ปัจจุบันพบว่าคนไทยป่วยเป็นมะเร็งเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะทราบว่าป่วยเป็นมะเร็งก็มักจะอยู่ในระยะที่รุนแรง และทำให้การรักษาซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้นการตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ในระยะแรก ๆ จะสามารถเพิ่มโอกาสในการรักษาหายและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
ปัจจุบันโปรแกรมการตรวจสุขภาพของโรงพยาบาลหลาย ๆ แห่งมีการตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง ที่สามารถบอกแนวโน้ม และความเสี่ยงของโรคมะเร็ง ซึ่งการตรวจเลือดมะเร็งนี้เรียกว่าการตรวจ Tumor Marker (สารบ่งชี้มะเร็ง) ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกและเจ็บตัวน้อยในการตรวจหามะเร็งเบื้องต้น
การตรวจ Tumor Marker สามารถตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งได้หลายชนิด เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งรังไข่ มะเร็งลำไส้ แต่อย่างไรก็ตามการตรวจเลือดเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถยืนยันผลการวินิจฉัยมะเร็งได้ หากพบผลผิดปกติ แพทย์มักจะแนะนำให้มีการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจทางรังสี การตรวจอัลตราซาวนด์ หรือการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยให้แม่นยำขึ้น
การตรวจเลือดมะเร็งคืออะไร?
การตรวจเลือดมะเร็งคือการใช้ตัวอย่างเลือดของผู้ป่วย ที่ได้จากการเจาะเลือดเพื่อตรวจสอบหาสารหรือสิ่งบ่งชี้ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็ง เช่น โปรตีน สารพันธุกรรมของเซลล์มะเร็ง (DNA, RNA) หรือสารชีวเคมีอื่น ๆ ที่ปล่อยออกมาจากเซลล์มะเร็งหรือจากร่างกายที่ตอบสนองต่อการเกิดมะเร็ง
การตรวจเลือดมะเร็งดีอย่างไร?
การตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งมีข้อดีคือ สามารถทำให้ตรวจพบมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การรักษามีประสิทธิภาพสูงที่สุด นอกจากนี้การตรวจเลือดยังสามารถทำได้ง่าย รวดเร็ว ไม่ต้องมีการผ่าตัดหรือกระบวนการที่ซับซ้อน และยังสามารถใช้ในการติดตามผลการรักษา และตรวจหาการกลับมาเป็นซ้ำของโรคได้อีกด้วย
ตรวจเลือดมะเร็งทำอย่างไร?
- เจาะเลือดจากผู้ป่วย เพื่อการเก็บตัวอย่างเลือด: ผู้ป่วยจะได้รับการเจาะเลือดจากหลอดเลือดที่แขน ซึ่งเป็นวิธีการเจาะเลือดตรวจร่างกายปกติในปัจจุบัน
- การวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ: ตัวอย่างเลือดจะถูกนำไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเพื่อค้นหาสารบ่งชี้มะเร็ง
- การแปลผล: ผลการตรวจเลือดจะถูกแปลผลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะพิจารณาผลการตรวจเลือดร่วมกับข้อมูลอื่น ๆ เพื่อการตัดสินใจในการวินิจฉัยและการรักษา
ประโยชน์ของการตรวจเลือดมะเร็ง
- สามารถตรวจคัดกรองมะเร็งในระยะเริ่มแรก: การตรวจเลือดมะเร็งสามารถคัดกรองมะเร็งในระยะเริ่มแรกได้ ซึ่งเป็นระยะที่มีผลการรักษาดีที่สุด
- ติดตามผลการรักษา: การตรวจเลือดมะเร็งสามารถใช้ในการติดตามผลการรักษามะเร็งได้ โดยการติดตามสารบ่งชี้ชีวภาพที่ลดลงหรือเพิ่มขึ้นหลังการรักษา
- ตรวจหาโรคมะเร็งที่กลับมาเป็นซ้ำ: การตรวจเลือดมะเร็งสามารถใช้ในการตรวจหาโรคมะเร็งที่กลับมาเป็นซ้ำได้ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์โรคมะเร็งสามารถตรวจพบและวางแผนการรักษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ใครบ้างควรตรวจเลือดมะเร็ง
- ผู้ที่มีครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นมะเร็ง: หากมีสมาชิกในครอบครัวที่เป็นมะเร็ง การตรวจเลือดอาจช่วยในการตรวจพบการเกิดมะเร็งในระยะเริ่มต้นได้ ซึ่งเป็นระยะที่มีโอกาสรักษาหาย
- ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง: ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ เคยได้รับสารเคมีที่เป็นพิษ หรือทำอาชีพหรือมีกิจกรรมที่ได้รับแสงอาทิตย์มากเกินไป ควรพิจารณาการตรวจเลือดเพื่อค้นหาสรบ่งชี้มะเร็ง
- ผู้ที่มีอาการที่สงสัยว่าเป็นอาการของโรคมะเร็ง: หากมีอาการที่อาจเป็นสัญญาณของมะเร็ง เช่น น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ มีเลือดออกที่อวัยวะต่าง ๆ ผิดปกติ หรืออาการมะเร็งอื่น ๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัย
- ผู้ที่มีประวัติเคยเป็นโรคมะเร็ง: การตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งจะช่วยในการตรวจหาโรคมะเร็งที่อาจกลับมาเป็นซ้ำได้
- ผู้ที่มีอายุอยู่ในวัยที่เสี่ยงต่อโรคมะเร็ง: เมื่ออายุมากขึ้นจะทำให้มีความเสี่ยงของมะเร็งเพิ่มขึ้นด้วย เช่น ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีจะมีความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่มากขึ้น
สารบ่งชี้มะเร็งมีอะไรบ้าง?
- Prostatic Specific Antigen (PSA) เป็นสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก แต่หากพบค่า PSA สูง อาจไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้ 100% เนื่องจากในผู้ป่วยที่มะภาวะต่อมลูกหมากโตก็อาจมีค่า PSA สูงขึ้นได้
- Prostatic Acid Phosphatase (PAP) มักพบว่ามีค่าสูงในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- CA125 สารบ่งชี้มะเร็งรังไข่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับอ่อน มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม และมะเร็งปอด
- CA19-9 มักพบว่ามีค่าสูงในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งถุงน้ำดี
- CA-15-3 เป็นสารที่ใช้ติดตามมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมที่แพร่กระจาย เนื่องจากในมะเร็งระยะเริ่มแรกค่านี้อาจไม่สูง ควรตรวจร่วมกับแมมโมแกรมเพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำมากขึ้น
- Carcinoembryonic Antigen (CEA) สารนี้มักมีค่าสูงในมะเร็งลำไส้ โดยเฉพาะในกรณีที่มะเร็งแพร่กระจาย
- Alpha-Fetoprotein (AFP) อาจเป็นสัญญาณของมะเร็งตับ มะเร็งลูกอัณฑะ หรือมะเร็งรังไข่
- Human Chorionic Gonadotropin (HCG) ปกติสารนี้จะสร้างจากรกและพบสูงในหญิงตั้งครรภ์ แต่หากพบค่านี้สูงในคนทั่วไป อาจบ่งชี้ถึงมะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับอ่อน หรือมะเร็งปอด
- LDH (Lactate Dehydrogenase) สารนี้ไม่เจาะจงกับมะเร็งชนิดใดชนิดหนึ่ง ใช้ตรวจหาเซลล์ผิดปกติในร่างกายและติดตามรักษามะเร็งบางชนิด
- Neuron Specific Enolase (NSE) มักพบในมะเร็งของเซลล์ระบบประสาทและต่อมไร้ท่อ เช่น มะเร็งปอด และมะเร็งของระบบประสาท
- Human Growth Hormone (HGH) สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปอด
- Ferritin ในมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งตับ และหากพบค่า Ferritin สูงพร้อมกับ CEA อาจบ่งชี้ถึงมะเร็งเต้านม
แต่อย่างไรก็ตามการตรวจเลือดมะเร็งต้องได้รับการแปลผลและวินิจฉัยจากแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญ ทั้งนี้เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำและถูกต้อง
สรุป
การตรวจหาสารบ่งชีมะเร็งเป็นวิธีที่มีประโยชน์และสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจหามะเร็งในระยะเริ่มแรกเริ่มได้ อย่างไรก็ตามการแปลผลการตรวจควรได้รับการแปลผลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่น ๆ ด้วยเพื่อให้ได้ผลการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
การดูแลสุขภาพโดยรวมยังคงเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันโรคมะเร็งและการมีสุขภาพที่ดี การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ เป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง