Sleep test ตรวจความผิดปกติการนอนหลับ ทั้งนอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ พร้อมแบบทดสอบ
“นอนเยอะแต่ยังรู้สึกนอนไม่พอ ง่วงทั้งวัน”
“นอน ๆ อยู่แล้วสะดุ้งตอนกลางคืนบ่อย ๆ”
“นั่งทำงานแล้วหลับบ่อย ๆ”
“นอนตื่นมาแล้วมีแผลตามร่างกายโดยจำไม่ได้ว่าทำอะไรมา”
“ขับรถหลับใน เกิดอุบัติเหตุ”
หลาย ๆ คนอาจมีอาการเหล่านี้ซึ่งเป็นปัญหาการนอนหลับที่อาจสร้างปัญหากับการใช้ชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการทำงาน เพราะการนอนไม่ใช่แค่การพักผ่อน แต่การนอนที่มีคุณภาพจะทำให้มีสุขภาพดีตามมาด้วย ดังนั้นความผิดปกติของการนอนจึงเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม การตรวจการนอนหลับ หรือ sleep test เป็นการตรวจที่จะบอกถึงการทำงานของร่างกายในระหว่างนอนซึ่งสามารถบอกถึงความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับได้
Sleep test หรือ การตรวจการนอนหลับ คืออะไร?
Sleep test คือ การตรวจการนอนหลับ เพื่อสังเกตการทำงานของร่างกาย และหาสาเหตุของความผิดปกติต่าง ๆ ในระหว่างการนอนหลับ โดยใช้เครื่องมือเฉพาะที่สามารถบอกความผิดปกติของการนอนหลับได้ ร่วมกับการดูแลโดยทีมแพทย์เฉพาะทางและนักเทคนิคที่มีความเชี่ยวชาญด้านการนอน
การตรวจการนอนหลับ (sleep test) มีประโยชน์อย่างไร?
“ปัจจุบันถือว่าการตรวจ sleep test เป็นการตรวจที่เป็นมาตรฐานสากล (gold standard) ในการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ” เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น (Obstructive sleep apnea : OSA) การกระตุกของกล้ามเนื้อต่าง ๆ รวมถึงพฤติกรรมที่ผิดปกติระหว่างการนอนหลับ เพื่อให้แพทย์สามารถนำผลการตรวจไปวางแผน หรือติดตามการรักษาได้อย่างถูกต้อง
นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นข้อมูลในการตั้งค่าความดันลมในผู้ที่ใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP) เพื่อช่วยเปิดช่องทางเดินหายใจในขณะนอนหลับ หรือการปรับระดับของเครื่องมือในช่องปาก (oral appliances) ในผู้ที่มีโรคหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น (Obstructive sleep apnea : OSA)
นอกจากนี้ยังใช้พิจารณาเลือกวิธีการผ่าตัดทางเดินหายใจและใช้ติดตามผลการรักษา ตลอดจนช่วยในการวินิจฉัยโรคความผิดปกติอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการนอน และตรวจคุณภาพการนอนได้อีกด้วย
ใครบ้างที่ควรเข้ารับการตรวจ sleep test?
หากมีอาการผิดปกติหรือพิจารณาว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงดังต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจ sleep test
ใครบ้างที่ควรเข้ารับการตรวจ sleep test?
- นอนกรน
- มีเสียงกรนหยุดเป็นพัก ๆ พลิกตัวบ่อย ๆ
- หายใจลำบาก และสงสัยว่ามีการหยุดหายใจขณะหลับ
- ง่วงนอนช่วงกลางวันมากผิดปกติ ทั้งที่ได้ผักผ่อนอย่างเพียงพอ
- ตื่นเช้าไม่สดชื่น มีอาการปวดหัวหลังตื่นนอน และรู้สึกอ่อนเพลียหลังตื่นนอนบ่อย ๆ
- มีพฤติกรรมการนอนที่ผิดปกติ เช่น แขนขากระตุกระหว่างนอนหลับ นอนกัดฟัน นอนละเมอ หรือสะดุ้งตื่นเป็นประจำ
- นอนหลับยาก หรือรู้สึกนอนหลับได้ไม่เต็มที่บ่อย ๆ มากกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
จากอาการข้างต้น มีแบบทดสอบที่ได้รับการยอมรับในการประเมินความง่วงที่ผิดปกติ ชื่อว่า Epworth sleepiness scale เพื่อประเมินความง่วง ที่อาจมีสาเหตุจากความผิดปกติด้านการนอนหลับ แบบทดสอบนี้ประกอบด้วยชุดคำถามที่จะช่วยให้เราประเมินตัวเองหรือคนรอบข้างได้เบื้องต้น
กลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับการตรวจ sleep test
- ผู้ที่เสี่ยงจะเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
- ผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือมีน้ำหนักตัวเกิน
- ผู้ที่แพทย์สงสัยว่าอาจมีภาวะชักขณะนอนหลับหรือเป็นโรคลมหลับ (narcolepsy)
- ผู้ที่ป่วยเป็นโรคต่าง ๆ เช่น หัวใจวาย ไตวาย ความดันโลหิตสูง เบาหวาน
- ผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับที่ยังรักษาไม่ได้
ตรวจ sleep test วัดอะไรบ้าง?
