โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอกคัสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ส่วนใหญ่เชื้อจะพบอยู่ในโพรงจมูกและลำคอ สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งทางละอองฝอยทางการไอหรือจาม เป็นหนึ่งในเชื้อที่ทำให้เกิดปอดอักเสบที่พบบ่อย ทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ นอกจากจะทำให้เกิดปอดอักเสบแล้ว ยังก่อให้เกิดการติดเชื้อแบบรุกราน (Invasive pneumococcal disease ; IPD) เช่น ปอดอักเสบแบบรุนแรง ติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ นำไปสู่การเสียชีวิตได้ ซึ่งโรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน
กลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อนิวโมคอกคัสได้แก่
- เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี
- ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยเอชไอวี ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ที่มีโรคที่ต้องรับยากดภูมิคุ้มกัน เช่น สเตียรอยด์ ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะหรือไขกระดูก
- ผู้ป่วยที่ตัดม้ามหรือไม่มีม้าม ผู้ที่ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม ผู้ที่มีภาวะน้ำไขสันหลังรั่ว
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หัวใจ ปอดเรื้อรัง หอบหืด โรคตับเรื้อรัง ไตวายเรื้อรังระดับ 4 เป็นต้นไป โรคไตเนฟโฟรติค สูบบุหรี่ พิษสุราเรื้อรัง
ปัจจุบันประเทศไทยมีวัคซีนปอดอักเสบชนิด 20 สายพันธุ์ (PCV 20) ซึ่งเป็นวัคซีนปอดอักเสบชนิดล่าสุดที่มีใช้ในประเทศไทย สามารถครอบคลุมเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอกคัส (Streptococcus pneumoniae) ที่ก่อโรคในประเทศไทยได้มากถึง 83.2% ซึ่งมีความครอบคลุมมากกว่าวัคซีนปอดอักเสบที่มีอยู่เดิม คือ ชนิด 13 (PCV 13) 15 (PCV15) และ 23 สายพันธุ์ (PPSV23) ที่มีความครอบคลุมอยู่ที่ 74.6-81.8% วัคซีนมีประสิทธิภาพในการลดการติดเชื้อนิวโมคอกคัสแบบรุนแรง ได้ถึง 75%
ใครควรฉีดบ้าง
- เด็กที่อายุตั้งแต่ 6 สัปดาห์ถึง 5 ปี ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือแข็งแรงดี
- เด็กอายุ 5 ปีขึ้นไปที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือโรคเรื้อรังข้างต้น
- ผู้ใหญ่ 18-64 ปีที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือโรคเรื้อรังข้างต้น
- ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปที่แข็งแรงดี
คำแนะนำของประเทศไทยสำหรับการฉีดวัคซีนปอดอักเสบนิวโมคอกคัส 20 สายพันธุ์ (PCV 20) ในผู้ใหญ่
- ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ที่แข็งแรงดี ฉีด 1 เข็ม
- ผู้ใหญ่อายุ 18-64 ปีที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ตัดม้ามหรือไม่มีม้าม ผู้ที่ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม ผู้ที่มีภาวะน้ำไขสันหลังรั่ว ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน หัวใจ ปอดเรื้อรัง ตับเรื้อรัง ไตวายเรื้อรังระดับ 4 เป็นต้นไป
ฉีด 1 เข็ม
สรุป:
- ฉีดวัคซีน PCV 20 เพียง 1 เข็มในคนแข็งแรงดีและกลุ่มเสี่ยง ยังไม่มีคำแนะนำว่าต้องฉีดกระตุ้นในขณะนี้
- กรณีในเด็กจะฉีด 2-4 เข็ม ขึ้นกับช่วงอายุและกลุ่มเสี่ยง
คำแนะนำสำหรับผู้ที่เคยฉีดวัคซีนปอดอักเสบ 13 และ 23 สายพันธุ์มาแล้ว
- ผู้ที่อายุ 18-64 ปี ที่เคยฉีดวัคซีนปอดอักเสบชนิด 13 และ 23 สายพันธุ์ครบแล้ว แนะนำฉีดวัคซีนปอดอักเสบ 20 สายพันธุ์อีก 1 เข็ม โดยเว้นระยะหลังฉีดวัคซีนเข็มก่อนหน้าอย่างน้อย 5 ปี
- ผู้ที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปที่เคยฉีดวัคซีนปอดอักเสบชนิด 13 และ 23 สายพันธุ์ครบแล้ว อาจพิจารณาฉีดวัคซีนปอดอักเสบ 20 สายพันธุ์เพิ่มเติมตามคำแนะนำของแพทย์
อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำการฉีดวัคซีนที่เหมาะสม
ผลข้างเคียงของวัคซีนปอดอักเสบนิวโมคอกคัส
อาการข้างเคียงส่วนใหญ่มักไม่รุนแรง สามารถหายได้เองในระยะเวลา 2-3 วัน เช่น อาการบวมแดงบริเวณที่ฉีด มีไข้ต่ำ ๆ ปวดเมื่อยตัว ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ซึ่งอาการเหล่านี้แตกต่างออกไปในแต่ละบุคคล
โปรแกรมวัคซีน
- โปรแกรมวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ 20 สายพันธุ์ 4,290.- (1 เข็ม รวมค่าแพทย์และบริการ)
- โปรแกรมวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ 20 สายพันธุ์ + ไข้หวัดใหญ่ 4,990.- (รวมค่าแพทย์และบริการ)
- โปรแกรมวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ 20 สายพันธุ์ 4 เข็ม 14,900.- (ไม่รวมค่าแพทย์)