การปลูกถ่ายไต เป็นการผ่าตัดนำไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิตหรือผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตายมาปลูกถ่ายเพิ่มให้กับผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง โดยที่ไม่ต้องผ่าตัดนำไตของผู้ป่วยออก เพื่อให้ไตใหม่ทำหน้าที่ทดแทนไตเดิมที่เสียหาย อัตราความสำเร็จของการปลูกถ่ายไตค่อนข้างสูงและหลังการปลูกถ่ายไตผู้ป่วยสามารถกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้นการปลูกถ่ายไตจึงเป็นการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง อย่างไรก็ตามการผ่าตัดปลูกถ่ายไตเป็นการผ่าตัดใหญ่ซึ่งมีขั้นตอนการผ่าตัดที่ซับซ้อน ก่อนการผ่าตัดต้องมีการคัดเลือกไตที่มีความเหมาะสมกับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังในแต่ละราย โดยต้องมีการตรวจสอบการเข้ากันได้ของเลือดและเนื้อเยื่อระหว่างผู้ป่วยและผู้บริจาคไตอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อป้องกันภาวะปฏิเสธไต เมื่อได้ไตที่เหมาะสมศัลยแพทย์ก็จะนำไตใหม่นั้นไปผ่าตัดปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย
ในช่วงระหว่างและหลังการผ่าตัดผู้ป่วยอาจมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย ดังนั้นผู้ป่วยจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์อย่างใกล้ชิด หลังการผ่าตัดผู้ป่วยจำเป็นต้องพักฟื้นร่างกายในโรงพยาบาลเพื่อตรวจสอบการทำงานของไตใหม่จนมั่นใจว่าสามารถทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพ
สารบัญ
- อัตราความสำเร็จของการปลูกถ่ายไต
- ไตที่นำมาปลูกถ่ายได้มาจากไหนบ้าง ?
- การผ่าตัดปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต
- การผ่าตัดปลูกถ่ายไตที่ได้จากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตาย
- ขั้นตอนการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
- สุขภาพและการดำเนินชีวิตหลังการผ่าตัดนำไตออก
- การพักฟื้นหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
- การตรวจการทำงานของไตใหม่
- ภาวะปฏิเสธไต
- ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
- การจัดการความเจ็บปวดหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
- การออกกำลังกายในช่วง 7 วันหลังผ่าตัด
- การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์หลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
- ระยะเวลาการรักษาตัวในโรงพยาบาลหลังการผ่าตัด
- สรุป
อัตราความสำเร็จของการปลูกถ่ายไต
ด้วยความก้าวหน้าในปัจจุบันทำให้การปลูกถ่ายไตมีโอกาสประสบความสำเร็จค่อนข้างสูงและเป็นวิธีการรักษาโรคไตวายเรื้อรังที่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จากข้อมูลทางสถิติแสดงให้เห็นว่า การผ่าตัดปลูกถ่ายไตมีอัตราความสำเร็จค่อนข้างสูง โดยภาพรวมในช่วงระยะเวลา 1 ปีหลังการผ่าตัด การปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิตมีอัตราความสำเร็จสูงกว่าการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตายเล็กน้อย อย่างไรก็ตามถือว่าอัตราความสำเร็จของการปลูกถ่ายไตทั้งสองกรณีอยู่ในระดับที่สูงมาก ดังนี้
- อัตราความสำเร็จในการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต = 95 – 98%
- อัตราความสำเร็จในการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตาย = 85 – 90%
ไตที่นำมาปลูกถ่ายได้มาจากไหนบ้าง ?
