จากกรณีของคุณบอย ปกรณ์ ซึ่งได้ไปเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่น และถูกแมลงขนาดเล็กกัดที่เอวซ้ายเป็นแผลเล็กนิดเดียว แต่ภายในเวลาเพียง 1 วัน แผลลุกลามอักเสบขยายขนาดอย่างรวดเร็วบวมขึ้นเป็นก้อนบวมแดงประมาณเท่าผลส้ม วันถัดมามีไข้หนาวสั่นและแผลลุกลามเปลี่ยนเป็นสีม่วงคล้ำ และขยายพื้นที่ลุกลามจากเอวออกมาจนถึงขากินพื้นที่ประมาณเกือบ 1 ฟุต
โชคดีที่คุณบอยได้ปรึกษากับเพื่อนที่รู้จักกันคือคุณแจ๊ค ซึ่งเคยประสบการณ์เป็นโรคนี้มาก่อน สอบถามกันแล้วอาการคล้ายกันมาก คุณแจ๊คจึงแนะนำว่าคุณบอยควรรีบมาพบคุณหมอ นพ.ธัญวัจน์ ซึ่งให้การตรวจรักษาทันทีโดยเร่งด่วน ตรวจพบว่ามีอาการขั้นรุนแรงต้องรีบผ่าตัดด่วน หลังผ่าตัดคุณบอยอาการปลอดภัยดี กรณีนี้ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ แอดมินขอนำมาแชร์ไว้เป็นความรู้แก่ทุกท่านค่ะ
แค่แมลงกัด ทำไมอาการจึงรุนแรงจังเลย?
ในกรณีของคุณบอย สาเหตุสำคัญไม่ได้เกิดจากแมลง แต่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดรุนแรง ซึ่งเป็นสภาวะที่ศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า Necrotizing fasciitis (เนคโครไทซิ่ง ฟาสชีไอติส) หรือถ้าเป็นศัพท์ที่ชาวบ้าน ก็จะเรียกว่า “แบคทีเรียกินเนื้อ (Flesh-eating bacteria)” ซึ่งเกิดจากแบคทีเรียกลุ่มที่พบบ่อยคือ สเตร็ปโตคอคคัส กรุ๊ป เอ และเชื้อกลุ่มสแตฟฟิโลคอคคัส โดยการติดเชื้อแบคทีเรียตัวนี้จะสร้างสารพิษที่ทำให้เกิดการสลายตัวของเนื้อเยื่อโดยตรง จึงทำให้อาการลุกลามอย่างรวดเร็วภายในเวลา 12-24 ชั่วโมง และหากไม่ได้รับการรักษาอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
การติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อเกิดขึ้นได้อย่างไร?
การติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อ เกิดขึ้นจากบาดแผลที่ผิวหนัง ที่พบบ่อยคือ บาดแผลหรือรอยถลอก, แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก และ แผลที่เกิดจากแมลงกัด และพบได้จากแผลถูกเข็มแทงหรือแผลผ่าตัดด้วยเช่นกัน และแม้แต่อาการฟกช้ำที่ไม่มีบาดแผลภายนอกก็ก่อให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มนี้ได้เช่นกัน (โดยเป็นการติดเชื้อทางกระแสเลือด)
จะรู้ได้อย่างไรว่ามีอการติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อ?
อาการที่เกิดขึ้นจะคล้ายกับที่คุณบอยเป็น คือเกิดอาการอักเสบปวดบวมแดงรอบแผล และอาการอักเสบมีการขยายขนาดอย่างรวดเร็ว มีอาการปวดที่รุนแรง มีไข้ อ่อนเพลีย ครั่นเนื้อครั่นตัว ต่อมาอาการจะลุกลามขึ้นโดยผิวหนังบริเวณแผลจะมีสีคล้ำ เกิดเนื้อตายหรือตุ่มพองรอบ ๆ แผล
ถ้าสงสัยว่าเราเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อขึ้น จะต้องทำอย่างไร?
คำแนะนำคือคุณต้องรีบมาพบแพทย์โดยด่วนที่สุด ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจอย่างละเอียด ประเมินอาการ เจาะเลือดหรืออาจจำเป็นต้องตรวจทางรังสี และรีบให้การรักษาอย่างทันท่วงทีได้แก่การให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมร่วมกับการผ่าตัดเพื่อกำจัดเนื้อตายออก
ถ้าติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อแล้วไม่มาหาหมอได้ไหม หากทิ้งไว้ไม่รักษา จะเป็นอย่างไร?
การติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อเป็นการติดเชื้อที่รุนแรง หากทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษาอาการจะทรุดลงอย่างรวดเร็ว ภายใน 48-72 ชั่วโมง ผู้ป่วยมักมีการตายของเนื้อเยื่อ จนเสียอวัยวะส่วนนั้น (เช่นติดเชื้อที่ขา ก็เสียขาข้างนั้น) และตามด้วยการติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิตในที่สุด
การป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อ ทำอย่างไร?
เชื้อนี้ไม่มีการป้องกันโดยตรงเช่นวัคซีน แต่เราสามารถป้องกันได้โดยหากมีบาดแผลตามร่างกาย คุณควรทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือปราศจากเชื้อ จากนั้นปิดแผลด้วยผ้าปิดแผลหรือพลาสเตอร์ เปลี่ยนผ้าปิดแผลทุกวันจนแผลหาย และที่สำคัญหากมีบาดแผลที่ยังไม่หาย ไม่ควรลงว่ายน้ำในสระน้ำหรือ แช่บ่อน้ำร้อน หรือลงว่ายน้ำในแหล่งน้ำสาธารณะใดๆเพราะจะทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียผ่านทางบาดแผลได้