ปัจจุบันปัญหามลภาวะต่าง ๆ มีมากและรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปีและแต่ละปีก็มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วยังมีมลภาวะทางถนนที่ทำอันตรายต่อปอด และสำหรับผู้ที่ต้องทำงานในที่ที่มีฝุ่นเยอะ เช่น ในเหมืองหิน โรงไม้ โรงโม่ปูน ยิ่งทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคปอดมากขึ้น นอกจากนี้ผู้ที่สูบบุรี่ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีโรคปอดได้เช่นก้น
ปอดเป็นอวัยวะที่สำคัญที่ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซ นำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย ปอดเป็นอวัยวะที่มีการทำงานสำรองสูงทำให้หากมีความผิดปกติเพียงเล็กน้อย จะไม่มีอาการผิดปกติแสดงให้เห็น อาการผิดปกติมักจะเกิดในระยะที่โรครุนแรงแล้ว
การตรวจสมรรถภาพปอดเป็นการตรวจที่ไม่ต้องมีการเจาะเลือด หรือต้องแทงเข็มหรือใส่อุปกรณ์ใด ๆ เข้าไปในตัวผู้ป่วย ทำให้การตรวจนี้เป็นการตรวจที่ปลอดภัย มีภาวะแทรกซ้อนไม่มาก และให้ผลการตรวจที่ค่อนข้างแม่นยำ
สารบัญ
- การตรวจสมรรถภาพปอดคืออะไร?
- ตรวจสมรรถภาพปอดเพื่ออะไร? บอกอะไรได้บ้าง?
- ใครบ้างควรตรวจสมรรถภาพปอด?
- ตรวจสมรรถภาพปอด ตรวจอย่างไร?
- ใช้เวลาในการตรวจสมรรถภาพปอดนานไหม?
- การเตรียมตัวก่อนตรวจสมรรถภาพปอด
- ค่าปอดปกติ มีค่าเท่าไหร่?
- ความผิดปกติของปอดมีกี่แบบ?
- การตรวจสมรรถภาพปอดปลอดภัยหรือไม่?
- ผู้ป่วยแบบไหนที่ไม่ควรทำการตรวจสมรรถภาพปอด?
- สรุป
การตรวจสมรรถภาพปอดคืออะไร?
การตรวจสมรรถภาพปอด (pulmonary function test; PFT หรือ lung function test) เป็นการตรวจสมรรถภาพการทำงานของปอด หรือบางคนเรียกว่า การเป่าปอด เป็นการตรวจที่บอกได้ถึงการทำงานโดยรวมของปอดและหลอดลม ปริมาตรปอด ความจุปอด อัตราการไหลของอากาศ เพื่อนำค่าที่ได้มาช่วยวินิจฉัย ประเมินความรุนแรง ของผู้ที่สงสัยว่ามีอาการของโรคปอดและหลอดลม เช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพอง รวมทั้งใช้ติดตามผลการรักษาในผู้ป่วยโรคปอด
ตรวจสมรรถภาพปอดเพื่ออะไร? บอกอะไรได้บ้าง?
การตรวจสมรรถภาพปอดเป็นการตรวจที่สำคัญและมีประโยชน์มากในการบอกถึงสมรรถภาพการทำงานของปอดและหลอดลม ผลการตรวจทำให้ทราบถึงปริมาตรปอด ความจุปอด อัตราการไหลของอากาศ การอุดกั้นหลอดลม เป็นต้น
สามารถใช้ได้ทั้งในแง่การคัดกรอง และการวินิจฉัย เพราะจะบอกได้ถึงสมรรถภาพปอดว่าปกติหรือไม่ หรือมีความเสื่อมของการทำงานของปอดหรือไม่ เนื่องจากปอดเป็นอวัยวะที่มีความสามารถสำรอง (functional reserve) สูง ทำให้ในระยะแรกของโรคที่ปอดยังมีความผิดปกติไม่มากจะไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ กว่าจะมีอาการเหนื่อย ความผิดปกติก็เกิดขึ้นมากแล้ว ซึ่งการตรวจสมรรถภาพปอดเป็นการตรวจที่สามารถพบความผิดปกติของปอดได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ ของโรคบางชนิด เช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพอง
นอกจากจะบอกถึงสมรรถภาพของปอดแล้ว การตรวจสมรรถภาพปอดยังมีความสำคัญ โดยเฉพาะในการวินิจฉัยโรคของระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดจากการประกอบอาชีพต่าง ๆ และยังสามารถใช้ในการประเมินความรุนแรงของโรค การติดตามการรักษาและยังสามารถใช้ประเมินความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดในผู่ป่วยที่ต้องดมยาสลบได้อีกด้วย
ใครบ้างควรตรวจสมรรถภาพปอด?
