จากข่าวของ จัสติน บีเบอร์ ที่มีอาการของโรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม (Ramsey Hunt syndrome) ซึ่งมีอาการใบหน้าซีกขวาอัมพาต ทำให้ต้องยกเลิกทัวร์คอนเสิร์ต ซึ่งโรคนี้เป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคอีสุกอีใสและงูสวัดที่ต้องรีบรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อลดความเสี่ยงของกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงและการสูญเสียการได้ยิน
บทความนี้จะพาทุกท่านมาทำความรู้จักโรคนี้กันค่ะ
สารบัญ
- โรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม (Ramsey Hunt syndrome) หรือภาวะใบหน้าอัมพาตครึ่งซีก คืออะไร?
- โรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม พบได้มากแค่ไหน?
- ใครบ้างที่เสี่ยงกับโรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม?
- อาการของโรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม
- โรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม ติดต่อได้หรือไม่?
- การรักษาโรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม
- การป้องกันโรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม
- สรุป
โรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม (Ramsey Hunt syndrome) หรือภาวะใบหน้าอัมพาตครึ่งซีก คืออะไร?
โรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม (Ramsey Hunt syndrome) หรือภาวะใบหน้าอัมพาตครึ่งซีก เกิดจากการอักเสบของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 (ที่เลี้ยงกล้ามเนื้อใบหน้า) จากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Herpes zoster ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับโรคอีสุกอีใสและงูสวัด
โดยเมื่อเราหายจากโรคอีสุกอีใส เชื้อไวรัสจะแฝงอยู่ในปมประสาท เมื่อภูมิคุ้มกันร่างกายลดลง จะทำให้เชื้อไวรัสแบ่งตัวและก่อให้เกิดการอักเสบตามแนวเส้นประสาท ซึ่งก่อให้เกิดอาการได้ตั้งแต่เป็นงูสวัดที่ลำตัว ซึ่งจะมีอาการปวดแสบร้อนและตุ่มน้ำตามแนวเส้นประสาท หรือ หากเชื้อไวรัสไปทำให้เส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 อักเสบซึ่งเป็นเส้นประสาทที่เลี้ยงกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าก็จะทำให้เกิดโรค โรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรมทำให้มีอาการอัมพาตของใบหน้าครึ่งซีก
โรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม พบได้มากแค่ไหน?
โดยทั่วไปอุบัติการณ์ของโรคพบได้น้อยมาก ประมาณ 5-10 รายในประชากร 100,000 คน ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับงูสวัดที่พบได้ประมาณ 4 รายในประชากร 1,000 คน แม้ว่าจะพบได้ไม่มาก แต่หากเป็นแล้วจะมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง และหูหนวกได้ ดังนั้นจึงเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
ใครบ้างที่เสี่ยงกับโรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม?
- ผู้ที่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน
- ผู้สูงอายุ โดยความเสี่ยงจะมากขึ้นในผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วย HIV หรือผู้ที่มีภาวะเครียด พักผ่อนน้อย
อาการของของโรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม
อาการหลักของโรคนี้ ได้แก่ อัมพาตกล้ามเนื้อใบหน้าครึ่งซีก ปวดหู มีตุ่มน้ำในรูหูและใบหู
โดยเริ่มต้นจะมีอาการนำประมาณ 1-3 วัน ได้แก่
- ปวดบริเวณใบหน้า
- มีไข้ อ่อนเพลีย
จากนั้นจะมีอาการอัมพาตใบหน้าครึ่งซีกตามมา ได้แก่
- หนังตาตก
- หลับตาไม่สนิท
- ยักคิ้วไม่ได้
- ปากเบี้ยว มุมปากตก
- มีตุ่มน้ำขึ้นในรูหูและใบหู ปวดหู
- อาจมีอาการทางหู เช่น อาจได้ยินลดลง มีเสียงดังในหู หรืออาการบ้านหมุน
โรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม ติดต่อได้หรือไม่?
โรคนี้สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสตุ่มน้ำของผู้ป่วย โดยจะทำให้เป็นโรคอีสุกอีใสในผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันซึ่งได้แก่ ผู้ที่ไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน หรือผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนอีสุกอีใส
การรักษาโรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม
ส่วนใหญ่การอักเสบจะหายได้เอง โดยตุ่มน้ำจะเริ่มตกสะเก็ดและหลุดลอกออกไปภายใน 7 วัน แต่อาการอัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้าอาจคงอยู่ถาวรได้ถึง 30-50% ของผู้ป่วย ขึ้นกับความเร็วในการเริ่มยาต้านไวรัสหลังมีอาการ
สามารถรักษาได้โดยใช้ยาต้านไวรัส เช่น Acyclovir, Valacyclovir โดยควรให้ยาภายใน 3 วันหลังเริ่มมีอาการ ร่วมกับการให้สเตียรอยด์ หากเริ่มยาภายใน 3 วันจะมีโอกาสหายเป็นปกติได้ประมาณ 70% แต่หากเริ่มภายใน 4-7 วันจะหายเป็นปกติได้ประมาณ 50%
อาการอัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้าอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนจึงจะดีขึ้น ส่วนใหญ่จะหายภายใน 1 ปี บางรายอาจมีอาการปวดบริเวณใบหน้าหลงเหลืออยู่ (post herpetic neuralgia) ซึ่งพบมากในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป
การป้องกันโรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม
เนื่องจากทุกคนที่เคยเป็นอีสุกอีใสมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้ ดังนั้นสำหรับผู้ที่เคยเป็นอีสุกอีใส การป้องกันโรคนี้จึงควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย และสำหรับคนที่ยังไม่เคยเป็นอีสุกอีใส ควรได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคนี้
คำแนะนำสำหรับการฉีดวัคซีนอีสุกอีใส
- ในผู้ที่ไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน แนะนำให้ฉีดวัคซีนอีสุกอีใส (chickenpox) เพื่อป้องกันการติดเชื้อ herpes zoster ตามธรรมชาติซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้ออีสุกอีใสได้ 90-100% ซึ่งจะลดโอกาสที่จะเกิดงูสวัดตามมา
- ผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป อาจฉีดวัคซีนงูสวัด (varicella zoster) โดยมีประสิทธิภาพในการป้องกันงูสวัดประมาณ 50%
สรุป
โรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม หรือใบหน้าอัมพาตครึ่งซีก เป็นโรคหนึ่งที่เป็นภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใสและงูสวัด โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้ที่ให้เกิดการอักเสบของเส้นประสาทไขสันหลังคู่ที่ 7 ซึ่งเลี้ยงกล้ามเนื้อใบหน้า ซึ่งจะทำให้เกิดอาการของใบหน้าอัมพาตครึ่งซีก หรือทำให้เกิดอาการปวดหูหรือได้ยินเสียงลดลงได้ แม้ว่าจะพบได้ไม่บ่อย แต่หากเป็นโรคนี้แล้วต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงถาวรหรือหูหนวกได้