คนไทยมักรู้จักโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ในชื่อว่า “โรคอัมพาต หรือ อัมพฤกษ์” ซึ่งเกิดจากการที่เนื้อเยื่อสมองมีการขาดเลือด ทำให้แขนขาขยับไม่ได้ ปากเบี้ยว หรือมีปัญหาด้านการสื่อสาร ถ้าเป็นถาวรก็จะเรียกว่าเป็น อัมพาต ถ้าเป็นชั่วคราวก็จะเรียกว่า อัมพฤกษ์ นั่นเอง
โดยปกติโรคหลอดเลือดสมองมักจะเกิดในผู้ที่มีอายุมาก โดยมักพบในผู้ป่วยอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป แต่อย่างไรก็ตาม โรคหลอดเลือดสมองสามารถพบได้ในผู้ที่อายุน้อยเช่นกัน
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ในคนอายุน้อย คืออะไร ?
โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือ หลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อสมองถูกทำลาย ทำให้การทำงานของสมองบางส่วนหรือทั้งหมดผิดปกติไป อาการมักจะเกิดขึ้นทันทีทันใด ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดในผู้ที่มีอายุมาก
แต่อย่างไรตาม ในผู้อายุน้อยกว่า 50 ปี ก็สามารถพบโรคหลอดเลือดสมองได้มากถึง 15% โดยทั่วไปหากเรากล่าวถึงโรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อย หรือ stroke in the young จะหมายความถึง โรคหลอดเลือดสมองที่พบในผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 40 ปี
ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง ในคนอายุน้อยมีอะไรบ้าง ?
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อย มีความคล้ายกันกับคนที่อายุมาก แต่ที่สำคัญคือ ในคนอายุน้อยจะมีปัจจัยเสี่ยงที่กว้างกว่า โดยปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้แก่ ข้อต่างๆ ดังต่อไปนี้
ปัจจัยที่ทำให้เกิดไขมันอุดตันและทำลายหลอดเลือด
ปัจจัยต่างๆ ต่อไปนี้ ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ในทุกกลุ่มอายุ ในกลุ่มคนอายุน้อย ที่ควบคุมโรคประจำตัวดังกล่าวได้ไม่ดี อาจทำให้เกิดภาวะไขมันอุดตัน และเสี่ยงกับการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้
- โรคความดันโลหิตสูง
- ไขมันในเลือดสูง
- โรคเบาหวาน
- การสูบบุหรี่
- การดื่มแอลกอฮอล์
- ใช้ยาเสพติด เช่น ยาบ้า โคเคน เฮโรอีน เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงในผู้หญิงอายุน้อย
- การมีไมเกรนชนิดมีอาการนำ (Migraine with aura)
ไมเกรนชนิดมีอาการนำ คือ ไมเกรนที่มีอาการเห็นแสงแวบ ๆ สีขาวหรือรุ้ง เป็นรอยหยึกหยัก หรือเป็นเส้นนำมาก่อน หรือเกิดพร้อมกับอาการปวดหัว โดยพบว่าไมเกรนชนิดมีออร่า มักจะเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นที่เพิ่มโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ (Ischemic stroke) ในผู้ป่วยไมเกรนชนิดมีอาการนำ ได้แก่ การสูบบุหรี่และการใช้ยาคุมกำเนิด โดยการศึกษาพบว่าถ้าผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงทั้ง 3 ข้อนี้ จะมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าประชากรทั่วไปถึง 9 เท่า
ศึกษาเพิ่มเติมเรื่องไมเกรนได้จาก https://www.praram9.com/migraine/
- การใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน
ยาคุมกำเนิดชนิดที่ใช้ในปัจจุบันมีหลากหลายแบบ แต่ชนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้น 2.75 เท่า ในขณะที่ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ซึ่งมีฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำกว่า และเป็นที่แพร่หลายมากกว่าในปัจจุบันนั้น มีผลการศึกษาพบว่า เพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น 1.9 เท่า และบางการศึกษาพบว่าไม่เพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง ส่วนยาคุมกำเนิดแบบที่มีแต่ฮอร์โมนโปรเจสติน ไม่พบว่าเพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง
แต่อย่างไรก็ดี การตั้งครรภ์ก็อาจเป็นความเสี่ยงหนึ่งของโรคหลอดเลือดสมองได้ ดังนั้นเมื่อเทียบกับความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมองที่อาจเกิดได้ขณะตั้งครรภ์นั้น คำแนะนำของแพทย์ ณ ปัจจุบัน คือ ผู้หญิงที่มีความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ยังสามารถกินยาคุมกำเนิดได้ โดยอาจเลือกชนิดให้เหมาะสมกับโรคประจำตัวของตัวเอง
- การตั้งครรภ์
การเกิดโรคหลอดเลือดสมองในการตั้งครรภ์นั้น พบได้ประมาณ 30 ครั้งต่อการตั้งครรภ์ 100,000 ครั้ง สาเหตุที่ระหว่างตั้งครรภ์มีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น เพราะการตั้งครรภ์ทำให้เกิดภาวะเลือดแข็งตัวง่ายขึ้น นอกจากนี้หญิงตั้งครรภ์มีโอกาสเกิดโรคครรภ์เป็นพิษ และภาวะความดันโลหิตสูงในขณะตั้งครรภ์ อันอาจทำให้เกิดทั้งสมองขาดเลือดและหลอดเลือดสมองแตกตามมาได้
ปัจจัยเสี่ยงจากโรคหัวใจ
- การมีรูที่ผนังห้องหัวใจ (Patent foramen ovale)
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง
- โรคลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว
- มีการติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจหรือลิ้นหัวใจ
- โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
- หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดหัวใจห้องบนเต้นพริ้ว (Atrial fibrillation)
ปัจจัยเสี่ยงจากโรคที่ทำให้เกิดเลือดแข็งตัวง่าย
- กลุ่มอาการต้านฟอสโฟไลปิด (Antiphospholipid syndrome)
- โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ SLE (Systemic lupus erythematosus) ทำให้เกิดเลือดแข็งตัวง่าย หรือหลอดเลือดตีบไขมันอุดตันง่าย หรือทำให้เกิดหลอดเลือดอักเสบ
- โรคมะเร็ง ทั้งมะเร็งทั่วไปหรือมะเร็งระบบเลือด ทำให้เกิดเลือดแข็งตัวง่ายและอุดตันที่สมอง
ผู้มีภาวะหลอดเลือดแดงปริแตก
ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ด้านหน้าคอปริแตก หรือหลอดเลือดแดงที่คอด้านหลังปริแตก ซึ่งสัมพันธ์กับการบาดเจ็บของหลอดเลือด การหมุนบิดคอรุนแรงจากการนวดการทำนวดจัดกระดูก (Chiropractic) หรืออุบัติเหตุทางรถยนต์ เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงจากโรคทางพันธุกรรมบางอย่าง
- โรค แฟเบร (X-linked Fabry Disease) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีน ทำให้ขาดเอนไซม์บางชนิดที่สามารถสร้างความเสียหายให้แก่อวัยวะภายใน เช่น หัวใจ ปอด ไต ช่องท้องระบบประสาท และสมองได้
- โรค MELAS เป็นโรคที่มีความผิดปรกติของระบบประสาท ที่เกิดจากการกลายพันธุ์ในดีเอ็นเอของไมโทรคอนเดรียภายในเซลล์
