การปลูกถ่ายไต เป็นการผ่าตัดเพื่อนำไตใหม่จากผู้บริจาคซึ่งอาจเป็นญาติหรือผู้ป่วยสมองตายมาปลูกถ่ายให้แก่ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง เพื่อทดแทนการทำงานของไตที่บกพร่องไป ซึ่งปัจจุบันความสำเร็จของการปลูกถ่ายไตมีอัตราค่อนข้างสูง ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ สามารถทำงาน รับประทานอาหาร และออกกำลังกายได้เป็นอย่างดี จึงนับว่าเป็นทางเลือกการรักษาที่ดีที่สุดของผู้ป่วยภาวะไตวายเรื้อรัง และไตที่ปลูกถ่ายใหม่สามารถใช้งานได้นานกว่า 10 ปี อย่างไรก็ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตยังจำเป็นต้องได้รับการดูแลหลังการเปลี่ยนไตไปตลอดชีวิต เพื่อให้ไตใหม่อยู่ได้นานและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลังการปลูกถ่ายไตผู้ป่วยต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันภาวะปฏิเสธไต แต่การได้รับยากดภูมิคุ้มกันก็มาพร้อมกับความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องปฏิบัติตนและดูแลสุขภาพให้เหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์ และหลีกเลี่ยงการติดเชื้อเพื่อให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และเพื่อรักษาประสิทธิภาพการทำงานของไตใหม่ให้ใช้งานได้นานที่สุด
สารบัญ
- การได้รับยากดภูมิในผู้ป่วย หลังได้รับการปลูกถ่ายไต
- คำแนะนำเกี่ยวกับยาที่ใช้หลังจากการปลูกถ่ายไต
- การมาพบแพทย์ตามนัด
- อาการผิดปกติที่ต้องมาพบแพทย์ก่อนนัด
- การทำงาน การเรียน การดำเนินชีวิตหลังการปลูกถ่ายไต
- การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยปลูกถ่ายไต
- การมีเพศสัมพันธ์หลังการปลูกถ่ายไต
- หลังปลูกถ่ายไตสามารถมีบุตรได้หรือไม่?
- การติดเชื้อที่พบบ่อยในผู้ป่วยปลูกถ่ายไต
- การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อหลังการปลูกถ่ายไต
- ภาวะต่าง ๆ ที่อาจเกิดตามมาหลังการปลูกถ่ายไต
- อาหารและโภชนาการของผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไต
- อาหารและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ไม่ควรรับประทานหลังการปลูกถ่ายไต
- วัคซีนที่ผู้ป่วยควรได้รับหลังการปลูกถ่ายไต
- สรุป
การได้รับยากดภูมิในผู้ป่วย หลังได้รับการปลูกถ่ายไต
ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะจำเป็นจะได้รับยากดภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต เพื่อกดระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ป้องกันภาวะปฏิเสธไต เพราะระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะตอบสนองต่อไตใหม่เสมือนสิ่งแปลกปลอมชนิดหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดการปฏิเสธไตใหม่ ทำให้การปลูกถ่ายไตไม่ประสบความสำเร็จได้ ดังนั้นผู้ป่วยควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับยากดภูมิคุ้มกันและยาอื่น ๆ ที่ได้รับ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา และรักษาการทำงานของไตใหม่ได้ให้ยาวนานที่สุด
รายชื่อยากดภูมิคุ้มกัน
ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตจะต้องรับประทานยากดภูมิไปตลอดชีวิต ดังนั้นผู้ป่วยต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับยากดภูมิ รวมไปถึงยาอื่น ๆ ด้วย ซึ่งยากดภูมิคุ้มกันที่ผู้ป่วยจะได้รับหลังการปลูกถ่ายไตจะต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งยากดภูมิเหล่านี้ ได้แก่
- Cyclosporine (Neoral)
- Tacrolimus (Prograf, Advargraf)
- Sirolimus, Rapamune, Everolimus (Certican)
- Mycophenolate mofetil (Cellcept)
- Mycophenolate Sodium (Myfortic)
- Prednisolone
จุดประสงค์ของการใช้ยากดภูมิคุ้มกัน
เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายต่อต้านหรือปฏิเสธไตใหม่ โดยผู้ป่วยต้องได้รับยาในขนาดที่เหมาะสม เพราะจะช่วยให้ไตใหม่ที่ได้รับการปลูกถ่ายสามารถทำงานและอยู่กับผู้ป่วยได้นานที่สุด
สิ่งที่ควรทราบเกี่ยวกับการรับประทานยากดภูมิ
- ผู้ป่วยไม่ควรปรับขนาดยาเอง ต้องรับประทานยาให้ตรงเวลาอย่างสม่ำเสมอ และไม่ควรเปลี่ยนชนิดของยากดภูมิคุ้มกันเอง
- หากผู้ป่วยรับประทานยาไม่สม่ำเสมอจะทำให้ไม่ได้รับยาในขนาดที่ถูกต้องเหมาะสม ส่งผลให้ระดับยากดภูมิคุ้มกันในเลือดเปลี่ยนแปลงจนทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้ เช่น
- ระดับยาน้อยเกินไป จะทำให้เกิดภาวะปฎิเสธอวัยวะ
- ระดับยาที่สูงเกินไป จะทำให้เสี่ยงต่อภาวะติดเชื้อต่าง ๆ
การติดตามระดับยาในเลือด
- แพทย์จะสั่งตรวจวัดระดับยาในเลือดเพื่อพิจารณาขนาดยาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย การเจาะเลือดเพื่อวัดระดับยาจึงมีความสำคัญมาก สำหรับผู้ป่วยที่รับประทานยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine) ทาโครลิมัส (Tacrolimus) ไซโรลิมัส (Sirolimus) เอเวอโรลิมัส (Everolimus) ผู้ป่วยควรมาเจาะเลือดให้ตรงตามเวลาที่กำหนด ก่อนรับประทานยา และไม่ควรเจาะเลือดคลาดเคลื่อนเกิน 30 – 60 นาที
- โดยปกติจะวัดระดับยาต่ำสุด คือ การเจาะเลือดก่อนรับประทานยากดภูมิคุ้มกันมื้อถัดไป เช่น หากรับประทานยาเวลา 20.00 น. และจะรับประทานยามื้อถัดไปเวลา 8.00 น. ผู้ป่วยควรเจาะเลือดเวลา 8.00 น. และคลาดเคลื่อนได้ไม่เกิน 30 นาที
- สำหรับผู้ที่ใช้ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine) บางราย แพทย์อาจจะให้เจาะเลือดหลังจากรับประทานยาผ่านไปแล้ว 2 ชั่วโมง เช่น รับประทานยาเวลา 8.00 น. แพทย์อาจจะสั่งให้เจาะเลือดเวลา 10.00 น.
การเก็บรักษายา
- ยากดภูมิคุ้มกันส่วนใหญ่สามารถเก็บที่อุณหภูมิห้อง ป้องกันแสง ความร้อน หรือความชื้น ยกเว้นยาไซโรลิมัส (Sirolimus) ชนิดน้ำ ที่ต้องเก็บในตู้เย็นอุณหภูมิ 2 – 8 องศาเซลเซียส
- ยาที่บรรจุอยู่ในแผงยา ไม่ควรแกะเม็ดยาออกมาจากแผง หากยังไม่ได้รับประทาน เพราะแสงและความชื้นอาจทำให้ยาเสื่อมคุณภาพได้
กรณีได้รับการรักษาจากแพทย์ท่านอื่น สถานพยาบาลอื่น หรือร้านขายยา
ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ เภสัชกร หรือพยาบาล รับทราบว่าท่านรับประทานยากดภูมิคุ้มกันอยู่ ในกรณีที่ได้รับการรักษาจากที่อื่น เนื่องจากยาบางชนิดที่ได้รับเพื่อรักษาภาวะอื่น ๆ เพิ่ม อาจเกิดปฏิกิริยาต่อยากดภูมิคุ้มกัน (drug interaction) หรือที่เรียกว่า “ยาตีกัน” ส่งผลให้ระดับยากดภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ จะได้มีการตรวจสอบการให้ยาให้ถูกต้อง
ตัวอย่างยาที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับยากดภูมิคุ้มกัน
ผลการเปลี่ยนแปลง | กลุ่มยา | ตัวยาสำคัญ |
ระดับยากดภูมิคุ้มกันเพิ่มสูงขึ้น | ยาความดัน ยาโรคหัวใจ | ดิลไทอะเซม (Diltiazem) เวอราพามิล (Verapamil) แอมโลดิปีน (Amlodipine) อะมิโอดาโลน (Amiodarone) |
ระดับยากดภูมิคุ้มกันเพิ่มสูงขึ้น | ยารักษาโรคติดเชื้อ | อิริโธรมัยซิน (Erythromycin) คลาริโธรมัยซิน (Clarithromycin) คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ฟลูโคนาโซล (Fluconazole) ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) |
ระดับยากดภูมิคุ้มกันเพิ่มสูงขึ้น | ยาต้านซึมเศร้า | ฟลูอ๊อกวิทิน (Fluoxetine) ฟลูว๊อกซามิน (Fluvoxamine) |
ระดับยากดภูมิคุ้มกันลดต่ำลง | ยารักษาโรคติดเชื้อ | ไรแฟมฟิซิน (Rifampicin) |
