กระดูกสันหลังคด เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นกับได้กับทุกช่วงวัยตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น หรือในวัยทำงานก็สามารถเกิดกระดูกสันหลังคดได้ ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้อาจส่งผลต่อการทำงานของระบบอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น มีผลต่อการทำงานของปอดและหัวใจ หรือทำให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรังได้ ซึ่งโรคกระดูกสันหลังคดนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ และมีอาการหลาย ๆ อย่างที่เป็นอาการที่บ่งบอกว่ามีภาวะกระดูกสันหลังคด บทความนี้จะกล่าวถึงรายละเอียดของโรคกระดูกสันหลังคด สาเหตุ การรักษา และอาการแบบไหนควรได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดกระดูกสันหลังคด รวมไปถึงท่านอนที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีกระดูกสันหลังคด
โรคกระดูกสันหลังคด (scoliosis) คืออะไร?
โรคกระดูกสันหลังคด (scoliosis) คือ ภาวะที่กระดูกสันหลังมีการผิดรูป โดยมีแนวกระดูกที่โค้งไปด้านข้างซ้ายหรือข้างขวาโดยจะโค้งช่วงเดียวเป็นรูปตัว “C” หรือมีแนวกระดูกโค้งสองช่วงเป็นรูปตัว “S” ก็ได้
โดยปกติโรคกระดูกสันหลังคดเป็นความผิดปกติของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อชนิดที่ไม่รุนแรง แต่อย่างไรก็ตามเมื่ออายุมากขึ้นความโค้งกระดูกสันหลังอาจเพิ่มขึ้นและอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของ อวัยวะสำคัญ เช่น ปอด และหัวใจได้
กระดูกสันหลังคด เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง?
โรคกระดูกสันหลังคดเกิดได้จาก 3 สาเหตุ ได้แก่
- กระดูกสันหลังคดแต่กำเนิด (congenital scoliosis) เกิดจากความผิดปกติในการสร้างและการแบ่งปล้องของกระดูกสันหลัง โดยจะเริ่มพบการคดของกระดูกสันหลังได้ตั้งแต่แรกเกิด
- กระดูกสันหลังคดจากประสาทและกล้ามเนื้อ (neuromuscular scoliosis) เกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ ทำให้แรงดึงของกล้ามเนื้อด้านข้างต่อกระดูกสันหลังสองฝั่งทำงานไม่เท่ากัน ให้เกิดการคดของกระดูกสันหลัง
- กระดูกสันหลังคดโดยไม่ทราบสาเหตุ (idiopathic scoliosis) เกิดจากการเจริญเติบโตของกระดูกสันหลังผิดปกติ โดยมีการเติบโตแบบบิดหมุนทำให้เกิดการคดของกระดูกสันหลัง พบได้บ่อยในเด็กที่มีการเจริญเติบโตเข้าสู่วัยรุ่นหรือช่วงอายุ 10-18 ปี
อาการของกระดูกสันหลังคด
ผู้ที่มีภาวะกระดูกสันหลังคดอาจมีอาการหรือลักษณะท่าทางที่ผิดปกติที่สังเกตได้ เช่น
- ขณะยืนตรงระดับไหล่สูงไม่เท่ากัน
- ขณะยืนตรงความเว้าของเอวสองข้างด้านซ้ายและขวาไม่เท่ากัน
- ขณะยืนเดินลำตัวเอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง
- ขณะยืนหรือก้มหลังมีความนูนของหลังทางฝั่งซ้ายและขวาไม่เท่ากัน
หากมีอาการรุนแรงมากขึ้น นอกจากจะมีกระดูกสันหลังโค้งไปทางด้านใดด้านหนึ่งแล้ว อาจพบลักษณะคล้ายก้อนนูนไปทางด้านหลัง จากการที่มีการหมุนหรือบิดตัวของกระดูกสันหลังแล้วทำให้ซี่โครงด้านหนึ่งยื่นออกมากกว่าอีกด้านหนึ่ง
ภาวะแทรกซ้อนจากกระดูกสันหลังคด
แม้ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอาการไม่มาก แต่หากทิ้งไว้และไม่ได้รับการตรวจประเมินและรักษาอย่างถูกต้องอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น
- ปอดและหัวใจทำงานได้ไม่เต็มที่ ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่ายกว่าปกติ ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังคดรุนแรง ส่งผลให้กระดูกสันหลังไปกดเบียดปอดและหัวใจ ปอดและหัวใจจึงทำงานได้ไม่เต็มที่
