ประเทศไทย ใคร ๆ ก็นึกถึง “แดด” แค่นึกภาพก็รู็สึกร้อนจนอยากจะหยิบร่มขึ้นมากาง แต่ใครรู้บ้างว่า “แสงแดด” สำคัญกับคนไทยมากกว่าที่คิด! เพราะแดดอ่อน ๆ ในยามเช้าและช่วงเย็นนอกจากช่วยให้ร่างกายอบอุ่นแล้วยังสร้างวิตามินดี ซึ่งจำเป็นสำหรับการเสริมสร้างกระดูก ทำให้กระดูกแข็งแรง ลดภาวะเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน
หลายคนคิดว่า “แสงแดด” เป็นอันตรายต่อผิว สร้างริ้วรอยหมองคล้ำ ฝ้า กระ ทำให้มองข้ามประโยชน์ของแสงแดดไป จากการศึกษาพบว่าแสงแดดมีส่วนสำคัญในการป้องกัน “โรคกระดูกพรุน” และ “ภาวะขาดวิตามินดี” การออกกำลังกายรับแสงแดดอ่อน ๆ ในยามเช้าทำให้ร่างกายได้รับวิตามินดี ซึ่งช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ลดภาวะความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน ซึ่งพบผู้ป่วยสูงถึง 2.5-3% ของจำนวนประชากรไทยในทุกเพศทุกวัย
นพ.พีรพงษ์ สวัสดิพงษ์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม โรงพยาบาลพระรามเก้า เผยว่าในปัจจุบันคนไทยมีภาวะขาดวิตามินดีสูงมาก ยิ่งตรวจยิ่งเจอ และพบได้ในทุกเพศทุกวัย โดยเฉลี่ยคนไข้ 100 คนจะตรวจพบว่าคนไข้มีภาวะขาดวิตามินดีประมาณ 30-40% มีสาเหตุมาจากคนไทยกลัวแดดมากเกินไป ซึ่งส่งผลให้กระดูกเปราะบางและเสี่ยงต่อการหักได้ง่าย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากในความเป็นจริงแสงแดดอ่อน ๆ ในยามเช้า เมื่อซึมผ่านเข้าไปในผิวจนถึงชั้นผิวหนัง จะช่วยให้ร่างกายสร้างวิตามินดีได้ดีมาก จะช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ลดภาวะเสี่ยงการเป็นโรคกระดูกพรุนในอนาคตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ
วิตามินดีคืออะไร? สำคัญกับโรคกระดูกพรุนอย่างไร?
“วิตามินดี” คือวิตามินที่มีความสำคัญต่อร่างกาย วิตามินดีเป็นตัวช่วยดูดซึมแคลเซียมที่รับประทานเข้าไปเพื่อเสริมสร้างกระดูกและป้องกันโรคกระดูกพรุน ทั้งยังมีประโยชน์อื่น ๆ ที่คาดไม่ถึง เช่น ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ควบคุมความดันโลหิต ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ อีกทั้งยังคลายความเครียด ลดอาการโรคซึมเศร้าได้อีกด้วย
วิตามินดีใกล้ตัวหาได้ง่าย ๆ จาก:
- แสงแดดอ่อน ๆ (ช่วงเวลายามเช้า 06:00-09:00 ช่วงเวลาเย็น 16:00 น.เป็นต้นไป)
- ปลาตัวเล็ก เช่น แซลมอน ปลาทูน่า ปลาแมคเคอเรล
- ผักใบเขียวเข้ม
- ผลไม้สีเหลือง สีส้ม
- ตับ
- เห็ด
- นม ชีส
- ไข่แดง
คนไทยอาจ “กระดูกพรุน” เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี
เมื่อคนไทยเกิดภาวะขาดวิตามินดี แน่นอนว่า “กระดูกของเรา” จะไม่แข็งแรง เปราะบาง เกิดการหักได้ง่าย โดยปกติร่างกายจะสามารถสร้างเซลล์กระดูกที่ดีและแข็งแรงได้ถึงอายุ 30 ปี แต่หลังจากนี้ความหนาแน่นของมวลกระดูกจะค่อย ๆ เสื่อมถอยลง และเมื่อเข้าสู่วัย 60 ปี หรือผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน กระดูกจะเปราะบางและหักง่าย มีการประมาณการว่าในปี 2568 จะมีผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักในประเทศไทยมากถึง 3 หมื่นกว่าราย และเพิ่มขึ้นปีละ 2% จนในอนาคตอีก 25 ปี อาจมีผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักมากถึง 5 หมื่นรายต่อปี โดยพบสัดส่วนผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 2 เท่า
