หลังจากมีข่าวที่น่ากังวลเกี่ยวกับยาลิ้นฟ้า หรือ Rohypnol (โรฮิปนอล) ที่มีวัยรุ่นบางกลุ่มนำมาใช้ผิดประเภท แล้วแลบลิ้นสีฟ้าอวดลงโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นที่น่ากังวลใจอย่างมาก ความจริงแล้วยาชนิดนี้ไม่ใช่ยาใหม่ แต่เป็นยาที่มีมานานานกว่า 30 ปี และในวงการแพทย์ก็ทราบกันดีถึงอันตรายของยาดังกล่าว จนบางประเทศมีคำสั่งห้ามจำหน่าย แต่กลับเป็นว่าในช่วงนี้มีการระบาดในเมืองไทย
Rohypnol (โรฮิปนอล) หรือยาลิ้นฟ้า คืออะไร?
Rohypnol (โรฮิปนอล) เป็นชื่อการค้าของยานอนหลับโดยบริษัทยา Roche ซึ่งเป็นผู้คิดค้น และผลิตเป็นเจ้าแรก โดยเริ่มวางจำหน่ายตั้งแต่ปี ค.ศ.1975 ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยชื่อสามัญของยาตัวนี้คือ Flunitrazepam ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม Benzodiazepines (BZD) โดยมียาในกลุ่มเดียวกันนี้ที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ได้แก่ Alprazolam (Xanax®), Clonazepam, Diazepam (Valium®), Lorazepam เป็นต้น
โรฮิปนอลเป็นยานอนหลับที่มีฤทธิ์เร็ว แรง และออกฤทธิ์ยาวนาน (มากกว่าระยะการนอนหลับในหนึ่งคืน) ทำให้เกิดผลข้างเคียงคือ มีอาการง่วงซึมในช่วงเวลากลางวัน และเพิ่มความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ โดยพบว่าโรฮิปนอลเป็นยานอนหลับที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงที่สุด เมื่อเทียบกับยาตัวอื่นซึ่งเป็นยานอนหลับด้วยกัน นอกจากนั้นโรฮิปนอลยังมีผลต่อความทรงจำ จึงทำให้มีการออกข้อกำหนดให้มีการจำกัดยาใช้อย่างเคร่งครัด
อันตรายจากการใช้ยา Rohypnol
ยาโรฮิปนอลควรใช้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ตามแพทย์สั่งเท่านั้น เพราะการใช้ติดต่อกันเกิน 1 เดือน จะทำให้เกิดการติดยา และหากใช้ในระยะยาวนอกจากการติดยา และอาการถอนยาที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้แล้ว ยังอาจมีผลกระทบต่อความสามารถในการเรียนรู้และสมรรถภาพการรู้คิด และหากได้รับยาเกินขนาด จะทำให้กดการหายใจและทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ผลข้างเคียงที่สำคัญของโรฮิปนอลคือ เมื่อหยุดยาอาจทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับที่แย่ลงกว่าเดิมได้ (rebound insomnia)
ทำไมกินแล้วลิ้นมีสีฟ้า?
เนื่องจากยาโรฮิปนอล มีฤทธิ์เป็นยานอนหลับที่แรง และมีผลต่อความทรงจำ และสร้างอันตรายต่อสังคมโดยรวมเป็นอย่างมาก ผู้ผลิตจึงคิดค้นวิธีป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิด โดยการใส่สีฟ้าไว้ภายในเม็ดยา ทำให้เมื่อยาละลายในเครื่องดื่มจะเกิดสีฟ้าให้เห็นและสังเกตได้ ดังนั้นจากข่าวจึงพบว่าเมื่อวัยรุ่นนำมาใช้เสพด้วยการอมไว้ในปาก ทำให้สีที่ละลายออกมาย้อมติดที่ลิ้น เห็นเป็นลิ้นสีฟ้า
และด้วยความกังวลต่อการนำไปใช้ก่ออาชญากรรมและความปลอดภัยของสังคม การผลิต ขาย หรือใช้ยาตัวนี้ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายในประเทศสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในยุโรป เช่น สเปน ฝรั่งเศส นอร์เวย์ เยอรมนี และสหราชอาณาจักร เป็นต้น ส่วนในประเทศที่ยังอนุญาตให้มีการใช้ในทางการแพทย์ ข้อบ่งใช้ของยาตัวนี้ก็มีเหลือไม่มากนัก ดังที่กล่าวไปข้างต้น
วิธีป้องกันสำหรับบุคคลทั่วไป