- ปัญหาเกี่ยวกับหลัง ผู้ใหญ่ที่มีปัญหากระดูกสันหลังคดตั้งแต่เด็ก มีแนวโน้มว่าจะมีอาการปวดหลังเรื้อรังมากกว่าคนปกติ
- ปัญหาบุคลิกภาพ เมื่อกระดูกสันหลังคดมากขึ้น จนสามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนว่าไหล่และสะโพกไม่เท่ากัน ซี่โครงนูนขึ้นมาผิดปกติ เอวและลำตัวเบี้ยว ซึ่งทำให้สมดุลตัวและรูปร่างโดยรวมผิดปกติไป ส่งผลต่อบุคลิกภาพได้
- ปัญหากระดูกสันหลังหัก ถ้ามีความผิดปกติของกระดูกสันหลังคดเพิ่มขึ้นอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายจากการเดินและการทรงตัวที่ไม่สมดุล ส่งผลให้เกิดการลื่นล้มก้นกระแทกพื้นและทำให้กระดูกหักได้ พบว่ามักเกิดในตำแหน่ง บริเวณรอยต่อระหว่างกระดูกสันหลังส่วนอกและเอว
- ปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท ในรายที่รุนแรงอาจมีผลต่อระบบประสาทได้
กระดูกสันหลังคดแบบไหนควรไปพบแพทย์?
ส่วนใหญ่แล้วอาการกระดูกสันหลังคดจะเป็นอาการที่ค่อย ๆ เป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ หากผู้ป่วยหรือบุคคลรอบข้างสังเกตเห็นมีลักษณะของภาวะกระดูกสันหลังคดแล้ว ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง โดยแพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจการทำงานของระบบประสาท รวมถึงการส่งตรวจภาพถ่ายเอกซเรย์กระดูกสันหลัง และอาจส่งตรวจด้วยวิธีพิเศษ เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) และ เอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล้กไฟฟ้า (MRI)
การรักษากระดูกสันหลังคด
การรักษากระดูกสันหลังคดทำได้หลายวิธี ทั้งวิธีที่ไม่ต้องผ่าตัด และวิธีที่ต้องผ่าตัดแก้ไขกระดูกสันหลังคด โดยจะเป็นการรักษาตามสาเหตุและอาการของผู้ป่วย ทั้งนี้ซึ่งขึ้นอยู่กับผลการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยจะมีการรักษาดังนี้
การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด
- การออกกำลังกายที่เหมาะสม และทำกายภาพบำบัด แพทย์จะแนะนำวิธีนี้ในกรณีผู้ป่วยที่กระดูกสันหลังคดไม่มาก
- การใส่เสื้อเกราะ เพื่อป้องกันการเพิ่มของมุมคด จะใช้ในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ดังต่อไปนี้
– ผู้ป่วยกระดูสันหลังคดชนิดไม่ทราบสาเหตุ (idiopathic scoliosis)
– ผู้ป่วยอยู่ในวัยเจริญเติบโต คือ ในเด็กผู้หญิงที่เริ่มมีประจำเดือนมาน้อยกว่า 2 ปี หรือในกลุ่มเด็กที่ยังไม่มีลักษณะของร่างกายที่แสดงถึงการเจริญเติบโตที่เต็มที่ เช่น การมีเต้านม มีขนตามรักแร้และอวัยวะเพศ
– ผู้ป่วยที่มีมุมคดของกระดูกสันหลังมากกว่า 30 องศา
ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโดยการใส่เสื้อเกราะควรต้องใส่เสื้อเกราะให้ได้อย่างน้อย 16 ถึง 18 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้ได้รับประสิทธิภาพสูงสุดจากการรักษา
ผู้ป่วยในกลุ่มนี้แพทย์จะต้องนัดตรวจติดตามอย่างต่อเนื่องทุก 6 – 12 เดือน ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้การรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป
การผ่าตัดกระดูกสันหลังคด
เป็นการใช้โลหะดามกระดูกสันหลังหรือที่เรียกว่าผ่าตัดกระดูกสันหลังใส่เหล็ก เพื่อเป็นการจัดแนวกระดูกสันหลังให้ตรงขึ้นและเชื่อมข้อกระดูกสันหลังให้ติดแข็ง
โดยหลังการผ่าตัดควรงดกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลัง เช่น การก้มตัว การบิดตัว เป็นเวลา 3 – 6 เดือน แล้วจึงเริ่มออกกำลังกายที่ไม่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ เช่น เดิน ว่ายน้ำ วิ่งเหยาะ ปั่นจักรยานอยู่กับที่ เป็นต้น
เมื่อไหร่ควรผ่าตัดกระดูกสันหลังคด?