- ผู้ที่สงสัยว่ามีอาการจากความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ เช่น อาการเหนื่อย ไอเรื้อรัง หายใจแล้วมีเสียงวี้ดบางเวลา หายใจลำบาก
- ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือผู้ได้รับควันบุหรี่มือสองจากคนที่ใกล้ชิดกัน
- ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลภาวะสูง เช่น ใกล้ถนนที่มีมลพิษจากควันรถยนต์ หรือใกล้โรงงานที่ปล่อยมลพิษ
- ผู้ที่อาศัยในบริเวณที่มีฝุ่น PM 2.5 สูง
- ผู้ที่ทำงานในที่ที่มีมลภาวะสูง เช่น ในโรงงานที่มีฝุ่น โรงเลื่อย โรงไม้ เหมืองแร่ โรงโม่หิน หรือโรงงานที่มีไอสารเคมี
- ผู้ที่มีอาการไอเรื้อรังมากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป แล้ว Chest X-Ray ปกติ
- ผู้ที่มีโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
- ผู้ที่ยังไม่มีอาการผิดปกติที่ต้องการตรวจคัดกรอง
- ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องการทดสอบสมรรถภาพปอด
ตรวจสมรรถภาพปอด ตรวจอย่างไร?
การตรวจสมรรถภาพปอดโดยทั่วไปจะใช้วิธีการที่เรียกว่า สไปโรเมตรีย์ (spirometry) เป็นการตรวจที่ทำได้ง่าย ใช้เครื่องมือไม่ซับซ้อน และให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ
การตรวจจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะ และอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วย เพราะขณะตรวจจะต้องใช้การหายใจทางปาก ซึ่งจะแตกต่างกับการหายใจตามปกติของเรา และเจ้าหน้าที่ที่ทำการตรวจต้องมีประสบการณ์และความชำนาญในการตรวจ เพราะต้องสามารถให้คำแนะนำและการจัดท่าทางของผู้ป่วยได้ โดยขั้นตอนการตรวจคร่าว ๆ เป็นดังนี้
- ผู้ป่วยจะต้องนั่งตัวตรงขณะทำการทดสอบ
- ผู้ป่วยจะต้องใช้มือประคองเครื่องสไปโรมิเตอร์ (spirometer) ที่ใช้ในการตรวจ
- ผู้ป่วยจะต้องอมปลายกรวยกระดาษโดยเม้มริมฝีปากให้สนิท เพื่อไม่ให้ลมรั่วออกทางปาก
- หนีบจมูกด้วยอุปกรณ์ที่จัดไว้เพื่อไม่ให้ลมรั่วออกทางจมูก
- หายใจตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะแนะนำให้หายใจเข้าหรือออก เร็ว ๆ แรง ๆ เพื่อบันทึกค่าวัดต่าง ๆ
- เมื่อเจ้าหน้าที่ให้สัญญาณหยุดการทดสอบ ผู้ป่วยสามารถเอาที่หนีบจมูกออก และนำท่อที่ทดสอบออกจากปากได้
- เจ้าหน้าที่อาจจะให้ผู้ป่วยนั่งพัก เพื่อให้หายเหนื่อยก่อนเสร็จการทดสอบ
ใช้เวลาในการตรวจสมรรถภาพปอดนานไหม?
โดยทั่วไปใช้เวลาตรวจประมาณ 15-30 นาที แต่ในกรณีที่ต้องมีการทดสอบซ้ำเพื่อให้ได้ค่าที่แม่นยำขึ้นอาจใช้เวลานานกว่า 30 นาที ทั้งนี้แพทย์และเจ้าหน้าที่จะประเมินการทดสอบเป็นราย ๆ ไป เพื่อให้ได้ผลการตรวจที่ถูกต้องและแม่นยำที่สุด
การเตรียมตัวก่อนตรวจสมรรถภาพปอด
- สวมเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ไม่อึดอัด หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่รัดช่วงอก คอ และท้อง เพื่อความสะดวกในการตรวจ
- งดออกกำลังกายก่อนตรวจอย่างน้อย 30 นาที
- งดรับประทานอาหารมื้อใหญ่ก่อนตรวจประมาณ 2-3 ชั่วโมง โดยไม่ต้องงดน้ำ-อาหารก่อนตรวจ
- งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนตรวจ 4-6 ชั่วโมง
- งดสูบบุหรี่ก่อนตรวจอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
- ผู้ป่วยที่ใช้ยาพ่น ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะยาพ่นขยายหลอดลมอาจมีผลต่อการตรวจ
ค่าปอดปกติ มีค่าเท่าไหร่?
การตรวจสมรรถภาพปอดด้วยวิธี spirometry มีค่าที่ได้หลายค่า ตัวอย่างค่าที่วัดได้ ได้แก่
- FVC (forced vital capacity) คือปริมาตรอากาศจากการเป่าออกอย่างแรงและเร็ว จนหมด หลังการหายใจเข้าเต็มที่ ค่านี้จะบอกถึงปริมาตรเกือบทั้งหมดของอากาศที่อยู่ในปอด ค่าปกติ คือมากกว่า 80% ของค่าคาดหมาย (predicted value)**
- FEV1 (forced expiratory volume in one second) คือปริมาตรของอากาศที่เป่าออกอย่างเร็วแรงในวินาทีที่ 1 เป็นค่าที่จะนำไปคำนวณหาอัตราส่วนระหว่าง FEV1/FVC ค่าปกติของ FEV1 คือมากกว่า 80% ของค่าคาดหมาย (predicted value)**
- % FEV1/FVC คือเปอร์เซ็นต์ของ FEV1/FVC จะเป็นค่าที่แสดงถึงการอุดกั้นของทางเดินหายใจ ค่าปกติ คือมากกว่า 70% ของค่าคาดหมาย (predicted value)**
**ค่าคาดหมาย (predicted value) คือค่าปกติตามอายุ เพศ ส่วนสูง และเชื้อชาติ
ความผิดปกติของปอดมีกี่แบบ?
