โรคปอดอักเสบเป็นโรคที่พบได้ตั้งแต่วัยเด็ก วัยผู้ใหญ่ และวัยสูงอายุ ซึ่งโรคปอดอักเสบมีสาเหตุส่วนใหญ่จากการติดเชื้อ และเชื้อโรคหนึ่งที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคปอดอักเสบคือเชื้อนิวโมคอคคัส ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่ง การติดเชื้อปอดอักเสบจะส่งผลให้การทำงานของระบบหายใจแย่ลง และทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด และอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด
ปัจจุบันมีวัคซีนปอดอักเสบนิวโมคอคคัสที่สามารถป้องการโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัส ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดปอดอักเสบและอาการแทรกซ้อนรุนแรงอื่น ๆ ได้
สารบัญ
- โรคปอดอักเสบคืออะไร?
- โรคปอดอักเสบ เกิดจากอะไร?
- โรคปอดอักเสบมีอาการอย่างไรบ้าง?
- โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัสคืออะไร?
- เชื้อนิวโมคอคคัสอันตรายอย่างไร?
- ใครบ้างเสี่ยงติดเชื้อนิวโมคอคคัส?
- วัคซีนปอดอักเสบนิวโมคอคคัสมีกี่ชนิด?
- คำแนะนำในการฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบนิวโมคอคคัส
- ผลข้างเคียงของวัคซีนป้องกันปอดอักเสบนิวโมคอคคัส
- สรุป
โรคปอดอักเสบคืออะไร?
โรคปอดอักเสบ (pneumonia) หรือที่เรียกกันว่า ปอดบวม คือการอักเสบที่เกิดขึ้นบริเวณเนื้อปอด ถุงลม และเนื้อเยื่อข้างเคียง โดยเชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางระบบทางเดินหายใจ ซึ่งระดับความรุนแรงของโรคจะแตกต่างกันออกไปตามปัจจัยแวดล้อมหรือความแข็งแรงของสุขภาพของผู้ป่วย
โรคปอดอักเสบ เกิดจากอะไร?
สาเหตุของปอดอักเสบติดเชื้อเกิดได้ทั้งจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส มักพบได้บ่อยในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำ ซึ่งบางครั้งปอดอักเสบติดเชื้อรุนแรงอาจนำไปสู่ภาวะการหายใจล้มเหลว จนกระทั้งเสียชีวิตได้
เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคปอดบวมที่สามารถป้องกันได้คือ เชื้อนิวโมคอคคัส (Streptococcus pneumoiae) และเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคปอดบวมที่สามารถป้องกันได้คือ เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus)
โรคปอดอักเสบมีอาการอย่างไรบ้าง?
- มีไข้
- ไอมีเสมหะ
- หนาวสั่น
- เจ็บหน้าอกขณะหายใจหรือไอ
- หายใจลำบาก
- อ่อนเพลีย
- คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย
- ในผู้สูงอายุอาจมีอาการซึม สับสน อุณหภูมิกายต่ำกว่าปกติ
- ในเด็กเล็กอาจมีอาการซึม อาเจียน ท้องอืด ไม่ดูดนมหรือน้ำ
โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัสคืออะไร?
โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัส เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ส่วนใหญ่จะพบอยู่ในโพรงจมูกและลำคอ สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งทางละอองฝอยทางการไอหรือจาม
เชื้อนิวโมคอคคัสอันตรายอย่างไร?
จากการเก็บข้อมูลสายพันธุ์เชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอีในประเทศพบว่ามี 5 สายพันธุ์ที่พบบ่อยในประเทศไทย ซึ่งเชื้อนิวโมคอคคัสนี้นอกจากจะทำให้เกิดอาการปอดอักเสบแล้ว ยังสามารถทำให้เกิดการอักเสบของหูชั้นกลาง (จากเชื้อชนิดไม่รุนแรง: non-invasive pneumococcal disease) และ การติดเชื้อในกระแสเลือด และภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (จากเชื้อชนิดรุนแรง: invasive pneumococcal disease) ซึ่งอาการที่พบได้มีตั้งแต่มีไข้ หายใจหอบเหนื่อย ง่วงซึม สับสน เจ็บหู ปวดศีรษะ คอแข็ง ชักเกร็ง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะทำให้อัตราการเสียชีวิตสูงถึง 10-30 %
ใครบ้างเสี่ยงติดเชื้อนิวโมคอคคัส?
กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้แก่
- ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
- ผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคตับแข็ง โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง
- ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ต้องได้รับการรักษาด้วยยากดภูมิหรือยาสเตียรอยด์ในระดับที่สูง เช่น ผู้ป่วย HIV ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะหรือไขกระดูก
- ผู้ที่มีการทำงานของม้ามผิดปกติหรือผ่าตัดม้ามออก
- ผู้ที่มีภาวะน้ำในช่องไขสันหลังรั่วซึม (cerebrospinal leakage)
เนื่องจากกลุ่มคนดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัส การได้รับวัคซีนป้องกันที่เหมาะสมจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
วัคซีนปอดอักเสบนิวโมคอคคัสมีกี่ชนิด?
ปัจจุบันในประเทศไทยวัคซีนปอดอักเสบนิวโมคอคคัส 2 ชนิด ได้แก่
1.วัคซีนปอดอักเสบ 13 สายพันธุ์ (PCV13)
วัคซีนปอดอักเสบชนิดนี้จะกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ตลอดชีวิต และยังป้องกันการเกิดโรคนิวโมคอคคัสชนิดไม่รุนแรงในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปได้ถึง 75% นอกจากนี้ยังลดความรุนแรงของปอดอักเสบนิวโมคอคคัสได้กว่า 70%
2.วัคซีนปอดอักเสบ 23 สายพันธุ์ (PPSV23)
วัคซีนปอดอักเสบชนิดนี้สามารถป้องกันสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรงได้ถึงเกือบ 90% โดยมีประสิทธิภาพดีในผู้ใหญ่ที่อายุ 20 ปีขึ้นไป สามารถลดความรุนแรงของโรคปอดอักเสบได้ แต่วัคซีนปอดอักเสบชนิดนี้มีข้อจำกัดในการกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในเด็กที่อายุน้อย เพราะไม่สามารถป้องกันโรคนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรงในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปีได้ และยังไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ตลอดชีวิต
คำแนะนำในการฉีดวัคซีนปอดอักเสบนิวโมคอคคัส
เนื่องด้วยวัคซีนปอดอักเสบนิวโมคอคคัสปัจจุบันมี 2 ชนิด ดังนั้นคำแนะนำในการฉีดจึงแตกต่างกันออกไป คือ
- ในเด็กที่อายุ 2-15 เดือนแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ 13 สายพันธุ์
- ในกลุ่มอายุ 2-64 ปี ที่มีภูมิคุมกันปกติ เพื่อให้ได้ภูมิคุ้มกันที่ดีแนะนำให้ฉีดวัคซีนปอดอักเสบ 13 สายพันธุ์ก่อน แล้วจึงตามด้วยวัคซีนปอดอักเสบ 23 สายพันธุ์ ห่างกันอย่างน้อย 1 ปี
- ในผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และกลุ่มอายุตั้งแต่ 2-64 ปี ที่มีโรคเรื้อรัง โรคประจำตัว และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องต่าง ๆ แนะนำให้ฉีดวัคซีนปอดอักเสบ 13 สายพันธุ์ก่อน แล้วตามด้วยวัคซีนปอดอักเสบ 23 สายพันธุ์ ห่างกันอย่างน้อย 2 เดือน
อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์เพื่อแนะนำระยะห่างในการฉีดที่เหมาะสม
ผลข้างเคียงของวัคซีนปอดอักเสบนิวโมคอคคัส
อาการข้างเคียงส่วนใหญ่มักไม่รุนแรง สามารถหายได้เองในระยะเวลา 2-3 วัน เช่น อาการบวมแดงบริเวณที่ฉีด มีไข้ต่ำ ๆ ง่วงนอน ซึม เบื่ออาหาร หงุดหงิด นอนไม่หลับ ซึ่งอาการเหล่านี้แตกต่างออกไปในแต่ละบุคคล
สรุป
การติดเชื้อนิวโมคอคคัส ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยที่ไม่พึงประสงค์ แม้ว่าในชนิดที่ไม่รุนแรง อาจจะไม่ทำให้เกิดอาการที่รุนแรงอันตราย แต่อย่างไรก็ตามก็ส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง และยิ่งถ้าเป็นชนิดที่รุนแรงที่สามารถทำให้เกิดอาการรุนแรงต่าง ๆ เช่น ปอดอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรืออาจทำให้เสียชีวิตได้ ก็จะยิ่งอันตรายและส่งผลต่อสุขภาพร่างกายมากขึ้น ดังนั้นการได้รับวัคซีนป้องกันจึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันอาจไม่แข็งแรง ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อและมีอาการรุนแรงได้มากกว่าผู้ที่ภูมิคุ้มกันปกติ