ระดับยากดภูมิคุ้มกันลดต่ำลง | ยากันชัก | ฟิโนบาบีทอล (Phenobarbital) ฟินิโทอิน (Phenytoin) คาร์บามาซิปีน (Carbamazepine) |
กรณีลืมรับประทานยา
- ถ้าเป็นยาที่รับประทานวันละ 2 ครั้ง เช่น ไซโคลสปอริน (Cyclosporine) ทาโครลิมัส (Tacrolimus) ให้ทานทันที ที่นึกได้ภายใน 6 ชั่วโมง ถ้าเลย 6 ชั่วโมงไปแล้ว ให้ข้ามมื้อที่ลืมไป ห้ามเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าโดยเด็ดขาด
- ถ้าเป็นยาที่รับประทานวันละ 1 ครั้ง เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone) ไซโรลิมัส (Sirolimus) ให้รับประทานทันที ที่นึกได้ภายใน 12 ชั่วโมง ถ้าเลย 12 ชั่วโมงไปแล้ว ให้ข้ามมื้อที่ลืมไป ห้ามเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าโดยเด็ดขาด
ตัวอย่าง: ผู้ป่วยได้รับยากดภูมิคุ้มกันไซโคลสปอริน (Cyclosporine) ทานวันละ 2 ครั้ง เวลา 8.00 น. และ 20.00 น. ผู้ป่วยลืมทานยาตอน 8.00 น. และนึกขึ้นได้ก่อนเวลา 14.00 น. ให้รีบรับประทานยาทันที แต่ถ้านึกขึ้นได้หลังจากเวลา 14.00 น. ให้ข้ามมื้อนั้นไป และรับประทานยาเวลา 20.00 น. ในปริมาณเท่าเดิม ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
กรณีอาเจียนยาออกมา
- ถ้ามีอาการคลื่นไส้อาเจียนหลังจากรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน และมองเห็นเม็ดยาที่อาเจียนออกมา ควรเว้นระยะสักครู่ให้อาการคลื่นไส้อาเจียนดีขึ้น แล้วจึงรับประทานยาใหม่
- หากอาเจียนแต่ไม่เห็นเม็ดยาหรือไม่แน่ใจว่าอาเจียนยาออกมาด้วยหรือไม่ ไม่ควรรับประทานยาซ้ำโดยเด็ดขาด
กรณีผู้ป่วยต้องเดินทางไกล
- เตรียมยาติดตัวให้เพียงพอตลอดการเดินทาง
- เลือกอยู่ในสถานที่ ที่สะอาด และไม่แออัด
- ไม่ควรเก็บยาไว้ในรถ ที่ร้อนจัด หรือถูกแสงแดดโดยตรง
- เลือกรับประทานอาหารสุกที่ปรุงเสร็จใหม่ ๆ หรือผลไม้ที่ปอกเปลือกได้
- ถ้าเดินทางไปต่างประเทศที่ต้องปรับเวลาใหม่ ควรรับประทานยาตามเวลาในประเทศไทย ยกเว้น กรณีที่ต้องไปพักอาศัยเป็นเวลานานควรปรึกษาแพทย์
- หลีกเลี่ยงการเดินทางบนเครื่องบินในช่วง 3 – 6 เดือนแรกหลังการปลูกถ่ายอวัยวะหากไม่จำเป็น เนื่องจากช่วงเวลานี้ผู้ป่วยจะได้รับยากดภูมิคุ้มกันในปริมาณสูง การอยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทน้อยเป็นเวลานาน อาจเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อจากผู้โดยสารอื่น ๆ ได้ง่าย
กรณีที่มีอาการผิดปกติ ต้องทำอย่างไร
ผู้ป่วยควรศึกษาอาการสำคัญที่ต้องได้รับการดูแลโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการของภาวะปฏิเสธไตและภาวะติดเชื้อ หากมีอาการเหล่านั้นให้รีบมาพบแพทย์ทันที
สรุปข้อควรปฏิบัติหลังจากได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
- รับประทานยาสม่ำเสมอและตรงเวลา
- ห้ามหยุดยาหรือปรับขนาดยาเองโดยเด็ดขาด
- ควรจำชื่อยากดภูมิคุ้มกันให้ได้หรือจดบันทึกไว้
- ต้องมาเจาะเลือดเพื่อตรวจวัดระดับยาตามเวลาที่กำหนด
- เก็บยาในสถานที่ที่ไม่ถูกแสง ความร้อน ความชื้น และพ้นมือเด็ก
- หากได้รับการรักษาจากสถานพยาบาล/ร้านยาอื่น ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ เภสัชกร หรือพยาบาลรับทราบทุกครั้ง เพื่อตรวจสอบรายการยาที่ได้รับเพิ่มว่าจะมีผลต่อยากดภูมิคุ้มกันหรือไม่
คำแนะนำเกี่ยวกับยาที่ใช้หลังจากการปลูกถ่ายไต
ภายหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยต้องรับประทานยาหลายชนิด โดยเฉพาะยาที่ออกฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งต้องรับประทานตลอดชีวิต เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายมีปฏิกิริยาต่อต้านไตใหม่ ผู้ป่วยจึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับชนิดของยา วิธีรับประทานยาที่ถูกต้อง และผลข้างเคียงของยา ดังนี้