ไตที่จะนำมาปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง มาจาก 2 กรณีดังนี้
- ไตที่บริจาคจากผู้บริจาคที่มีชีวิต ได้แก่ญาติสายตรง ญาติที่มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือด หรือสามี-ภรรยา โดยผู้บริจาคไตต้องเข้าหลักเกณฑ์ตามที่กำหนด
- ไตที่บริจาคจากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตาย จัดสรรโดยสภากาชาดไทย
การผ่าตัดปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต
ดังที่กล่าวไปข้างต้น ไตที่จะนำมาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย มาจากการบริจาคของจากญาติสายตรง ญาติที่มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือด หรือสามี-ภรรยา โดยหลังการบริจาคไตผู้บริจาคไตสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ เนื่องจากมนุษย์เกิดมาพร้อมกับไต 2 ข้าง การบริจาคไตไป 1 ข้าง ผู้บริจาคสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ การมีไตเพียงข้างเดียวก็เพียงพอที่จะทำหน้าที่กำจัดของเสียและน้ำส่วนเกินออกนอกร่างกาย ตลอดจนยังคงสามารถทำหน้าที่อื่น ๆ ของไตได้เป็นอย่างดีและเพียงพอ
ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยจนถึงปัจจุบันพบว่า การเหลือไตเพียงข้างเดียว ไม่ได้เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไตอื่น ๆ ตามมาภายหลัง เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้บริจาคไต หรือถ้ามีก็น้อยมาก เช่น ภาวะความดันสูง หรือมีโปรตีนไข่ขาวรั่วในปัสสาวะ เป็นต้น นอกจากนี้อายุขัยของผู้บริจาคไตยังยืนยาวเท่ากับคนปกติ
ก่อนการผ่าตัดนำไตออกจากผู้บริจาคที่มีชีวิต ผู้บริจาคไตจะต้องเข้ามาพักในโรงพยาบาล 1 วัน
ก่อนการผ่าตัด ผู้บริจาคไตจะต้องเข้ามาพักในโรงพยาบาลก่อนวันผ่าตัด 1 วัน โดยมีวัตถุประสงค์ คือ
- เพื่อให้แพทย์และทีมงานประเมินความสมบูรณ์ของร่างกายและจิตใจก่อนการผ่าตัด
- หากเกิดความไม่แน่ใจหรืออุปสรรคต่าง ๆ การผ่าตัดจะถูกยกเลิกหรือเลื่อนออกไป เพื่อความปลอดภัยของผู้บริจาค
- หากผู้บริจาคมีข้อสงสัยหรือคำถามค้างคาใจสามารถสอบถาม พูดคุยกับทีมงานได้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจก่อนการผ่าตัด และได้รับการพักผ่อนเต็มที่เพื่อการผ่าตัดในวันถัดไป
การผ่าตัดนำไตออกจากผู้บริจาคที่มีชีวิต
เทคนิคในการผ่าตัดนำไตออกจากผู้บริจาค มีการผ่าตัด 2 ประเภท คือ
1. ผ่าตัดแบบเปิดสีข้าง (open donor nephrectomy)
- จะมีแผลยาวประมาณ 5 – 7 นิ้ว ที่บริเวณสีข้าง
- การผ่าตัดจะทำภายใต้การดมยาสลบและใช้เวลาผ่าตัด 2 – 3 ชั่วโมง
- หลังผ่าตัดจะต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 7 วัน
- จะมีการตัดไหมรอยแผลผ่าตัดในวันที่ 7 หลังการผ่าตัด
- หลังผ่าตัด ผู้บริจาคไตสามารถใช้ชีวิตได้ปกติภายใน 4 – 6 สัปดาห์
2. ผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้อง (laparoscopic donor nephrectomy)
- จะมีแผลยาวประมาณ 3 – 4 นิ้ว ที่บริเวณสะดือ เป็นการผ่าตัดส่องกล้องแล้วคีบไตออกมา การผ่าตัดแบบนี้แผลจะเล็กกว่า เสียเลือดน้อยกว่า และเจ็บน้อยกว่า
- การผ่าตัดจะทำภายใต้การดมยาสลบและใช้เวลาผ่าตัด 1 – 2 ชั่วโมง
- หลังผ่าตัดจะต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 2 – 3 วัน
- หลังผ่าตัด ผู้บริจาคไตสามารถใช้ชีวิตได้ปกติภายใน 2 – 4 สัปดาห์
