หลายคนมักจะเคยเป็นหรือเห็นใครมีอาการหน้ามืด วูบ หมดสติ ซึ่งมีได้หลายสาเหตุ อาจเกิดขึ้นในช่วงที่ร่างกายอ่อนเพลีย พักผ่อนน้อย ยืนตากแดดนาน ๆ หรือมีการสูญเสียน้ำหรือเกลือแร่ในร่างกาย เช่น เสียเหงื่อมาก หรือท้องเสียรุนแรง บางคนอาจมีอาการหลังใช้ยาลดความดัน ยาที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ก็สามารถนำไปสู่อาการหน้ามืด หมดสติได้
แต่อาการที่ดูเหมือนจะพบเจอได้ทั่วไปนั้น อาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจ หรือ โรคทางสมอง เราจึงควรระวัง และทำความเข้าใจอาการเหล่านี้ให้ดี จะได้ทราบแนวทางป้องกัน และเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้
ปรึกษาอาการเบื้องต้นได้เลย เพื่อสุขภาพของคุณ
หน้ามืด วูบ หมดสติ คืออะไร ในทางการแพทย์
วูบ หน้ามืด คือ ภาวะหมดสติหรือเกือบหมดสติ ที่อาจเกิดขึ้นชั่วคราวหรือเป็นเวลานานก็ได้ ในทางการแพทย์จะเรียกว่า อาการลมวูบหมดสติ (Syncope) ผู้ป่วยจะรู้สึกหน้ามืด จะเป็นลม ตาลาย มองไม่เห็นภาพชัดเจน
มักมีสาเหตุเกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ บางรายมีสาเหตุมาจากอาการชัก หรือระบบหูชั้นในมีปัญหา ทำให้เสียการทรงตัวหรือวิงเวียน อาการเหล่านี้ หากไม่ระวัง ผู้ป่วยอาจล้มลงศีรษะกระแทกพื้นได้รับบาดเจ็บได้
ส่วนภาวะหมดสติ (Unconsciousness) คือ ภาวะที่ร่างกายไม่รู้สึกตัวอย่างต่อเนื่อง ไม่รับรู้ต่อสภาพแวดล้อม ไม่มีตอบสนองต่อการกระตุ้นใด ๆ โดยส่วนใหญ่แล้ว ภาวะหมดสติ มักมาจากสาเหตุที่ร้ายแรง จึงควรนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
สาเหตุของอาการ หน้ามืด วูบ หมดสติ
เป็นลมธรรมดา เกิดจากสาเหตุอะไร
เป็นอาการ หน้ามืด วูบ หมดสติ ที่พบได้บ่อยที่สุด มาจากหลายสาเหตุ ได้แก่
- มาจากสภาพจิตใจที่ไม่เป็นปกติ เช่น เครียดมาก กลัว หรือตกใจมาก ๆ มักเกิดขึ้นเมื่อประสบกับเหตุการณ์ไม่คาดคิด
- อยู่ในสถานที่หรือสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง เช่น อยู่ในสถานที่แออัดคับคั่ง หรือที่ที่ร้อนอบอ้าว ผู้ป่วยบางราย อาจเป็นลมได้จากการยืนนาน ๆ
- มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น รู้สึกหิวมาก เป็นเวลานาน ๆ
- ร่างกายสูญเสียน้ำมากหรือมีภาวะขาดน้ำ เช่น ท้องเสีย หรือเสียเหงื่อมากเกินไป
- ร่างกายอ่อนเพลียหรือเหนื่อยล้า จากการทำงานหนัก การหักโหมออกกำลังกาย หรือนอนดึกเป็นประจำ
- ความดันตกในช่วงสั้น ๆ แล้วทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ซึ่งมีสาเหตุมาจาก คนที่ไอรุนแรง เบ่งปัสสาวะหรืออุจจาระแรง ๆ
- นอนหรือนั่งอยู่นานแล้วลุกขึ้นยืนทันที เรียกว่า ความดันเลือดต่ำขณะเปลี่ยนอิริยาบถ (Orthostatic hypotension)
- ความดันโลหิตต่ำ ซึ่งอาจมาจากโรคความดันโลหิตต่ำ ผู้ที่กินยารักษาโรคความดันเลือดสูงหรือโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้ที่มีภาวะตกเลือด หรือเป็นภาวะของร่างกายในผู้สูงอายุ
วูบ หน้ามืด หมดสติ จากสาเหตุที่รุนแรง
มีลักษณะอาการที่ดูคล้ายคลึงกันกับประเภทแรก แต่มาจากสาเหตุที่อันตรายกว่า ซึ่งควรรีบพาส่งโรงพยาบาล ได้แก่