ข้อควรปฏิบัติ
- รับประทานยาในเวลาเดียวกันทุกวัน
- พกใบรายการยาประจำติดตัวไว้เสมอ
- ต้องมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
- ถ้ารับประทานยาเกินขนาดต้องรีบแจ้งแพทย์ทันที
- เก็บยาในที่ที่เหมาะสมตามคำสั่งแพทย์และเภสัชกร
- ควรปฏิบัติตนให้ถูกต้องทุกครั้งที่มาเจาะเลือดเพื่อวัดระดับยากดภูมิคุ้มกัน เพราะหากระดับยาสูงไปจะมีโทษต่อไต ในทางตรงกันข้ามถ้าระดับยาต่ำไปก็ทำให้การกดภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่ได้ผล ซึ่งอาจเกิดภาวะปฏิเสธไตใหม่ได้
- หากมีอาการข้างเคียงใหม่ ๆ จากการรับประทานยา หรือมีภาวะแทรกซ้อนฉุกเฉินให้ติดต่อแพทย์และโรงพยาบาลทันที
- หากสังเกตพบว่ามีสิ่งปกติใด ๆ เกิดขึ้น ให้จดบันทึกไว้พร้อมวันและเวลา แล้วแจ้งให้แพทย์ที่ดูแลทราบเมื่อมาพบแพทย์ตามนัด
- ควรวางแผนล่วงหน้าก่อนยาจะหมดและเตรียมยาให้พร้อมก่อนไปต่างประเทศหรือต่างจังหวัด
ข้อห้ามและไม่ควรปฏิบัติ
- อย่าหยุดยาหรือปรับยาเองเด็ดขาด
- อย่ารับประทานยาที่หมดอายุแล้ว
- อย่าให้ผู้อื่นรับประทานยาของตน
- ไม่ควรขาดยาที่รับประทานประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยากดภูมิคุ้มกัน
- อย่าซื้อยาจากร้านขายยาทั่วไปโดยแพทย์ไม่ได้สั่ง ก่อนใช้ยาอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง เนื่องจากยาหลายชนิดอาจทำให้ประสิทธิภาพของยากดภูมิคุ้มกันเปลี่ยนแปลงไป
การมาพบแพทย์ตามนัด
การมาพบแพทย์ตามนัดถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลหลังการเปลี่ยนไต ดังนั้นผู้ที่ผ่าตัดปลูกถ่ายไตจึงควรใส่ใจและมาพบแพทย์ตามนัดอย่างเคร่งครัด
การพบแพทย์ตามนัดสำคัญอย่างไร?
การพบแพทย์ตามนัดเป็นสิ่งสำคัญมาก ผู้ป่วยจำเป็นต้องมาพบแพทย์ทุกครั้ง หลังการปลูกถ่ายไต เนื่องจากแพทย์จำเป็นต้องตรวจร่างกายเพื่อให้แน่ใจว่าไตใหม่จะอยู่ได้นานและทำงานได้ดี อีกทั้งการดูแลหลังการเปลี่ยนไตไม่สามารถทำได้ทางโทรศัพท์หรือทางไปรษณีย์ได้ เคยมีกรณีตัวอย่างผู้ป่วยปลูกถ่ายไตไม่ยอมพบแพทย์ เก็บตัวกินยาเองโดยลำพัง สุดท้ายไตเสื่อมลงจากฤทธิ์ของยา เกิดการติดเชื้อ และเสียชีวิตในที่สุด จะเห็นได้ว่าการมาพบแพทย์ตามนัดนั้นสำคัญมาก
การมาพบแพทย์จะมีการตรวจร่างกายอะไรบ้าง?
- ตรวจความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายและจิตใจ
- ตรวจการทำงานของไตใหม่ ในบางกรณีอาจมีความผิดปกติจากการต่อต้านไตใหม่หรือจากโรคเก่ากำเริบแต่ไม่แสดงอาการ โดยจะพบได้เฉพาะเมื่อตรวจเลือดและปัสสาวะเท่านั้น
- ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่มีโอกาสเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เช่น การติดเชื้อ โรคหัวใจ โรคตับ โรคมะเร็ง โรงเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคกระเพาะ/ลำไส้ เป็นต้น
- อาการข้างเคียงของยา
- ตรวจเพื่อปรับระดับยากดภูมิคุ้มกันให้เหมาะสม
- ตรวจเพื่อปรับยาตัวอื่น ๆ ให้เหมาะสม เช่น ยาลดความดัน ยาเบาหวาน ยาลดไขมัน ยาโรคหัวใจ เป็นต้น
- ตรวจปัสสาวะ เพื่อดูสิ่งผิดปกติในปัสสาวะ เช่น เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง ไข่ขาว โรคติดเชื้อ เป็นต้น
มีการตรวจเลือดเพื่อดูอะไรบ้าง?
- ระดับยากดภูมิคุ้มกัน
- ระดับการทำงานของไตและตับ
- ระดับเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกร็ดเลือด
- ระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อตรวจหาและควบคุมเบาหวาน
การตรวจพิเศษที่อาจมีการตรวจเพิ่มเติม มีอะไรบ้าง?
