ในปัจจุบันวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้คนเราออกกำลังกายน้อยลง และบริโภคอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาลมากขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะอ้วนโดยไม่รู้ตัว ปัญหาเรื่องการลดน้ำหนัก จึงเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนต้องเผชิญ แม้การลดน้ำหนักด้วยวิธีการควบคุมอาหาร และออกกำลังกายจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ก็มีคนอีกหลายคน ที่ไม่สามารถลดน้ำหนักได้ด้วยวิธีปกติ ดังนั้น การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก จึงเป็นสิ่งที่กลายมาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในยุคนี้
แม้ชื่อของการผ่าตัดกระเพาะอาหารจะฟังดูน่ากลัวไปบ้าง แต่ในความเป็นจริงแล้วการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนพอ ๆ กับการส่องกล้องผ่าตัดมดลูก หรือนิ่วในถุงน้ำดีเพียงเท่านั้นเอง แต่ทั้งนี้ต้องอาศัยทีมแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์ จากหลายสาขามาช่วยกันดูแล เพื่อให้การรักษาประสบความสำเร็จได้อย่างดี และลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น
สารบัญ
- การผ่าตัดลดน้ำหนัก (Bariatric surgery) คืออะไร ?
- ใครสามารถทำการผ่าตัดลดน้ำหนักได้บ้าง?
- ภาวะอ้วน มีวิธีวัดอย่างไร ?
- เพราะเหตุใดผู้มีโรคอ้วนจึงควรต้องลดน้ำหนัก ?
- ทำไมการลดน้ำหนักโดยวิธีทั่วไปถึงไม่ได้ผล ?
- ประโยชน์จากการรักษาโรคอ้วน โดยการผ่าตัดกระเพาะอาหาร
- การผ่าตัดลดน้ำหนัก นั้นมีวิธีการอย่างไร ?
- วิธีการดูแลตัวเองหลังผ่าตัดลดน้ำหนัก
- การผ่าตัดลดน้ำหนัก อันตรายไหม ?
- หลังจากการผ่าตัดลดน้ำหนักมีโอกาสกลับมาอ้วนได้อีกไหม ?
- สรุป
การผ่าตัดลดน้ำหนัก (Bariatric surgery) คืออะไร ?
การผ่าตัดลดน้ำหนัก (Bariatric surgery) คือ การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดขนาดกระเพาะให้เล็กลง หรือลดการดูดซึมของกระเพาะอาหาร สามารถเรียกได้ว่าเป็นการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคอ้วน เพราะว่าในกระเพาะอาหารของเรามีฮอร์โมนชนิดนึงที่ทำให้เกิดความอยากอาหาร เมื่อเราผ่าตัดลดขนาดกระเพาะลงก็จะตัดส่วนที่มีฮอร์โมนชนิดนี้ออกไปด้วย และเมื่อฮอร์โมนนี้ลดลง ก็จะส่งผลให้ความอยากอาหารลดลงไป
การผ่าตัดลดน้ำหนักนี้จะทำให้ทานอาหารได้น้อยลงมากในช่วงแรก แต่จะไม่ทรมาน เพราะฮอร์โมนและความอยากอาหารก็ลดลงตามไปด้วย
ใครสามารถทำการผ่าตัดลดน้ำหนักได้บ้าง?
- ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
- มี ภาวะอ้วน หรือมีดัชนีมวลกายสูงกว่า 32.5 กก./ตร.ม. ขึ้นไป
- ผู้ที่พยายามลดน้ำหนักด้วยตัวเอง ทั้งควบคุมอาหารและออกกำลังกายมาแล้วแต่ไม่ได้ผล
- เป็นผู้ที่ไม่ได้มีข้อห้ามในการผ่าตัด หรือผู้ที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้หลังผ่าตัด เช่นเป็นโรคทางจิตเวช
@praram9hospital ผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนักทำยังไง คุณหมอมีคำตอบ⁉️ #ผ่าตัดลดขนาดกระเพาะ #Praram9Hospital #โรงพยาบาลพระรามเก้า ♬ Kinda awkward - ionics
ภาวะอ้วน มีวิธีวัดอย่างไร ?
