ปัจจุบันเรามักพบเห็นข่าวการเสียชีวิตของนักกีฬาที่ดูเหมือนมีร่างกายแข็งแรงดี หรือยังมีอายุไม่มากบ่อยครั้ง ทำให้เกิดคำถามถึงสาเหตุที่แท้จริงของภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลันในนักกีฬาและคนหนุ่มสาว ว่ามีความเกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายหรือไม่ และควรมีวิธีการจัดการอย่างไรเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้ เพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองและคนที่เรารัก
สาเหตุที่แท้จริงของภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน
พญ.พรพิชญา บุญดี อายุรแพทย์โรคหัวใจ ประจำสถาบันหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลพระรามเก้า อธิบายว่า โดยปกติอุบัติการณ์การเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลันจะสูงขึ้นตามอายุ กล่าวคือ พบได้ในสัดส่วนประมาณ 1:100,000 ในกลุ่มคนอายุน้อย เพิ่มขึ้นเป็น 50:100,000 ในวัยกลางคน และสูงถึง 200:100,000 ในผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป อีกทั้งเพศชายจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจที่มากกว่าเพศหญิง
สาเหตุหลักของภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลันในคนอายุน้อยและไม่มีโรคประจำตัว คือ ความผิดปกติของการนำไฟฟ้าหัวใจและภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ ซึ่งมักเป็นโรคทางพันธุกรรมที่อาจไม่มีอาการแสดงมาก่อน และผู้ป่วยอาจไม่เคยทราบว่าตนเองมีโรคหัวใจซ่อนอยู่
ในคนที่อายุมากกว่า 35 ปี สาเหตุหลักของการเกิดหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน คือ ภาวะหัวใจวายฉับพลันจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นการ ตีบ ตัน หรืออุดตันในหลอดเลือดหัวใจ เนื่องจากในวัยนี้มักจะพบโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงอื่นๆ ของโรคหลอดเลือดหัวใจที่มากขึ้น เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน รวมถึงพฤติกรรมการสูบบุหรี่ หรือ มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ เป็นต้น ส่วนสาเหตุอื่นที่พบรองลงมาได้แก่ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะและโรคที่มีโครงสร้างหัวใจผิดปกติ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง และ โรคลิ้นหัวใจ เป็นต้น
สัญญาณเตือนจากร่างกาย
อาการแสดงที่ควรมาพบแพทย์ คือ อาการเหนื่อยง่ายกว่าปกติ หรือ ออกกำลังกายแล้วมีความผิดปกติเช่น วิงเวียน วูบ เจ็บหน้าอก เป็นลม ใจสั่น หายใจไม่สะดวก หรือเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีความเสี่ยงโรคหัวใจ ดังที่กล่าวมาข้างต้น โดยแพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกายและอาจพิจารณาส่งตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ตรวจสมรรถภาพหัวใจโดยการวิ่งสายพาน ส่วนในรายที่สงสัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว สามารถตรวจวินิจฉัยได้ โดยการตรวจอัลตราซาวด์หัวใจและตรวจเลือดเพิ่มเติม เพื่อประเมินความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจต่อไป
โรคหัวใจกับการออกกำลังกาย
บางครั้ง การออกกำลังกายอาจจะทำให้เกิดโรคหัวใจได้ แต่อุบัติการณ์การเกิดโรคหัวใจในนักกีฬานั้นพบได้น้อยมาก เมื่อเทียบกับประโยชน์มหาศาลที่ได้จากการออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็น การช่วยลดความเสี่ยงโรคต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน อ้วน ซึมเศร้า อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงของหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มความหนาแน่นมวลกระดูก ลดภาวะหลงลืม รวมถึงช่วยเพิ่มความสุขจากการหลั่งสารเคมีในสมองอีกด้วย
“หมอจึงไม่อยากให้ทุกคนตระหนกจากข่าวเรื่องการเสียชีวิตของนักกีฬาจนเกินไป จนไม่กล้าออกกำลังกายกันนะคะ” พญ.พรพิชญา บุญดี กล่าว
อุปกรณ์สำคัญในการกู้ชีพ
สุดท้ายนี้ หากพบเห็นคนที่ล้มลงและหมดสติขณะออกกำลังกาย สิ่งแรกที่ต้องทำคือการประเมินสถานการณ์และประเมินว่าผู้ป่วยอยู่ในภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลันหรือไม่ ก่อนเริ่มการช่วยเหลือด้วยการปั๊มหัวใจ (CPR) เพื่อฟื้นคืนชีพหัวใจให้ไวที่สุด พร้อมทั้งรีบขอความช่วยเหลือจากทีม โดยการโทรแจ้งสายด่วน 1669 และขอให้นำเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ หรือ เครื่อง AED (Automated External Defibrillator) มาด้วย เนื่องจาก การใช้เครื่อง AED ร่วมกับการทำ CPR ที่มีประสิทธิภาพสามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตจาก 12% เป็นมากกว่า 50% เลยทีเดียว