ไตเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญต่อร่างกาย เพราะช่วยแยกของเสียออกจากเลือด ก่อนจะขับออกมาในรูปแบบปัสสาวะ แต่รู้หรือไม่ว่าอาการผิดปกติ เช่น ไข้ ปัสสาวะเเสบขัด ปวดท้อง ปวดหลัง อาจเป็นสัญญาณของโรคไตที่ร้ายแรง หรือ “กรวยไตอักเสบ” ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ และหากปล่อยเอาไว้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
แม้ว่ากรวยไตอักเสบจะเป็นอาการที่พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เนื่องจากท่อปัสสาวะของเพศหญิงมีขนาดสั้นกว่าจึงมีโอกาสที่จะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ง่าย แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเพศชายจะไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรค มาทำความรู้จักอาการกรวยไตอักเสบให้มากขึ้น เพื่อให้รู้เท่าทันโรคและสามารถเข้ารับการรักษาก่อนเชื้อจะลุกลามจนเป็นอันตราย
Key Takeaways
- กรวยไตอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ระบบทางเดินปัสสาวะ โดยส่วนมากมักเกิดจากแบคทีเรียอีโคไล (E.Coli) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่สามารถพบได้ในลำไส้ของมนุษย์
- อาการผิดปกติที่พบได้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคดังกล่าว เช่น มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะเเสบขัด ปวดท้องน้อยหรือหลัง
- ผู้หญิงมีความเสี่ยงเป็นกรวยไตอักเสบมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากท่อปัสสาวะที่สั้นกว่า
- การดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ไม่อั้นปัสสาวะและรักษาความสะอาดของอวัยวะเพศช่วยป้องกันการติดเชื้อ
- วิธีการรักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียสามารถรักษาด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะตามคำสั่งของแพทย์ อาจใช้ร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะทางสายเลือด หรือการให้ยาปฏิชีวนะทางสายเลือดเพียงอย่างเดียว ร่วมกับการติดตามการรักษาประคองอาการอย่างใกล้ชิด
สารบัญบทความ
- กรวยไตอักเสบ คืออะไร?
- กรวยไตอักเสบมีอาการอย่างไร?
- กลุ่มเสี่ยงเป็นโรคกรวยไตอักเสบ
- วิธีการป้องกันโรคกรวยไตอักเสบ
- กรวยไตอักเสบมีวิธีการรักษาอย่างไร?
- กรวยไตอักเสบ ตรวจเจอเร็ว รักษาหายก่อนลุกลามได้ที่โรงพยาบาลพระราม 9
กรวยไตอักเสบคืออะไร? เกิดจากอะไร?
กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis) คือ ภาวะที่เชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดการติดเชื้อที่กรวยไต ซึ่งส่วนมากจะเกิดจากแบคทีเรีย Escherichia coli หรือที่เรียกกันว่า อีโคไล (E.Coli) เป็นแบคทีเรียช่วยย่อยอาหารที่สามารถพบได้ทั่วไปตามลำไส้ของมนุษย์และสัตว์บางชนิด แต่กรณีที่กรวยไตได้รับเชื้อแบคทีเรียอีโคไลจากภายนอก จะทำให้เกิดการติดเชื้อและโรคร้ายแรงตามมา
โดยทั่วไปแล้วการติดเชื้อจะเริ่มจากท่อปัสสาวะ (urethra) ซึ่งเป็นทางออกของปัสสาวะจากร่างกาย จากนั้นเชื้อแบคทีเรียสามารถขึ้นไปตามทางเดินปัสสาวะจนถึงกระเพาะปัสสาวะ (bladder) และหากไม่ได้รับการรักษาหรือมีปัจจัยที่เสี่ยงอื่น ๆ เชื้อจะสามารถขึ้นไปถึงกรวยไต (renal pelvis) และไตได้ ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบที่ไตหรือกรวยไต
ซึ่งโรคกรวยไตอักเสบสามารถแบ่งอาการคร่าว ๆ ออกได้เป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
- กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน (Acute Pyelonephritis) : ภาวะการติดเชื้อบริเวณกรวยไตที่แสดงอาการออกมาอย่างรุนแรง โดยผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บแสบเวลาปัสสาวะ พร้อมกับอาการมีไข้ ปวดหลัง ซึ่งหากตรวจพบจะสามารถรักษาให้หายได้ภายใน 2-3 สัปดาห์
- กรวยไตอักเสบเรื้อรัง (Chronic Pyelonephritis) : เป็นภาวะการติดเชื้อบริเวณกรวยไตเรื้อรังที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อซ้ำ ๆ หรือการติดเชื้อที่ไม่ได้เข้ารับการักษาอย่างถูกวิธี ซึ่งอาการอักเสบเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เซลล์ไตถูกทำลาย ส่งผลให้เกิดโรคไตวายเรื้อรัง อาจจะต้องฟอกไตไปตลอดชีวิต
กรวยไตอักเสบมีอาการอย่างไร?
ผู้ป่วยโรคกรวยไตอักเสบมักจะมีอาการผิดปกติที่พบได้บ่อย ดังนี้
- ปัสสาวะบ่อย มีอาการปวดแสบหรือติดขัดขณะปัสสาวะ ปัสสาวะออกมากะปริดกะปรอย
- ปัสสาวะออกมามีกลิ่นเหม็น มีสีขุ่น
- ขณะปัสสาวะมีเลือดหรือหนองปะปนออกมา (Hematuria)
- ปวดท้อง ปวดช่วงบั้นเอว และอาจมีอาการปวดปัสสาวะตลอดเวลาจนกลั้นไม่อยู่
- ผู้ป่วยกรวยไตอักเสบมักมีอาการหนาวสั่น มีไข้ขึ้นสูงพร้อมอาการปวดศีรษะร่วมด้วย
- มีอาการอ่อนเพลีย รู้สึกเบื่ออาหาร
- มีอาการคลื่นไส้และอาเจียน
อาการดังกล่าวเป็นสัญญาณเตือนที่บ่งบอกถึงความเสี่ยงโรคกรวยไตอักเสบ หากสังเกตตัวเองแล้วพบลักษณะอาการที่เข้าข่ายเสี่ยงเป็นโรคกรวยไตอักเสบ ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยอาการและเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม เนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรียอาจมีความรุนแรงจนกลายเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิต
อ่านสาระเกี่ยวกับความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับไตได้ที่ : อาการของผู้ป่วยที่เป็นโรคไต
กลุ่มเสี่ยงเป็นโรคกรวยไตอักเสบ
กลุ่มเสี่ยงเป็นโรคกรวยไตอักเสบ มีปัจจัยที่ส่งผลให้คนกลุ่มนี้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากกว่ากลุ่มอื่น จึงนับว่ากลุ่มเสี่ยงดังต่อไปนี้ควรเฝ้าสังเกตอาการและเข้าพบแพทย์ทันทีเมื่อพบเจอความผิดปกติ
- ผู้หญิง : ตามลักษณะสรีระร่างกายของผู้หญิงจะมีท่อปัสสาวะที่สั้นกว่าของผู้ชาย รวมถึงท่อปัสสาวะของผู้หญิงอยู่ใกล้กับทวารหนักมากกว่า ส่งผลให้แบคทีเรียมีโอกาสปนเปื้อนมายังท่อปัสสาวะ ซึ่งอาจขึ้นไปยังกระเพาะปัสสาวะ เเละนำไปสู่การติดเชื้อของกรวยไตได้ โดยผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่พบการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้บ่อยที่สุด
- สตรีมีครรภ์ : ระหว่างการตั้งครรภ์จะเกิดจากเปลี่ยนแปลงของร่างกายต่างๆ เช่น มีการหลั่งฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ซึ่งจะทำให้ท่อปัสสาวะหย่อนคลาย และมดลูกที่อาจขยายตัวจนบีบกดทางเดินปัสสาวะทำให้ปัสสาวะไม่สามารถไหลผ่านได้ทำให้มีการเจริญของเเบคทีเรียมากขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้ทำให้ความเสี่ยงต่อการเป็นกรวยไตอักเสบเพิ่มมากขึ้น
- ภาวะวัยหมดประจำเดือน : เป็นช่วงที่ผู้หญิงถึงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ที่ลดลงส่งผลให้มีการเจริญผิดปกติของเเบคทีเรียในกระเพาะปัสสาวะและช่องคลอด รวมถึงมีการเปลี่ยนเเปลงของผนังท่อปัสสาวะเเละช่องคลอด ซึ่งอาจขึ้นไปยังกระเพาะปัสสาวะ เเละนำไปสู่การติดเชื้อของกรวยไตได้
- ผู้ที่มีปัญหาในการถ่ายปัสสาวะ : คนกลุ่มนี้มักไม่สามารถถ่ายปัสสาวะออกไปจนหมด เนื่องจากการตีบตันของกระเพาะปัสสาวะ หรือตีบตันท่อไตจนมีอาการอักเสบและติดเชื้อตามมา รวมถึงคนที่ใส่สายสวนปัสสาวะเป็นระยะเวลานาน
- ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง: สำหรับผู้ป่วยที่เป็นเป็นโรคเบาหวาน ผู้ติดเชื้อ HIV หรือผู้ใช้ยาสเตียรอยด์ คนกลุ่มนี้จะมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจากอาการป่วย ทำให้เกิดอาการแทกซ้อนเนื่องจากภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรียออกไปได้ ส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา
วิธีการป้องกันโรคกรวยไตอักเสบ
วิธีการป้องกันโรคกรวยไตอักเสบช่วยลดโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งส่งผลให้กลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อมีน้อยลง โดยขั้นตอนปฏิบัติต่าง ๆ สามารถทำได้ดังนี้
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอทุกวัน ช่วยให้ร่างกายขับแบคทีเรียออกมาทางปัสสาวะ
- ไม่ควรกลั้นปัสสาวะเมื่อรู้สึกปวด เนื่องจากการกลั้นปัสสาวะจะทำให้เกิดการคงค้างของปัสสาวะในกระเพาะเป็นเวลานาน ซึ่งอาจทำให้มีการเเบ่งตัวของเเบคทีเรียในปัสสาวะได้ นำมาสู่การติดเชื้อต่อไป
- รักษาความสะอาดของอวัยวะเพศให้ถูกวิธี ด้วยการทำความสะอาดจากทางด้านหน้าไปยังทวารหนัก เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียที่มาจากทวารหนัก หรือการปัสสาวะหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ก็มีส่วนช่วยในการขับเชื้อเเบคทีเรียออกจากทางเดินปัสสาวะได้
