ในช่วงปลายฝนต้นหนาวหรือระหว่างเดือนสิงหาคม – ตุลาคม เด็ก ๆ มักจะป่วยง่ายและต้องมาพบหมอที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก ซึ่งโรคที่พบได้บ่อยและมีการระบาดเป็นประจำทุก ๆ ปีคือ โรค RSV ที่มีอาการคล้ายไข้หวัดแต่อาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบติดเชื้อได้ จากข้อมูลของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบการติดเชื้อ RSV มากที่สุดในกลุ่มเด็กเล็ก อายุน้อยกว่า 2 ปี รองลงมาคืออายุ 2-5 ปี โดยพบว่าเชื้อ RSV มักเป็นสาเหตุของการเกิดปอดอักเสบรุนแรงในเด็กเล็ก เด็กที่มีโรคประจำตัว ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และยังพบการติดเชื้อได้ในผู้สูงอายุอีกด้วย
RSV คืออะไร?
โรค RSV เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชื่อว่า respiratory syncytial virus (RSV) เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบของทางเดินหายใจได้ทั้งทางเดินหายใจส่วนบน และทางเดินหายใจส่วนล่าง พบการติดเชื้อได้ในทุกช่วงอายุ มักระบาดในช่วงฤดูฝนจนถึงฤดูหนาวของทุกปี พบได้บ่อยในเด็กเล็ก ไปจนถึงเด็กวัยอนุบาล อาจมีภาวะแทรกซ้อนหรืออาการที่รุนแรงในเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี เด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจ ทารกคลอดก่อนกำหนด หรือเด็กที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
อาการของ RSV
เด็กจะเริ่มแสดงอาการป่วยหลังได้รับ เชื้อ RSV มาแล้ว 4-6 วัน เชื้อ RSV มีระยะฟักตัวประมาณ 5 วัน โดย 2-4 วันแรกมักมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา คือเริ่มมีน้ำมูกขาวใส หรือขาวขุ่นปริมาณมาก คอแดง จากนั้นจะเริ่ม ไอ มีไข้สูงขึ้นเรื่อย ๆ อาจสูงได้ถึง 39-40 องศาเซลเซียส เมื่อมีการติดเชื้อรุนแรงมากขึ้นจะมีผลต่อทางเดินหายใจส่วนล่าง ทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ หายใจมีเสียงหวีด หอบเหนื่อยมาก หายใจลำบาก หายใจเร็ว กล่องเสียงอักเสบ และอาจส่งผลให้เกิดโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบตามมา และอาจเกิดภาวะระบบหายใจล้มเหลวและอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการตรวจรักษาที่รวดเร็วและถูกต้องเหมาะสม
การติดต่อของ RSV
เชื้อ RSV สามารถแพร่กระจายจาก “คนสู่คน” ผ่านละอองเสมหะของผู้ป่วยที่มีเชื้อ โดยการไอ จาม การกลืน และยังพบว่าเด็กทารกแรกเกิดสามารถติดเชื้อ RSV จากมารดาที่ติดเชื้อ RSV ก่อนคลอดได้ด้วย
นอกจากนี้ RSV ยังสามารถติดต่อโดย “การสัมผัส” เนื่องจากเชื้อ RSV สามารถมีชีวิตอยู่ได้หลายชั่วโมง ทำให้เชื้อยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้บนพื้นผิวที่แข็งต่าง ๆ เช่น โต๊ะ เตียง ลูกบิดประตู หากมีการสัมผัสเชื้อ RSV แล้วมีการขยี้ตา เชื้อ RSV ก็สามารถซึมผ่านเยื่อบุดวงตาได้ และหลังจากได้รับเชื้อ RSV แล้ว ผู้ป่วยจะสามารถแพร่กระจายเชื้อได้หลังติดเชื้อ ตั้งแต่วันที่ 2-3 ไปจนถึง 2-3 สัปดาห์
การวินิจฉัย RSV
RSV ไม่ใช่โรคใหม่ เป็นโรคที่มีมานานและตัวเชื้อมีการพัฒนาสายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ ทำให้การวินิจฉัยทำได้ยาก นอกจากนี้อาการของโรคยังมีความคล้ายคลึงกับโรคการติดเชื้อทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่น ไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ โควิด-19 แต่อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยที่ถูกต้องรวดเร็วมีความสำคัญในการรักษา เพราะจะทำให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้อง และป้องกันอาการที่รุนแรงและภาวะแทรกซ้อนที่จะตามมาได้ วิธีการตรวจวินิจฉัย RSV สามารถทำได้ดังนี้
- การตรวจร่างกายประเมินอาการและอาการแสดงต่าง ๆ เช่น มีไข้ หรือไข้สูงมากกว่า 39 องศา ไอมาก จาม น้ำมูก มีเสมหะเหนียว อ่อนเพลีย ร้องกวน หายใจเหนื่อย หอบ เสียงหายใจหวีด ซึมลง หากติดเชื้อรุนแรง อาจพบการหายใจเร็ว หายใจลำบาก หยุดหายใจ ตัวเขียวจากภาวะขาดออกซิเจน
- การภาพถ่ายรังสีทรวงอก (chest X-ray) อาจทำในรายที่อาการไม่ชัดเจน หรือสงสัยโรคอื่นแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจ โรคปอดอักเสบ หรือมีการสำลักสิ่งแปลกปลอม