- อัลตราซาวนด์
- เอกซเรย์ปอด
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
- เก็บตรวจปัสสาวะ 24 ชั่วโมง
- ตรวจหามะเร็งต่าง ๆ
- ตรวจสุขภาพประจำปี
- ตรวจภายใน (สำหรับสตรี)
- ตรวจชิ้นเนื้อไต (kidney biopsy) กรณีที่แพทย์สงสัยภาวะปฏิเสธไต
อาการผิดปกติที่ต้องมาพบแพทย์ก่อนนัด
- มีไข้สูง หนาวสั่น
- ปัสสาวะแสบขัด ขุ่น มีเลือดปน
- ปัสสาวะออกน้อยลงจากเดิม
- มีอาการปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ใส่ไตใหม่
- น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาก ตัวบวมขึ้น
- มีเลือดหรือน้ำเหลืองซึมออกจากแผลผ่าตัด
- ท้องเสีย
- เหนื่อยหอบ
- ปวดบริเวณแผลหรือบริเวณไตที่เปลี่ยน
- มีลักษณะของแผลเริม งูสวัด
- ความผิดปกติอื่น ๆ
การทำงาน การเรียน การดำเนินชีวิตหลังการปลูกถ่ายไต
- สามารถทำงานทั่วไปได้ตามปกติ และจะสามารถทำงานได้สะดวกมากขึ้น เพราะผู้ป่วยไม่ต้องไปฟอกเลือด โดยผู้ป่วยจะสามารถกลับไปทำงานได้ภายใน 4 – 8 สัปดาห์ หลังจากออกจากโรงพยาบาล ทั้งนี้ขึ้นกับคำแนะนำจากแพทย์
- งานที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ การทำงานกับดิน งานสวน งานที่ต้องเผชิญกับสิ่งสกปรก ควรสวมถุงมือยางและใช้ผ้าปิดปากและจมูกเพื่อป้องกันการติดเชื้อ นอกจากนี้ยังต้องระวังการเข้าสังคม การพบปะผู้คนหรือต้องไปอยู่ในที่ที่มีคนจำนวนมาก หรือที่แออัดคับแคบ และควรหลีกเลี่ยงการเข้าที่ชุมชนในช่วง 3 – 6 เดือนแรกหลังการผ่าตัด
การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยปลูกถ่ายไต
- ผู้ป่วยปลูกถ่ายไตทุกคนต้องออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ การออกกำลังกายจะช่วยในการลดความเครียด ลดไขมัน ช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานดีขึ้น และช่วยลดความดันได้
- หลังการปลูกถ่ายไตในสัปดาห์แรก ควรยืน เดินรอบ ๆ เตียง
- หลังปลูกถ่ายไต 1 – 2 สัปดาห์ ควรเดินให้มากขึ้นและสามารถช่วยเหลือตนเองได้เต็มที่
- หลังปลูกถ่ายไต 2 – 4 สัปดาห์ ควรเดินรอบ ๆ บ้าน วันละ 3 – 4 ครั้ง ครั้งละ 15 นาที
- หลังปลูกถ่ายไต 4 – 6 สัปดาห์ ควรเดินเร็ว ๆ จนเหงื่อออก ครั้งละ 15 – 30 นาที วันละ 1 – 2 ครั้ง
- หลังปลูกถ่ายไต 6 สัปดาห์ สามารถออกกำลังกายได้ตามปกติ
- เล่นกีฬาที่เหมาะสม ได้แก่ เต้นแอโรบิค ปิงปอง วิ่ง ว่ายน้ำ
- กีฬาที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ ชกมวย ยูโด มวยปล้ำ รักบี้ ฟุตบอล และกีฬาอื่น ๆ ที่มีการปะทะหรือชนกัน เป็นต้น
การมีเพศสัมพันธ์หลังการปลูกถ่ายไต
- ผู้ป่วยสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ
- ควรมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย (safe sex) ทั้งผู้ชายและผู้หญิง
- ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังมักเกิดการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ทำให้มีปัญหาต่อความสุขของครอบครัว แต่เมื่อปลูกถ่ายไตสำเร็จ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีสมรรถภาพทางเพศที่ดีขึ้น
- แนวทางการรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ควรเริ่มจากการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงสมบูรณ์ ออกกำลังกาย งดสูบบุหรี่ งดสุรา รับประทานอาหารถูกสุขลักษณะ ควบคุมความดันและไขมันในเลือด
- หากหลังปลูกถ่ายไตผู้ป่วยต้องการรับประทานยาเพื่อรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศต้องใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
หลังปลูกถ่ายไตสามารถมีบุตรได้หรือไม่?
