โดย นพ. ณรงค์ เชาวนะปัญจะ และ พญ. เพชรรัตน์ แสงทอง
หลายคนอาจคิดว่าปัญหาการนอนกรนเป็นแค่เรื่องของความเสียงดังน่ารำคาญ แท้จริงแล้วอาการดังกล่าวสามารถสร้างปัญหาสุขภาพมากกว่าที่คิด บางคนอาจแค่มีอาการเจ็บคอหรือคอแห้งหลังตื่นนอนทุกเช้า ในขณะที่บางคนมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย และเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตโดยไม่รู้ตัว
ดังนั้น เมื่อรู้ตัวว่ามีอาการนอนกรน จึงไม่ควรประมาทเด็ดขาด หากลองแก้ไขด้วยวิธีต่างๆ เองแล้วไม่หาย อย่าปล่อยไว้ ให้รีบมาปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย รวมทั้งพิจารณาตรวจการนอนหลับ (Sleep test) และวางแผนหาแนวทางการรักษาต่อไป
ใครอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว อยากรู้ว่าควรรักษานอนกรนที่ไหนดี และต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง บทความนี้มีคำตอบให้แล้ว
สารบัญ
- นอนกรนเกิดจากอะไร?
- นอนกรน แบ่งได้เป็น 2 ประเภท
- อาการนอนกรนร่วมกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- อันตรายจากการนอนกรน
- เช็คเบื้องต้น เราง่วงมากผิดปกติหรือไม่? ด้วยชุดคำถามนี้
- Sleep test หรือการตรวจวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- Sleep test ที่ไหนดี?
- การเตรียมตัวเพื่อทำ sleep test
- 7 สาเหตุที่ทำให้อาการนอนกรนรุนแรงยิ่งขึ้น
- แนวทางการรักษาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- สรุป
นอนกรนเกิดจากอะไร?
การนอนกรน เกิดจากทางเดินหายใจส่วนบนถูกอุดกั้น โดยในขณะที่เรานอนหลับ กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อบริเวณช่องคอส่วนบน ได้แก่
ลิ้นไก่ เพดานอ่อน คอหอย โคนลิ้น และฝาปิดกล่องเสียง จะหย่อนตัวลง ทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบ เมื่อลมเคลื่อนที่ผ่านบริเวณดังกล่าวจึงเกิดเสียงดังขึ้น กลายเป็นเสียงกรนเจ้าปัญหาในที่สุด
นอนกรน แบ่งได้เป็น 2 ประเภท
1.นอนกรนธรรมดา (snoring) ซึ่งอาจเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวหรืออาจเกิดขึ้นเป็นประจำก็ได้ กรณีนี้น่าเป็นห่วงคนข้างกายที่อาจหลับไม่สนิทหรือต้องลุกขึ้นกลางดึกเพราะเสียงดังรบกวน หากหาสาเหตุหรือแก้ไขได้ก็จะเป็นเรื่องดี
2.นอนกรน และมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea; OSA) ร่วมด้วย กรณีนี้ น่าเป็นห่วงทั้งคนข้างกายและ
ตัวผู้นอนเองด้วย เนื่องจากร่างกายมีโอกาสที่จะได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดปัญหาในระยะสั้นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และเกิดความผิดปกติต่อระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายในระยะยาวได้
โดยอาการนอนกรนบ่งบอกถึงทางเดินหายใจบางส่วนถูกอุดกั้น ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เราจะทราบได้อย่างไรว่า อาการนอนกรนของเรานั้นมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย
อาการนอนกรนร่วมกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
มีข้อสังเกตคือ หากเป็นกรณีที่นอนกรนแล้วมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย เสียงกรนจะมีลักษณะที่ไม่สม่ำเสมอ โดยผู้ป่วยจะหยุดหายใจเป็นช่วง ๆ สลับกับเสียงกรน
ในช่วงที่ผู้ป่วยมีภาวะหยุดหายใจ ระดับออกซิเจนในเลือดแดงอาจจะต่ำลงกว่าค่าปกติ มีผลให้หัวใจ ปอด และสมองทำงานหนักมากขึ้น
ผู้ป่วยอาจสะดุ้งตื่นกลางดึกบ่อย ๆ ทำให้นอนหลับได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้เกิดปัญหาการนอนหลับและมีอาการทางสุขภาพตามมา เช่น
- มีอาการหยุดหายใจขณะหลับ
- มีอาการนอนกระสับกระส่าย (โดยได้ประวัติจากคนใกล้ชิด)
- ตื่นนอนด้วยความรู้สึกที่ไม่สดชื่น
- มีอาการเจ็บคอ คอแห้งเมื่อตื่นนอน
- รู้สึกเหมือนนอนไม่พอ และมีอาการง่วงมากผิดปกติในช่วงกลางวัน
- สมาธิไม่ดี หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน
- ปัสสาวะรดที่นอน (มักพบในเด็ก)
อันตรายจากการนอนกรน
ปัญหาสุขภาพที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ อาจเป็นปัญหาที่สร้างความรำคาญในการใช้ชีวิตประจำวัน บางคนอาจจะทนไหว และคิดว่าพยายามพักผ่อนให้มากขึ้นอาจจะดีขึ้นเอง แต่อาการเหล่านี้มักไม่หายได้เอง จนกว่าผู้ป่วยจะปรับพฤติกรรมอย่างจริงจังหรือได้รับการรักษาที่
ถูกต้องเสียก่อน ซึ่งหากปล่อยไว้ บางทีอาจก่อให้เกิดปัญหาที่ร้ายแรงต่อสุขภาพได้ เช่น
โรคความดันโลหิตสูง
การนอนกรนร่วมกับภาวะหยุดหายใจทำให้มีการขาดออกซิเจน ผู้ป่วยตื่นบ่อยๆ กระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงขึ้นได้ และเป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง ที่เราสามารถรักษาแก้ไขได้
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
การนอนกรนร่วมกับภาวะหยุดหายใจทำให้ขาดออกซิเจน ร่างกายจะมีการกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นมาเพื่อส่งออกซิเจนไปเลี้ยงทั่วร่างกาย สลับกับกลับมาเต้นช้าเมื่อออกซิเจนเพียงพอ เมื่อหัวใจเต้นเร็วสลับช้าแบบนี้บ่อยครั้งเวลานอนส่งผลให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะในที่สุด
ความต้องการทางเพศลดลง
ปัญหาการนอนกรนเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งของอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เนื่องจากการนอนหลับและเกิดการขาดออกซิเจน ส่งผลให้ร่างกายเกิดความเครียดและ ส่งผลต่อการไม่แข็งตัวของอวัยวะเพศชาย และในเพศหญิงเกิดการทำหน้าที่ผิดปกติทางเพศสัมพันธ์
ภาวะความดันเลือดในปอดสูง
ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะความดันเลือดในปอดสูง ส่งผลให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น ทำให้การสูบฉีดและแลกเปลี่ยนออกซิเจนทำได้น้อยลง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว หากปล่อยให้การนอนกรนเป็นแค่เรื่องของเสียงดังรบกวน และไม่รีบมาตรวจหรือวางแผนการรักษา อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้อีกมากมายเลยทีเดียว
เช็คเบื้องต้น เราง่วงมากผิดปกติหรือไม่? ด้วยชุดคำถามนี้
โดยทั่วไป การตรวจคัดกรองโรคนอนกรนหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับเบื้องต้น แพทย์จะสอบถามข้อมูลจากตัวผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิด เช่น สามีหรือภรรยา และจะให้ทำแบบสอบถามว่ามีอาการเผลอหลับในสถานการณ์ต่าง ๆ บ้างหรือไม่ แบบสอบถามนี้เรียกว่า Epworth sleepiness scale