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยการป้ายเชื้อไวรัสที่มีอยู่ในโพรงจมูกและลำคอ (radpid antigen testing) วิธีนี้มีข้อดีคือใช้เวลารอผลสั้น มีประสิทธิภาพสูง มีความแม่นยำสูง การทดสอบไม่ทำให้เจ็บปวด และใช้ในการพิจารณาการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
- การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) เพื่อแยกโรคการติดเชื้อจากแบคทีเรียและการติดเชื้อไวรัส
การรักษา RSV
ปัจจุบันหากอาการไม่รุนแรงการรักษาหลัก เป็นการรักษาตามอาการ เช่น การรับประทานยาลดไข้ เช็ดตัว รับประทานยาแก้ไอ จัดให้มีการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ แยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชน และบุคคลในครอบครัวเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อซ้ำซ้อน
RSV รักษาที่บ้านได้ไหม?
หากอาการไม่รุนแรง สามารถพักรักษาตัวที่บ้านและหายเองได้ ให้ดูแลตามอาการ เช่น เมื่อมีไข้ ให้ยาลดไข้และเช็ดตัวด้วยน้ำอุณหภูมิปกติ รับประทานยาแก้ไอ ละลายเสมหะ พักผ่อนและนอนหลับให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ
อาการแบบไหนจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล?
ควรรีบไปพบแพทย์หากมีอาการรุนแรง เช่น ไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส มีเสมหะมาก เสมหะเหนียวข้น หายใจเหนื่อยหอบ ตัวเขียว หายใจลำบาก ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาให้รักษาตัวในโรงพยาบาล
ต้องพักฟื้นนานแค่ไหน?
หลังติดเชื้อจะใช้เวลาในการฟื้นตัว 1-2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อ อย่างไรก็ตามมีโอกาสในการกลับมาติดเชื้อ RSV ซ้ำได้อีกหากสุขภาพร่างกายอ่อนแอ
การป้องกันอาการรุนแรงในเด็กที่มีความเสี่ยงสูง
หากกลุ่มเด็กทารกที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หัวใจพิการตั้งแต่เกิด คลอดก่อนกำหนด ถ้ามีการติดเชื้อ RSV แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสปาลิวิซูแมบ (palivizumab) เพื่อป้องกันอาการรุนแรง แต่อย่างไรก็ตามยาต้านไวรัสปาลิวิซูแมบมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนในเด็กบางรายได้เช่นกัน ซึ่งยาดังกล่าวไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อหรือช่วยรักษาโรค RSV ได้ เป็นเพียงป้องกันการเกิดอาการรุนแรง ที่อาจเป็นอันตรายและเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
ผู้ใหญ่เป็น RSV ได้ไหม?
ผู้ใหญ่ก็สามารถติดเชื้อ RSV ได้เช่นเดียวกับเด็ก ๆ แต่ความรุนแรงจะน้อยกว่า โดยผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 65 ปีหรือผู้สูงอายุ พบการติดเชื้อ RSV ได้ 3-5% ซึ่งมักพบในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง หรือโรคประจำตัว หรือมีโรคประจำตัวหลายโรค เช่น เบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมี หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นต้น โดยความรุนแรงของโรคจะขึ้นกับ อายุ โรคประจำตัว และการติดเชื้อก่อนหน้า
การป้องกันโรค RSV
- ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาแอลกอฮอล์เจล
- ทำความสะอาดของเล่นเด็กบ่อย ๆ ป้องกันการสะสมเชื้อโรค
- สร้างเสริมภูมิคุ้มกัน โดยในเด็กเล็กควรให้ดื่มนมแม่อย่างน้อยจนถึงอายุ 6 เดือนเพราะในน้ำนมแม่มีภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด ในเด็กโตและผู้สูงอายุควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ
- หากมีเด็กป่วยในโรงเรียนหรือสถานรับเลี้ยงเด็ก ควรแยกตัวออกจากเด็กปกติและให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายจากการติดเชื้อ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่การะจายของเชื้อ RSV ไปสู่ผู้อื่น และป้องกันการได้รับเชื้อแทรกซ้อน
- แยกข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว ซักล้าง ทำความสะอาดหลังใช้งาน เช่น ขวดนม แก้วน้ำ จาน ชาม ช้อน เสื้อผ้า ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น
- ผู้ดูแลควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
RSV กับโรคมือเท้าปากเหมือนกันหรือไม่?