สุขภาพและการดำเนินชีวิตหลังการผ่าตัดนำไตออกจากผู้บริจาค
หลังการผ่าตัดนำไตออกแล้ว ผู้บริจาคจำเป็นต้องมีการดูแลสุขภาพหลังการผ่าตัด ตั้งแต่ช่วงเวลาการพักฟื้นในโรงพยาบาล ช่วงการพักฟื้นที่บ้านหลังออกจากโรงพยาบาล และการดูแลสุขภาพในระยะยาว โดยอาจต้องมีการตรวจสุขภาพไต และเช็คสุขภาพทั่วไปอย่างน้อยเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการตรวจความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย ซึ่งการตรวจสุขภาพประจำปีนี้เป็นคำแนะนำทั่วไปที่แพทย์มักจะแนะนำแม้จะเป็นผู้ที่ไม่ได้บริจาคไต เพราะนอกจากจะสามารถบอกถึงสภาวะสุขภาพแล้ว ยังช่วยป้องกันการเกิดโรค และป้องกันการรุกลามเป็นระยะรุนแรงของโรคได้
การพักฟื้นในโรงพยาบาลหลังบริจาคไต
- หลังผ่าตัดนำไตออก ผู้บริจาคไตจะอยู่ในห้องพักฟื้นจนรู้สึกตัวดีและปลอดภัย จึงจะย้ายไปห้องผู้ป่วยใน โดยจะมีสายน้ำเกลือที่แขนและมีสายสวนปัสสาวะ
- หากมีอาการปวดแผลผ่าตัด จะได้รับยาฉีดระงับปวดตามคำสั่งแพทย์
- เริ่มจิบน้ำได้ในวันแรกหลังผ่าตัด จากนั้นจะสามารถรับประทานอาหารได้มากขึ้นเรื่อย ๆ
- แนะนำให้ลุกนั่ง ยืน หายใจลึก ๆ และเดินโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางปอดและทางเดินหายใจ เพราะยิ่งเริ่มการเดินได้เร็วเท่าไหร่จะยิ่งฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
- โดยทั่วไปการผ่าตัดบริจาคไตมีภาวะแทรกซ้อนน้อย โดยผู้บริจาคมักจะออกจากโรงพยาบาลได้ภายใน 7 วัน และตัดไหมรอยแผลผ่าตัดได้ในวันที่ 7 หลังการผ่าตัด
- หลังการผ่าตัดอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น แผลติดเชื้อ เสียเลือด ภาวะปอดแฟบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ท้องอืด ลำไส้ไม่ทำงาน ปวดแผลรุนแรง เป็นต้น ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้สามารถรักษาได้ แต่ทำให้ต้องพักในโรงพยาบาลนานกว่าปกติ
- อัตราการเสียชีวิตหลังการบริจาคไตทั่วโลกมีน้อยมากประมาณ 0.03% (3 ราย จาก 10,000 ราย)
การพักฟื้นที่บ้านหลังบริจาคไต
- หลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้ว แพทย์จะนัดมาดูแผลและตรวจดูการทำงานของไตใน 1 – 2 สัปดาห์
- ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สามารถทำงานบ้านและออกกำลังกายเบา ๆ ได้ และสามารถกลับไปทำงานได้ปกติ ประมาณ 2 – 4 สัปดาห์หลังจากการผ่าตัด
- งดยกของที่มีน้ำหนักเกิน 6 กิโลกรัม และงดการเกร็งหน้าท้อง เพื่อไม่ให้แผลผ่าตัดบอบช้ำ เป็นเวลา 4 สัปดาห์
- สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติภายใน 6 สัปดาห์หลังจากการผ่าตัด
- การมีเพศสัมพันธ์สามารถมีได้ทุกเวลาที่สภาพร่างกายพร้อม
การตรวจการทำงานของไตหลังจากบริจาคไต
- ในช่วง 1 เดือนหลังการผ่าตัด ผู้บริจาคไตควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจการทำงานของไตและสุขภาพร่างกายทั่วไป หลังจากนั้นควรพบแพทย์เป็นประจำทุก 12 เดือนเป็นอย่างน้อย
- ทีมแพทย์ของสถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต รพ.พระรามเก้ายินดีให้คำปรึกษาและตอบคำถามทุกอย่างที่ท่านสงสัย เพราะเราตระหนักถึงคุณค่าและนับถือความมีจิตใจเมตตาของผู้บริจาตไตช่วยชีวิตผู้อื่นตลอดไป
การผ่าตัดปลูกถ่ายไตที่ได้จากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตาย
- หลังจากการผ่าตัดนำไตออกจากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตาย ไตนั้นจะถูกเก็บรักษาในถุงพสาสติกปราศจากเชื้อ โดยจะเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส เพื่อจัดส่งมายังห้องผ่าตัดปลูกถ่ายไตโดยเร็วที่สุด พร้อมรายละเอียดข้อมูลที่สำคัญ ได้แก่ เพศ อายุของผู้บริจาค สาเหตุการตาย ไตข้างซ้ายหรือขวา สภาพทางกายวิภาค รอยโรคหรือพยาธิสภาพของไต จำนวนหลอดเลือด และเวลาที่เริ่มผูกหลอดเลือด ซึ่งถือเป็นเวลาเริ่มต้นของการขาดเลือดของไต ที่เรียกว่า cold ischemic time
- ไตที่บริจาคจะสามารถเก็บรักษาไว้ได้ถึง 72 ชั่วโมงนับจาก cold ischemic time แต่ในทางปฏิบัติการผ่าตัดปลูกถ่ายจะทำอย่างเร็วที่สุดภายใน 24 ชั่วโมง ทำให้ไตที่ทำการปลูกถ่ายจะสามารถกลับมาทำงานได้เร็วและมีประสิทธิภาพดีกว่า
- เมื่อไตที่บริจาคมาถึงห้องผ่าตัดปลูกถ่ายไต ทีมแพทย์จะมีการตรวจสอบความสมบูรณ์ของไต และทำการปลูกถ่ายให้กับผู้รับบริจาคอวัยวะ (recipient)
ขั้นตอนการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
การผ่าตัดปลูกถ่ายไตจะต้องมีการเตรียมการและวางแผนอย่างละเอียดรอบคอบทั้งก่อนวันผ่าตัด ระหว่างการผ่าตัด และหลังผ่าตัดเสร็จ เพื่อประสิทธิภาพการทำงานของไตที่ดี และความสำเร็จของการรักษา
การเข้าพักในโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง ก่อนการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังจะต้องเข้ามาพักในโรงพยาบาล ภายใน 24 ชั่วโมง ก่อนการผ่าตัดปลูกถ่ายไต เพื่อให้แพทย์ได้เตรียมความพร้อม ดังนี้
- ซักประวัติและประเมินสภาพร่างกายและจิตใจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
- ซักประวัติและการดูแลผู้ป่วยโดยทีมพยาบาล นักโภชนาการ และเภสัชกร
- ตรวจตัวอย่างเลือดและปัสสาวะทางห้องปฏิบัติการ
- เอกซเรย์ทรวงอก
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
- เตรียมความสะอาดของร่างกาย โดยอาบน้ำด้วยสบู่ฆ่าเชื้อชนิดพิเศษ
- โกนขนบริเวณที่จะทำการผ่าตัด
- ให้สารน้ำทางหลอดเลือด
- อาจจะต้องฟอกเลือด ขึ้นอยู่กับระดับของเสียในเลือดและน้ำหนักตัว และประเมินการฟอกเลือดครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่
- รับประทานยากดภูมิคุ้มกันชุดแรกหรือให้ยาทางหลอดเลือดดำ
ขั้นตอนการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
- วิสัญญีแพทย์จะทำการดมยาสลบแก่ผู้รับบริจาคอวัยวะ (recipient) เพื่อให้หลับขณะได้รับการผ่าตัด
- ศัลยแพทย์จะผ่าตัดเปิดช่องท้องบริเวณท้องน้อยเหนือขาหนีบด้านใดด้านหนึ่ง
- ศัลยแพทย์จะนำไตบริจาคมาใส่ลงในบริเวณช่องท้องของผู้รับบริจาค โดยต่อหลอดเลือดของไตใหม่เข้ากับหลอดเลือดแดงและดำของผู้ป่วย จากนั้นก็จะต่อท่อไตเข้ากับกระเพาะปัสสาวะของผู้รับบริจาค
- การผ่าตัดปลูกถ่ายไตไม่จำเป็นต้องนำไตเดิมของผู้ป่วยออกไป เพียงแต่เป็นการผ่าตัดนำไตใหม่อีกข้างใส่ให้กับผู้ป่วย
- ศัลยแพทย์จะใส่สายระบายของเหลวออกจากช่องท้อง สำหรับกรณีที่อาจมีเลือดหรือน้ำเหลืองส่วนเกินจะได้ไม่ตกค้างอยู่ภายในช่องท้องของผู้รับบริจาคไต
- โดยทั่วไปการผ่าตัดปลูกถ่ายไตจะใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง
การพักฟื้นหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
