หากพบว่าบุคคลในครอบครัว มีอาการมือสั่น แขนสั่น เคลื่อนไหวตัวช้า หรือเดินเซ อาจเป็นสัญญาณว่าท่านกำลังเผชิญอยู่กับ “โรคพาร์กินสัน” อยู่ก็เป็นได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วคนมักเข้าว่าโรคพาร์กินสันนั้นต้องเป็นในผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ความเป็นจริงโรคพาร์กินสันสามารถพบได้ในคนอายุน้อยเช่นกัน ซึ่งโรคพาร์กินสันเกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทบริเวณก้านสมองส่วนที่เรียกว่า Substantia Nigra ทำให้ไม่สามารถผลิตสารโดปามีน(Dopamine)ได้เพียงพอกับความต้องการของสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความผิดปกติทางการเคลื่อนไหวร่างกาย และหากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม อาจส่งผลกระทบในการใช้ชีวิตประจำวันได้ ซึ่งจริงๆแล้วโรคพาร์กินสันนี้มีอาการแบบไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร หรือมีแนวทางในการรักษาอย่างไรบ้าง สามารถหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันได้ในบทความนี้
Key Takeaways
- โรคพาร์กินสัน คือ โรคที่เกิดจากสารโดปามีนในระบบประสาทลดน้อยลง ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย ปรากฏเป็นอาการมือสั่น กล้ามเนื้อเกร็ง เคลื่อนไหวร่างกายลำบาก ก้าวเดินลำบาก หกล้มบ่อย หรืออาจมีอาการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวร่วมด้วย ได้แก่ ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล ท้องผูกเรื้อรัง นอนละเมอ รวมไปถึงการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
- สาเหตุของโรคพาร์กินสันนั้นยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน แต่มีข้อสันนิษฐานว่าเกิดขึ้นได้จากการถ่ายทอดพันธุกรรม อายุที่เพิ่มขึ้น การใช้ยาบางชนิด และพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคพาร์กินสัน ได้แก่ การสัมผัสยาฆ่าแมลง อุบัติเหตุทางสมอง การดื่มนมวัวในปริมาณมาก เป็นต้น
- โรคพาร์กินสัน สามารถแบ่งตามอาการได้เป็น 5 ระยะ เริ่มตั้งแต่มีอาการเพียงเล็กน้อย จนไปถึงเริ่มมีการเคลื่อนไหวหรือการทรงตัวลำบาก หกล้มง่ายขึ้น กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง และไม่สามารถขยับเขยื้อนร่างกายได้ในที่สุด
- การรักษาโรคพาร์กินสันสามารถรักษาได้โดยการใช้ยาเพื่อควบคุมอาการ และหากมีการตอบสนองต่อยาไม่ดีพอ อาจพิจารณาให้การรักษาโดยการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในสมองส่วนลึกได้
สารบัญบทความ
- โรคพาร์กินสันคืออะไร มีทั้งหมดกี่ระยะ?
- ไขข้อสงสัย โรคพาร์กินสันเกิดจากสาเหตุอะไร?
- อาการของโรคพาร์กินสันมีลักษณะแบบไหน?
- โรคพาร์กินสันสามารถวินิจฉัยได้อย่างไร?
- โรคพาร์กินสันสามารถรักษาได้ด้วยวิธีใดบ้าง?
- โรคพาร์กินสันอาการป่วยทางระบบประสาทและสมองที่ไม่ควรมองข้าม
- คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคพาร์กินสัน
โรคพาร์กินสันคืออะไร มีทั้งหมดกี่ระยะ?

โรคพาร์กินสัน หรือ Parkinson’s Disease คือโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป เป็นสัญญาณว่าระบบประสาทกำลังเสื่อมสภาพ โดยเฉพาะในส่วนของระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสารที่ควบคุมการเคลื่อนไหวและการทรงตัวของร่างกาย หรือที่หลาย ๆ คนรู้จักกันในชื่อ สารโดปามีน (Dopamine) ซึ่งเมื่อไหร่ที่สารเหล่านี้มีปริมาณที่ลดลงก็จะส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายที่ช้าลง ทรงตัวได้ลำบาก อาการมือสั่น หรือก้าวเดินช้าลง เป็นต้น
โดยอาการของโรคพาร์กินสันนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 5 ระยะด้วยกัน ดังนี้
- ระยะที่ 1 ผู้ป่วยพาร์กินสันจะรู้สึกว่าแขน มือ หรือนิ้วมือสั่นไหวเมื่อไม่ได้ขยับเขยื้อนร่างกาย และบางรายอาจมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อในจุดต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น แขน ขา ลำตัวร่วมด้วย เขียนหนังสือตัวเล็กลง อาจเริ่มมีการเคลื่อนไหวช้าของแขนขา ในระยะนี้มักมีอาการไม่รุนแรงและมีอาการแค่เพียงข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย
- ระยะที่ 2 อาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย สังเกตได้จากอาการสั่นของมือ แขนที่เริ่มลามอีกข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่ง มีการแสดงสีหน้าลดลง พูดเสียงเบา ในระยะจะมีอาการเคลื่อนไหวร่างกายได้ช้า หรือเดินตัวโก่งไปข้างหน้า มีอาการหลังงอมากขึ้น
- ระยะที่ 3 ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจะมีอาการที่เคลื่อนไหวลำบาก และทรงตัวได้ยากมากขึ้น อาจหกล้มได้ง่าย หรือลุกขึ้นยืนลำบาก ทำให้เกิดอุบัติเหตุหกล้มได้บ่อยครั้ง
- ระยะที่ 4 ผู้ป่วยมักมีอาการกล้ามเนื้อแข็งเกร็งมากขึ้น มีการทรงตัวที่ไม่ดี มักไม่สามารถลุกยืนหรือเดินได้ด้วยตนเอง จำเป็นต้องมีผู้ช่วยเหลือคอยดูแลการใช้ชีวิตประจำวัน
- ระยะที่ 5 ถือเป็นระยะของโรคพาร์กินสันที่รุนแรงที่สุด เนื่องจากผู้ป่วยมักจะไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายหรือช่วยเหลือตัวเองได้เลย ในระยะนี้ผู้ป่วยมักนอนติดเตียงหรือจำเป็นต้องใช้รถเข็นตลอดเวลา ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่นปอดอักเสบ ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หรือแผลกดทับได้
ไขข้อสงสัย โรคพาร์กินสันเกิดจากสาเหตุอะไร?

โรคพาร์กินสัน คือ โรคที่มีอาการสั่นบริเวณแขน ขา หรือศีรษะ และมีการเคลื่อนไหวร่างกายช้าลง ก้าวเดินลำบาก ซึ่งเป็นผลมาจากระบบประสาทเสื่อมสภาพและผลิตสารโดปามีน (Dopamine) ได้ลดลง ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่ามีปัจจัยใดเป็นเหตุทำให้เกิดความเสื่อมดังกล่าว หรือโรคพาร์กินสันนั้นเกิดจากสาเหตุใด อย่างไรก็ดีมีข้อสันนิษฐานและงานวิจัยที่สนับสนุนเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดโรคพาร์กินสันว่าสามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยดังต่อไปนี้
ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่สัมผัสกับยาฆ่าแมลง สารกำจัดวัชพืช หรือสารเคมีที่มีส่งผลเสียต่อการทำงานของระบบประสาทและสมอง นักกีฬาที่อาจมีการกระทบกระเทือนต่อศีรษะรุนแรง เช่น นักมวย หรือ นักฟุตบอล หรือพฤติกรรมการกินอาหารบางอย่างเช่น การดื่มนมวัวในปริมาณมาก ก็พบว่าเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงของโรคพาร์กินสันเช่นกัน
การถ่ายทอดทางพันธุกรรม สามารถเกิดขึ้นได้มากถึง 10—15% หากสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคพาร์กินสันมาก่อน ลูกหลานในรุ่นต่อ ๆ มาก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน โรคพาร์กินสันชนิดกรรมพันธุ์มักมีอาการตั้งแต่อายุน้อยก่อน 40 ปี
ปัจจัยทางด้านอายุที่เพิ่มขึ้น หรือระบบประสาทและสมองเสื่อมสภาพไปตามวัย โดยมักพบผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในช่วง 50-65 ปีขึ้นไป
ความผิดปกติทางสมอง ไม่ว่าจะเป็นภาวะสมองขาดออกซิเจน โรคเนื้องอกในสมอง ภาวะโพรงน้ำในสมองขยายตัว โรคหลอดเลือดสมอง ตลอดจนการได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะและส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมอง ทำให้เกิดอาการคล้ายพาร์กินสันได้ แต่อาจไม่ใช่โรคพาร์กินสัน
การรับประทานยาบางชนิด เช่น กลุ่มยาแก้อาการวิงเวียนศีรษะ ยาแก้อาเจียน กลุ่มยารักษาโรคทางจิตเวช ทำให้มีอาการคล้ายพาร์กินสันได้
อาการของโรคพาร์กินสันมีลักษณะแบบไหน?
การลดลงของสารโดปามีน (Dopamine) เนื่องจากความเสื่อมของระบบประสาทและสมองส่งผลทำให้เกิดอาการของโรคพาร์กินสัน ซึ่งไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของร่างกายแล้ว ยังส่งผลเสียด้านจิตใจ หรือสุขภาพร่างกายในด้านอื่น ๆ อีกด้วย โดยโรคพาร์กินสันมีอาการที่เด่นชัดดังนี้
อาการทางด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว
- อาการแขนสั่น มือสั่น ขาสั่น
- การเคลื่อนไหวร่างกายช้ากว่าปกติ
- น้ำลายไหล กลืนน้ำและอาหาร สำลักบ่อย
- แสดงสีหน้าน้อยลง กะพริบตาน้อยลง
- พูดช้าลง เสียงเบากว่าปกติ พูดติดอ่าง พูดรัว
- ร่างกายแข็งเกร็ง เคลื่อนไหวลำบาก
- เดินช้าลง เดินตัวงอ หรือมีลักษณะการเดินที่เท้าติดชิดกัน หรือเดินซอยเท้า
- ไม่สามารถทรงตัวได้ หกล้มง่าย ลุกขึ้นยืนลำบาก
อาการทางด้านจิตใจ
- ภาวะซึมเศร้า
- ภาวะวิตกกังวล
- อาการประสาทหลอน
- อารมณ์แปรปรวน
อาการอื่น ๆ
- มีปัญหาทางด้านความคิด ไม่สามารถคิดคำ คิดประโยค หรือทำการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ได้ลำบากมากขึ้น
- ความจำสั้น มีโอกาสเกิดความจำเสื่อม
- ความสามารถในการรับรู้กลิ่นและรสชาติอาหารลดลง
- ร่างกายอ่อนเพลียไม่มีแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- มีปัญหาด้านระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องผูก ท้องอืดเรื้อรัง
- อาการวิงเวียนศีรษะ มึนงง โดยเฉพาะเมื่อลุกขึ้นยืน
- เหงื่อออกมากผิดปกติ
- มีปัญหาด้านการนอนหลับ ได้แก่ นอนไม่หลับ นอนกรน หรือ นอนละเมอ
- ปัสสาวะบ่อยขึ้น หรือไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้
- น้ำหนักลดลงผิดปกติ
- ภาวะหย่อนสภาพทางเพศ โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันเพศชาย
โรคพาร์กินสันสามารถวินิจฉัยได้อย่างไร?
โรคพาร์กินสันมักพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีอายุ 50-65 ปีขึ้นไป ทำให้หลาย ๆ คนที่อายุยังไม่ถึงนั้นเกิดความชะล่าใจ และไม่ได้รับการตรวจคัดกรองโรคดังกล่าวแต่เนิ่น ๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบที่คาดไม่ถึงตามมาได้
วิธีการตรวจคัดกรองโรคพาร์กินสันเบื้องต้น ท่านสามารถตรวจสอบได้จากอาการดังต่อไปนี้
- มีอาการมือสั่น แขน ขาสั่น
- มีอาการกล้ามเนื้อเกร็ง
- มีอาการลุกขึ้นยืนลำบาก
- เดินซอยเท้าถี่ หรือก้าวเท้าสั้น ๆ
- เวลาเดินแกว่งแขนน้อยลง
- เดินหลังงอมากขึ้น
- เวลาเดินหมุนตัว หรือหันหลังได้ลำบาก
- การเดินทรงตัวแย่ลง
- พูดเสียงเบาลง ช้าลง
- เขียนหนังสือลายมือเปลี่ยน หรือเขียนตัวหนังสือเล็กลง
- ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันต่าง ๆ ช้าลง
- เปิดขวดน้ำ หรือกลัดกระดุมลำบากมากขึ้น
หากท่านพบว่ามีอาการเหล่านี้หลายข้อ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาหรือกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายเพิ่มเติม รวมไปถึงอาจแนะนำเรื่องการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด หรือ สแกนสมองด้วยสนามแม่เหล็ก (MRI) เพื่อวินิจฉัยโรคและพิจารณาแนวทางการรักษาโรคพาร์กินสันที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป
โรคพาร์กินสันสามารถรักษาได้ด้วยวิธีใดบ้าง?
เนื่องจากโรคพาร์กินสันนั้นยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้ชัดเจน จึงทำให้ยังไม่มีวิธีการรักษาโรคพาร์กินสันให้หายขาด หรือป้องกันการเกิดโรคนี้ได้ ในปัจจุบันการรักษาพาร์กินสันจะมุ่งเน้นเพื่อบรรเทาอาการไม่ให้รุนแรงขึ้นกว่าเดิมและช่วงชะลอการดำเนินโรคให้ช้าที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยการรักษาโรคพาร์กินสันทำได้ดังต่อไปนี้ั
- การรักษาโดยการใช้ยารับประทาน ซึ่งเป็นการให้ยาเพื่อเพิ่มปริมาณสารโดปามีนในสมองทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ levodopa, dopamine agonist, COMT-inhibitor และ MAO-B inhibitor เป็นต้น
- การรักษาโดยให้ยาฉีดต่อเนื่องใต้ผิวหนัง (Apomorhine infusion) จะพิจารณาใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการตอบสนองต่อยาไม่สม่ำเสมอ เช่น ยาหมดฤทธิ์ไว หรือมีผลข้างเคียงจากยารับประทาน
- การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation, DBS) จะพิจารณาใช้รักษาผู้ป่วยในกรณีที่มีการตอบสนองต่อยาไม่สม่ำเสมอ ทั้งนี้การผ่าตัดไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรค แต่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น และสามารถลดการรับประทานยาลงได้ 50-70% ส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
- การจี้สมองส่วนลึกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงเข้มข้นผ่านกระโหลกศีรษะ (MR-Guided Focused Ultrasound, MRgFUS) เป็นวิธีการรักษาล่าสุดที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องผ่าตัด สามารถใช้ในการรักษาโรคพาร์กินสันชนิดที่มีอาการสั่นเด่น (Tremor-dominant Parkinson’s) อย่างไรก็ดีในโรคพาร์กินสันชนิดอื่นๆยังไม่มีการรับรองการรักษาโดยวิธีนี้
- การทำกายภาพบำบัด มุ่งเน้นช่วยในการเคลื่อนไหวร่างกายของผู้ป่วย เพื่อเพิ่มมีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ช่วยลดอาการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อ และช่วยเรื่องการทรงตัว นอกจากการทำกายภาพบำบัดแล้ว การฝึกกิจกรรมบำบัด เช่นการฝึกกล้ามเนื้อขนาดเล็ก รวมไปถึงการฝึกกลืนและออกเสียง ก็มีความสำคัญสำหรับผู้ป่วยพาร์กินสันเช่นกัน
- การออกกำลังกาย แนะนำให้ผู้ป่วยออกกำลังกายด้วยการเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ หรือตามที่สภาพร่างกายเอื้ออำนวย นอกจากนี้ควรเพิ่มการออกกำลังเพื่อเพิ่มมวลกล้ามเนื้อร่วมด้วย โดยแนะนำให้ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมงอย่างสม่ำเสมอจะสามารถช่วยชะลอการดำเนินโรคพาร์กินสันได้
โรคพาร์กินสันอาการป่วยทางระบบประสาทและสมองที่ไม่ควรมองข้าม
โรคพาร์กินสัน เป็นโรคความเสื่อมของระบบประสาทและสมอง พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ มักมีอาการมือ แขน ขาสั่น เคลื่อนไหวร่างกายลำบาก กล้ามเนื้อแข็งเกร็งผิดปกติ จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยโรคและให้การรักษาแต่เนิ่น ๆ จะสามารถช่วยชะลอการดำเนินโรคและทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างยาวนาน สำหรับท่านที่กังวลว่าตนเอง หรือคนที่คุณรักในครอบครัวกำลังเผชิญกับอาการของโรคพาร์กินสัน สามารถติดต่อเพื่อสำรองคิวเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ ที่ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพระราม9 เพื่อตรวจวินิจฉัยให้มั่นใจและรักษาได้อย่างแม่นยำ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
- Facebook : Praram 9 hospital
- Line : @Praram9Hospital
- โทร. 1270
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคพาร์กินสัน
1. ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคพาร์กินสัน?
ผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคพาร์กินสันนั้น ได้แก่ ผู้สูงอายุ 50-65 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางสมอง ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีอันตราย ผู้ที่มีประวัติใช้ยาจิตเวชหรือยาแก้วิงเวียนอย่างต่อเนื่องมานาน และผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคพาร์กินสันตั้งแต่อายุน้อย
2. ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันควรทานอะไร?
แนะนำให้ผู้ป่วยเพิ่มการรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ได้แก่ ผัก ผลไม้ ธัญพืช ลดการบริโภคเนื้อแดงและอาหารแปรรูป เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู ไส้กรอก แฮม รวมไปถึงลดการบริโภคผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น นมสด เนย ชีส ซึ่งอาหารเหล่านี้มีหลักฐานงานวิจัยว่าอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคพาร์กินสันได้ นอกจากนี้งานวิจัยยังพบว่าการดื่มกาแฟดำ 2-4 แก้วต่อวันสามารถช่วยลดความเสี่ยงของโรคพาร์กินสันได้อีกด้วย
3. วัยรุ่นเป็นโรคพาร์กินสันได้ไหม?
วัยรุ่นสามารถเป็นโรคพาร์กินสันได้ แม้จะพบได้ค่อนข้างน้อยก็ตาม ส่วนมากมักเป็นโรคพาร์กินสันชนิดกรรมพันธ์ุหรือเป็นโรคกลุ่มอาการคล้ายพาร์กินสันที่มักมีอาการรุนแรง เช่น Wilson’s disease ซึ่งถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องอาจทำให้มีความพิการถาวรได้ ซึ่งถ้าหากสังเกตเห็นถึงสัญญาณอาการของโรคพาร์กินสัน ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็วที่สุด
References
Lees, AJ., Hardy, J., & Revesz, T. (2008, March 14). Parkinson’s disease. Journal of Neurology, Neurosurgery & Psychiatry, 79(4), 368–376. https://jnnp.bmj.com/content/79/4/368
Parkinson’s disease. (n.d.). NINDS. https://www.ninds.nih.gov/health-information/disorders/parkinsons-disease
Parkinson disease. (2023, August 9). WHO. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/parkinson-disease
Parkinson’s disease. (2024, April 30). AANS. https://www.aans.org/patients/conditions-treatments/parkinsons-disease/
What is Parkinson’s?. (n.d.). APDA. https://www.apdaparkinson.org/what-is-parkinsons/