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในระดับรุนแรง อาจมาจากผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานกำเริบ ผู้ป่วยเนื้องอกบางชนิด ผู้ที่ดื่มสุราในปริมาณมาก
- ความผิดปกติของสมองหรือระบบประสาท เช่น โรคลมชัก (อาจไม่มีการชักให้เห็น) หรืออาจเกิดจากเสียเลือดเลี้ยงสมองเอง เช่น ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว เลือดออกในสมอง หลอดเลือดสมองตีบ หรืออาจได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะ ทำให้สมองกระทบกระเทือน เป็นต้น
- โรคหัวใจ ได้แก่
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ (cardiac arrhythmia) เช่น บางครั้งช้าเกินไป บางครั้งเร็วมากเกินไป หัวใจปั๊มเลือดได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย โดยเฉพาะสมอง จึงมีอาการเป็นลมหมดสติได้
- ความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ เช่น ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วรุนแรง กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม กล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ
- หลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
** เช็กให้ชัวร์ว่ามีปัญหาหัวใจหรือไม่ ? >> แนะนำแพ็กเกจตรวจสุขภาพหัวใจ
หากดูเพียงผิวเผิน อาการเป็นลมธรรมดา กับอาการเป็นลมที่มาจากสาเหตุอันตรายร้ายแรงอาจดูคล้ายกัน หากไม่ได้สังเกตโดยละเอียด แล้วทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้ดีพอ หรือส่งต่อไปยังโรงพยาบาลล่าช้า อาจส่งผลถึงชีวิตได้
อาการวูบ หน้ามืด หมดสติ แบบไหนต้องรีบพบแพทย์?
เมื่อเรารู้ถึงสาเหตุของอาการวูบ หมดสติ ที่เป็นอันตรายแล้ว ต่อไปนี้คือวิธีสังเกตและประเมินอาการวูบ หน้ามืด เวียนหัว หมดสติ
อาการแบบนี้ เป็นลมธรรมดา
ผู้ป่วยที่เป็นลมธรรมดา จะมีความรู้สึกใจหวิว ๆ ทรงตัวไม่ไหว บางรายหากหมดสติอยู่ จะใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 1- 2 นาทีก็ฟื้นได้ บางรายจะมีอาการเตือนล่วงหน้า เช่น รู้สึกหนักศีรษะ รู้สึกโคลงเคลง ไม่มีแรงประคองตัว ตามัวลง หรือมองเห็นภาพเป็นจุด เป็นต้น แล้วจึงเริ่มมีอาการวูบหรือเป็นลม
ด่วน! วูบด้วยอาการแบบนี้ รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
- ผู้ป่วยมีอาการวูบแล้วหมดสติเป็นเวลานาน ให้เราประเมินการหมดสติ โดยการตะโกนเรียกดัง ๆ และเขย่าที่ไหล่ ถ้าผู้ป่วยยังไม่รู้สึกตัวหรือเคลื่อนไหว ควรรีบทำการช่วยชีวิต และนำส่งโรงพยาบาล
- ผู้ป่วยวูบแล้วมีอาการชัก
- ผู้ป่วยวูบแล้วหัวใจเต้นผิดปกติ อาจมีอาการเจ็บหน้าอก ใจสั่น หายใจหอบเหนื่อย
- ผู้ป่วยวูบ แล้วมีอาการหน้าเบี้ยวร่วมด้วย
- ผู้ป่วยมีอาการตกเลือด อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ หรือมีเลือดออก
- ผู้ป่วยท้องเสียหรืออาเจียนรุนแรงจนมีภาวะขาดน้ำ
- ผู้ป่วยมีอาการอื่นร่วมด้วย อย่างน้อย 1 อย่าง ดังนี้ ปวดท้อง ปวดหลัง ปวดศีรษะ วิงเวียน ตาเห็นภาพซ้อน พูดอ้อแอ้ กลืนลำบาก เดินเซ หรือแขนขามีอาการชาหรืออ่อนแรง
- ผู้ป่วยเป็นผู้สูงอายุ หรือทราบว่ามีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ เป็นต้น
กรณีอาการวูบ หน้ามืด หมดสติ ที่ต้องเฝ้าระวัง