- สตรีที่ปลูกถ่ายไต ควรทิ้งระยะเวลาตั้งครรภ์หลังปลูกถ่ายไตเป็นเวลา 2 ปี
- การตั้งครรภ์ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
การติดเชื้อที่พบบ่อยในผู้ป่วยปลูกถ่ายไต
เชื้อโรคที่พบในผู้ป่วยปลูกถ่ายไตได้บ่อยหรืออันตรายสูง โดยเฉพาะช่วง 6 เดือนแรก ได้แก่
- เชื้อไวรัส ที่พบได้บ่อย ได้แก่
- เชื้อเริม/งูสวัด (herpes)
- ไวรัสตับอักเสบชนิดบีหรือซี (hepatitis B, C)
- ไวรัส Cytomegalovirus (CMV) เช่น ปอดบวม ลำไส้อักเสบ ม่านจอตาอักเสบ เป็นต้น
- ไวรัส Epstein-Barr virus (EBV) ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้
- เชื้อรา เช่น ติดเชื้อราบริเวณผิวหนัง ปาก ปอด และอวัยวะอื่นๆ
- เชื้อแบคทีเรีย เช่น ปอดอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ และเนื้อไตอักเสบ ที่อาจลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดและเสียชีวิตได้
- ติดเชื้อ Pneumocystis pneumonia (PCP) ในปอด
การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อหลังการปลูกถ่ายไต
- หมั่นล้างมือบ่อย ๆ
- ระวังอย่าเอามือที่ไม่สะอาดมาถูหน้าหรือเอาเข้าปาก รับประทานอาหารและดื่มน้ำที่สะอาดเท่านั้น
- อยู่ให้ห่างผู้ป่วยหวัดหรือโรคติดเชื้ออื่น ๆ เช่น อีสุกอีใส ปอดปวม โดยเฉพาะช่วง 3 – 6 เดือนแรกหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
- ถ้ามีคนในบ้านเป็นหวัด ควรใส่หน้ากากครอบปากและจมูก
- ไม่ควรทำงานที่ต้องสัมผัสกับดิน ขยะ น้ำสกปรก โดยเฉพาะช่วง 6 เดือนแรกหลังผ่าตัด
- พยายามหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับสัตว์ สัตว์เลี้ยง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์จรจัด
ภาวะต่าง ๆ ที่อาจเกิดตามมาหลังการปลูกถ่ายไต
โรคความดัน
- อายุที่มากขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคความดันและโรคหัวใจ นอกจากนี้ยากดภูมิคุ้มกันบางตัวก็มีผลข้างเคียงทำให้ความดันสูงขึ้นได้
- ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องรับประทานยาควบคุมความดัน โดยทีมแพทย์ปลูกถ่ายไตจะเลือกยาที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดและผลข้างเคียงน้อยที่สุดให้แก่ผู้ป่วย
- ผู้ป่วยบางรายอาจต้องรับประทานยาขับปัสสาวะเพื่อเสริมฤทธิ์ของยาควบคุมความดันให้ดียิ่งขึ้น
โรคเบาหวาน
- ยากดภูมิคุ้มกันบางตัวอาจมีผลข้างเคียงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง หากน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เกินกว่า 2 ครั้ง ถือว่าเป็นโรคเบาหวาน
- อาการของโรคเบาหวาน ได้แก่ หิวน้ำบ่อย คอแห้ง ปัสสาวะมาก อ่อนเพลีย ตาพร่า และสับสน ถ้าผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ควรแจ้งทีมแพทย์ปลูกถ่ายไตทันที
- ผู้ป่วยปลูกถ่ายไตที่เป็นเบาหวานจะต้องควบคุมอาหาร ควบคู่ไปกับการรับประทานยาควบคุมเบาหวานหรือฉีดอินซูลิน และจะได้รับคำแนะนำวิธิการปฏิบัติตัวจากทีมแพทย์ที่ดูแลรักษา
ภาวะไขมันในเลือดสูง
- ยากดภูมิคุ้มกันมีผลข้างเคียงทำให้ไขมันในเลือดสูงได้ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจและอัมพาต ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจระดับไขมันในเลือดเป็นระยะ หากระดับไขมันในเลือดสูงอาจจำเป็นต้องใช้ยาควบคุมไขมัน ทั้งนี้ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์
- การออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก และการควบคุมอาหาร จะช่วยลดระดับไขมันในเลือดลงได้ระดับหนึ่ง
อาหารและโภชนาการของผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไต
การเลือกอาหารที่เหมาะสมในผู้ป่วยหลังผ่าตัดปลูกถ่ายไต จะส่งผลให้การฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็วขึ้น ในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจะสามารถเลือกทานอาหารได้ปกติ แต่หากเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น มีไข้ ติดเชื้อ มีการสลายของกล้ามเนื้อมากขึ้น จำเป็นต้องรับประทานอาหารให้เหมาะสมและเพียงพอตามสภาวะร่างกายเพื่อป้องกันการเกิดภาวะทุพโภชนาการ อาหารที่รับประทานควรเป็นอาหารปรุงสุก สะอาด ครบ 5 หมู่ และถูกหลักสุขาภิบาลอาหาร
ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องควบคุมสารอาหารบางชนิดอันเนื่องมาจากยาหรือสภาวะต่าง ๆ เช่น ในภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง ความดันสูง ในภาวะร่างกายต้องการโปรตีนมากขึ้น หรือในภาวะแร่ธาตุต่าง ๆ ของร่างกายไม่อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ควรเลือกอาหารให้เหมาะสมตามชนิดต่าง ๆ ดังนี้