การตรวจ sleep test จะมีการติดอุปกรณ์เฉพาะที่ใช้บันทึกการทำงานของร่างกายขณะนอนหลับ ได้แก่ ความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด การหายใจเข้าออกทั้งทางจมูกและทางปาก คลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้าหัวใจ การขยับของกล้ามเนื้อตา แขนขาและกราม รวมทั้งบันทึกวิดีโอเพื่อสังเกตพฤติกรรมที่ผิดปกติระหว่างนอนหลับ
เมื่อตรวจ sleep test เสร็จแล้วแพทย์จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์และแปลผลการตรวจเพื่อวินิจฉัยความผิดปกติต่าง ๆ พร้อมทั้งประเมินความรุนแรง เช่น การหยุดหายใจขณะหลับ ระดับออกซิเจนในเลือดขณะหลับ ภาวะเคลื่อนไหวและพฤติกรรมผิดปกติขณะหลับ นอนแขนขากระตุกขณะหลับ การละเมอ ภาวะนอนไม่หลับ และความผิดปกติของการนอนหลับอื่น ๆ ได้
การเตรียมตัวก่อนตรวจ sleep test
การเตรียมตัวก่อนตรวจ sleep test
- อาบน้ำและสระผมให้สะอาดก่อนมาตรวจ อย่าใส่น้ำมันหรือครีมใด ๆ มาด้วย เพราะอาจรบกวนการติดอุปกรณ์การตรวจ
- งดชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์ ในวันที่จะมาตรวจ
- หลีกเลี่ยงการงีบหลับในช่วงกลางวันของวันที่มาตรวจ เพื่อให้สามารถนอนหลับได้อย่างเต็มที่
- จดชื่อ และขนาดยา พร้อมทั้งนำยาทุกชนิดที่รับประทานอยู่ติดตัวมาด้วย (หากมีข้อสงสัยเรื่องยา ควรปรึกษาแพทย์ผู้ตรวจ)
- ส่วนใหญ่ เจ้าหน้าที่ประจำห้องตรวจจะเริ่มทำการติดตั้งเครื่องและตัวตรวจวัดต่าง ๆ โดยจะใช้เวลาประมาณ 45 – 60 นาที
- ติดต่อสอบถาม และเช็คข้อมูลต่าง ๆ กับโรงพยาบาลที่เราตัดสินใจไปทำ sleep test
ข้อแนะนำจากแพทย์เฉพาะทาง
พญ.เพชรรัตน์ แสงทอง แพทย์เฉพาะทาง ด้าน โสต ศอ นาสิกวิทยาและเวชศาสตร์การนอนหลับประจำศูนย์ หู คอ จมูก โรงพยาบาลพระรามเก้า ได้แนะนำว่าคุณภาพของการนอนเป็นตัวบ่งชี้ถึงสุขภาพ และปัญหาการนอนยังอาจทำให้เกิดโรคที่ร้ายแรงได้ในอนาคต การตรวจการนอนหลับหรือ sleep test จะบอกได้ถึงปัญหาของการนอน และสามารถรักษาได้อย่างถูกต้อง และคุณหมอ ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า การตรวจ sleep test เป็นการตรวจที่ปลอดภัย เพราะจะมีเจ้าหน้าที่อยู่กับท่านตลอดเวลา หากมีความผิดปกติใด ๆ ก็ตาม เจ้าหน้าที่จะแจ้งแพทย์ทันที
สรุป
ปัญหาการนอนเป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม เพราะไม่ใช่แค่การนอนดึก นอนไม่พอ ไม่สดชื่น ไม่กระปรี้กระเปร่า แต่อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่ความสำคัญ เช่น โรคความดันสูง โรคหัวใจ ความดันในปอดสูง โรคหลอดเลือดสมอง อารมณ์แปรปรวนและคุณภาพการนอนที่ไม่ดียังอาจส่งผลกระทบต่อการทำงาน ซึ่งจะสร้างปัญหาต่อหน้าที่การงานได้
ดังนั้นการตรวจการนอนหลับ หรือ sleep test จะช่วยให้ทราบถึงความผิดปกติของการนอนหลับ ทำให้ดูแลและรักษาได้อย่างถูกต้อง เพื่อสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์ ให้ทุก ๆ เช้าที่ตื่นมาเป็นวันที่สดใส กระกระปรี้กระเปร่า มีพลังในการทำงานได้อย่างเต็มที่