โรคกระดูกพรุนใช้เวลาสะสมถึง “สิบปี”
“โรคกระดูกพรุน” เป็นเหมือนภัยเงียบ เพราะจะไม่แสดงอาการของโรค จนกว่าจะเกิดกระดูกหัก นพ.พีรพงษ์เปิดเผยข้อมูลต่อว่า จากการศึกษาทางการแพทย์ เริ่มมีการศึกษาเรื่องกระดูกพรุนอย่างจริงจังในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ทำให้ทราบว่า “อาการกระดูกหัก เปราะบาง ในผู้สูงอายุ และผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน” คือ “โรคกระดูกพรุน” ที่สะสมมานานเป็นเวลาหลายสิบปี
“โรคกระดูกพรุน” เกิดจากการสลายของเนื้อกระดูกอย่างต่อเนื่อง ทำให้มวลกระดูกลดลง ส่งผลให้กระดูกไม่แข็งแรง เปราะบางทำให้มีโอกาสกระดูกหักผิดรูปได้ง่าย ระยะเวลาในการเกิดโรคหลายปี โดยปกติในร่างกายคนเราจะมี “เซลล์สร้างกระดูกและเซลล์ทำลายกระดูก” ที่ทำหน้าที่สร้างและสลายกระดูกอย่างสมดุลกัน โดยเซลล์สร้างกระดูกจะทำหน้าที่นำแคลเซียมที่ร่างกายดูดซึมมาใช้สร้างกระดูกให้แข็งแรง แต่เมื่อกระดูกได้รับบาดเจ็บหรือเสื่อมสภาพตามอายุ เซลล์ทำลายกระดูกก็จะทำหน้าที่ย่อยสลายกระดูกในส่วนนั้น เพื่อให้เซลล์สร้างกระดูกมาทำหน้าที่สร้างกระดูกใหม่ชดเชยกระดูกส่วนที่ถูกสลายไป
“เซลล์สร้างกระดูกและเซลล์ทำลายกระดูก” ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้อย่างไร?
@praram9hospital อายุเท่านี้.. 🕣 กระดูกเริ่มพรุนหรือยังนะ 🤔‼️🦴 #กระดูกพรุน #กระดูกเสื่อม #โรงพยาบาลพระรามเก้า #Praram9Hospital ♬ A fun song with an exciting atmosphere(944577) - yanagamo
สรุป
โรคกระดูกพรุนมีแนวโน้มที่จะพบมากขึ้นในคนไทย สาเหตุหนึ่งเกิดจากการขาดวิตามินดีจากแสงแดด โดยเฉพาะในช่วงเช้าและเย็น ส่งผลให้มีภาวะขาดวิตามินดีสูง ทำให้กระดูกเปราะบาง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการหักของกระดูกเพราะวิตามินดีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ร่างกายผลิตวิตามินดีที่มีความจำเป็นอย่างมากในการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงและป้องกันโรคกระดูกพรุน
การป้องกันกระดูกพรุนสามารถทำได้ง่าย ๆ โดยการรับแสงแดดอ่อน ๆ ในช่วงเช้าและเย็น รวมถึงการรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีให้เพียงพอ
โรคกระดูกพรุนถือเป็นภัยเงียบที่ใช้เวลาสะสมเป็นเวลานานถึงสิบปี โดยส่วนมากกว่าจะรู้ตัวว่าตัวเองกระดูกพรุนก็อาจกระดูกหักไปแล้ว เพราะเมื่อเป็นแล้วจะทำให้กระดูกเปราะบางและหักง่ายจนเป็นสาเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง หากกระดูกหักในส่วนที่สำคัญมาก ๆ เช่น สะโพกหัก หรือหกล้มโดนส่วนที่สำคัญก็อาจทำให้ทุพพลภาพหรือเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องมีการดูแลสุขภาพกระดูกตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันภาวะนี้ในอนาคต