ความผิดปกติที่มักจะตรวจพบ แบ่งเป็น 3 แบบ ได้แก่
- กลุ่มที่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจ (obstructive airways disease) โดยจะพบว่าค่า FEV1/ FVC จะต่ำกว่า 70% แต่จะมีค่า FVC ปกติ พบในโรค หอบหืด และถุงลมโป่งพอง
- กลุ่มที่มีการจำกัดการขยายตัวของปอด (restrictive lung disease) ทำให้ความจุของปอดลดลง โดยจะพบว่าค่า FVC จะต่ำกว่า 80% แต่ค่า FEV1/FVC จะอยู่ในเกณฑ์ปกติ พบในโรคที่มีความผิดปกติของเนื้อปอด กล้ามเนื้อหายใจ หรือกระดูกที่ทำให้การหายใจผิดปกติไป
- กลุ่มที่พบความผิดปกติทั้ง 2 อย่างร่วมกัน (combined obstructive – restrictive lung disease) คือกลุ่มที่มีค่า FVC และ FEV1/FVC ผิดปกติ
ทั้งนี้ต้องได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อผลการตรวจที่ถูกต้องและแม่นยำ
การตรวจสมรรถภาพปอดปลอดภัยหรือไม่?
การตรวจสมรรถภาพปอดเป็นการตรวจที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตามอาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการตรวจได้ เช่น
- มีอาการปวดศีรษะ อาจมีอาการเวียนศีรษะ มึนงง
- เป็นลม วูบ หน้ามืด
- มีอาการไอ
- เจ็บหน้าอก
- มีทางเดินหายใจตีบแคบในรายที่เป็นหอบหืด หรือปอดอุดกั้นที่อาการยังไม่คงที่
- อาการอื่น ๆ
ขณะตรวจหรือหลังตรวจมีอาการผิดปกติ ควรแจ้งเจ้าหน้าที่หรือแพทย์ทันที
ผู้ป่วยแบบไหนที่ไม่ควรทำการตรวจสมรรถภาพปอด?
ผู้ป่วยที่ไม่ควรตรวจสมรรถภาพปอด ได้แก่ผู้ป่วยที่มีภาวะดังนี้
- มีอาการต่าง ๆ ที่มีผลต่อการตรวจ เช่น อาเจียน คลื่นไส้ หรือมีอาการบ้านหมุน
- ไอเป็นเลือด
- มีภาวะลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอดที่ยังไม่ได้รักษา
- เพิ่งได้รับการผ่าตัดช่องอกหรือช่องท้อง
- เพิ่งได้รับการผ่าตัดตา
- มีโรคหลอดเลือดแดงในช่องท้อง ช่องอก หรือสมองโป่งพอง
- มีการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือดไม่คงที่ เช่น มีความดันสูงหรือความดันต่ำที่ควบคุมไม่ได้ มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือมีภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นหลอดเลือดแดงใหญ่ของปอด
- มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น วัณโรคปอดระยะติดต่อ หรือกำลังติดเชื้อโควิด-19
อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีภาวะการเจ็บป่วยต่าง ๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความเหมาะสมและความปลอดภัยก่อนเข้ารับการตรวจ
สรุป
การตรวจสมรรถภาพปอดเป็นการตรวจที่ไม่ซับซ้อน และผลการตรวจค่อนข้างแม่นยำ และมีความปลอดภัยสูง โดยผู้ที่มีอาการที่สงสัยว่าเป็นอาการจากโรคทางระบบทางเดินหายใจ หรือผู้ที่ต้องทำงานในที่ที่มีมลภาวะ ฝุ่น พื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูง ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือรับควันบุหรี่มือ 2 จากผู้ใกล้ชิด ควรเข้ารับการตรวจสมรรถภาพปอด
เนื่องจากปอดเป็นอวัยวะที่มีการทำงานสำรองสูง ดังนั้นผู้ป่วยมักจะแสดงอาการเมื่อปอดทำงานผิดปกติมากแล้ว ทำให้การตรวจพบโรคจะพบในระยะที่รุนแรง การตรวจสมรรถภาพปอดจะทำให้เราทราบความผิดปกติของปอดได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ และสามารถรักษาหรือป้องกันอาการรุนแรงได้
การรักษาสุขภาพปอดเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันโรคทางระบบทางเดินหายใจได้ ซึ่งสามารถทำได้โดย รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เลิกบุหรี่ หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูง หรือพื้นที่ที่มีมลภาวะหรือมลพิษ และหากจำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อสุขภาพปอด ควรใช้อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม เพื่อป้องกันมลพิษเหล่านี้เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ เพื่อสุขภาพปอดที่แข็งแรง