับป้องกันโรคฝีดาษ ดังนั้นต้องใช้วิธีป้องกันโรคเท่านั้น
ฝีดาษลิงในประเทศไทย
เริ่มมีรายงานพบผู้ป่วยในประเทศไทย (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.ค. 2565) ส่วนในต่างประเทศ พบรายงานผู้ติดเชื้อแล้ว กว่า 16,314 รายทั่วโลก และเนื่องจากขณะนี้เริ่มมีรายงานผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ดังนั้นจึงควรติดตามข่าวสาร รวมทั้งเฝ้าระวังผู้ที่มีความเสี่ยงและผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด
โดยกรมควบคุมโรคได้มีคำแนะนำสำหรับประชาชนทั้งที่ต้องเดินทางไปยังประเทศที่พบผู้ป่วยฝีดาษลิงและประชาชนในประเทศควรระมัดระวัง ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ ได้แก่ สัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก และสัตว์ตระกูลไพรเมต เช่น ลิง หากมีการสัมผัสสัตว์ให้รีบล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด
- ปฏิบัติตามมาตรการ universal prevention (UP) โดยการหมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิดไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก ปาก และรับประทานอาหารปรุงสุก
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง บาดแผล เลือด น้ำเหลืองของสัตว์ หรือกินเนื้อสัตว์ติดเชื้อที่ปรุงไม่สุก และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย ละอองฝอย หรือน้ำเหลืองจากผู้ที่สงสัยป่วยหรือมีประวัติเสี่ยง
- หลังจากเดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาดของโรคฝีดาษลิง ให้สังเกตอาการ หากพบมีความผิดปกติ เช่น มีไข้ มีตุ่มผื่นที่ใบหน้า แขน และขา ให้รีบพบแพทย์ทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง
สรุป
โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ข่าวการระบาดในปี พ.ศ.2565 ครั้งนี้ ถือเป็นการระบาดในระดับที่น่ากังวล โดยพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงระบาดจากคนไปยังคนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในหลายประเทศ ขณะที่ประเทศไทยเริ่มมีรายงานผู้ที่ติดเชื้อฝีดาษลิงที่มีการติดเชื้อภายในประเทศ
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือยาที่จำเพาะกับโรคฝีดาษลิง องค์การอนามัยโลกและกรมควบคุมโรคของประเทศไทย มีคำแนะนำให้ประชาชนป้องกันตัวเองตามมาตราการที่ได้กล่าวไป และแม้จะเป็นโรคที่มีโอกาสติดต่อน้อย แต่ก็ควรเฝ้าระวังและติดตามข่าวสารการระบาดอย่างใกล้ชิด