ในการประเมินภาวะอ้วนอย่างง่าย ๆ คือ การวัดเส้นรอบพุงผ่านสะดือ โดยในผู้ชายหากมีเส้นรอบพุงมากกว่า 90 เซนติเมตร (35 นิ้ว) และผู้หญิงหากมีเส้นรอบพุงมากกว่า 80 เซนติเมตร (31.5 นิ้ว) แล้วยิ่งถ้ามีเบาหวาน ความดัน หรือ มีไขมันสูงร่วมด้วยแล้วถือว่ามีความเสี่ยง ควรรีบพบแพทย์ เพื่อหาวิธีการรักษาที่เหมาะสม เพราะเราเรียกภาวะนี้ว่าภาวะอ้วนลงพุงและกลุ่มอาการด้านเมตตาโบลิค (Metabolic syndrome) ซึ่งมีโอกาสเกิดทุพพลภาพและเสียชีวิตได้ค่อนข้างสูง
ส่วนในทางการแพทย์ เราใช้ค่ามาตรฐานในการวัดภาวะอ้วน คือใช้ดัชนีมวลกาย (Body Mas Index; BMI) โดยหาได้จากการนำน้ำหนัก (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง เช่น หนัก 90 กิโลกรัม สูง 160 เซนติเมตร ค่า IBM คำนวนได้ คือ (90 / (1.6 x 1.6)) จะได้ BMI = 35.15 กก./ตร.ม. ทั้งนี้ข้อบ่งชี้ในการรักษาในแต่ละรายเป็นไปตามตารางนี้
นั่นคือถ้า BMI มากกว่า 27.5 กก./ตร.ม. ก็ถือว่ามีโรคอ้วนแล้ว ถ้ามีความเสี่ยงสูงควรเข้ารับการปรึกษากับทีมแพทย์เฉพาะทางเรื่องการลดน้ำหนักด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การใส่ Balloon หรือฉีดยาลดน้ำหนักเป็นต้น แต่ถ้า BMI มากกว่า 32.5 กก./ตร.ม. จะถือว่าเริ่มมีข้อบ่งชี้ เริ่มมีความเสี่ยงสูง ควรจะพิจารณาเรื่องการผ่าตัดลดน้ำหนักได้แล้วนั่นเอง
@praram9hospital Replying to @พลอย แพกุ้ง เกณฑ์การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะดูแบบนี้เลย~ #ผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร #โรงพยาบาลพระรามเก้า #Praram9Hospital #เคล็ดลับสุขภาพดี ♬ Relaxing, cute everyday BGM - あび
เพราะเหตุใดผู้มีโรคอ้วนจึงควรต้องลดน้ำหนัก
แม้หลายคนอาจจะรู้สึกว่าความอ้วนนั้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ความเป็นจริงแล้ว ความอ้วนนั้นถือเป็นภัยเงียบที่ส่งผลต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เหนื่อยง่ายขึ้น ไม่คล่องตัว เคลื่อนไหวได้ลำบากจนออกกำลังกายได้ยาก พอรู้ตัวอีกทีน้ำหนักก็ขึ้นมาเรื่อย ๆ จนไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติแล้ว โดยเฉพาะไขมันในช่องท้อง หรือที่เราว่าเรียกว่า “อ้วนลงพุง” ถือว่าเป็นภัยเงียบที่ก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ นอนกรน หลับไม่สนิท ประจำเดือนมาผิดปกติ ภาวะมีบุตรยาก
