โนโรไวรัสการติดเชื้อที่ควรระวัง
ในช่วงนี้หลายๆคนอาจจะได้ยินเรื่องการติดเชื้อโนโรไวรัสที่มักระบาดในช่วงฤดูหนาว ทำให้มีอาการทางเดินอาหาร เช่น อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย มีไข้ อ่อนเพลีย และมีภาวะขาดน้ำ ซึ่งถ้าในคนที่มีอาการรุนแรงจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม
โนโรไวรัสแพร่กระจายอย่างไร
เชื้อโนโรไวรัสแพร่กระจายได้ง่าย จากการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีการปนเปื้อนเชื้อโนโรไวรัส การสัมผัสพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัสและเอามือเข้าปาก การสัมผัสจากน้ำลาย อาเจียน หรืออุจจาระที่มีเชื้อ การสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง ซึ่งสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยมักมีอาการรุนแรงในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่
อาการติดเชื้อโนโรไวรัส
คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว มีไข้ อ่อนเพลีย รับประทานอาหารได้น้อย ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว
การตรวจและดูแลรักษา
แพทย์จะถามประวัติอาการตรวจร่างกาย รวมทั้งอาจส่งอุจจาระเพื่อส่งตรวจหาเชื้อสาเหตุ หากตรวจพบว่ามีการติดเชื้อโนโรไวรัสแพทย์จะให้การดูแลรักษาตามอาการเป็นสำคัญ โดยทั่วไปมักมีอาการดีขึ้นใน 2-3 วัน อย่างไรก็ตามในเด็กเล็กหรือผู้มีอาการรุนแรง เช่น มีภาวะขาดน้ำ หรืออาเจียนถ่ายเหลวปริมาณมาก แพทย์อาจแนะนำให้รักษาตัวในโรงพยาบาลโดยให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดเพื่อรักษาภาวะขาดน้ำ รวมถึงให้ยาแก้อาเจียน ยาแก้ปวดท้องและยาช่วยลดอาการถ่ายเหลวและเฝ้าระวังภาวะความดันต่ำหรือช็อคจากการขาดน้ำ
การป้องกัน
- ควรล้างมือด้วยสบู่ ก่อนการรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
- หลีกเลี่ยงการเอามือเข้าปากโดยเฉพาะในเด็กเล็ก
- ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด จากแหล่งที่เชื่อถือได้
- หลีกเลี่ยงการหยิบจับอาหาร หรือปรุงอาหารให้ผู้อื่น
- ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
ในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หากมีอาการอาเจียน ท้องเสีย หรือมีไข้ ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด หากมีอาการรุนแรงควรรีบพามาพบแพทย์เพื่อรับการดูและรักษาที่เหมาะสมต่อไป