การผ่าตัดปลูกถ่ายไตจะต้องมีการเตรียมการและวางแผนอย่างละเอียดรอบคอบทั้งก่อนวันผ่าตัด ระหว่างการผ่าตัด และหลังผ่าตัดเสร็จ เพื่อประสิทธิภาพการทำงานของไตที่ดี และความสำเร็จของการรักษา
การเข้าพักในโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง ก่อนการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
- หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดที่หอผู้ป่วยวิกฤต ประมาณ 5 – 7 วัน เมื่อผู้ป่วยแข็งแรงขึ้น จะย้ายไปรับการดูแลต่อที่หอผู้ป่วยใน
- เมื่อรู้สึกตัวหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะพบว่ามีสายต่าง ๆ บนร่างกาย โดยที่มีความจำเป็นต้องต่อสายเหล่านี้ไว้ต่อเนื่องประมาณ 2 – 3 วันหลังการผ่าตัด โดยสายเหล่านี้มีตำแหน่งที่อยู่และหน้าที่ ดังนี้
ชื่อสาย | ตำแหน่งที่อยู่ของสาย | หน้าที่ |
สายน้ำเกลือพร้อมเครื่องหยดสารละลาย | หลอดเลือดดำบริเวณแขน | เป็นสายที่ต่อตรงเข้าสู่กระแสเลือดสำหรับให้ยาและสารอาหารจนกว่าจะรับประทานอาหารได้ |
สายสวนหลอดเลือดดำกลาง | หลอดเลือดดำใหญ่บริเวณคอ | ใช้ตรวจสอบความสมดุลระดับน้ำในร่างกาย |
สายสวนปัสสาวะ | สายจากท่อปัสสาวะไปยังกระเพาะปัสสาวะ | ขับปัสสาวะออกจากกระเพาะปัสสาวะถูกใส่ไว้ระหว่างการผ่าตัด ช่วยลดภาระการทำงานของกรวยไตใหม่ วัดปริมาณปัสสาวะที่ถูกขับออกมาในแต่ละวัน |
สายระบายของเหลว | สายใส่ช่องท้องใกล้กับแผลผ่าตัด | ช่วยขับของเหลวบางอย่างเพื่อช่วยป้องกันการคั่งค้างของน้ำรอบ ๆ ไต ปกติจะถอดออกหลังจากผ่าตัดประมาณ 1 สัปดาห์ |
สายติดตามสัญญาณการทำงานของหัวใจ | แผ่นติดเทปกาวติดบริเวณผิวหนังหน้าอก | ตรวจสอบความผิดปกติของอัตราการเต้นของหัวใจ โดยทั่วไปจะติดไว้ต่อเนื่องประมาณ 1 – 2 วัน หลังการผ่าตัด |
- ระยะเวลาของการพักฟื้นหลังการผ่าตัดในแต่ละรายแตกต่างกัน จะมีการทดสอบหลายครั้งเพื่อตรวจสอบการทำงานของไตใหม่และเพื่อเตรียมความพร้อมหากมีการปฏิเสธไตเกิดขึ้น
- มีความเป็นไปได้ที่จำเป็นต้องฟอกเลือดหลังการผ่าตัด โดยอาจต้องทำในช่วงแรกและเป็นเวลาสั้น ๆ ระหว่างรอให้ไตใหม่ทำงานปกติ เพราะไตใหม่ยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร ต้องใช้เวลาปรับตัวให้เข้ากับสภาพร่างกายของผู้รับบริจาคไตก่อนที่จะเริ่มต้นทำงานอีกครั้ง
การตรวจการทำงานของไตใหม่
แพทย์ที่ดูแลจะตรวจสอบการทำงานของไตใหม่ โดยการตรวจดังนี้
การตรวจสอบการทำงานของไตใหม่ | เหตุผล |
การตรวจเลือด | เพื่อตรวจวัดระดับยาในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ป้องกันการปฏิเสธไต ตรวจการทำงานของไต ระดับน้ำตาล ระดับไขมัน และตรวจการทำงานของตับ ผู้ป่วยจะได้รับการเจาะเลือดบ่อยครั้งในวันแรก ๆ หลังจากนั้นก็จะห่างออกหลังการผ่าตัด เพื่อประเมินการทำงานของไตเป็นระยะ |
การตรวจอัลตราซาวนด์ไต | เป็นการทดสอบโดยใช้คลื่นเสียงเพื่อตรวจขนาดของไต สภาพเนื้อไต กรวยไต ท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ รวมทั้งตรวจดูการไหลเวียนเลือดว่ามีการกีดขวางการไหลของเลือด หรือมีการรั่วหรือตีบตันหรือไม่ |
การตรวจสแกนไต | เพื่อดูการทำงานและประสิทธิภาพของไต |
การตรวจชิ้นเนื้อไต | เพื่อตรวจสอบคุณภาพของไต โดยใช้เข็มเล็ก ๆ เจาะเอาเนื้อไตออกมา โดยจะทำร่วมกับอัลตราซาวนด์เพื่อตรวจสัญญาณการปฏิเสธไต และเพื่อการวินิจฉัยและให้การรักษา |
ภาวะปฏิเสธไต
