โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่เราคุ้นเคยกันดี ซึ่งบางท่านอาจมีญาติผู้ใหญ่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมทำให้มีอาการปวดเข่า เดินลำบาก จนทำให้มีปัญหาเรื่องการเดินและการเคลื่อนไหว แต่โรคข้อเข่าเสื่อมไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้สูงอายุเท่านั้น วัยทำงานหรือวัยกลางคนก็สามารถเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้
การรักษาหลักของโรคข้อเข่าเสื่อมมักเป็นการผ่าตัด และด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบันทำให้มีการพัฒนาการผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยเทคนิค “การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน” ซึ่งเป็นการรักษาที่มีแผลผ่าตัดขนาดเล็ก และผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน หรือ UKA คืออะไร?
การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน (Unicompartment Knee Arthroplasty) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า UKA คือ การผ่าตัดข้อเข่าเทียมโดยเอาผิวข้อเฉพาะส่วนที่สึกหรอออก และใส่ด้วยวัสดุที่เป็นโลหะไว้แทน แล้วเก็บผิวข้อเข่าส่วนที่ยังมีสภาพดีไว้ เนื่องจากผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมส่วนใหญ่ มักจะเริ่มมีการสึกหรอของผิวข้อเข่าฝั่งด้านในก่อนในระยะแรก แล้วถึงมีการสึกหรอของผิวข้อเข่าฝั่งด้านนอกในระยะสุดท้าย ดังนั้น ในระยะแรกของโรคแพทย์จึงสามารถผ่าตัดรักษาแล้วเก็บส่วนผิวข้อเข่าส่วนที่ยังมีสภาพดีเอาไว้ได้
ผู้ป่วยที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อม จะมีอาการปวดเข่า เดินลำบาก และอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิต ในอดีตแพทย์มักผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมทั้งหมด ต้องยอมสูญเสียเส้นเอ็นไขว้และผิวกระดูกอ่อนส่วนที่ยังสมบูรณ์ไป หลังผ่าตัด ผู้ป่วยจึงต้องใช้เวลาปรับตัวนานในการกลับไปใช้ข้อเข่าได้เหมือนธรรมชาติ เช่น การนั่งกับพื้น นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ ซึ่งการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วนเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ลดปัญหาดังกล่าวนี้ได้
ข้อดีของการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน
- รักษาเส้นเอ็นไขว้และผิวกระดูกอ่อนส่วนที่ยังสมบูรณ์ไว้ได้
- แก้ไขอาการต่าง ๆ ของข้อเข่าเสื่อมได้ เช่น เจ็บปวดในข้อ เจ็บขัดที่เส้นเอ็น เข่าหลวม ข้อเข่าผิดรูป
- ผู้ป่วยกลับมางอเข่า และใช้งานข้อเข่าได้อย่างเป็นธรรมชาติได้เร็ว
- แผลเล็ก
- เสียเลือดระหว่างผ่าตัดน้อย
- ลดความเสี่ยงการติดเชื้อ
- ฟื้นตัวเร็ว นอนโรงพยาบาลเพียง 1- 2 วัน
- หากผู้ป่วยมีข้อเข่าเสื่อมอีกในอนาคตก็สามารถผ่าตัดด้วยเทคนิคเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแบบทั้งหมด (total knee arthroplasty) ได้
ผู้ป่วยแบบไหนที่เหมาะกับการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน
แพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่าผู้ป่วยแต่ละรายว่าเหมาะสมกับการผ่าตัดด้วยเทคนิคนี้หรือไม่ ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นผู้ป่วยที่มีลักษณะดังนี้
- มีข้อเข่าเสื่อมด้านเดียว
- ระยะของโรคข้อเข่าเสื่อมยังไม่รุนแรง กระดูกยังเสียหายไม่มาก
- กระดูกข้อเข่าอีกด้านหนึ่งและลูกสะบ้ายังมีสภาพดี
- ยังสามารถงอและเหยียดขาได้ดี
- ขายังโก่งไม่มาก
- สามารถผ่าตัดได้ทุกช่วงอายุ
ข้อจำกัดของการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน
แม้ว่าการรักษาด้วยเทคนิคนี้จะให้ผลการรักษาที่ดี แต่ก็มีข้อจำกัดบางประการ ได้แก่
- การเลือกผู้ป่วยต้องพิจารณาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
- แพทย์ที่ทำการผ่าตัดต้องเป็นแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญการผ่าตัดด้วยเทคนิคนี้
- ไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่น้ำหนักตัวมาก
- ไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีขาโก่ง ผิดรูป
- ไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีโรคของกระดูก เช่น กระดูกพรุน รูมาตอยด์ ข้ออักเสบ
- ไม่เหมาะกับผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมรุนแรง
- ไม่เหมาะกับผู้ที่ต้องวิ่งและเล่นกีฬาหนัก ๆ เพราะอาจจะทำให้ข้อสึกเร็วกว่ากำหนด
เมื่อผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วนแล้ว สามารถใช้งานได้กี่ปี?
ในปัจจุบันพบว่าการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน เป็นการรักษาที่ปลอดภัยและมีอายุการใช้งานไปได้อีก 10-20 ปี และข้อดีของการรักษาด้วยวิธีนี้คือผู้ป่วยสามารถใช้ข้อเข่าได้ใกล้เคียงข้อเข่าปกติมากที่สุด สามารถงอข้อเข่าได้เหมือนปกติและเหยียดเข่าได้สุด สามารถนั่งพื้นหรือนั่งยอง ๆ หรือคุกเข่าได้ ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นข้อเข่าธรรมชาติ และผู้ป่วยจะปรับตัวใช้ข้อเข่าหลังผ่าตัดได้เร็วกว่าการผ่าตัดแบบเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด และหากมีอาการข้อเข่าเสื่อมอีกในอนาคต ผู้ป่วยก็ยังสามารถรักษาด้วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแบบทั้งหมดได้
สรุป
การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน หรือ UKA เป็นเทคนิคการผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมที่เป็นทางเลือกหนึ่งในปัจจุบัน ซึ่งจะสามารถรักษาเอ็นและกระดูกส่วนที่ยังไม่เสียหายเอาไว้ได้ ทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ข้อเข่า งอเข่า นั่งพับเพียบ นั่งยองได้เหมือนกับข้อเข่าธรรมชาติ นอกจากนี้การผ่าตัดเป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็ก ผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้เร็ว แต่อย่างไรก็ตามการเลือกใช้เทคนิคการรักษานี้ต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และชำนาญเฉพาะทางเป็นผู้พิจารณาว่าผู้ป่วยแต่ละรายเหมาะสมกับวิธีการรักษานี้หรือไม่ เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วยแต่ละราย