- โรค CADASIL เป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อการกลายพันธุ์ของเซลล์กล้ามเนื้อของ
หลอดเลือดขนาดเล็กทำให้กล้ามเนื้อของหลอดเลือดเสียหาย และทำให้การไหลเวียนเลือดในสมองไม่ดี - โรคโมยาโมยา (Moyamoya disease) เป็นโรคที่มีความผิดปกติของหลอดเลือดในสมองเนื่องจากหลอดเลือดหลักที่นำเลือดไปสู่สมองเกิดอุดตันหรือตีบแคบลง
- โรคทางพันธุกรรมบางอย่างที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด เช่น
- ความผิดปกติทางพันธุกรรมของ Factor V Leiden (Factor V Leiden mutation) ซึ่งพบบ่อยในผู้ป่วยเชื้อชาติตะวันตก
- ภาวะพร่อง Protein C และ S
- ภาวะพร่อง Antithrombin III
- ภาวะระดับ Homocysteine ในเลือดสูง (Hyperhomocysteinemia)
ผู้มีประวัติเคยฉายรังสีบริเวณคอ
ผู้ที่เคยมีประวัติเคยฉายรังสีบริเวณคออาจทำให้หลอดเลือดแดงที่คอเสื่อมสภาพ และเพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองได้
ปัจจัยเสี่ยงจากโรคของหลอดเลือดแดง
ความเสี่ยงจากสาเหตุโรคของหลอดเลือดแดงอาจพบได้ไม่บ่อยนัก แต่ก็เป็นความเสี่ยงหนึ่งของโรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อยได้ โรคของหลอดเลือดแดงดังกล่าว ได้แก่
- โรคทากายาสุ (Takayasu arteritis) เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ และแขนงต่างๆ
- โรคหลอดเลือดสมองอักเสบ เป็นโรคที่มีการอักเสบของหลอดเลือดในสมองหรือไขสันหลังอาจตามหลังการติดเชื้อ เช่น วัณโรคในเยื่อหุ้มสมอง
- ภาวะที่มีการแคบลงของหลอดเลือดแดง (Fibromuscular dysplasia) เป็นภาวะการเจริญเติบโตของเซลล์ส่วนเกินภายในหลอดเลือดจะทำให้หลอดเลือดแดงแคบลงแล้วทำให้เลือดไหลผ่านได้น้อยลง
- ภาวะหลอดเลือดแดงหดตัวชั่วคราว (Reversible Cerebral Vasoconstriction Syndrome) เกิดจากการที่หลอดเลือดในสมองหดตัวชั่วคราว ทำให้เกิดการขาดเลือดชั่วคราว สาเหตุ อาจเกิดจากยาบางอย่าง เช่น ยาต้านซึมเศร้า ยารักษาโรคไมเกรน ยาลดน้ำมูก ยากดภูมิต้านทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาเสพติด เช่น โคเคน ยาบ้า หรืออาจกระตุ้นได้ด้วยการตั้งครรภ์ เป็นต้น
อาการของโรคหลอดเลือดสมอง ในคนอายุน้อย
อาการจะเหมือนกับในคนที่อายุมาก กล่าวคืออาการที่เกิดจากเนื้อเยื่อสมองส่วนที่ขาดเลือดเสียการทำงานไป ตัวอย่างเช่น
- พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง
- คิดคำพูดไม่ออก สื่อสารไม่เข้าใจ
- แขนขาอ่อนแรง ข้างใดข้างหนึ่ง
- แขนขาชา ข้างใด ข้างหนึ่ง
- เวียนหัว เดินเซ
- ภาพซ้อน มองเห็นผิดปกติไป
ซึ่งอาจสังเกตอาการได้ตามหลัก FAST ได้แก่
- F (Face) ผู้ป่วยจะมีอาการหน้าเบี้ยว
- A (Arms) อาการแขนขาอ่อนแรง
- S (Speech) ผู้ป่วยจะมีอาการพูดไม่ชัด พูดอ้อแอ้ เหมือนลิ้นคับปาก
- T (Time) การรีบนำผู้ป่วยที่สงสัยไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยเร็วที่สุด
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมวิธีการสังเกตอาการผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้ที่ https://www.praram9.com/stroke-symptoms/
เมื่อสงสัยว่ามีอาการโรคหลอดเลือดสมอง ต้องทำอย่างไร ?
ถ้ามีอาการตามหลัก FAST ดังกล่าวข้างต้นข้อใดข้อหนึ่ง ถึงแม้ผู้ป่วยจะอายุน้อย ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันทีหรือ ภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง หลังจากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เพื่อให้แพทย์ทำการประเมินและวินิจฉัย
หากตรวจพบว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง แนวทางการรักษา คือ การให้ยาละลายลิ่มเลือด เพื่อเปิดหลอดเลือดสมองให้ทันเวลา ถึงแม้จะเป็นเพียงชั่วคราวและอาการหายไปได้เองก็ควรนัดหมายเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดโดยแพทย์เฉพาะทางระบบประสาทเพื่อตรวจหาปัจจัยเสี่ยง และทำการป้องกันการเกิดอาการขึ้นอีก
การนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้ทันเวลาจะช่วยลดความเสียหายของเนื้อเยื่อสมองและลดความเสี่ยงของความพิการหรือการเสียชีวิตได้
ศึกษาการวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มเติมที่: https://www.praram9.com/stroke-prevention-and-treatment/
วิธีการป้องกัน การเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
โรคหลอดเลือดสมองสามารถป้องกันได้ โดยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงของโรค (ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น) ในส่วนที่เราสามารถจัดการได้ ดังนี้
- ตรวจวัดความดันเลือดอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่ามีความดันเลือดมากกว่า 140/80 mmHg
- ควรพบแพทย์ และรับประทานยาลดความดันอย่างสม่ำเสมอ ตามแพทย์สั่ง
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยการลดอาหารเค็ม หวานจัด มันจัด เพิ่มผักผลไม้
- เลิกสูบบุหรี่ งดการดื่มสุรา
- ลดน้ำหนัก ในกรณีที่มีน้ำหนักเกิน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง โดยการออกกำลังกายควรเป็นการออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นกว่าปกติ อย่างน้อย 10-20 ครั้ง ต่อนาที และอย่างน้อยครั้งละครึ่งชั่วโมง
- ตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี เพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด และค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่มาของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
- ตรวจร่างกายทางด้านหัวใจว่ามีความผิดปกติของการเต้นของหัวใจหรือไม่
บทสรุป
โรคหลอดเลือดสมองหรือ Stroke เป็นโรคที่นับได้ว่าเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ เพราะนำไปสู่ความพิการและการเสียชีวิตได้ ส่วนใหญ่เรามักพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในคนอายุมากอย่างไรก็ตาม ยังสามารถพบโรคหลอดเลือดสมองได้ในคนอายุน้อยอีกด้วย ซึ่งถ้าพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอายุน้อยกว่า 40 ปี จะเรียกว่า “โรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อย หรือ Stroke in the young”
แม้จะเป็นผู้ป่วยอายุน้อยแต่ความอันตรายและความรุนแรงของโรคไม่ได้แตกต่างจากในกลุ่มผู้ป่วยอายุมาก ดังนั้นเมื่อพบอาการที่สงสัยว่าเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ต้องนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาให้ทันเวลา เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของความพิการหรือการเสียชีวิตได้
และสิ่งทำคัญที่สุดคือ เราสามารถป้องกันโรคหลอดเลือดสมองได้ โดยการลดปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้ หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ หากพบอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางระบบประสาทเพื่อสุขภาพที่ดีของเรา
เอกสารอ้างอิง
- Mary G. George. Risk Factors for Ischemic Stroke in Younger Adults. Stroke Volume 51, Issue 3, March 2020; Pages 729-735 https://doi.org/10.1161/STROKEAHA.119.024156
- Caitlin Carlton. Oral Contraceptives and Ischemic Stroke Risk. Stroke Volume 49, Issue 4, April 2018; Pages e157-e159 https://doi.org/10.1161/STROKEAHA.117.020084