โรค RSV (respiratory syncytial virus) และ โรคมือเท้าปาก (hand foot mouth disease) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสทั้ง 2 โรค แต่เป็นไวรัสคนละชนิด มักแพร่ระบาดในช่วงปลายฤดูฝนจนถึงต้นฤดูหนาวเช่นเดียวกัน
โดย RSV ติดต่อผ่านทางเดินหายใจจากละอองฝอยเสมหะ มักพบในเด็กเล็ก อายุน้อยกว่า 5 ปี และในผู้ใหญ่อายุมากกว่า 65 ปี หรือกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หรือภูมิคุ้มกันต่ำ และพบได้น้อยลงในเด็กโต เนื่องจากร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงมากขึ้น ทั้งนี้หากอาการรุนแรงมากอาจทำให้ระบบหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้
ในขณะที่โรคมือเท้าปาก เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มคอกซากีไวรัส 16 (Coxsackie virus 16) และกลุ่มเอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) พบในเด็กอายุ 2-5 ปี ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี แต่ก็พบได้ในเด็กที่อายุมากกว่า 10 ปีด้วยเช่นกัน ติดต่อผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งโดยตรงเช่น น้ำลาย อุจจาระ หรือมือของผู้เลี้ยงดู น้ำ อาหารที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค รวมถึงติดต่อผ่านทางตุ่มน้ำใสได้ด้วย โดยโรคมือเท้าปากจะมีอาการนำคือไข้ ซึ่งอาจจะมีไข้ต่ำหรือไข้สูงก็ได้ มีตุ่มใสที่มือ เท้า และบริเวณปากทั้งภายในและภายนอก ระยะที่แพร่เชื้อได้มากที่สุดคือภายใน 7 วันหลังจากเริ่มมีอาการ หากมีอาการรุนแรงมากจะมีโอกาสเกิดภาวะก้านสมองอักเสบ หัวใจอักเสบและถึงขั้นเสียชีวิตได้
RSV กับโรคมือเท้าปากเหมือนกันหรือไม่?
RSV ไข้หวัดใหญ่ และ โควิด-19 เป็นโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยมีความแตกต่างของโรค ดังนี้
ความแตกต่าง | RSV | ไข้หวัดใหญ่ | โควิด-19 |
เชื้อโรค | Respiratory syncytial virus (RSV) | Influenza virus | Coronavirus 2019 |
สายพันธุ์ | RSV-A และ RSV-B | Influenza virus A, B และ C ส่วนใหญ่พบการระบาดสายพันธุ์ A และ B | มีหลายสายพันธุ์ย่อย |
กลุ่มอายุ | น้อยกว่า 2 ปี, 2-5 ปี และกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 65 ปีขึ้นไป | ทุกช่วงอายุ | ทุกช่วงอายุ |
วัคซีนป้องกัน | ไม่มีวัคซีน | มีวัคซีน | มีวัคซีน |
การกลับเป็นซ้ำ | เป็นซ้ำได้ ทั้งสายพันธุ์เดิมและสายพันธุ์ใหม่ | เป็นซ้ำได้ ในสายพันธุ์ใหม่ | เป็นซ้ำได้ |
และมักมีความแตกต่างของอาการ ดังนี้
อาการ | RSV | ไข้หวัดใหญ่ | โควิด-19 |
ไข้ | ✔ | ✔ | ✔ |
อ่อนเพลีย | ✔ | ✔ | |
ไอ | ✔ | ✔ | ✔ |
เจ็บคอ | ✔ | ✔ | |
ปวดศรีษะ | ✔ | ✔ | |
มีน้ำมูก | ✔ | ✔ | ✔ |
หายใจไม่สะดวก | ✔ | ✔ | |
ท้องเสีย และ/หรือ อาเจียน | ✔ | ✔ | |
ตาแดง | ✔ | ||
ผื่น | ✔ | ||
การรับรู้รส และหรือ ได้กลิ่นลดลง | ✔ | ||
ทานอาหารได้น้อยลง | ✔ | ||
หายใจเสียงหวีด | ✔ | ||
จาม | ✔ |
สรุป
RSV เป็นเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายได้ง่ายและพบได้ทั่วไป ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่จะใช้ป้องกันและไม่มียาในการรักษาที่เฉพาะเจาะจง ฉะนั้นการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลเด็ก ๆ และผู้สูงอายุ เมื่อพบอาการผิดปกติที่สงสัยว่าจะเป็นการติดเชื้อ RSV ควรได้รับการวินิจฉัยที่รวดเร็วและได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เพราะจะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อ RSV ได้ “เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย อย่าลืมใส่ใจสุขภาพคนที่คุณรัก”