คาร์โบไฮเดรต
- ผู้ป่วยที่มีน้ำตาลในเลือดสูงอันเนื่องมาจากโรคประจำตัวเดิมหรือจากยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ (steroid) จำเป็นต้องควบคุมอาหารกลุ่มคารโบไฮเดรต
- ควรเลือกบริโภคอาหารกลุ่มคารโบไฮเดรต ดังนี้
- รับประทานข้าว แป้ง และน้ำตาล ในปริมาณที่เหมาะสม
- ควรเลือกคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวโอ๊ต ธัญพืช เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงอาหารน้ำตาลสูง เช่น น้ำหวาน น้ำผลไม้ ขนม เป็นต้น
- เลือกอาหารที่มีค่าการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายต่ำ (glycemic index < 55) เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวซ้อมมือ ข้าวบาร์เล่ย์ พาสต้า ผักกาดแก้ว มันเทศ ข้าวโพด ถั่วแดง เป็นต้น
ไขมัน
- ผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง ควรบริโภคไขมันไม่เกินร้อยละ 30 – 35 ของพลังงานรวมในแต่ละวัน โดยจำกัดปริมาณไขมันอิ่มตัวไม่เกินร้อยละ 7 ไขมันไม่อิ่มตัวไม่เกินร้อยละ 10
- ควรเลือกบริโภคอาหารกลุ่มไขมัน ดังนี้
- เนื้อสัตว์ไม่ติดมันหรือไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา อกไก่ ไข่ขาว เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงอาหารทอด เบเกอรี่ และอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง
- งดและหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ลดบริโภคอาหารมื้อดึก
- รับประทานอาหารให้ตรงเวลาเพื่อให้ระบบเผาผลาญทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
โปรตีน
- โปรตีน มีหน้าสำคัญที่ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เป็นส่วนประกอบของกล้ามเนื้อ และช่วยในการสังเคราะห์สารสำคัญที่ช่วยให้ร่ายกายทำงานเป็นปกติ เช่น ฮอร์โมน เอนไซม์ ภูมิคุ้มกันของร่างกาย เม็ดเลือด เป็นต้น โปรตีนจึงเป็นอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย
- ผู้ป่วยหลังผ่าตัดที่มีการสลายของกล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้น หรือมีภาวะทุพโภชนาการอยู่เดิม ควรมีการกำหนดปริมาณโปรตีนให้รับประทานได้เพียงพอ และควรเลือกกลุ่มโปรตีนคุณภาพ เช่น นม เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อปลา ไข่ขาว เป็นต้น
โซเดียม
- โซเดียม มีหน้าที่สำคัญในการควบคุมการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ สำหรับคนปกติทั่วไปแนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน (โดยพิจารณาจาก dietary reference index; DRI)
- ในผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคไต ความดันสูง น้ำท่วมปอด มีการคั่งของของเหลวในร่างกาย และแพทย์กำหนดให้จำกัดปริมาณโซเดียม ควรเลือกบริโภคอาหาร ดังนี้
- บริโภคอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ชิมก่อนปรุงทุกครั้ง
- หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป หมักดอง อาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง อาหารกึ่งสำเร็จรูป
- หลีกเลี่ยงการใช้ผงชูรส ผงปรุงรส และซุปก้อนในการปรุงอาหาร
- ใช้รสเปรี้ยว เผ็ด และเครื่องเทศสมุนไพรต่าง ๆ เช่น หอมแดง กระเทียม ใบมะกรูด เป็นต้น เพื่อช่วยเสริมรสชาติ กลิ่น และสีสันแทนรสเค็ม
- ลดการบริโภคน้ำจิ้ม น้ำราดต่าง ๆ
โพแทสเซียม
- โพแทสเซียมช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานได้เป็นปกติ แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูงและแพทย์กำหนดให้จำกัดปริมาณโพแทสเซียมในอาหาร จะต้องเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสม
- แหล่งอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง ได้แก่ ผัก ผลไม้ นม ธัญพืช และเครื่องปรุงรสบางชนิดที่เสริมโพแทสเซียม
- ผู้ป่วยสามารถลดโพแทสเซียมในผักได้โดยการล้างผักให้สะอาดเพื่อลดสารตกค้าง ปอกเปลือก หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ หรือนำผักไปต้มหรือลวกก่อนนำไปปรุงประกอบอาหารได้ตามต้องการ
ฟอสฟอรัส
- ฟอสฟอรัส เป็นแร่ธาตุที่พบมากในกระดูก และเป็นส่วนประกอบหนึ่งในเลือด
- หากมีฟอสฟอรัสปริมาณมากเกินไปจะมีผลต่อร่างกาย เช่น กระดูกเปราะบาง คันตามผิวหนัง เกิดหินปูนเกาะทำให้เกิดโรคหัวใจได้
- ผู้ป่วยโรคไตที่มีฟอสฟอรัสสูงสามารถควบคุมได้หลายวิธี ได้แก่ การฟอกเลือด การรับประทานยาจับฟอสฟอรัส และการควบคุมอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง
- กลุ่มอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง มีดังนี้