จากข้อมูลปัจจุบันพบว่าคนไทยพบเป็นโรคอ้วนอันดับที่ 2 ของอาเซียนรองจากมาเลเซีย โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีดัชนีมวลกายเฉลี่ยขึ้นไปสูงถึง 36.4 ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิต เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2 เท่าของคนทั่วไปเลยทีเดียว
และในขณะนี้ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 โรคอ้วนจัดเป็น 1 ใน 7 โรคของกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ที่จะนำร่องในการเข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด 19 ก่อน เนื่องจากข้อมูลผู้เสียชีวิตที่ผ่านมาพบว่า ผู้ที่เป็นโรคอ้วนและติดเชื้อโควิด 19 มักจะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนปกติ
ทำไมการลดน้ำหนักโดยวิธีทั่วไปถึงไม่ได้ผล
ในความเป็นจริงแล้วการลดน้ำหนักโดยการออกกำลังกายอย่างมีวินัยและควบคุมพฤติกรรมการกินนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่อย่างไรก็ตามจากการวิจัยพบว่าคนส่วนใหญ่จะลดน้ำหนักได้เพียงแค่ 5–10 % ของน้ำหนักตัวเท่านั้น เพราะว่าร่างกายของเราจะเริ่มปรับสภาพตัวเองให้อยู่ในสภาพเสมือนอดอาหาร ทำให้การควบคุมอาหารนั้นไม่ได้ผล
และยิ่งกว่านั้น ในจำนวนของผู้ที่ลดน้ำหนักจากการออกกำลังกาย และควบคุมอาหารนี้ พบว่ากว่า 50 % น้ำหนักก็จะกลับขึ้นมาใหม่ภายในเวลาเพียง 2 ปี และสำหรับคนที่มีน้ำหนักตัวมาก ๆ การออกกำลังกายเหมือนปกตินั้น ก็ไม่สามารถทำได้ง่ายนัก เพราะนอกจากจะเหนื่อยง่ายแล้ว การออกกำลังกายของผู้ที่มีน้ำหนักมากยังอาจเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายได้อีกด้วย
ประโยชน์จากการรักษาโรคอ้วนโดยการผ่าตัดกระเพาะอาหาร
เมื่อไม่สามารถลดน้ำหนักได้ด้วยวิธีปกติ การผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนักจึงถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มีความปลอดภัย วิธีนี้เป็นวิธีที่เป็นมาตรฐานทางการแพทย์อย่างเป็นสากล และถือเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้ป่วยโรคอ้วนสามารถลดน้ำหนักลงมาได้ และหลังจากการผ่าตัดแล้ว ก็จะทำให้ผู้ป่วยนั้นสามารถควบคุมน้ำหนักได้โดยง่าย ทั้งการออกกำลังกายและควบคุมการพฤติกรรมการทานอาหาร
ซึ่งโดยปกติการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะจะทำให้ผู้ป่วยจะสามารถลดน้ำหนักลงได้เฉลี่ยประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ในช่วงแรก และกลับมาออกกำลังได้ตามปกติภายใน 1 เดือน และเมื่อลดน้ำหนักลงมาแล้ว โรคประจำตัวที่มีอยู่ก็อาจจะดีขึ้นหรือหายเป็นปกติได้
การผ่าตัดลดน้ำหนักนั้นมีวิธีการอย่างไร ?