- ผู้หญิงไม่ควรสวนล้างช่องคลอดด้วยตัวเอง เพราะอาจเป็นการทำลายสมดุลของเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่ภายในช่องคลอด ทำให้มีการเจริญของเเบคทีเรียผิดปกติ ส่งผลให้มีการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ หากพบอาการผิดปกติ เช่น รู้สึกปัสสาวะเเสบขัด มีเลือดปนออกมา ควรเข้าพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาการดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณของโรคต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับทางเดินปัสสาวะ เช่น โรคไต กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
กรวยไตอักเสบมีวิธีการรักษาอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคกรวยไตอักเสบมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการ หลังจากเข้าพบแพทย์จะมีการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีการตรวจปัสสาวะ และตรวจเลือดหาเชื้อแบคทีเรีย หลังผลการวินิจฉัยผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยวิธีการที่เหมาะสม
- การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน : จากผลวินิจฉัยที่ออกมาทางแพทย์จะกำหนดชนิดของยาปฏิชีวนะ เช่น ยากลุ่มควิโนโลน (Quinolones) ให้เหมาะกับประเภทของแบคทีเรีย ระยะเวลาที่ผู้ป่วยต้องรับประทานยา ส่วนมากจะต้องทานยาปฏิชีวนะเป็นเวลาต่อเนื่องกัน 7-14 วัน หรือตามคำสั่งแพทย์ ขึ้นอยู่กับประเภทของยาที่เลือกใช้ ความรุนเเรงของโรค อาจร่วมกับการฉีดยาด้วย
- การรักษาด้วยการให้ยาทางหลอดเลือด : เป็นวิธีการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะไตติดเชื้ออย่างรุนแรง รับประทานยาปฏิชีวนะแล้วไม่ได้ผล หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนเเรง โดยแพทย์จะทำการฉีดยาปฏิชีวนะเข้าทางเส้นเลือดดำ โดยผู้ป่วยจำเป็นต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล มีการสังเกตอาการโดยเเพทย์เเละพยาบาลอย่างใกล้ชิด รวมถึงอาจให้น้ำเกลือร่วมกับยารักษาอาการอื่น ๆ
- การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด : เป็นวิธีการรักษาอาการกรวยไตอักเสบที่มีสาเหตุจากการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่วในทางเดินปัสสาวะ หรือการติดเชื้อในไตที่อาจทำให้เกิดการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ เช่น เกิดฝีที่ไต อาจถึงขั้นต้องพิจารณาขั้นตอนการผ่าตัด เพื่อเอาตัวนิ่วที่พบออก เพื่อการใส่ท่อระบายปัสสาวะจากทางเดินปัสสาวะส่วนบน หรืออาจพิจารณาการตัดเนื้อไตออกหากมีการติดเชื้อที่รุนเเรงมาก
กรวยไตอักเสบ ตรวจเจอเร็ว รักษาหายก่อนลุกลามได้ที่โรงพยาบาลพระราม 9
กรวยไตอักเสบ เป็นอาการเจ็บป่วยที่ไม่ควรมองข้าม และไม่ควรทนเจ็บเวลาปัสสาวะเพราะคิดว่าจะหายเอง เนื่องจากอาการติดเชื้อแบคทีเรียอาจลุกลามและเป็นอันตราย การสังเกตพบความผิดปกติเวลาปัสสาวะและเข้าพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมถึงจะเป็นวิธีที่ถูกต้อง
หากพบว่าตนเอง หรือคนในครอบครัวมีความเสี่ยงเป็นโรคกรวยไตอักเสบ สามารถมาปรึกษากับเราที่ สถาบันโรคไต โรงพยาบาลพระราม 9 เรามีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคไตโดยเฉพาะ และแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญสาขาอื่น ๆ มาร่วมกันทำงานเป็นสหวิชาชีพ (Multidisciplinary Team) เพื่อดูแลคุณและครอบครัวให้ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
- Facebook : Praram 9 hospital
- Line : @Praram9Hospital
- โทร. 1270
References
Chivima B. (2014). Pyelonephritis. Nursing standard (Royal College of Nursing (Great Britain) : 1987), 28(23), 61. https://doi.org/10.7748/ns2014.02.28.23.61.s51
Johnson, JR. & Russo, TA. (2018). Acute Pyelonephritis in Adults. The New England journal of medicine, 378(1), 48–59. https://doi.org/10.1056/nejmcp1702758
Rollino, C., Beltrame, G., Ferro, M., Quattrocchio, G., & Quarello, F. (2012). Le pielonefriti [Pyelonephritis]. Giornale italiano di nefrologia : organo ufficiale della Societa italiana di nefrologia, 29 Suppl 56, S21–S27. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/23059936