โรคมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อย จัดเป็นมะเร็งอันดับที่ 4 ที่พบบ่อยในชายไทย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอายุระหว่าง 60 ถึง 79 ปี ดังนั้นผู้สูงอายุเพศชายจึงควรเข้ารับการตรวจตัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก
สารบัญ
- มะเร็งต่อมลูกหมากเกิดจากอะไร?
- มะเร็งต่อมลูกหมากอันตรายไหม?
- ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมาก
- อาการของมะเร็งต่อมลูกหมาก
- ระยะของมะเร็งต่อมลูกหมาก
- การวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมาก
- การรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก
- ใครบ้างควรตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก?
- อาหารที่มีผลต่อมะเร็งต่อมลูกหมาก
- การดูแลตัวเองเมื่อเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
- การป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก
- สรุป
มะเร็งต่อมลูกหมากเกิดจากอะไร?
ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะในเพศชาย โดยเป็นต่อมที่อยู่รอบท่อปัสสาวะในบริเวณอุ้งเชิงกราน ใต้ต่อกระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมากมีหน้าที่ผลิตน้ำหล่อเลี้ยงและช่วยนำพาอสุจิ ซึ่งต่อมลูกหมากนี้มักจะมีขนาดใหญ่ตามอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้ไปอุดตันท่อปัสสาวะ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาปัสสาวะลำบากได้ ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้ในผู้สูงอายุซึ่งแตกต่างจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นโรคที่เกิดจากการที่มีเซลล์ของต่อมลูกหมากเกิดความผิดปกติ ทำให้แบ่งตัวอย่างมากและรวดเร็วผิดปกติ จนอาจเกิดการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ และทำลายเนื้อเยื่อปกติของต่อมลูกหมากเอง และหากไม่สามารถตรวจพบได้ทันท่วงทีก็อาจมีการลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ได้
สาเหตุของการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากยังไม่ชัดเจน แต่พบว่ามะเร็งต่อมลูกหมากความสัมพันธ์กับอาหาร กรรมพันธุ์ และเชื้อชาติ มีข้อมูลพบว่าประเทศในแถบยุโรปมีอุบัติการณ์ของมะเร็งต่อมลูกหมากสูงกว่าในเอเชียถึงเกือบ 5 เท่า แต่อย่างไรก็ตามคนเอเชียอย่างประเทศไทยก็ไม่ควรมองข้ามโรคมะเร็งต่อมลูกหมากนี้ เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้น สถิติในประเทศไทย โรคมะเร็งต่อมลูกหมากพบได้เป็นอันดับ 4 ของมะเร็งในเพศชาย
มะเร็งต่อมลูกหมากอันตรายไหม?
มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นเนื้อร้ายจึงถือว่าเป็นโรคที่อันตรายโรคหนึ่ง เพราะหากปล่อยไว้ให้มะเร็งต่อมลูกหมากเติบโตไปจนอยู่ในระยะแพร่กระจาย เกิดการลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง หรือลุกลามผ่านท่อน้ำเหลืองหรือหลอดเลือดไปสู่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น มะเร็งแพร่ไปที่กระเพาะปัสสาวะ อาจทำให้ปัสสาวะมีเลือดปน หรือมะเร็งแพร่ไปที่กระดูกซึ่งเป็นจุดที่มะเร็งต่อมลูกหมากกระจายไปมากที่สุด ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดกระดูกอย่างรุนแรง มีกระดูกร้าว หรือหากปล่อยทิ้งไว้จนเป็นระยะที่มะเร็งแพร่กระจายไปทั่วร่างกายแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักลดลงอย่างฮวบฮาบแบบไม่รู้สาเหตุ จนในที่สุดนำไปสู่การเสียชีวิตได้
ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมาก
- อายุ ยิ่งอายุมากขึ้น โอกาสเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น
- เชื้อชาติ โดยสาเหตุทางพันธุกรรมที่่ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่คนดำ (African race) มีความเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมลูกหมากที่สูงขึ้น
- ประวัติครอบครัว โอกาสเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากจะสูงขึ้น หากมีญาติใกล้ชิด เช่น พ่อแม่ พี่น้อง หรือลูก ที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือมียีนที่เสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม (BRCA1 or BRCA2)
- โรคอ้วน
อาการของมะเร็งต่อมลูกหมาก
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นมะเร็งต่อมลูกหมากเกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์ต่อมลูกหมากที่ผิดปกติ ทำให้ต่อมลูกหมากโตขึ้น สิ่งที่น่ากังวลของการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากก็คือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการใด ๆ เลยในระยะเริ่มต้นของมะเร็งต่อมลูกหมาก ทำให้ผู้ป่วยไม่เข้ามาพบแพทย์ จนเมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้นจึงจะมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นให้ผู้ป่วยรู้ตัว โดยอาการเหล่านี้มักจะเกิดจากการที่ก้อนมะเร็งต่อมลูกหมากไปกดท่อปัสสาวะ เช่น
- ปัสสาวะลำบาก
- ปัสสาวะไม่พุ่ง ปัสสาวะผิดปกติ
- รู้สึกปวดขณะปัสสาวะ
- ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะเวลากลางคืน
ระยะของมะเร็งต่อมลูกหมาก
- ระยะที่ 1 มะเร็งมีขนาดเล็ก ตรวจไม่พบจากการตรวจทางทวารหนัก มักจะตรวจพบโดยบังเอิญจากชิ้นเนื้อที่ได้จากการผ่าตัด หรือจากการเจาะตัดต่อมลูกหมากในรายที่มีผลเลือดสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA) สูงผิดปกติ ผู้ป่วยมักไม่มีอาการในระยะนี้
- ระยะที่ 2 มะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นแต่ยังอยู่ในต่อมลูกหมาก สามารถคลำพบโดยการตรวจทางทวารหนัก ในระยะนี้ผู้ป่วยก็มักไม่มีอาการผิดปกติเช่นกัน
- ระยะที่ 3 มะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นจนอุดกั้นทางเดินปัสสาวะและกระจายออกนอกต่อม สามารถคลำพบโดยการตรวจทางทวารหนัก มักมีอาการปวดปัสสาวะบ่อย, ปัสสาวะเป็นเลือด, ปัสสาวะลำบาก ต้องเบ่งเวลาปัสสาวะ และบางครั้งอาจมีอาการปัสสาวะไม่ออก
- ระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามไปสู่ต่อมน้ำเหลือง, กระดูก หรืออวัยวะอื่น ๆ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดปัสสาวะบ่อย, ปัสสาวะลำบาก, ปัสสาวะไม่ออก, ปัสสาวะเป็นเลือด, ปวดหลัง, ปวดกระดูก, น้ำหนักลด, อ่อนเพลีย และบางรายอาจเป็นอัมพาตจากการที่มะเร็งลุกลามไปที่กระดูกจนอาจทำให้กระดูกสันหลังหักได้
การวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมาก
แนวทางในการตรวจวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมาก มีดังนี้
- ตรวจทางทวารหนัก (rectal examination) แพทย์จะทำการตรวจต่อมลูกหมากโดยใช้นิ้วสอดเข้าไปทางรูทวารหนัก เพื่อตรวจคลำขนาดรูปร่าง และความยืดหยุ่นของต่อมลูกหมาก
- การเจาะเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง (tumor marker) สารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมากในเลือดที่สำคัญคือ PSA (prostate specific antigen)
- การตรวจอัลตราซาวนด์ของต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก (transrectal prostatic ultrasound) เป็นการตรวจโดยใช้หัวตรวจของเครื่องอัลตราซาวนด์สอดเข้าทางทวารหนักเพื่อตรวจดูลักษณะของต่อมลูกหมาก
- การตัดชิ้นเนื้อ (biopsy) แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อจากต่อมลูกหมากด้วยเข็มผ่านทางทวารหนัก เพื่อนำชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อดูว่าเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่
การรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก
มะเร็งต่อมลูกหมากมีการรักษาได้หลายวิธีด้วยกัน ดังนี้
- การผ่าตัด เหมาะกับผู้ป่วยที่มะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่ 1 และ 2 คือก้อนมะเร็งยังจำกัดอยู่ในตัวต่อมลูกหมาก ยังไม่มีการแพร่กระจายออกไปที่อวัยวะอื่น
- การฉายรังสี เป็นการรักษาโดยการฝังแร่และฉายรังสี ในระยะเริ่มต้น การรักษาด้วยวิธีนี้จะให้ผลการรักษาใกล้เคียงกับการผ่าตัด
- ฮอร์โมนบำบัด ในโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ฮอร์โมนเพศชายจะกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตได้ดี การรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัดจึงมุ่งเป้าเพื่อลดระดับของฮอร์โมน และลดการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนเพศชายเพื่อยับยั้งก้อนมะเร็งไม่ให้เจริญและลุกลาม
- เคมีบำบัด ปัจจุบันการรักษาด้วยวิธีนี้ให้ผลการรักษาที่ดีขึ้น และแพทย์จะวางแผนการรักษาให้ผู้ป่วยมีอาการที่ไม่พึงประสงค์หรือผลข้างเคียงของเคมีบำบัดน้อยลง
โดยการรักษาในระยะที่มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจาย อาจต้องรักษาด้วยวิธีการรักษามากกว่า 1 วิธี เช่น การฉายแสงร่วมกับการให้ยาในผู้ป่วย เป็นต้น
นอกจากนี้ ในกรณีต่อมลูกหมากที่โตแต่ยังไม่ใช่ก้อนมะเร็ง จะมีการรักษาเพื่อลดขนาดของต่อมลูกหมาก โดยการใช้ไอน้ำร้อนไปทำให้ต่อมลูกหมากมีขนาดเล็กหรือฝ่อลง เป็นวิธีที่ลดความเสี่ยงจากการผ่าตัด โดยเป็นการส่องกล้องแล้วใช้เข็มปักเข้าไปในตัวต่อมลูกหมากแล้วพ่นไอน้ำร้อนเข้าไป ผู้ป่วยจะไม่ต้องดมยาสลบและสามารถรับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ไม่ต้องนอนโรพยาบาล การรักษาวิธีนี้ยังมีข้อดีในผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ หรือหลอดเลือดหัวใจตีบที่จำเป็นต้องหยุดยาต้านเกล็ดเลือด หรือยาละลายลิ่มเลือดเพราะไม่ต้องหยุดยานานสำหรับการทำหัตถการนี้
ใครบ้างควรตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก?