หากเป็นอาการวูบ หน้ามืด หมดสติ ที่ไม่รุนแรงนัก และฟื้นตัวได้เอง อย่าพึ่งชะล่าใจ ควรเฝ้าสังเกตอาการให้ดี หากพบว่าเข้าเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ควรพาเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุ
1. วูบจากสาเหตุของหัวใจ
ผู้ป่วยที่เกิดอาการวูบจากสาเหตุของหัวใจนั้น มักมีอาการหน้ามืดใจสั่น มวนท้อง เหงื่อแตก ตัวเย็น คลื่นไส้อาเจียน ที่สำคัญคือผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอาการวูบในช่วงเวลาสั้น ๆ และเมื่อตื่นขึ้นมาก็ยังจำเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ได้ และกลับมาเป็นปกติได้อีกครั้ง
แต่หากผู้ป่วยปล่อยทิ้งไว้ ไม่เข้ารับการตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด และรักษาอย่างถูกวิธีแล้ว อาจส่งผลให้ผู้ป่วยกลายเป็นอัมพาต หรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โรคหัวใจ
2. วูบจากภาวะทางสมอง
โรควูบที่เกิดจากภาวะทางสมองนั้น ผู้ป่วยมักมีอาการวูบร่วมกับอาการทางระบบประสาทอื่น ๆ เช่น อาการเกร็งชัก เหม่อ สับสน เมื่อตื่นจากอาการวูบ ผู้ป่วยไม่สามารถจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ได้ หรืออาจมีอาการอื่นร่วมด้วยเมื่อฟื้นขึ้นมา เช่น ปากเบี้ยว ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด ชาหรืออ่อนแรงร่างกายครึ่งซีก เป็นต้น
ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติของภาวะทางสมอง เช่นหลอดเลือดในสมองตีบได้ ด้วยสาเหตุนี้ผู้ป่วยหรือผู้ใกล้ชิดควรต้องสังเกตอาการวูบที่เกิดขึ้น เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ
การหมดสติในนักกีฬา หัวใจหยุดเต้นกะทันหัน
การเป็นนักกีฬาที่ดูสุขภาพดีและแข็งแรง และไม่ได้มีประวัติเป็นโรคหัวใจมาก่อน ก็อาจเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น แล้ววูบหมดสติได้ อย่างที่เรามักจะเคยเห็นกันในข่าวมาบ้างแล้ว โดยเฉพาะนักกีฬาฟุตบอล
สาเหตุที่นักกีฬาบางคน เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน
เหตุการณ์ลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่ก็นับเป็นความสูญเสียและยิ่งถ้าเกิดกับนักเล่นกีฬาที่มีชื่อเสียงแล้ว ย่อมสร้างความสะเทือนใจให้แก่แฟน ๆ หรือผู้ชม ปัจจุบันจึงเกิดการตื่นตัวในเรื่องนี้กันมาก ทางสมาคมทางด้านกีฬาหลาย ๆ แห่ง เช่น FIFA ก็มีการพูดคุยกันถึงแนวทางคัดเลือกตัวผู้เล่นเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลว (Sudden cardiac death)
จากการศึกษาข้อมูลการเสียชีวิตของนักกีฬาอายุต่ำกว่า 35 ปี ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า สาเหตุหลักของการวูบ หมดสติ และนำมาสู่การเสียชีวิตด้วยอาการด้านหัวใจของนักกีฬา มาจากสาเหตุ ดังนี้
- กล้ามเนื้อหัวใจหนา (Hypertrophic Cardiomyopathy: HCM)
- กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และหลอดเลือดหัวใจอุดตันฉับพลัน และแสดงอาการด้วยหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะรุนแรง
- คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ (Arrthymias)
- โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease)
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจถูกไขมันแทรกแทนที่ (Arrhythmogenic right ventricular dysplasia : ARVD)
- หัวใจหยุดทำงานฉับพลันจากการถูกกระแทกที่หน้าอก (Commotio Cordis) แรงกระแทกจะกระตุ้นให้เกิดการนำไฟฟ้าหัวใจห้องล่างผิดปกติที่เร็วมากภายในเวลาไม่กี่วินาที กระตุ้นให้เกิดหัวใจห้องล่างสั่นพริ้ว (Ventricular Fibrillation)
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่นักกีฬาเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวจากการใช้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติดบางชนิดในปริมาณมากก่อนการแข่งขัน รวมถึงกรณีที่ยังไม่สามารถวินิจฉัยสาเหตุได้อีกด้วย
ในปัจจุบัน เทคโนโลยีและแนวทางการตรวจคัดกรองได้พัฒนาไปมาก ทำให้เราสามารถตรวจพบสาเหตุดังกล่าวได้เกินกว่าครึ่งของสาเหตุที่ทำให้นักกีฬาวูบ หมดสติ และเสียชีวิต โดยที่ไม่มีอาการเตือนมาก่อน โดยทดสอบร่วมกับการวัดความฟิตของร่างกายไปพร้อมกันด้วย
ศึกษาเพิ่มเติม VO2 max เครื่องมือวัดความฟิตของร่างกาย ที่เหล่านักออกกำลังกายควรรู้ !
การป้องกันอาการ หน้ามืด วูบ หมดสติ
แม้ว่าอาการดังกล่าว มีที่มาได้จากหลายสาเหตุ แต่ในเบื้องต้น หากเรามีการรักษาสุขภาพให้ดี และหมั่นตรวจตราสุขภาพของตนเองอยู่เสมอ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของหลาย ๆ สาเหตุที่ทำให้เรามีอาการหน้ามืด หมดสติได้
- หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง การรู้ว่าตัวเองมีโรคประจำตัวหรือมีอาการผิดปกติอะไร จะช่วยให้เราพร้อมรับมือกับอาการผิดปกติได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับอายุ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเน้นที่ความสม่ำเสมอ ไม่ได้เน้นที่ความหนักหรือหักโหม
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน (ควรดื่มน้ำให้ได้ 8-13 แก้วต่อวัน)
- พักผ่อนให้เพียงพอ และนอนหลับให้เป็นเวลา อย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อวัน
- หากมีอาการวูบตอนเปลี่ยนท่า ควรเปลี่ยนท่าช้า ๆ
- ถ้ากินยาเป็นประจำ แล้วทำให้หน้ามืดเป็นลมบ่อย ๆ ควรปรึกษาแพทย์
- ติดตามและศึกษาแนวทางการสังเกตอาการหน้ามืด วูบ หมดสติ เพื่อให้ทราบถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ตามอาการวูบที่ปรากฏ
ข้อปฏิบัติตัวเมื่อมีอาการวูบ หรือพบเห็นคนมีอาการ
แนวทางปฏิบัติสำหรับตัวเราเอง หรือกรณีพบเห็นผู้อื่นมีอาการผิดปกติ มีดังนี้
หากตัวเราเองมีอาการหน้ามืด วูบ หมดสติ
- เมื่อมีอาการโหวง ๆ วูบ ๆ คล้ายจะเป็นลม อย่ายืนอยู่เฉย ๆ เพราะอาจล้มได้รับบาดเจ็บได้ พยายามหาหลักพิงที่มั่นคงก่อน
- หากเดินไหว ให้พยายามหาสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ถ้าหายใจไม่สะดวกให้นั่งลงช้า ๆ พยายามสูดหายใจลึก ๆ
- หากอาการแย่มาก ให้นอนราบสักพักเพื่อให้เลือดไหลเวียนไปยังสมองได้ดีขึ้น ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบบอกคนใกล้ตัวแล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
หากพบเห็นคนมีอาการหน้ามืด วูบ หมดสติ
ทำการตรวจสอบว่าหมดสติหรือไม่ โดยการตะโกนเรียกดัง ๆ และเขย่าที่ไหล่ ดูว่าคนไข้รู้เรื่องหรือได้ยินที่เราพูดหรือเปล่า หากผู้ป่วยรู้สึกตัว อย่าพึ่งให้ลุกนั่งทันที (เพราะความดันอาจจะตก) ควรให้พักต่ออีกราว ๆ 15 นาที ระหว่างนั้นให้รีบขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น
กรณีที่ผู้ป่วยมีสติ หรือยังรู้สึกตัวอยู่
- ถ้าอาการยังแย่อยู่ หรือมีอาการกึ่งหมดสติ อย่าพึ่งให้อาหารและน้ำ
- จัดให้คนไข้นอนหงายราบ ยกขาสูงขึ้น จัดสิ่งแวดล้อมให้อากาศถ่ายเทได้ดี (ห้ามมีคนมุง)
เช็ดใบหน้า คอ แขนและขา ด้วยผ้าชุบน้ำ - ช่วยให้ผู้ป่วยเชิดคางให้ยกขึ้น จะทำให้ทางเดินหายใจเปิดโล่ง
กรณีผู้ป่วยหมดสติ ไม่รู้สึกตัว
ให้ปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (Cardiopulmonary resuscitation : CPR)
สำหรับขั้นตอนในการทำ CPR เบื้องต้นมีหลักการดังนี้
- อันดับแรกให้เราประเมินสถานการณ์ก่อน ว่าเรามีความพร้อมที่จะเข้าไปช่วย และมีความปลอดภัยในการเข้าไปช่วยหรือไม่ เช่น ถ้าคนไข้ถูกไฟช็อต ก็ต้องตัดไฟก่อนเข้าช่วยเหลือ (scene safety)
- ให้เราประเมินว่าคนไข้หมดสติไปจริงหรือไม่ โดยปลุกเรียกผู้ป่วยด้วยเสียงที่ดัง และตบไหล่ทั้งสองข้าง เพื่อประเมินการตอบสนองของผู้ป่วย
- หากพบว่าไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หรือ หายใจเฮือก (agonal breathing หรือ gasping) ให้รีบโทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 พร้อมร้องขอเครื่อง AED ที่อยู่ใกล้ที่สุด ให้มาที่จุดเกิดเหตุทันที
- ช่วยเหลือฟื้นคืนชีพ ด้วยการกดหน้าอก จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงาย วางส้นมือข้างหนึ่งตรงครึ่งล่างของกึ่งกลางกระดูกหน้าอก และวางมืออีกข้างทับประสานกันไว้ เริ่มการกดหน้าอก ด้วยความลึก 5-6 เซนติเมตร ในอัตราเร็ว 100-120ครั้งต่อนาที โดยไม่จำเป็นต้องช่วยหายใจ (start hand-only CPR)
ศึกษาเพิ่มเติม “รู้วิธี CPR การช่วยชีวิตเบื้องต้น ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ลดการเสียชีวิตได้”
การวินิจฉัยอาการหน้ามืด วูบ หมดสติ โดยแพทย์
หากมีอาการหน้ามืด วูบ หมดสติ แล้วไม่แน่ใจว่าเกิดจากสาเหตุใด ควรเข้ามาปรึกษาแพทย์ แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกายทั่วไป และตรวจระบบประสาท เพื่อดูอาการว่าบ่งชี้ต่าง ๆ ก่อนที่จะทำการส่งตรวจโดยละเอียดต่อไป
สรุป
อาการหน้ามืด วูบ หมดสติ มีได้หลายสาเหตุ จึงควรทำความเข้าใจแนวทางสังเกตเบื้องต้น และหมั่นประเมินอาการอย่างละเอียด เพราะบางกรณีอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงอย่าง โรคหัวใจ หรือ โรคทางสมอง บางรายอาจเกิดอาการขึ้นอย่างฉับพลันและเสียชีวิต อย่างที่เป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง ดูแล้วก็น่าใจหาย
ดังนั้น หากเรามีการศึกษาแนวทางสังเกตและวิธีรับมือไว้ล่วงหน้า จะได้เข้าช่วยเหลือได้ทันกาล และลดความเสี่ยงที่ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ หรืออย่างน้อย ถ้ามีคนรอบตัวเกิดอาการหน้ามืด วูบขึ้นมา และไม่ได้มีอาการรุนแรงมาก เราจะได้ดูแลพวกเขาได้อย่างเหมาะสม ก่อนนำตัวไปรักษาต่อไป