ภาวะปฏิเสธไต เป็นความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนสำคัญของการผ่าตัดปลูกถ่ายไต เพราะจะทำให้ไตใหม่เสียการทำงาน และอาจต้องผ่าตัดเอาไตใหม่ออก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการตรวจต่าง ๆ ที่ประเมินการปฏิเสธไต และผู้ป่วยต้องหมั่นสังเกตอาการความผิดปกติต่าง ๆ ที่เป็นสัญญาณของการปฏิเสธไต
ภาวะปฏิเสธไตคืออะไร
ภาวะปฏิเสธไต เป็นการที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันออกมาต่อต้านไตใหม่ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้ป่วยจึงต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันทุกวัน โดยที่ภาวะปฏิเสธไตอาจเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ หรือเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันก็ได้
โดยปกติระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีหน้าที่ตอบสนองและต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ เซลล์มะเร็ง หรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันนี้นอกจากจะตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว ยังทำงานต่อต้านอวัยวะใหม่ที่มีการปลูกถ่ายเข้าไปด้วย โดยร่างกายจะตอบสนองต่อไตใหม่ที่ปลูกถ่ายเสมือนเป็นสิ่งแปลกปลอมชนิดหนึ่ง และจะทำให้เกิดการปฏิเสธไตตามมา ทำให้แพทย์ผู้รักษาและทีมงานปลูกถ่ายไตจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดภาวะปฏิเสธไต โดยการให้ยากดภูมิคุ้มกันและให้ความรู้เรื่องผลข้างเคียงของยา ในขณะเดียวกันก็ต้องคงภาวะสมดุลของการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันไว้ด้วย
หากผู้ป่วยมีอาการใดอาการหนึ่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นสัญญาณของภาวะปฏิเสธไตใหม่ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ผู้รักษาหรือทีมงานปลูกถ่ายไตในทันที ได้แก่
- มีไข้หรือมีอาการคล้ายเป็นหวัด
- เหนื่อย อ่อนเพลียกว่าปกติ
- บวมตามตัว เช่น หนังตา มือ หรือเท้า เป็นต้น
- ปัสสาวะขุ่น ปัสสาวะแสบขัด หรือปวดเวลาขับถ่ายปัสสาวะ
- ปริมาณปัสสาวะน้อยกว่า 1 ลิตรต่อวัน โดยที่ยังดื่มน้ำในปริมาณปกติ
- ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้มถึงส้ม หรือมีเลือดปน
หากได้รับการรักษาทันทีที่มีสัญญาณภาวะปฏิเสธไต หรือได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น จะมีโอกาสที่ไตใหม่จะกลับมาทำงานได้เหมือนเดิม แต่หากปล่อยทิ้งไว้นานอาจจะสายเกินไปจนไม่สามารถแก้ไขได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตต้องหมั่นสังเกตตัวเองว่าเริ่มมีสัญญาณภาวะปฏิเสธไตหรือไม่ เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
ภาวะปฏิเสธไตมีกี่ประเภท
ภาวะปฏิเสธไตสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ตามระยะเวลาที่เกิดขึ้น ดังนี้
- Hyperacute rejection คือ การปฏิเสธไตทันที อย่างร้ายแรง ส่วนใหญ่มักจะเสียไตทันที เกิดขึ้นในชั่วโมงแรก ๆ หลังเปลี่ยนไต ต้องรีบเอาไตออกทันที
- Acute humoral rejection และ acute cellular rejection คือ การปฏิเสธไตแบบเฉียบพลัน อาจเกิดขึ้นได้ใน 1 – 2 สัปดาห์แรกหลังจากปลูกถ่ายไต พบบ่อยใน 1 – 6 เดือนแรก และอาจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ตลอดอายุการทำงานของไตใหม่ที่ปลูกถ่าย บางรายอาจเกิดขึ้น 5 – 10 ปี หลังการเปลี่ยนไต
- Chronic allograft nephropathy คือ การปฏิเสธไตอย่างช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป หรือหลังการปลูกถ่ายไตเป็นเวลาหลาย ๆ เดือนหรือหลาย ๆ ปี โดยไตจะค่อย ๆ เสื่อมลงอย่างช้า ๆ
ผู้ป่วยที่มีภาวะปฏิเสธไตจะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที แพทย์จะต้องเจาะชิ้นเนื้อไต (kidney biopsy) เพื่อนำเนื้อเยื่อไตมาตรวจดูว่าเป็นการปฏิเสธไตแบบใดและรุนแรงมากน้อยเพียงใด เพื่อให้ยารักษาการปฏิเสธไตได้อย่างเหมาะสมและรวดเร็ว
ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
นอกจากภาวะปฏิเสธไตแล้ว หลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไตอาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นได้ ดังนี้
- การติดเชื้อต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อที่ปอด ทางเดินปัสสาวะ แผลผ่าตัด ช่องท้อง ตับ ลำไส้ สมอง หรือในกระแสเลือด เป็นต้น
- ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เช่น เลือดไหลที่แผลหรือช่องท้อง หลอดเลือดตีบตัน หลอดเลือดคั่ง ท่อไตตีบตันหรือรั่ว เป็นต้น
- ภาวะแทรกซ้อนของการดมยาสลบ เช่น ภาวะปอดแฟบ ปอดอักเสบ หรือภาวะหายใจล้มเหลว เป็นต้น
- ภาวะแทรกซ้อนด้านหัวใจ เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ หัวใจล้มเหลว หรือหัวใจเต้นจังหวะ เป็นต้น
- ภาวะแทรกซ้อนในระบบทางเดินอาหาร เช่น แผลในกระเพาะอาหาร เลือดออกในกระเพาะหรือลำไส้ ติดเชื้อในกระเพาะหรือลำไส้ เป็นต้น
- หลอดเลือดในสมองตีบหรือแตก
- อาการกำเริบของโรคไตที่เคยเป็นในอดีต เช่น โรคไต IgA, โรคไตอักเสบที่มีโปรตีนรั่วชนิด focal segmental glomerulosclerosis (FSGS) เป็นต้น
- การได้รับเชื้อหรือมีโรคซ่อนเร้นอื่น ๆ ที่อาจยังไม่สามารถวินิฉัยได้ชัดเจนได้ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ภาวะแทรกซ้อนส่วนใหญ่สามารถรักษาได้ แต่บางกรณีก็อาจทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตได้
การจัดการความเจ็บปวดหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
- ในช่วง 2 – 3 วันแรกหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะรู้สึกไม่สะดวกสบายเป็นอย่างมาก จะรู้สึกปวดรอบ ๆ บริเวณแผลผ่าตัด โดยในวันแรก ๆ หลังการผ่าตัด แพทย์จะให้ยาลดปวดทางหลอดเลือดดำ
- เมื่อผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารและดื่มน้ำได้ แพทย์จะให้ยาแก้ปวดชนิดรับประทานแทนการให้ยาทางหลอดเลือดดำ อาการปวดจะค่อย ๆ บรรเทาลงเรื่อย ๆ
- ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บปวดในลักษณะของการหดเกร็งของกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ เนื่องมาจากจะยังมีการคาสายสวนปัสสาวะอยู่ เพื่อตรวจสอบการทำงานของไตใหม่ ควรแจ้งให้พยาบาลทราบเมื่อเริ่มมีอาการปวดเกิดขึ้นเพื่อให้ยาลดอาการหดเกร็ง
การออกกำลังกายในช่วง 7 วันหลังผ่าตัด
- ควรฝึกหายใจเข้าออกลึก ๆ และฝึกการไอ ภายใน 1 วันหลังการผ่าตัด วิธีนี้จะช่วยปอดขยายตัวและขจัดเสมหะซึ่งจะสะสมอยู่ระหว่างการผ่าตัดได้เป็นอย่างดี