แพทย์อาจจะพิจารณาการผ่าตัดกระดูกสันหลังคด ในผู้ป่วยกลุ่มต่อไปนี้
- มีมุมคดของกระดูกสันหลังส่วนอกมากกว่า 50 ถึง 55 องศา
- มีมุมคดของกระดูกสันหลังส่วนเอวมากกว่า 40 องศา
- รักษาด้วยการใส่เสื้อเกราะป้องกันการเพิ่มของมุมคดแล้วไม่ได้ผล
- มีอาการกระดูกสันหลังคดมากขึ้นและกระดูกสันหลังยังเจริญเติบโตได้อีกมาก
- ให้การรักษาด้วยวิธีการอื่นแล้วไม่ได้ช่วยชะลอความรุนแรงของโรค
- ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์เมื่อมีกระดูกสันหลังคดอย่างรุนแรงตั้งแต่แรก
- ผู้ป่วยที่มีอาการปวดอย่างรุนแรง
- กระดูกสันหลังคดและมีผลกระทบต่อระบบประสาท
ท่านอนสำหรับผู้มีปัญหากระดูกสันหลังคด
คนที่มีกระดูกสันหลังคดสามารถนอนได้ปกติเหมือนคนทั่วไป แต่อาจหลีกเลี่ยงการนอนคว่ำ เพราะอาจทำให้หายใจไม่สะดวก หรือปวดคอได้
ที่นอนควรเป็นที่นอนที่เรียบสม่ำเสมอ ไม่มีรอยยุบหรือนูน เป็นที่นอนเนื้อแน่น ที่ไม่นุ่มยวบ หรือแข็งเกินไป หมอนควรเป็นหมอนเนื้อแน่น รองรับศีรษะและคอได้พอดี ไม่มีช่องว่างระหว่างหมอนและคอ
สรุป
กระดูกสันหลังคด คือ ภาวะกระดูกสันหลังผิดรูปชนิดหนึ่ง ส่วนมากเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างกระดูกสันหลังรวมถึงความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและระบบประสาท ซึ่งจะพบได้มากในช่วงวัยรุ่น อายุตั้งแต่ 9 ถึง 10 ปีขึ้นไป ซึ่งตัวผู้ป่วยเอง คนในครอบครัวและคนรอบข้าง สามารถสังเกตอาการและลักษณะต้องสงสัยว่ามีภาวะกระดูกสันหลังคดได้จากอาการที่กล่าวไปข้างต้น และเมื่อพบอาการของกระดูกสันหลังคด ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อตรวจวินิจฉัย หาสาเหตุของกระดูกสันหลังคด และรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกสันหลังคดเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อบุคลิกภาพและการทำงานของปอดและหัวใจ หรืออาจทำให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรัง หรือหากอาการรุนแรง อาจส่งผลถึงระบบประสาทได้
ข้อมูลเพิ่มเติม ศูนย์กระดูกสันหลัง (Advanced Spine Center) รพ.พระรามเก้า