แต่หากเราเริ่มสงสัยว่าตัวเองอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และส่งผลกระทบต่อปัญหาง่วงเหงาหาวนอนมากจนดูผิดปกติ สามารถลองทำแบบสอบถามความง่วงนี้และให้คะแนนประเมินตัวเองได้เหมือนกัน โดยดูได้จากตารางนี้
โดยคะแนน 0 = ไม่เคยง่วง, 1 = ง่วงเล็กน้อย, 2 = ง่วงปานกลาง, 3 = ง่วงมาก
แบบสอบถาม Epworth sleepiness scale
หากว่าเราได้คะแนนรวมกันมากกว่าหรือเท่ากับ 9 คะแนนขึ้นไป แสดงว่าเรามีภาวะง่วงมากผิดปกติ ควรได้รับการสืบค้นหาสาเหตุเพื่อวินิจฉัยโรคและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจโดยละเอียดอีกที ด้วยวิธี sleep test
Sleep test หรือ การตรวจวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจ
ขณะหลับ
Sleep test คือ การตรวจการนอนหลับ เพื่อบันทึกลักษณะความผิดปกติขณะนอนหลับ ซึ่งแพทย์จะนำผลไปวินิจฉัย เพื่อประเมินความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับต่อไป
Sleep test ตรวจอะไรบ้าง
ในขณะที่ทำ Sleep test นักเทคนิคการแพทย์จะทำการบันทึกข้อมูลต่าง ๆ เช่น
- การตรวจวัดระดับความลึกของการนอนหลับ
- การตรวจวัดระดับออกซิเจน ลมหายใจ และการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อทรวงอกและหน้าท้อง
- การตรวจวัดการทำงานกล้ามเนื้อตา การกัดฟันและกระตุกของขาขณะหลับ
- ท่านอนและเสียงกรน
- การตรวจการเต้นของหัวใจ เป็นต้น
หลังจากนั้น จะนำข้อมูลต่าง ๆ ที่บันทึกได้ พร้อมกับผลการตรวจร่างกาย มาวินิจฉัยและวางแผนการรักษาต่อไป
Sleep test ที่ไหนดี?
สำหรับท่านที่สงสัยว่า จะไปตรวจ sleep test และรักษานอนกรนที่ไหนดี ปัจจุบัน เราสามารถเข้ารับการตรวจ sleep test ได้จาก 3 สถานที่หลัก ๆ คือ โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน ตามคลินิกต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการตรวจที่บ้าน โดยมีเทคนิคในการเลือกสถานที่ตรวจให้เหมาะกับเราดังนี้
- โรงพยาบาลรัฐ เหมาะสำหรับ ผู้ที่มีสิทธิ์เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ตามสิทธิ์ที่มีอยู่ ราคาตรวจจะถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชน แต่อาจต้องรอคิวนานเป็นเดือน
- โรงพยาบาลเอกชน และตามคลินิกต่างๆ เหมาะสำหรับ ผู้ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องรอคิวนาน หรือผู้ที่มีสิทธิ์การรักษา เช่น สิทธิ์ในการเบิกสินไหมประกันชีวิต ดูแลโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างใกล้ชิด
- การตรวจการนอนหลับที่บ้าน เหมาะสำหรับ ผู้ที่มีปัญหาในการนอนหลับในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยจริงๆ ไม่ต้องรอคิวนาน ข้อควรระวังของการตรวจที่บ้านคือ อาจจะมีการหลุดเลื่อนของสายสัญญาณสำคัญในขณะหลับและไม่ได้รับการแก้ไขทันท่วงทีเหมือนตรวจที่สถานพยาบาล ทำให้การตรวจนั้นล้มเหลวและอาจเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจใหม่
เราควรค้นหาสถานที่ตรวจ Sleep test โดยพิจารณาจากทีมแพทย์และนักเทคนิคที่เชี่ยวชาญในการแปลผล มีทีมแพทย์และพยาบาลพร้อมในภาวะฉุกเฉิน เพื่อรับมือกับภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีโรคนอนกรนรุนแรง และควรสำรวจหาสถานที่ตรวจที่มีบรรยากาศห้องนอนที่ดูสงบ น่าผ่อนคลาย แยกออกจากบริเวณที่คนพลุกพล่าน เพื่อที่เราจะได้หลับสนิทอย่างเต็มที่ ผลการบันทึกจะได้แม่นยำและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
การเตรียมตัวเพื่อทำ Sleep test
มีข้อปฏิบัติโดยทั่วไป ดังนี้
- อาบน้ำและสระผมให้สะอาดก่อนมาตรวจ อย่าใส่น้ำมันหรือครีมใด ๆ มาด้วย
- งดชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์ ในวันที่จะมาตรวจ
- หลีกเลี่ยงการงีบหลับในช่วงกลางวันของวันที่มาตรวจ
- จดชื่อ และขนาดยา พร้อมทั้งนำยาทุกชนิดที่รับประทานอยู่ติดตัวมาด้วย (หากมีข้อสงสัยเรื่องยา ควรปรึกษาแพทย์ผู้ตรวจ)
- ส่วนใหญ่ เจ้าหน้าที่ประจำห้องตรวจจะเริ่มทำการติดตั้งเครื่องและตัวตรวจวัดต่าง ๆ โดยจะใช้เวลาประมาณ 45 – 60 นาที
- ติดต่อสอบถาม และเช็คข้อมูลให้ละเอียด กับโรงพยาบาลที่เราตัดสินใจไปทำ Sleep test
หลังจากที่ทำ Sleep test เรียบร้อย แพทย์ก็จะนำผลมาประเมินความรุนแรงของอาการและหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
7 สาเหตุที่ทำให้อาการนอนกรนมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
บางท่านอาจจะคิดว่า ก็นอนกรนไปแล้ว คงไม่ต้องมาสนใจเรื่องสาเหตุกันอีก แต่ที่จริงแล้ว แม้ว่าเราจะมีอาการมาก่อนอยู่แล้ว ก็ไม่ได้แปลว่าปัญหานี้จะคงที่เท่าเดิมอยู่เช่นนี้เสมอไป
บางคนอาจจะเริ่มจากกรนเสียงเบาในวันแรก ๆ และกรนเสียงดังมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป บางคนอาจจะไม่เคยมีภาวะหยุดหายใจมาก่อน แต่พอเป็นมากขึ้น ก็เริ่มมีอาการหยุดหายใจเป็นพัก ๆ หรือถึงขั้นหยุดหายใจไปหลายวินาที จนคนข้าง ๆ ต้องใจหายกันเลยทีเดียว
สาเหตุและปัจจัยที่กระตุ้นอาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับของเรามีดังนี้
- มีน้ำหนักตัวมากขึ้นหรือเป็นโรคอ้วน ทำให้ไขมันสะสมบริเวณช่องทางเดินหายใจส่วนบนมากขึ้น ช่องทางเดินหายใจจึงแคบลง
- พบว่า เพศชาย มีอาการนอนกรนมากกว่าเพศหญิง เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงทำให้ช่องทางเดินหายใจมีความตึงตัวที่ดีกว่า ดังนั้นเพศชายจึงมีโอกาสพบอาการกรนและมีภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจมากกว่าเพศหญิง
- ยิ่งมีอายุมากขึ้น กล้ามเนื้อบริเวณช่องทางเดินหายใจส่วนบนก็จะยิ่งหย่อนมากขึ้น ทำให้มีโอกาสอุดกั้นทางเดินหายใจมากขึ้นได้
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์และใช้ยาบางชนิด จะไปกดการตอบสนองของร่างกายต่อภาวะขาดออกซิเจน และภาวะคั่งของคาร์บอนไดออกไซด์ และทำให้กล้ามเนื้อของช่องทางเดินหายใจยุบตัวไปปิดกั้นทางเดินหายใจง่ายขึ้น
- การสูบบุหรี่ มักจะทำให้ช่องทางเดินหายใจอักเสบ หนาตัวและมีเสมหะมากขึ้น กระตุ้นให้เกิดภาวะนอนกรน
- โครงสร้างกระดูกใบหน้า เช่น กระดูกแก้มที่แบนหรือคางที่เล็กและถดไปข้างหลัง
- โรคทางช่องจมูก เช่น ภูมิแพ้อากาศ ริดสีดวงจมูก ผนังกั้นจมูกคด เยื่อบุจมูกบวม
แนวทางการรักษาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจ
ขณะหลับ
โดยทั่วไป แพทย์จะแนะนำการรักษาผสมผสานกันระหว่างการปรับพฤติกรรมและการใช้เทคนิคทางการแพทย์ โดยประเมินจากผล Sleep test และพิจารณาปัจจัยส่วนบุคคลของผู้ป่วย ว่ามีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด
รักษาจากพฤติกรรม
- ปรับสุขภาพอนามัยการนอนหลับ โดยนอนพักผ่อนให้เป็นเวลาทุกวันจนติดเป็นนิสัย ช่วยให้เมื่อถึงเวลานอน ร่างกายจะรู้สึกผ่อนคลายและพร้อมที่จะพักผ่อน
- ควบคุมน้ำหนักและออกกำลังกาย เพราะการลดน้ำหนักและความอ้วน จะช่วยลดไขมันสะสมบริเวณช่องทางเดินหายใจ ช่องทางเดินหายใจจะกว้างขึ้น
- หลีกเลี่ยงในท่านอนหงาย เพื่อป้องกันไม่ให้อวัยวะในช่องทางเดินหายใจของเรา หย่อนลงมาปิดกั้นการหายใจ
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ บุหรี่ และยานอนหลับ หรือยาที่กดประสาทส่วนกลาง
ใช้อุปกรณ์ช่วย
- ใช้เครื่องช่วยหายใจขณะนอนหลับ (Continuous Posititve Airway Pressure : CPAP) ในกระบวนการรักษา ซึ่งเครื่องจะอัดอากาศที่เหมาะสมเพื่อทำให้ช่องทางเดินหายใจกว้างขึ้น เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้ในระดับปานกลางถึงขั้นรุนแรง
- ใช้ที่ครอบฟันแก้กรน (Oral Appliance) ซึ่งเป็นเครื่องมือทางทันตกรรม ที่ช่วยเปิดทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น โดยอุปกรณ์จะช่วยจัดตำแหน่งลิ้นหรือขากรรไกรไม่ให้ลิ้นหรือเนื้อเยื่อในลำคอหย่อนลงไปอุดกั้นทางเดินหายใจขณะที่เราหลับ
ทั้ง 2 วิธีนี้จะเหมาะกับภาวะความรุนแรงของอาการที่แตกต่างกัน (รวมถึงมีข้อดีข้อเสียต่างกันด้วย) จึงควรเข้ารับการตรวจ Sleep test ก่อน เพื่อให้สามารถประเมินได้ว่ามีอาการรุนแรงแค่ไหน
ใช้วิธีผ่าตัด
โดยการผ่าตัดจะมีอยู่หลายวิธี ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่มีภาวะอุดกั้นลมหายใจ
- ช่องจมูกและหลังโพรงจมูก เช่น ผ่าตัดริดสีดวงจมูก ผ่าตัดผนังจมูกให้ตรง ลดขนาดของเยื่อบุจมูกบวมด้วยเครื่องซอมโนพลาสตี้ (Radiofrequency Volumetric Tissue Reduction)
- ผ่าตัดทอนซิลและตกแต่งบริเวณลิ้นไก่เพดานอ่อน Uvulopalatopharyngoplarty (UPPP)
- ผ่าตัดเลื่อนขากรรไกรมาทางด้านหน้า เพื่อเปิดช่องทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น Maxillo-Mandibular Advancement (MMA)
สรุป
นอนกรน อาจเป็นอาการที่สร้างความรำคาญซึ่งดูเหมือนจะพบเห็นกันเป็นปกติ บางคนอาจคิดว่าการรักษาโรคนี้จะยุ่งยากหรือมีค่าใช้จ่ายมาก เลยพาลไม่ไปตรวจเสียตั้งแต่แรก
ข้อแนะนำสำหรับคนนอนกรนก็คือ หากพบว่ามีอาการดังกล่าว ควรเข้ารับการตรวจ sleep test เพื่อให้รู้ว่าตัวเราเองมีอาการหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยหรือไม่ และมีอาการรุนแรงมากน้อยเพียงใด เนื่องจากเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนหลายชนิด จึงไม่ควรประมาทเป็นอย่างยิ่ง
ขอให้กำลังใจว่า เมื่อการรักษาสำเร็จผ่านไปด้วยดี เราจะนอนเต็มอิ่มมากขึ้น สุขภาพร่างกายและจิตใจดีขึ้น มีความสุขทั้งกับตัวเองและคนรอบตัว แถมยังอาจทำให้ชีวิตครอบครัวอบอุ่นหวานแหวว กันยิ่งกว่าเดิมอีกด้วย