โรคมะเร็งต่อมลูกหมากมักจะพบในเพศชายที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป และยิ่งมีโอกาสพบได้มากยิ่งขึ้นในชายที่อายุเกิน 60 ปี การตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมากตั้งแต่ระยะแรก ๆ หรือตอนที่ยังไม่มีอาการมีข้อดีคือ สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยกลุ่มที่ควรตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก ได้แก่
- ชายที่มีอายุอยู่ในกลุ่มเสี่ยง (อายุ 50 ปีขึ้นไป)
- มีไลฟ์สไตล์ที่เสี่ยงต่อมะเร็ง เช่น สูบบุหรี่ น้ำหนักเกิน
- หากมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็ง ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก
โดยการพบแพทย์อาจเป็นการเข้ารับการตรวจคัดกรองความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะในโปรแกรมการตรวจสุขภาพประจำปี สำหรับผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
อาหารที่มีผลต่อมะเร็งต่อมลูกหมาก
ผลการวิจัยที่ทำการศึกษาอาหารที่มีผลต่อการเจริญของมะเร็งต่อมลูกหมาก พบว่ามีอาหารหลายชนิดอาจช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมาก เช่น
- กาแฟ
- ไลโคปีนในซอสมะเขือเทศ
- น้ำมันพืช
- ปลา
- ผักตระกูลกะหล่ำ เช่น บรอกโคลี กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี ผักแขนง
ส่วนอาหารที่อาจมีผลเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมาก เช่น
- ไข่ และนมวัว เป็นต้น
การดูแลตัวเองเมื่อเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
เมื่อทราบว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรักษาอย่างต่อเนื่องตามแผนการรักษาของแพทย์ กำลังใจที่ดีของผู้ป่วยเองมีส่วนสำคัญ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถต่อสูกับโรคและเข้ารับการรักษาตามการรักษาของแพทย์ได้ครบถ้วน โดยการดูแลตนเองควรปฏิบัติดังนี้
- หมั่นสังเกตอาการตนเอง และพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการและการดำเนินของโรคอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
- ดูแลสุขภาพทั้งทางกายและทางใจ รับประทานอาหารที่ดีให้ได้พลังงานเพียงพอและครบทั้ง 5 หมู่
- หากผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสี ในช่วงระยะการรักษาด้วยรังสี ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำที่จะได้รับอย่างเคร่งครัด เพื่อลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากรังสีต่อเนื้อเยื่อข้างเคียง
- วางแผนชีวิตและคุยกันในครอบครัวเพื่อการตัดสินใจและความเข้าใจที่ตรงกัน หากการรักษาถึงที่สุดแล้ว ไม่อาจรักษามะเร็งให้หายขาด ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาแบบประคับประคองเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีจนถึงวาระสุดท้าย
การป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก
- รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
- ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน และ 3 วันต่อสัปดาห์
- รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ให้น้ำหนักเกินหรืออ้วน เพราะภาวะโรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งของการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก
- เลิกสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก
- เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก เพื่อโอกาสการรักษาที่หายขาดได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
สรุป
แม้ว่าต่อมลูกหมากโตจะพบได้ในผู้ชายสูงอายุ แต่การที่มีต่อมลูกหมากโต ปัสสาวะลำบากในชายสูงวัย อาจจะไม่ใช่แค่อาการของความเสื่อมตามวัย เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก สำหรับใครที่คิดว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีความเสี่ยง ก็ควรเข้ารับการตรวจต่อมลูกหมาก โดยเฉพาะการตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA) และถ้ามีอาการผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติ การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากตั้งแต่ระยะแรก ๆ จะสามารถรักษาให้หายขาดได้ ดีกว่าปล่อยไว้จนสายเกินไปจนเนื้อร้ายลุกลามไปตามอวัยวะต่าง ๆ