เชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร หรือ เอชไพโลไร (Helicobacter pylori / H.pylori) นับว่าเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่เกิด จากการติดต่อระหว่างคนสู่คน เชื้อนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายไปแล้ว จะอาศัยอยู่ในกระเพาะอาหาร และส่งผลทำให้เกิดการอักเสบของกระเพาะอาหาร หากไม่ได้รับการรักษาจะส่งผลให้มีความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งกระเพาะ ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งเป็นหนึ่งกลุ่มเสี่ยง หากติดเชื้อ COVID-19 อาการจะรุนแรง การดูแลตัวเอง จึงเป็นสิ่งสำคัญ
โดยส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อจะไม่มีอาการแสดง แต่ในบางรายเชื้ออาจทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือในลำไส้เล็กส่วนต้นได้ รวมไปถึงการเป็นมะเร็งในกระเพาะอาหารในที่สุด โดยโรคนี้พบได้ทั่วโลก โดยประมาณการว่าประชากรทั่วโลกอย่างน้อยร้อยละ 50 มีการติดเชื้อชนิดนี้อยู่ โดยประชากรประเทศด้อยพัฒนา จะมีความชุกของการติดเชื้อมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากการดูแลด้านสุขอนามัยที่แตกต่างกัน สำหรับในประเทศไทย ไม่มีการศึกษาทางด้านระบาดวิทยาของโรคนี้อย่างชัดเจน
ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อเอชไพโลไร อาจติดต่อโดยการกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระของผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อ โดยเชื้อจะเข้าไปในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น ที่เรียกว่า ดูโอดีนัม (Duodenum) เป็นลำไส้เล็กส่วนแรกสุด ของทางเดินอาหารที่รับอาหารต่อจากกระเพาะ โดยเชื้อจะเข้าไปปล่อยเอนไซม์และสารพิษต่างๆ ซึ่งมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น ทำให้กรดในกระเพาะอาหารรวมถึงน้ำย่อยต่างๆ ทำลายเนื้อเยื่อกระเพาะและลำไส้เล็กรุนแรงขึ้น จนก่อให้เกิดการอักเสบแบบเรื้อรังทั้งกระเพาะและลำไส้เล็กส่วนต้น
โดยโรคนี้ยังมีการติดต่อค่อนข้างสูงในชุมชนที่มีความแออัด และคนในครอบครัว หลังจากมีการติดเชื้อเอชไพโลไรจะทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของกระเพาะอาหารและเป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นเป็นแผลโดยมีความเสี่ยงสูงถึง 6-40 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับ ผู้ที่ไม่มีการติดเชื้อ
นอกจากนี้ หากไม่ได้รับการรักษาจะส่งผลให้มีความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้มากกว่า 2-6 เท่า การวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไพโลไร เริ่มต้นจากการทดสอบการติดเชื้อ โดยแนะนำให้ตรวจในผู้ป่วยที่มีอาการน่าสงสัยว่าอาจมีแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ที่เคยมีประวัติติดเชื้อมาก่อน หรืออาจตรวจในผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารรวมถึงผู้ที่มีความกังวลว่าอาจเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะคนเชื้อสายจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ซึ่งพบว่ามีอุบัติการณ์ของมะเร็งกระเพาะอาหารค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะพบการติดเชื้อ เอชไพโลไร ได้บ่อยในผู้ป่วยที่เป็นแผลในกระเพาะอาหารแต่ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหารก็ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อเอชไพโลไรทุกคน โดยสาเหตุสำคัญอีกประการที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร คือ ยาละลายลิ่มเลือด เช่น aspirin , clopidogrel ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ibuprofen, naproxen เป็นต้น
วิธีการทำสอบการติดเชื้อเอชไพโลไรมีหลายวิธี โดยวิธีที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย คือ การส่องกล้องทางเดินอาการส่วนต้น และตัดชิ้นเนื้อ เพื่อส่งตรวจหาเชื้อเอชไพโลไร นอกจากนี้การนำลมหายใจมาพิสูจน์เชื้อโรค หรือเรียกว่า Urea Breath Test ก็เป็นอีกหนึ่งวิธี ที่นำลมหายใจมาทดสอบเพื่อพิสูจน์เชื้อแบคทีเรีย เฮริโคแบคเตอร์ ไพโลไร ได้เช่นกัน ข้อดีของโรคนี้ หลังจากที่กำจัดเชื้อได้แล้ว โอกาสที่จะกลับมาเป็นแผลในกระเพาะอาหารซ้ำอีกนั้น มีลดลงและมีโอกาสที่จะหายขาด เพื่อลดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยจากอาการปวดท้องโรคกระเพาะอาหารและลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคมะเร็งในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย สำหรับผู้ที่สงสัยว่า มีความผิดปกติเกิดขึ้นกับระบบทางเดินอาหาร หรือคนในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ควรตรวจหาความเสี่ยง หรือตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการป้องกันโรคร้าย ภัยเงียบที่ซ่อนอยู่ในกระเพาะอาหารได้ดีที่สุด