ยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ในระลอกที่ 3 นี้ยังพุ่งไม่หยุด ถึงแม้ว่าตอนนี้จะมีวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนในพื้นที่สีแดงที่เกิดการระบาดได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันความรุนแรงของโรคไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีข่าวอาการไม่พึงประสงค์ตามมาในภายหลังการได้รับวัคซีน ส่งผลให้เกิดความกังวลใจได้ไม่เว้นแต่ละวัน
ทีนี้ ถ้าเรายังกังวลใจกับการฉีดวัคซีนโควิด 19…
เราควรทำอย่างไรได้บ้าง…
ต้องเตรียมความพร้อมอย่างไร?
จะไปตรวจสุขภาพเพื่อเช็คความพร้อมก่อนฉีดวัคซีนได้หรือเปล่า?
บทความนี้ มีเฉลย สามารถเลือกหัวข้อที่สงสัยจากสารบัญได้เลย
สารบัญ
- บทความนี้ เหมาะสำหรับใคร
- Q1: ก่อนฉีดวัคซีนโควิด 19 ควรเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?
- Q2: ควรเว้นระยะเวลาฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ กับการฉีดวัคซีนโควิด 19 นานเท่าไหร่?
- Q3: ฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มที่ 1 กับเข็มที่ 2 คนละยี่ห้อกันได้มั้ย ?
- Q4: หากฉีดวัคซีนโควิด 19 ไปแล้ว จะต้องฉีดซ้ำอีกทีเมื่อไหร่?
- Q5: สามารถตรวจสุขภาพเพื่อเช็คความพร้อมก่อนฉีดวัคซีนได้หรือเปล่า?
- Q6: การตรวจสุขภาพก่อนฉีดวัคซีนดียังไง?
- Q7: ถ้าไปตรวจสุขภาพ จะทราบได้ไหมว่าเรามีโอกาสแพ้วัคซีนหรือไม่?
- สรุป
บทความนี้ เหมาะสำหรับใคร
นับจากวันนี้ไปอีกเพียงไม่ถึงเดือน กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว 7 โรคเรื้อรัง จัดเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีสิทธิ์จะเริ่มฉีดวัคซีนโควิด 19 ล็อตแรกในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 นี้
นอกจากเรื่องลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อมจะเป็นที่สนใจกันส่วนใหญ่แล้ว อีกคำถามถัดมาที่แพทย์มักจะถูกถามบ่อยเหลือเกินในช่วงนี้ คือ
“ต้องเตรียมตัวอย่างไรก่อนไปฉีดวัคซีน ”
“จะลดความเสี่ยงจากผลข้างเคียงตามข่าว
ที่ได้ยินกันอย่างหนาหูในช่วงนี้ได้อย่างไรบ้าง? ”
“จะตรวจสุขภาพเพื่อเช็คความพร้อมก่อนฉีดวัคซีนได้หรือเปล่า? ”
เราเข้าใจถึงความกังวลจากคำถามทั้งหลายนี้ เพื่อตอบคำถามผู้ที่มีข้อสงสัยและความกังวล เราจึงได้สรุปประเด็นคำถามและคำตอบได้ ดังนี้
Q1: ก่อนฉีดวัคซีนโควิด 19 ควรเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?
คำตอบ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข มีคำแนะนำก่อนฉีดวัคซีน ดังนี้
- สองวันก่อนและหลังการฉีดวัคซีน ให้งดออกกำลังกายหนัก หรือยกน้ำหนัก และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- วันที่ฉีดควรดื่มน้ำอย่างน้อย 500-1,000 ซีซี (ประมาณ 3-5 แก้ว) งดชา กาแฟ หรือของที่มีคาเฟอีน รวมถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- สำหรับผู้ป่วยจิตเวช ไม่ควรลดยา เพิ่มยา หรือปรับยาจิตเวชเองก่อนการฉีดวัคซีนโควิด 19 เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการข้างเคียงหรือถอนยาได้ และยาจิตเวชส่วนใหญ่ปลอดภัยต่อการฉีดวัคซีน (ข้อมูลอัปเดตวันที่ 28 พฤษภาคม) โดยผู้ป่วยควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่องและดูแลสุขภาพจิตของตัวเองให้คงที่ โดยเฉพาะในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนและหลังการฉีดวัคซีน หากผู้ป่วยรู้สึกวิตกกังวลใจเกี่ยวกับการรักษา การรับประทานยา และการฉีดวัคซีนโควิด 19 ควรปรึกษาจิตแพทย์ผู้ดูแลรักษา
- กรณีรับประทานยาละลายลิ่มเลือดอยู่ ก็ให้รับประทานยาได้ตามปกติ แต่เมื่อฉีดวัคซีนแล้วให้กดนิ่งตรงตำแหน่งที่ฉีดต่ออีก 1 นาที
- ฉีดแขนข้างที่ไม่ค่อยถนัด และหลังฉีดสองวันอย่าใช้แขนนั้น อย่าเกร็งยกของหนัก หรืออย่าบีบนวดบริเวณที่ฉีดวัคซีน
- หลังฉีดแล้วเจ้าหน้าที่จะให้รอสังเกตอาการในบริเวณสถานที่ฉีดอีก 30 นาที
- ถ้ามีไข้ หรือปวดเมื่อยมากจนทนไม่ไหว สามารถกินยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งละหนึ่งเม็ด (กินซ้ำได้ถ้าจำเป็น) แต่ให้ห่างกัน 6 ชั่วโมง ห้ามกินยาจำพวก Brufen, Arcoxia, Celebrex เด็ดขาด
Q2: ควรเว้นระยะเวลาฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ กับการฉีดวัคซีนโควิด 19 นานเท่าไหร่?
คำตอบ เมื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 แล้ว ควรเว้นระยะห่างกับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน หรือถ้าตรวจสอบคิวนัดหมายที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ต้องรอนานมากกว่า 1 เดือน สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก่อนได้เลย
สำหรับเรื่องลำดับในการฉีด ว่าจะฉีดตัวไหนก่อน กรณีประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่พึ่งได้รับวัคซีนโควิด 19 เข็มที่ 1 ไปแล้วนั้น ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนโควิด 19 ที่ฉีด
- หากเป็นวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) ให้ฉีดให้ครบ 2 เข็มก่อน จากนั้นเว้นระยะ 1 เดือน แล้วจึงเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลต่อไป
- หากเป็นวัคซีนแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) จะมีอยู่สองทางเลือก ตามความสะดวก
- ต้องการรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่คั่นระหว่างกลางก็ได้ แต่ต้องเว้นระยะ 1 เดือนหลังฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มที่ 1
- ต้องการฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้ครบ 2 เข็มก่อน แล้วค่อยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ต้องเว้นระยะ 1 เดือน หลังฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มที่ 2
Q3: ฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มที่ 1 กับเข็มที่ 2 คนละยี่ห้อกันได้มั้ย ?
คำตอบ สามารถฉีดได้ แต่ไม่แนะนำ ยกเว้นกรณีแพทย์เห็นว่าจำเป็นจะต้องเปลี่ยนยี่ห้อในการฉีด เนื่องจากเมื่อท่านได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ระบบจะทำการจองวัน เวลา และสถานที่สำหรับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ให้ทันที หากท่านมีการเปลี่ยนแปลงยี่ห้อวัคซีนที่จะฉีด จะส่งผลให้ได้รับการฉีดวัคซีนที่ล่าช้าออกไป
Q4: หากฉีดวัคซีนโควิด 19 ไปแล้ว จะต้องฉีดซ้ำอีกทีเมื่อไหร่?
คำตอบ เนื่องจากประเด็นเรื่องวัคซีนยังเป็นเรื่องใหม่ จึงยังไม่มีผลการศึกษามากพอที่จะระบุได้ว่า เมื่อฉีดวัคซีนไปแล้วจะต้องฉีดกระตุ้นอีกครั้งหรือไม่
Q5: สามารถตรวจสุขภาพเพื่อเช็คความพร้อมก่อนฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้หรือเปล่า?
คำตอบ การตรวจสุขภาพก่อนฉีดวัคซีน จะไม่ช่วยรับประกันว่าฉีดวัคซีนโควิด 19 แล้วจะเกิดอาการแพ้วัคซีนรุนแรงขนาดไหน
แต่ก็ยังมีข้อแนะนำให้เข้ารับการตรวจสุขภาพอยู่ดี เพราะจะช่วยให้ทราบถึงความเสี่ยงของการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง หรือตรวจหาโรคที่เป็น “ภัยเงียบ” ตั้งแต่ที่ยังไม่แสดงอาการ เพราะถ้าหากมีโรคแฝงหรือโรคเรื้อรัง จะช่วยให้แพทย์สามารถประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ ของท่านได้อย่างเหมาะสม
Q6: การตรวจสุขภาพก่อนฉีดวัคซีนดียังไง?
คำตอบ การทราบสุขภาวะของตัวเองอย่างถูกต้องตั้งแต่แรก จะช่วยให้เราประเมินตัวเองได้อย่างเหมาะสม เพราะในกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว หรือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงหากติดเชื้อโควิด 19 แล้วจะมีอาการรุนแรง
นอกจากนี้ การตรวจสุขภาพจะช่วยให้ทราบว่ามีความเสี่ยงของการเกิดโรคอื่น ๆ อีกหรือไม่ ซึ่งเป็นประโยชน์กับตัวท่านเองในการเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
อย่างไรก็ดี ในกลุ่มคนอายุน้อยที่ไม่มีโรคประจำตัว และไม่เคยตรวจสุขภาพมาก่อน แม้ตามหลักเกณฑ์แล้ว จะไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อโควิด 19 แล้วมีเสี่ยงมีอาการรุนแรง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในความเป็นจริงเราจะไม่เสี่ยงเลย
ดังนั้น จึงยังมีข้อแนะนำให้ไปตรวจสุขภาพเผื่อไว้ ในกรณีที่อาจจะมีโรคประจำตัวแฝงอยู่ แล้วไม่เคยรู้มาก่อน เพราะโรคแฝงเหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อรุนแรงภายหลังได้ เราจะได้วางแผนการรักษา และป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโควิด 19 ได้อย่างเหมาะสม รวมถึงเป็นการเตรียมตัวให้แข็งแรง พร้อมสำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 อีกด้วย
อธิบายง่าย ๆ ก็คือ คนที่สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ร่างกายจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี หากติดเชื้อจะทำให้ไม่มีอาการรุนแรง แต่หากเราป่วยหรือมีโรคประจำตัว ภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ หากติดเชื้อก็อาจมีอาการรุนแรงได้
ฉะนั้น การมาตรวจสุขภาพเพื่อให้รู้ว่าตัวเองเป็นโรคอะไรบ้าง จะช่วยให้เราเตรียมรับมือกับโรคโควิด 19 ได้อย่างเหมาะสม เพราะเราคาดเดาเอาเองไม่ได้หรอกว่า จริง ๆ แล้วตัวเรามีสุขภาพที่ดีหรือไม่ มีโรคแฝงหรือเปล่า?
Q7: ถ้าไปตรวจสุขภาพ จะทราบได้ไหมว่าเรามีโอกาสแพ้วัคซีนหรือไม่?
คำตอบ การตรวจสุขภาพโดยทั่วไป ไม่สามารถระบุได้ว่าคุณมีโอกาสจะแพ้วัคซีนหรือไม่
สรุป
การที่เราต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ไม่ว่าจะเป็นชนิดไหน ยี่ห้ออะไร ก็เพื่อต้องการให้ส่วนหนึ่งของเชื้อไวรัสชนิดนี้เข้าไปอยู่ในร่างกาย แล้วกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาจัดการกับเชื้อไวรัสที่เรามีโอกาสจะติดเชื้อได้ในอนาคต
หากมีภูมิคุ้มกันจากวัคซีนแล้ว จะช่วยลดโอกาสติดเชื้อ หรือถ้าหากเกิดการติดเชื้อ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้
ข้อมูลอ้างอิง https://bit.ly/33vOpzN , https://www.nhso.go.th/news/3078