โรฮิปนอลเป็นยาที่ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ละลายน้ำได้ดีและมีตะกอนเพียงเล็กน้อย ทำให้สังเกตเห็นยาก สิ่งเดียวที่จะบอกได้ว่ามียาตัวนี้อยู่า คือ “สีฟ้า” ที่ผู้ผลิตใส่เพิ่มเข้ามา แต่หากเครื่องดื่มมีสีเข้ม สีฟ้าก็จะถูกบดบังทำให้ไม่เห็นความแตกต่าง หรือผู้ผลิตบางบริษัทก็ไม่มีการใส่สีเข้ามาทำให้สังเกตยากว่ามียาตัวนี้อยู่หรือไม่
ดังนั้นการสังเกตเพียงดูสีที่ผิดปกติของอาหารและเครื่องดื่มว่ามีสีฟ้าที่อาจมียาตัวนี้อยู่อาจจะไม่เพียงพอสำหรับการป้องกันอันตรายจากยาตัวนี้ และควรมีมาตรการป้องกันตัวจากยาตัวนี้
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่ผู้อื่นยื่นให้ ควรรับเครื่องดื่มจากพนักงานของร้านเองโดยตรง
- ถ้าลุกออกจากที่ เมื่อกลับมาต้องไม่ดื่มแก้วที่ทิ้งเอาไว้
- ควรไปเที่ยวเป็นหมู่คณะ และควรมีเพื่อนคนนึงไม่ดื่มแอลกอฮอล์เพื่อครองสติ ทำหน้าที่คอยสังเกตสถานการณ์ และดูแลให้กลับที่พักอย่างปลอดภัย (desinated driver/buddy system)
- ในปัจจุบันสถานบันเทิงหลายแห่งมีนโยบายป้องกันภัยคุกคามทางเพศ หากลูกค้ามีอาการง่วงผิดปกติ สะลึมสะลือ หรือถูกคุกคาม พนักงานจะเข้ามาแทรกแซงสถานการณ์ หรืออาจมีรหัสเพื่อให้ลูกค้าสามารถขอความช่วยเหลือจากพนักงานได้โดยไม่กระโดกกระตากให้คนร้ายไหวตัวทัน หากจะไปเที่ยวสังสรรค์ ดังนั้นจึงควรเลือกไปสถานบันเทิงที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเหล่านี้ด้วย
- โรฮิปนอลจะออกฤทธิ์ภายในครึ่งชั่วโมง หากสงสัยว่าตัวเองโดนวางยาจึงต้องรีบขอความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วก่อนที่จะเบลอและหมดสติ
- หากสังเกตว่าเพื่อนดูง่วงมากและมึนงงผิดปกติ ให้สงสัยว่าเพื่อนโดนมอมยา ให้รีบประกบตัว ไม่เปิดโอกาสให้คนร้ายเข้าถึงตัวได้ แล้วรีบขอความช่วยเหลือ และหากสังสัยว่าได้รับยาเกินขนาดจนอาจมีอันตรายถึงขึ้นเสียชีวิต ควรรีบพาไปโรงพยาบาลทันที
โทษทางกฎหมาย
ยาโรฮิปนอลนี้มีการควบคุมการใช้และจำหน่ายอย่างเข้มงวดในประเทศไทย โดยจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 2 มีเพียงแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์เท่านั้นที่มีสิทธิสั่งจ่ายยา ไม่มีการจำหน่ายในร้านขายยาทั่วไป และมีบทกำหนดโทษหากมีการใช้หรือจำหน่ายอย่างผิดกฎหมายตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ดังนี้
- จำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 โดยไม่ได้รับอนุญาต: จำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 700,000 บาท
- โฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต: จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- เสพโดยไม่ได้รักษาโรคตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพ: จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ผู้ใดจูงใจ ชักนำ ยุยงส่งเสริม ใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังบังคับ ให้ผู้อื่นเสพวัตถุออกฤทธิ์: โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สรุป
ยาลิ้นฟ้า หรือ ยาโรฮิปนอล (Rohypnol) เป็นยาอันตรายต่อทั้งผู้เสพยาและผู้ตกเป็นเหยื่อของการใช้ก่ออาชญากรรม และมีบทลงโทษหากผู้ใดนำไปใช้หรือจำหน่ายอย่างผิดกฎหมาย ในช่วงนี้มีการระบาดของยาชนิดนี้ในเมืองไทย ดังนั้นการรู้เท่าทันและการเฝ้าระวังจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อความปลอดภัยของคุณและคนรอบตัว