อ้วน นอนกรนและโรคหัวใจเกี่ยวข้องกันอย่างไร
โรคนอนกรน (Sleep apnea) จะหมายถึง การพบมีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ คาร์บอนไดออกไซด์คั่งในเลือด ตอนที่หยุดหายใจเป็นพัก ๆ ระหว่างนอนหลับเท่านั้น และการที่นอนกรนก็ไม่จำเป็นต้องเกิดภาวะผิดปกตินี้ นอกจากนี้การเกิดภาวะหยุดหายใจระหว่างนอนหลับ ก็ไม่จำเป็นต้องพบในคนที่อ้วนเท่านั้นในคนที่ผอมก็อาจเกิดความผิดปกตินี้ได้ จึงจำเป็นต้องได้รับการพิสูจน์ชัดเจน โดยใช้เครื่องมือพิเศษตรวจ (Sleep Study) ความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจจึงพบได้ เนื่องจากการหยุดหายใจระหว่างหลับและเนื่องจากโรคอ้วนเอง (ทั้งๆ ที่ไม่มีภาวะนอนกรนร่วมด้วย)
โรคนอนกรน หรือ Sleep apnea นี้จะพบว่าระหว่างที่นอนหลับแล้วมีการหยุดหายใจออกซิเจนในเลือดจะต่ำลง คาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้น ความดันของทั้งหลอดเลือดแดงในปอดและร่างกายจะสูงขึ้น หัวใจจะบีบตัวส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกายลดลง ในระยะแรกจะพบเฉพาะกลางคืนช่วงที่หยุดหายใจถ้าเป็นไปนาน ๆ ความผิดปกตินี้จะพบในเวลากลางวันด้วย คนไข้จะนอนหลับไม่สนิทตอนกลางคืน ทำให้ง่วงนอนและหลับมากในเวลากลางวัน ความผิดปกติจะพบว่าหัวใจเต้นช้าลงมาก บางครั้งหัวใจจะหยุดเต้นอาจนานถึง 2-13 วินาที ซึ่งอาจทำให้อาการเป็นลมหมดสติได้ อาจพบภาวะ heart block ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Prematureatrial contraction, Premature ventricular contraction. Atrial fibrillation,Ventricular Tachycardia) ซึ่งบางครั้งอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ส่วนความผิดปกติในหัวใจที่เกี่ยวข้องกับอ้วนนั้น ประกอบด้วย
- กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ การบีบตัวลดลง การทำงานของหัวใจล้มเหลว
- ความดันโลหิตสูง ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจหนา การบีบตัวผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะและเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- โรคอ้วนทำให้ไขมันในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- ทำให้การหายใจลดลง (Hypoventilation) โดยไม่มีภาวะการหยุดหายใจร่วมด้วย เกิดภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ คาร์บอนไดออกไซด์คั่ง ภาวะเป็นกรดในเลือด ถ้าสามารถลดน้ำหนักได้ ภาวะนี้จะดีขึ้นหรือหายไปได้
แนวทางการรักษา
- ปรับสุขภาพอนามัยการนอนหลับ นอนพักผ่อนเป็นเวลาทุกวัน ทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายก่อนนอนหลับ
- ควบคุมน้ำหนักและออกกำลังกาย
- หลีกเลี่ยงในท่านอนหงาย
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ บุหรี่ และยานอนหลับหรือยาที่กดประสาทส่วนกลาง
- ใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจขณะนอนหลับ CPAP (Continuous Posititve Airway Pressure) ซึ่งเครื่องจะอัดอากาศที่เหมาะสม ทำให้ช่องทางเดินหายใจกว้างขึ้น
- Oral applicances เป็นเครื่องมือทางทันตกรรม ที่ช่วยเปิดทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น
- การผ่าตัด มีอยู่หลายวิธีตามตำแหน่งที่มีภาวะอุดตัน
7.1 ช่องจมูกและหลังโพรงจมูก เช่น ผ่าตัดริดสีดวงจมูก ผ่าตัดผนังจมูกให้ตรง ลดขนาดของเยื่อบุจมูกบวมด้วยเครื่องซอมโนพลาสตี้ (Radiofrequency Volumetric Tissue Reduction)
7.2 ผ่าตัดทอนซิลและตกแต่งบริเวณลิ้นไก่เพดานอ่อน Uvulopalatopharyngoplarty (UPPP)
7.3 ผ่าตัดเลื่อนขากรรไกรมาทางด้านหน้า เพื่อเปิดช่องทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น Maxillo-Mandibular Advancment (MM)