ในที่ยุคข่าวสารเข้าถึงง่าย การรับรู้ข่าวสารง่ายเหมือนปลอกกล้วยเข้าปาก อีกทั้งการนำเสนอข่าว ยิ่งเป็น Hot topic ก็ยิ่งมีการนำเสนอกันถี่ยิบ พร้อมทั้งในโลกออนไลน์ยังมีการแชร์ข้อมูลข่าวสารหลากหลาย โดยเฉพาะข้อมูลข่าวสาร เรื่องการระบาดของไวรัส COVID-19 จนหลายคนมีภาวะตื่นตระหนก กังวลใจอย่างมาก จนอาจเข้าข่าย ภาวะแพนิค
แพทย์หญิงพิยะดา หาชัยภูมิ จิตแพทย์ โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ข้อมูลว่า แพนิค เป็นภาวะที่มีอาการจากระบบประสาทอัตโนมัติสั่งการผิดปกติโดยเฉียบพลัน เป็นกลุ่มอาการของคนที่มีความวิตกกังวล ที่เริ่มจากการสะสมความเครียด จิตตก จนไปสู่ภาวะตื่นตระหนกจนสุดท้ายกลายเป็น แพนิค
วิธีสังเกตตัวเองว่า เรามีความเสี่ยงเป็นแพนิคหรือไม่นั้น คือ หากเราหมกมุ่น กับข้อมูลข่าวสารทั้งเรื่องจริงหรือเรื่องไม่จริง ตลอดเวลา จะทำอะไรก็ครุ่นคิดแต่เรื่องโรคระบาด จนเรื่องดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต กระทบการใช้ชีวิต ทั้งการงาน การกิน การนอน ไม่มีสมาธิ กังวล จิตตก จนมีโอกาสนำไปสู่ โรคแพนิค ได้ดังนั้นดูแลตัวเองอย่างไร เพื่อให้รับมือกับภาวะแพนิค คือ
- ต้องรู้ตัวเอง ว่า ตอนนี้ใจของเราเปราะบาง ซึ่งเมื่อใจเราเปราะปราง กายเราก็เปราะบางด้วย อาจมีผลต่อภูมิคุ้มกัน อย่างนั้น เราต้องรู้ว่าช่วงนี้ชีวิตเราเป็นแบบไหน เพื่อจัดการอารมณ์และความคิดของตัวเอง
- ลดการรับข้อมูลข่าวสาร จำกัดเวลาในการเสพสื่อ ที่จะทำให้เรามีอารมณ์และความคิดที่ผิดปกติ ยิ่งสถานการณ์ในช่วงนี้ หลายคน คนมองว่าเป็นเรื่องราวใหม่ สมองคนเราไม่ชอบความไม่คุ้นเคยถึงแม้ว่ามันจะเป็นเรื่องปกติ ที่ควรทำ แต่หลายคนไม่เคยทำแบบนี้มาก่อน จนเกิดความไม่คุ้นเคย และรู้สึกว่า ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไร จบลงอย่างไร ดังนั้นการรับข้อมูลให้น้อยและแม่นยำเป็นสิ่งที่ช่วยลดความกังวลใจได้
- รับข้อมูลข่าวสาร หลังทำหน้าที่ ทำงาน สำคัญต่างๆในแต่ละวันเสร็จสิ้น
- เมื่อมีความคิดหมกมุ่น ฟุ้งซ่าน เรื่องการระบาดของไวรัสจนเกิดความกังวล ให้รับรู้แล้วเปลี่ยนความกังลวนี้มาเป็นการปฏิบัติให้ถูกต้อง เช่น ล้างมือ กินร้อน ปฏิบัติตามสุขอนามัย ก็จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันทางกายให้เรา แล้วเราก็จะสร้างภูมิคุ้มกันทางใจไปด้วย
- เมื่อมีอาการแพนิค ตื่นตระหนก วิตกกังวล ให้เราบอกตัวเองว่า ไม่เป็นอะไร และจัดช่วงเวลาผ่อนคลายร่างกายและอารมณ์ เพื่อลดความเครียดจนนำมาสะสม
หากเราปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรคได้ ในด้านโรคระบาด เราเองก็จะสามารถรับมือ สร้างภูมิกันทางร่างกายและจิตใจ เพื่อให้ผ่านช่วงเวลาวิกฤตินี้ไปพร้อมกัน