- ไข่แดงของสัตว์ทุกชนิดและผลิตภัณฑ์ของไข่แดง เช่น ทองหยิบ ทองหยอด เบเกอรี่
- ปลาที่กินทั้งก้าง เช่น ปลากรอบ ปลาไส้ตัน ปลาข้าวสาร ปลาแห้ง ปลาซาร์ดีน
- เครื่องในสัตว์ กบ เขียด อึ่งอ่าง แย้ แมลงทุกชนิด ปูทะเล กุ้งแห้ง
- อาหารแปรรูปและอาหารกระป๋อง
- อาหารแช่แข็ง ผลไม้อบแห้ง
- นมและอาหารที่มีส่วนผสมของนม
- กาแฟ ช็อคโกแลต โกโก้
- ยีสต์ ผงฟู
- ลูกเดือย งาดำ เต้าหู ถั่ว และธัญพืชต่าง ๆ
แอลกอฮอล์
- ผู้ป่วยหลังปลูกถ่ายไตควรงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ใกล้เวลาที่ต้องกินยา เพราะจะส่งผลกระทบต่อระดับยาและการกำจัดยาออกจากร่างกายของไตได้
อาหารและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ไม่ควรรับประทานหลังการปลูกถ่ายไต
ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมบางชนิดมีผลต่อการทำงานของยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยปลูกถ่ายไต “ควรหลีกเลี่ยง”ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ดังนี้
- ขมิ้น และอาหารที่มีขมิ้นเป็นส่วนประกอบ เช่น แกงไตปลา คั่วกลิ้ง แกงเหลือง ขนมจีนน้ำยาใต้ ข้าวหมกไก่
- ขิง และอาหารที่มีขิงเป็นส่วนประกอบ เช่น ปลานึ่งขิง น้ำขิง บัวลอยน้ำขิง ไก่ผัดขิง
- โสม และอาหารเสริมต่าง ๆ ที่มีส่วนผสมของโสม
- ทับทิม ทั้งในรูปแบบผลทับทิม น้ำทับทิม หรือน้ำผลไม้ที่มีส่วนผสมของทับทิม
- เกรฟฟรุต ทั้งในรูปแบบผลเกรฟฟรุต น้ำเกรฟฟรุต หรือน้ำผลไม้ที่มีส่วนผสมของเกรฟฟรุต
- Echinacea เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีการใช้เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน และป้องกันหวัด
- ST. John’s Wort เป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งในยุโรปและอเมริกา มักพบในรูปแบบของอาหารเสริมและยาสมุนไพรที่ใช้บรรเทาอาการของโรคซึมเศร้า อาการนอนไม่หลับ
วัคซีนที่ผู้ป่วยควรได้รับหลังการปลูกถ่ายไต
ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไตมักจะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบเพราะจะสามารถลดการป่วยจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ และไวรัสปอดอักเสบได้
วัคซีนป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza vaccine)
การบริหารยา: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 1 เข็มทุกปี หลังการปลูกถ่ายไต
ข้อห้ามใช้
- ผู้ที่มีประวัติแพ้ไข่รุนแรง
- หากเกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Guillain-Barre syndrome) หลังฉีดวัคซีนควรกลับมาพบแพทย์ทันที
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ มี 2 ยี่ห้อ ดังนี้
- Vaxigrip Tetra
- Fluarix Tetra
วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ (pneumococcal vaccine)
การบริหารยา: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 1 เข็มทุก 5 ปี หลังการปลูกถ่ายไต
ผลข้างเคียง
- ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด
- มีไข้ 1 – 2 วันหลังฉีดวัคคซีน
ข้อห้ามใช้: ปฏิกิริยาแพ้รุนแรงจากการฉีดครั้งก่อน
Pneumococcal Polysaccharide vaccine คือ วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ 23 สายพันธุ์
วัคซีนป้องกันโรคโควิด
สามารถใช้ในผู้ป่วยปลูกถ่ายไตได้ทั้งชนิดเชื้อตาย (killed vaccine), ชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (vector vaccine) หรือชนิด mRNA
คำแนะนำ: ความถี่ในการฉีดวัคซีนแต่ละแบบยังต้องติดตามตามคำแนะนำล่าสุด (อาจมีการเปลี่ยนแปลง)
สรุป
หลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไตผู้ป่วยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยยังจำเป็นต้องได้รับการดูแลหลังการเปลี่ยนไตจากทีมแพทย์ตลอดชีวิตเพื่อให้แน่ใจว่าไตใหม่อยู่ได้นานและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันตลอดชีวิตเพื่อป้องกันภาวะปฏิเสธไต และต้องมาพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อตรวจดูความแข็งแรงของร่างกาย และเพื่อประเมินการทำงานของไตใหม่ จะมีการเจาะเลือดเพื่อปรับระดับยากดภูมิคุ้มกันให้เหมาะสม และประเมินภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
อย่างไรก็ตามการได้รับยากดภูมิคุ้มกันจะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่และสะอาด หลีกเลี่ยงแหล่งชุมชนที่มีคนแออัด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และได้รับวัคซีนป้องกันโรคอย่างเหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์