หัวใจสามารถเต้นเป็นจังหวะต่อเนื่องได้อัตโนมัติ จากการทำงานของเซลล์พิเศษที่สร้างกระแสไฟฟ้าได้ด้วยตัวเอง (pacemaker cell) ถ้าเซลล์ดังกล่าวไม่สามารถส่งกระแสไฟฟ้าได้ตามทิศทางปกติ จะทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ที่ต้องรักษาด้วยการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีดังเดิม
Key Takeaways
- เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ฝังลงไปใต้ผิวหนัง เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นช้า ให้กลับมาทำงานได้ใกล้เคียงกับสภาวะปกติ
- การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ จะทำการสอดสายสื่อสัญญาณไปที่หัวใจผ่านทางหลอดเลือดดำ เมื่อเชื่อมสายกับตัวส่งสัญญาณแล้ว จะฝังเครื่องไว้ที่บริเวณหน้าอกของผู้ป่วย
- หลังใส่เครื่อง หากมีอาการเหนื่อยหอบเฉียบพลัน หน้ามืดเป็นลม หรือแผลมีลักษณะบวมแดง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
สารบัญบทความ
- เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ คืออะไร ทำไมผู้ที่หัวใจเต้นผิดจังหวะควรใส่?
- เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ มีหลักการทำงานอย่างไร
- วิธีการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ
- ขั้นตอนการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker implantation) พร้อมวิธีเตรียมตัวที่ถูกต้อง
- การปฏิบัติตนหลังใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ ให้แผลหายเร็ว
- เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ วิธีรักษาสำหรับผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดปกติ
- คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ
เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ คืออะไร ทำไมผู้ที่หัวใจเต้นผิดจังหวะควรใส่?
เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ หรือ Pacemaker คือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ฝังลงไปในผนังหน้าอกของผู้ป่วย ประกอบไปด้วย ตัวเครื่องส่งสัญญาณ สายสื่อสัญญาณไฟฟ้า และแบตเตอรี่ โดยเครื่องกระตุ้นหัวใจจะทำหน้าที่สร้างกระแสไฟฟ้าทดแทนขึ้น เมื่อตรวจพบความผิดปกติของการนำไฟฟ้าหัวใจจากห้องบนสู่ห้องล่าง รวมถึงความผิดปกติของจุดกำเนิดไฟฟ้าหัวใจที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็วสลับช้า
ทำให้การเต้นของหัวใจกลับมามีจังหวะสม่ำเสมอมากขึ้น สามารถสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะอื่น ๆ ได้เพียงพอ และไม่มีอาการแสดงของภาวะหัวใจเต้นช้าผิดปกติ เช่น อ่อนเพลีย, ไม่มีแรง, วิงเวียนศีรษะ หรือใจสั่น จนถึงขั้นเป็นลมหมดสติได้
เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ มีหลักการทำงานอย่างไร
ในขณะที่หัวใจเต้นเป็นปกติ สัญญาณจะถูกส่งผ่านสายสื่อสัญญาณ ไปยังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ ทำให้เครื่องไม่ปล่อยไฟฟ้าออกมา แต่เมื่อหัวใจเต้นช้าลง มีจังหวะไม่สม่ำเสมอ ตัวเครื่องส่งสัญญาณจะทำการปล่อยไฟฟ้าผ่านสายสื่อสัญญาณไปยังหัวใจห้องต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้มีอัตราการเต้นที่เร็วขึ้น ช่วยปรับการทำงานของหัวใจให้มีความสอดประสานกัน จนใกล้เคียงกับภาวะปกติที่สุด
วิธีการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาต้านการเต้นผิดปกติของหัวใจ และได้รับการประเมินจากแพทย์เรียบร้อยแล้ว เห็นสมควรว่าต้องเข้ารับการผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ จะมีวิธีการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจอยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่
- การฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ แบบใส่สายสื่อสัญญาณที่เยื่อบุหัวใจ (Endocardial lead placement) แพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อสอดสายสื่อสัญญาณไฟฟ้า ไปยังหัวใจของผู้ป่วยผ่านทางหลอดเลือดดำเซฟาลิค (cephalic vein) หรือหลอดเลือดดำซับคลาเวียน (subclavian vein) ที่อยู่บริเวณใต้กระดูกไหปลาร้า
เมื่อเคลื่อนสายถึงหัวใจแล้ว ปลายสายสื่อสัญญาณด้านหนึ่งจะถูกวางไว้บนเยื่อบุภายในหัวใจ ซึ่งต้องอาศัยการดูภาพถ่ายเอกซเรย์ประกอบการผ่าตัด เพื่อให้สายอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม และทำการฝังเครื่องส่งสัญญาณไว้ใต้ผิวหนังบริเวณหน้าอกส่วนบนของผู้ป่วย
จากนั้นแพทย์จะทำการต่อสายสื่อสารเข้ากับตัวส่งสัญญาณของเครื่องกระตุ้นหัวใจ เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ ทั้งนี้ ระหว่างผ่าตัดผู้ป่วยจะยังคงรู้สึกตัวอยู่ จึงอาจรู้สึกถึงแรงกดเล็กน้อยระหว่างใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ แต่ในบางกรณีแพทย์อาจพิจารณาให้ใช้ยาสลบก็ได้เช่นกัน - การฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ แบบติดสายสื่อสัญญาณที่เยื่อบุหัวใจ (Epicardial lead placement) เทคนิคนี้จำเป็นต้องใช้การดมยาสลบก่อน เพราะแพทย์จะต้องทำการผ่าตัดเปิดเข้าทรวงอกด้านซ้าย เพื่อติดปลายสายสื่อสัญญาณที่เยื่อหุ้มหัวใจโดยตรง และทำการฝังเครื่องส่งสัญญาณไว้ที่บริเวณหน้าท้องใต้ชายโครง หรือใต้กล้ามเนื้อหน้าอกตามความเหมาะสม แต่ปัจจุบันไม่ค่อยนิยมใช้วิธีนี้ในการผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแล้ว
- เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจแบบไร้สาย (Leadless Pacemaker) เป็นเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ โดยการสอดผ่านเส้นเลือดดำที่ขาหนีบ ผ่านทางสายสวนและฝังเครื่องไว้ที่หัวใจห้องขวาล่าง ซึ่งมีข้อดีและข้อเสียที่ควรเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสม
ขั้นตอนการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker implantation) พร้อมวิธีเตรียมตัวที่ถูกต้อง
เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ เป็นอุปกรณ์ช่วยเหลือสำหรับผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยจะต้องทำการผ่าต
การปฏิบัติตนหลังใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ ให้แผลหายเร็ว
หลังใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็ว และไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยควรดูแลตนเอง ตามคำแนะนำเหล่านี้
- รับประทานยาปฏิชีวนะให้ครบตามแพทย์สั่ง
- ระวังไม่ให้แผลโดนน้ำเป็นเวลา 7 วัน เพื่อป้องกันการอักเสบและติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการกด แกะ เกา บริเวณแผลผ่าตัด
- ไม่ใส่เสื้อผ้าที่รัดแผล
- ช่วง 7 วันแรกก่อนเปิดแผล ให้จำกัดความเคลื่อนไหวของแขนข้างที่ใส่เครื่อง พยายามแนบชิดลำตัวเอาไว้ ถัดมา ในช่วงก่อนครบ 1 เดือน สามารถยกแขนได้ไม่เกินหัวไหล่ ไม่แกว่งแขนแรง ๆ หลังครบ 1 เดือนจะใช้แขนได้ตามปกติ แต่ควรหลีกเลี่ยงกีฬาที่ทำให้เกิดการกระแทก
- มาตามนัดของแพทย์สม่ำเสมอ เพื่อติดตามผลการรักษา และตรวจเช็กการทำงานของเครื่อง
- หากมีอาการผิดปกติ เช่น แผลบวมแดงมาก มีน้ำเหลืองไหล ไข้สูง หรือมีอาการเหนื่อยหอบเฉียบพลัน ใจสั่น เป็นลม สะอึกบ่อย ๆ ควรรีบพบแพทย์ทันที
เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ วิธีรักษาสำหรับผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดปกติ
การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ เป็นวิธีรักษาสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งส่งผลให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้อย่างเพียงพอ เครื่องจะช่วยกระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจให้เร็วขึ้น ลดอาการที่เกิดจากหัวใจเต้นช้า เช่น อ่อนเพลีย ใจสั่น วูบหรือหมดสติได้ดี
หากคุณเป็นโรคดังกล่าวที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา สามารถเข้ารับการปรึกษากับแพทย์ได้ที่สถาบันหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลพระรามเก้า ซึ่งมีบริการตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาหัวใจอย่างละเอียด ช่วยฟื้นฟูสุขภาพหัวใจ ให้คุณกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับปกติอีกครั้ง
สามารถติดต่อโรงพยาบาลผ่านช่องทาง ดังนี้
- Facebook: Praram 9 hospital
- Line @Praram9Hospital
- โทร. 1270
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ
การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ มีความเสี่ยงหรือไม่?
หลังใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ อาจมีความเสี่ยงพบภาวะแทรกซ้อนได้บ้าง เช่น มีลมรั่วในช่องปอด สายสื่อเลื่อนหลุด การติดเชื้อ หัวใจเต้นผิดจังหวะ มีเลือดออกมากหรือเกิดก้อนเลือดใต้ผิวหนัง มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง ข้อไหล่ติด จากการไม่ยอมเคลื่อนไหวแขนของผู้ป่วย เนื่องจากกลัวเจ็บ เป็นต้น แต่ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ มีความเสี่ยงที่จะเกิดต่ำ ประมาณร้อยละ 1-5 เท่านั้น
หลังใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ มีข้อควรระวังอะไรบ้าง?
หลังใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ ควรระวังการอยู่ในบริเวณที่มีสนามแม่เหล็กแรงสูง การตรวจ MRI การรักษาด้วยรังสีหรือฉายแสง พยายามใช้โทรศัพท์มือถือให้ห่างจากจุดที่ฝังเครื่องราว 1 ฟุต และพกบัตรประจำตัวของผู้ฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจติดตัวไว้เสมอ
References
Heart Foundation. (2024, March 10). Permanent Pacemaker (PPM). https://www.heartfoundation.org.au/your-heart/permanent-pacemaker-ppm
National Institutes of Health. (2022, March 24). What Are Pacemakers?. https://www.nhlbi.nih.gov/health/pacemakers
The Mater Hospital. (n.d.). Permanent Pacemaker Implantation (PPM). https://www.mater.ie/docs/services/cardiology/Pacemaker%20v1.0%20Aug%2022.pdf