การผ่าตัดลดน้ำหนักนั้น มีหลักการคือการลดปริมาณอาหารที่เข้าสู่ร่างกาย โดยลดขนาดกระเพาะลงจะส่งผลให้รับประทานอาหารได้น้อยลงและรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น รวมถึงวิธีการลดการดูดซึมอาหารและปรับฮอร์โมน โดยมีวิธีผ่าตัดที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน 2 วิธีดังนี้
- การผ่าลดขนาดกระเพาะ (Restrictive procedure) เป็นการผ่าตัดเพื่อลดขนาดกระเพาะอาหารให้เล็กลง ให้เหลือกระเพาะอาหารเพียงแค่ส่วนที่จำเป็นและเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย โดยวิธีที่นิยมทำมากที่สุด และมีประสิทธิภาพในการลดน้ำหนักได้อย่างดี คือการส่องกล้องตัดกระเพาะออกบางส่วน (Laparoscopic sleeve gastrectomy) ที่แพทย์จะทำการส่องกล้องเข้าไปแล้วทำการตัดกระเพาะบางส่วนออก ซึ่งส่วนที่ถูกตัดออกจะเป็นกระเพาะส่วนที่ผลิตฮอร์โมนทำให้รู้สึกหิว จึงมีผลในการควบคุมความรู้สึกหิวและการรับประทานอาหารของคนไข้ให้ลดลงหลังจากทำการผ่าตัดแล้ว
- การลดการดูดซึมของกระเพาะ (Mal-absorptive procedure) เช่นการทำ (Roux-en-Y gastric bypass) คือการลดการดูดซึมอาหารโดยการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารร่วมกับการบายพาส เบี่ยงเบนทางเดินอาหาร เพื่อให้ข้ามส่วนของการดูดซึมอาหารอย่างกระเพาะอาหารส่วนใหญ่และลำไส้เล็กบางส่วนที่มีการดูดซึมสูง ซึ่งอาจจะทำการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะลงร่วมกับการบายพาสทางเดินอาหาร วิธีนี้จะช่วยลดการดูดซึมอาหารและลดความอยากอาหารอีกด้วย
@praram9hospital Replying to @Thananya ผ่าตัดลดขนาดกระเพาะพักฟื้นนานมั้ย มาฟังคำตอบเลยย 🤔💬 #ผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร #เคล็ดลับสุขภาพดี #โรงพยาบาลพระรามเก้า #Praram9Hospital ♬ Marimba's cute and entertaining songs (loops) - The Penguin
วิธีการดูแลตัวเองหลังผ่าตัดลดน้ำหนัก
เนื่องจากการผ่าตัดลดน้ำหนักเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการรักษา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะคอยให้คำแนะนำวิธีการดูแลตัวเองหลังผ่าตัดลดน้ำหนัก พร้อมทั้งคอยติดตามอาการของผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดอย่างใกล้ชิด และแนะนำให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำหรับเรื่องอาหารนั้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะวางแนวทางในการเลือกรับประทานอาหารในระยะแรกภายหลังจากการผ่าตัดอย่างเหมาะสม แบ่งออกเป็น 4 ระยะคือ
- สัปดาห์ที่ 1 จะให้รับประทานอาหารเหลวใสที่รับประทานได้ง่ายเพื่อปรับสภาพกระเพาะ
- สัปดาห์ที่ 2 จะให้รับประทานอาหารที่ข้นขึ้น เช่น ซุป
- สัปดาห์ที่ 3 จะให้รับประทานอาหารอ่อนนุ่ม เช่น เยลลี่ คัสตาร์ด ไข่ตุ๋น
- สัปดาห์ที่ 4 สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ
หลังจากทำการปรับกระเพาะอาหารเป็นเวลาประมาณ 4 สัปดาห์แล้ว สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ โดยเลือกรับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสม เน้นโปรตีน และดื่มน้ำให้เพียงพอ ไม่ได้มีข้อห้ามเป็นพิเศษ ซึ่งผู้ที่เข้ารับการรักษาจะรับประทานอาหารได้ปริมาณน้อยลง เนื่องจากกระเพาะมีขนาดเล็กลงแล้ว
การผ่าตัดลดน้ำหนัก อันตรายไหม ?
ในปัจจุบันนวัตกรรมการผ่าตัดนั้นมีความทันสมัยมากขึ้น การผ่าตัดกระเพาะเพื่อการลดน้ำหนักนั้นเราสามารถใช้วิธีส่องกล้อง โดยการเจาะรูเป็นแผลเล็ก ขนาดแผลประมาณ 1- 1.5 ซม. แล้วเย็บด้วยไหมละลายหลังจากการผ่าตัด ดังนั้นคนไข้จึงฟื้นตัวได้เร็ว เจ็บแผลน้อย และหลังผ่าตัดเพียง 1-2 วันก็สามารถเดินได้ตามปกติ
และด้วยความคมชัดของเทคโนโลยี 4K-Full HD ในปัจจุบัน ทำให้ศัลยแพทย์สามารถผ่าตัดด้วยความแม่นยำมากขึ้น ส่งผลการผ่าตัดมีความปลอดภัย และมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย
การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะไม่ได้น่ากลัว แต่ต้องอาศัยทีมแพทย์แฉพาะทางที่มีประสบการณ์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขามาช่วยกันดูแล เช่น ทีมศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านการลดน้ำหนัก นักโภชนาการ รวมถึงแพทย์ด้านต่อมไร้ท่อ ซึ่งจะดูแลทั้งก่อนและหลังผ่าตัด เพื่อให้การรักษาประสบความสำเร็จ รวมทั้ง ลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น และหลังจากเข้ารับการรักษาแล้ว จะต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่องกับทีมแพทย์ผู้รักษา
@praram9hospital #ผ่าตัดกระเพาะ อันตรายมากจริงหรอ⁉️ ไปฟังคุณหมอกัน~ #โรงพยาบาลพระรามเก้า #Praram9Hospital ♬ Cute mischief, scheming (loop) - The Penguin
หลังจากการผ่าตัดลดน้ำหนักมีโอกาสกลับมาอ้วนได้อีกไหม ?
ภายหลังจากการผ่าตัดลดน้ำหนักแล้ว การจะกลับมาอ้วนขึ้นอีกครั้งนั้น มีโอกาสเป็นได้น้อยมาก เนื่องจากกระเพาะที่ตัดไปจะมีโอกาสน้อยที่จะกลับมามีขนาดเท่าเดิม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นพฤติกรรมของคนไข้เป็นก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะกำหนดว่าจะกลับมาอ้วนอีกครั้งหรือไม่ ดังนั้นคนไข้จึงจะต้องมีการติดตามอาการจากทีมแพทย์อย่างต่อเนื่อง เช่น เรื่องของการควบคุมอาหาร และการออกกำลังกาย ซึ่งควรเริ่มออกกำลังกายหลังการผ่าตัดได้เป็นเวลา 1 เดือน โดยทางโรงพยาบาลของเรายังมีแผนกเฉพาะทางด้าน Fix-Fit ค่อยช่วยดูแลให้การลดน้ำหนักนั้นเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
สรุป
แน่นอนว่าการลดน้ำหนักที่สำคัญที่สุดนั้น ก็หนีไม่พ้นเรื่องง่าย ๆ ที่ทุกคนรู้ดี อย่างการออกกำลังกายสม่ำเสมอ และการควบคุมอาหาร แต่การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนักนั้น ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ปลอดภัย และจำเป็นในคนไข้ที่ไม่สามารถลดน้ำหนักได้ด้วยวิธีปกติเช่นกัน แม้วิธีการผ่าตัดกระเพาะอาหารอาจจะฟังดูน่ากลัวในความรู้สึกของหลาย ๆ คน แต่ในความเป็นจริงแล้วมันถือเป็นวิธีที่ปลอดภัยและมีความเสี่ยงต่ำ
อย่างไรก็ตามการผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนักนั้นก็เป็นเพียงตัวช่วย เป็นดั่งก้าวแรกของสุขภาพที่ดีขึ้น หลังจากนั้น ก็จะขึ้นอยู่กับวินัยและการดูแลตัวเองของแต่ละคน ควบคู่ไปกับการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อการลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี ให้เกิดผลลัพธ์ที่คุ้มค่าและยืนยาวมากที่สุด ดังนั้นต้องอย่าลืมว่า ก้าวแรกต้องเริ่มที่ตัวเราเสมอ