โรคต่อมลูกหมากโต เป็นโรคของต่อมลูกหมากที่พบได้มากที่สุด โดยพบได้ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป แต่มักมีอาการปรากฏหลังอายุ 50 ปีไปแล้ว
ในรายที่มีอาการน้อยก็ให้การรักษาทางยา ในรายที่มีอาการมากหรือมีโรคแทรกซ้อนจากต่อมลูกหมากที่โต เช่น ปัสสาวะไม่ออก ทางเดินปัสสาวะอักเสบเป็นซ้ำ ปัสสาวะเป็นเลือด นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรือไตเสียการทำงาน เหล่านี้ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
การผ่าตัดรักษาโรคต่อมลูกหมากโตโดยการส่องกล้องเข้าทางท่อปัสสาวะแล้วใช้ลวดไฟฟ้าเข้าไปขูดเนื้อต่อมลูกหมากที่อุดกั้นออก เป็นวิธีที่ใช้กันมานานหลายสิบปีแต่ก็ยังคงเป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้กันอยู่ ปัจจุบันได้มีการพัฒนานำแสงเลเซอร์มาใช้ในการผ่าตัดต่อมลูกหมาก ทำให้การส่องกล้องขูดต่อมลูกหมากสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยขึ้น
ขั้นตอนการส่องกล้องขูดต่อมลูกหมากด้วยแสงเลเซอร์
- ตรวจสภาพร่างกายทั่วไป โดยเฉพาะการทำงานของหัวใจและปอด
- ผู้ป่วยเตรียมตัวเหมือนการผ่าตัดทั่วไป คือ งดน้ำงดอาหาร 6 ชั่วโมง สวนอุจจาระ ทำความสะอาดผิวหนัง ผู้ป่วยที่รับประทานยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือดต้องหยุดยาอย่างน้อย 1 อาทิตย์ก่อนผ่าตัด
- ในห้องผ่าตัดวิสัญญีแพทย์จะฉีดยาชาเข้าไขสันหลังหรือดมยาสลบ ตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยจะไม่มีความรู้สึกเจ็บ
- ศัลยแพทย์จะใช้กล้องส่องเข้าทางท่อปัสสาวะพร้อมทั้งใส่สายนำแสงเลเซอร์เข้าทางกล้อง แล้วทำการตัดต่อมลูกหมากและจี้ห้ามเลือด
- หลังผ่าตัดจะใส่สายสวนปัสสาวะไว้ประมาณ 1 วันจึงเอาออกให้ปัสสาวะเอง ถ้าปัสสาวะได้แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้าน
ข้อดีของการส่องกล้องขูดต่อมลูกหมากด้วยแสงเลเซอร์เทียบกับการใช้ลวดไฟฟ้า
- เสียเลือดจากการผ่าตัดน้อยกว่า
- หลังผ่าตัดใส่สายสวนปัสสาวะน้อยกว่า
- ใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลน้อยกว่า
- ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากการใช้น้ำล้างท่อปัสสาวะ (TUR syndrome)