- วันต่อ ๆ มา ผู้ป่วยจะได้รับการช่วยเหลือให้ออกกำลังขา โดยเริ่มจากการลุกนั่งบนเก้าอี้ จากนั้นจะให้เดินในห้องและทางเดิน กิจกรรมนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยแข็งแรงและฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้เร็วขึ้น
การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์หลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
ชีวิตของผู้ป่วยจะเปลี่ยนไปหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไต เป็นเรื่องปกติที่ผู้ป่วยจะเผชิญกับความหลากหลายทางอารมณ์เมื่อตัดสินใจเปลี่ยนไตใหม่
ทีมแพทย์ที่ดูแลจะรับฟังและให้การช่วยเหลือ ผู้ป่วยสามารถพูดคุยกับนักจิตวิทยาเกี่ยวกับสิ่งที่กังวลใจ นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจพูดคุยกับสมาชิกในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด เนื่องจากผู้ป่วยอาจจะรู้สึกสบายใจขึ้นเมื่อได้ระบายหรือพูดคุยกับสมาชิกในครอบครัว เพื่อนสนิท หรือบุคคลที่ผู้ป่วยนับถือ เลื่อมใส และศรัทธา ที่อาจช่วยให้ได้ข้อคิดหรือประสบการณ์ที่จะช่วยให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปได้
ระยะเวลาการรักษาตัวในโรงพยาบาลหลังการผ่าตัด
หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องอยู่ในโรงพยาบาล ประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยจะได้รับการทำกิจกรรมในแต่ละวัน ดังนี้
- การตรวจเลือด
- การตรวจร่างกายโดยทีมแพทย์
- การชั่งน้ำหนัก
- การวัดอุณหภูมิ
- วัดชีพจร
- วัดความดันเลือด
- มีการแนะนำเรื่องการรับประทานอาหาร จากนักโภชนากร
- มีการแนะนำเรื่องการออกกำลังกายที่เหมาะสม
- มีการแนะนำเรื่องการพักผ่อนที่เหมาะสม
เหล่านี้ถือเป็นกิจวัตรประจำวันที่ผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติ เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูและแข็งแรงมากขึ้นตามลำดับจนสามารถเตรียมตัวออกจากโรงพยาบาลเพื่อกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ
สรุป
การผ่าตัดปลูกถ่ายไตถือเป็นการผ่าตัดใหญ่ซึ่งต้องมีการเตรียมตัวและวางแผนอย่างละเอียดรอบคอบ ทั้งในส่วนของผู้บริจาคไต ไม่ว่าจะเป็นในกรณีที่รับบริจาคไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต หรือการเตรียมไตที่ได้จากผู้ที่มีภาวะสมองตาย และในส่วนของการเตรียมตัวของผู้ที่รับบริจาคไต เพื่อให้ได้ผลการรักษาและคุณภาพชีวิตที่ดีของทั้งผู้บริจาคและผู้รับบริจาคด้วย ซึ่งต้องมีกระบวนการต่าง ๆ หลายขั้นตอน เช่น การตรวจสอบการเข้ากันได้ของเลือดและเนื้อเยื่อระหว่างผู้บริจาคและผู้รับบริจาคไตอย่างละเอียดรอบคอบ จนได้ไตที่มีความเหมาะสมกับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังแต่ละราย การผ่าตัดโดยทีมศัลยแพทย์เฉพาะทาง เพื่อผ่าตัดนำไตออกจากผู้บริจาคที่มีชีวิตหรือผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตาย แล้วนำไตนั้นมาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย หลังจากการผ่าตัดเสร็จผู้ป่วยจำเป็นต้องพักรักษาตัว และฟื้นฟูร่างกายในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งจะได้รับการดูแลโดยทีมแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการปฏิเสธไต และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เป็นอันตราย และตรวจสอบการทำงานของไตใหม่จนมั่นใจว่าสามารถทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพ